เจริญสติ


เพียงพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนธรรมในอนัตตลักขณสูตรแก่เหล่าพระภิกษุว่า "ภิกษุทั้งหลาย รูปเที่ยง ไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า" "เวทนาเที่ยง ไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า" สัญญา สังขาร วิญญาณ… (ก็ถามในลักษณะเดียวกัน) พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เมื่อสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ไม่มีตัวตน" เมื่อพระองค์ตรัสจบเพียงเท่านี้… เหล่าพระภิกษุทั้งหลายก็ได้ดวงตาเห็นธรรม อย่างน้อยที่สุดก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
อุบายธรรมเพื่อดำเนินสู่อริยมรรคโดยการฝึกเจริญภาวนาปรับเข้าสู่ชีวิตจริงในชีวิตประจำวัน

     การฝึกเจริญสมาธิ เจริญสติ นั้น ก็เปรียบเสมือนกับการฝึกจิตในเบื้องต้นเพื่อให้เป็นจิตที่มีกำลัง มีประสิทธิภาพ และควรแก่การงานอันนำไปสู่การเจริญปัญญาหรือวิปัสสนาต่อไป เมื่อเราลองมาวิเคราะห์ดูว่า ไฉนเลย ผู้ปฏิบัติหลายๆ ท่านที่สามารถแยกรูป แยกนาม ก็ดี เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็ดี แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมในเบื้องต้นคือโสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติผลได้ เป็นเพราะเหตุใด? หรือบางท่านผ่านญาณ ๑๖ มา ๒ รอบ ๓ รอบ วิปัสสนาจารย์ก็อธิบายว่าได้บรรลุเพียงแค่จุฬโสดาบัน นั่นหมายความว่า ก็ยังไม่สามารถบรรลุโสดาปัตติผลหรือปิดอบายได้นั่นเอง อันