บทที่ 1 บทนำ


ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

บทที่ 1

 

บทนำ

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

 

                   ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการอ่านมีความสำคัญและจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์  เพราะมนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องใช้การอ่านตลอด  ทั้งในเรื่องส่วนตัว  หรือด้านการทำงานในแต่ละวัน  ถ้าหากมีรากฐานการอ่านที่ดีก็จะทำให้สื่อความหมายและสื่อภาษาจากสิ่งที่อ่านได้เร็วและเข้าใจมากขึ้น  ในสังคมที่มีความเจริญจะพบว่าสังคมนั้นมีการอ่านมากเช่นกัน   ดังนั้นจะเห็นได้จากการจัดการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย  ก็ได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกคนอ่านออก เขียนได้เป็นสิ่งแรก  เพราะขั้นตอนต่อไปของการเรียนการสอนต้องใช้การอ่านเป็นพื้นฐาน  ถ้านักเรียนอ่านไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนได้ โดยเฉพาะการเรียนการสอนในปัจจุบัน  เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมหรือค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมการอ่าน                 จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

                      พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พุทธศักราช 2545  ได้ให้ความสำคัญการส่งเสริมการอ่าน จึงได้กำหนดไว้ในมาตรา  24  (3)  และ (5  ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ฝึกการปฏิบัติจริง  ทำให้ได้  คิดเป็น  ทำเป็น  รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนจัดบรรยากาศ  สื่อการสอน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้  (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546 :12)

                      ปัจจุบันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีนิสัยรักการอ่านและไม่รู้จักใช้การอ่านเพื่อพัฒนาจิตใจของตนเอง  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนการอ่านยังเกิดขึ้นน้อย  ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีการอ่านหนังสือเฉลี่ยไม่เกิน  8  บรรทัด  ถ้าหากนำตัวเลขนี้ ไปเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอัตราส่วน   การอ่านยังห่างกันอยู่มาก  ซึ่งส่งผลให้ความเจริญก้าวหน้าของประเทศและการประดิษฐ์คิดค้น  ผลงานใหม่ๆ จึงห่างเขาอยู่หลายเท่าตัว  ส่วนนี้จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานจัดการศึกษาทุกภาคส่วน ที่จะต้องหาวิธีการร่วมกันสร้างนิสัยให้เด็กและเยาวชนมีนิสัยรักการอ่านอย่างถาวรเกิดขึ้นให้ได้  (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร  เขต3, 2550 : บทนำ)

 

                      อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมา  แม้ว่าหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  กระทรวงศึกษาธิการจะได้รณรงค์ด้านการส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง แต่นิสัยรักการอ่านของเด็กและเยาวชนก็ยังเกิดขึ้นได้ไม่มากเท่าที่ควร  จากการสัมมนาระดับชาติว่าด้วยเรื่อง “ การรณรงค์เพื่อการพัฒนาการอ่าน”  พบว่า  สาเหตุประการหนึ่ง  คือ “ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่โรงเรียนจำนวนไม่น้อย จัดขึ้นไม่เป็นที่น่าสนใจของนักเรียนหรือขาดความทันสมัยไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียนรวมถึงการส่งเสริมการอ่านยังไม่เกิดขึ้นทั้งระบบ  การส่งเสริมการอ่านยังเป็นหน้าที่ของครูภาษาไทยหรือครูที่รับผิดชอบห้องสมุดเท่านั้น  การที่จะทำให้นักเรียนในโรงเรียนเกิดนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน  และนำการอ่านมาบูรณาการในการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง  (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3, 2550  : 8 )  การที่จะกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจการอ่านมากขึ้น การจัดกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจอย่างต่อเนื่องจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนานักเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา

                     โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์   เดิมสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 1  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  และได้รับถ่ายโอนภารกิจด้านการจัดการศึกษามาสังกัดเทศบาลตำบลปลายบาง  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 7  พฤษภาคม 2551  ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนนักเรียน  ในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ในปีการศึกษา 2551   มีนักเรียนจำนวน 77  คน  ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 13 คน โรงเรียนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544   ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายของโรงเรียนไว้อย่างชัดเจน  โดยใช้หลักการบริหารงานแบบการกระจายอำนาจ ครูและบุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม มุ่งเน้นการสร้างเด็กและเยาวชนให้มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง รักความเป็นไทย มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ  มีคุณธรรมนำความรู้  สู่ความพอเพียง

                 จากรายงานผล  การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  รอบที่สองของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่ามาตรฐานการศึกษาด้านผู้เรียน  มาตรฐานที่ 6  ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  ตัวบ่งชี้ที่ 6.1 ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน  สนใจแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆรอบตัวและตัวบงชี้ที่ 6.2  ผู้เรียนใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  สนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  มีผลการประเมินในระดับคุณภาพ “พอใช้” และได้เสนอแนะให้โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมหลักสูตรให้หลากหลาย  เช่น จัดโครงการส่งเสริมการอ่าน  กิจกรรมบันทึกยอดนักอ่าน  กิจกรรมตอบปัญหาสารานุกรมไทย  การพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่และให้ผู้เรียนได้บันทึกเหตุการณ์ที่ได้พบ  ในชีวิตประจำวันมารายงานหน้าชั้นเรียน ( สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา,  2550 : 50 )  นอกจากนี้โรงเรียนยังพบว่า นักเรียนบางส่วนยังขาดความกระตือรือร้นในด้าน  การไขว่คว้า ศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่โรงเรียนจัดให้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน  การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  จากข้อค้นพบของโรงเรียน  และข้อเสนอแนะของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาดังกล่าว  ผู้ประเมินในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา ได้รวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปผล  เพื่อกำหนดทิศทาง การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนในประเด็นดังกล่าว   จึงได้จัดทำ  โครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่านขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมหลักสูตรการศึกษา  ด้านการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน จำนวน 11 กิจกรรม  โดยใช้รูปแบบการประเมิน แบบซิปป์  (CIPP Model)   ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam)  ซึ่งมีกรอบการประเมิน  4  ด้าน คือด้านบริบท  ด้านปัจจัย  ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต  โดยให้ครูทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ ผู้ประเมินเป็นผู้นิเทศติดตาม ให้ความช่วยเหลือการดำเนินโครงการ ผู้ปกครองร่วมกันประเมินผลผลิตด้านพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน  และให้นักเรียนประเมินความพึงพอใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ  โดยมีความมุ่งหวังว่าการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  สนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้น  เพื่อเป็นหลักประกัน  ในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  ให้เป็นที่ยอมรับต่อชุมชนและสังคมได้ในอนาคต

 

วัตถุประสงค์ของการประเมิน 

                     1.  เพื่อประเมินด้านบริบท  โครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์

                     2.  เพื่อประเมินด้านปัจจัย  โครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์

                     3.  เพื่อประเมินด้านกระบวนการ  โครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์

                     4.  เพื่อประเมินด้านผลผลิต  โครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์ ใน  2  ด้าน  ดังนี้

                         4.1  ด้านพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน

                         4.2  ด้านความพึงพอใจของนักเรียนในการเข้าร่วมโครงการ

ขอบเขตของการประเมิน

                เพื่อให้การประเมินโครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนมากที่สุด  จึงได้กำหนดขอบเขตของการประเมิน  ดังนี้    

                1.  รูปแบบการประเมินโครงการ ผู้ประเมินได้กำหนดขอบเขตการศึกษาจากเอกสาร  ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำรูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์  (CIPP Model)ของสตัฟเฟิลบีม  (Stufflebeam)  เป็นกรอบแนวคิดในการประเมิน  4  ด้าน  ดังนี้

                                1.1  การประเมินด้านบริบท  (Context Evaluation)  เป็นการประเมินที่จะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผน  ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจ  กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการให้เหมาะสม

                                1.2  การประเมินด้านปัจจัย  (Input Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาความเหมาะสม  ความเพียงพอของทรัพยากร  ที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ

                                1.3  การประเมินด้านกระบวนการ  (Process Evaluation)  เป็นการตัดสินใจในด้านกระบวนการทำงานเพื่อการปรับปรุงแก้ไข ควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดให้ได้ผลดีที่สุด 

                                1.4  การประเมินด้านผลผลิต  (Product Evaluation)  เป็นการประเมินเพื่อการทบทวนโครงการ  โดยอาศัยผลการประเมินที่เกิดขึ้นประกอบการตัดสินใจ

2.  ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์ ประกอบด้วย  ครู  นักเรียนและผู้ปกครอง  รวมทั้งสิ้น  121  คน    

 

นิยามศัพท์เฉพาะ     

                การประเมินโครงการ หมายถึง  กระบวนการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรวมพลัง สร้างนิสัยรักการอ่าน  ครอบคลุมการประเมินใน  4  ด้าน  คือ

                1. การประเมินด้านบริบท  (Context Evaluation)  หมายถึง  การประเมินความสอดคล้อง  หรือความเหมาะสมของโครงการกับนโยบายด้านการจัดการศึกษา  สภาพปัญหาของโรงเรียน  ด้านการอ่านของนักเรียน  ความคาดหวังและความต้องการของผู้ปกครอง

                2.  การประเมินด้านปัจจัย  (Input Evaluation)  หมายถึง  การประเมินความพร้อม  และความเพียงพอของทรัพยากรด้านบุคลากร  งบประมาณ  อาคารสถานที่  ระยะเวลา  สื่อ  และวัสดุอุปกรณ์

             3.  การประเมินด้านกระบวนการ (Process  Evaluation)   หมายถึง  เป็นการประเมินผล  การปฏิบัติงานตามขั้นตอนการดำเนินงานตามโครงการ  การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร  ครู  นักเรียน  โดยครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมเป็นผู้รายงานผลการดำเนินการ  ปัญหา  อุปสรรคและข้อเสนอแนะ

             4.  การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation)  หมายถึง  การประเมินเกี่ยวกับผลสำเร็จของโครงการโดยการประเมินด้านพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน  และการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน  เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ

             โครงการ หมายถึง โครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์

             รวมพลัง  หมายถึง  ความร่วมมือกันระหว่างครู ผู้ปกครองในการจัดกิจกรรมเพื่อการแก้ปัญหาและสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่นักเรียนโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์

             สร้างนิสัย  หมายถึง  การนำกิจกรรมมาใช้ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ของนักเรียนให้มีนิสัยรักการอ่าน ด้วยกิจกรรมการอ่าน  11  กิจกรรมอันประกอบด้วย  กิจกรรมที่   1  สามฐานแห่งการเรียนรู้  กิจกรรมที่  2  คู่หูคู่ฮา  กิจกรรมที่  3  สารานุกรมแสนดี  กิจกรรมที่  4  เที่ยงนี้มีคำตอบ  กิจกรรมที่ 5  น้องชอบฟังนิทาน  กิจกรรมที่  6  วางทุกงานอ่านทุกเรื่อง   กิจกรรมที่  7  คุยเฟื่องเรื่องข่าว  กิจกรรมที่  8  เรื่องเล่าสวนพฤกษา  กิจกรรมที่  9  ปริศนาน่าสนุก  กิจกรรมที่ 10  แสนสุขที่ห้างสรรพสินค้า และกิจกรรมที่  11  นานาสารพัน

                     นิสัยรักการอ่าน  หมายถึง  พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจในการอ่าน การใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือ  การใช้บริการห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้  การรู้คุณประโยชน์ของการอ่าน  และความรู้สึกที่ดีต่อการอ่าน

                     โรงเรียน  หมายถึง  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี

                     ครู  หมายถึง  ครูและบุคลากรทางการศึกษา  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรม ตามโครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  ปีการศึกษา  2551

                     นักเรียน  หมายถึง  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  1  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์   ปีการศึกษา  2551  

                     ผู้ปกครอง  หมายถึง  ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  1  ถึง  ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์  ปีการศึกษา  2551 

                     ความพึงพอใจของนักเรียน  หมายถึง  ความรู้สึกของนักเรียนที่มีต่อการเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการรวมพลังสร้างนิสัยรักการอ่าน  โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดโบสถ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                     1.  เพื่อนำผลที่ได้รับจากการประเมินโครงการไปวางแผนการจัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนด้านการอ่านและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

                     2.  เพื่อนำผลที่ได้รับจากการประเมินโครงการไปพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนและโรงเรียน

                     3.  นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน สนใจใฝ่เรียนรู้มากขึ้น

 

หมายเลขบันทึก: 328214เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กิจกรรมรักการอ่าน 11 กิจกรรมน่าสนใจมากค่ะ จะนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมที่โรงเรียนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท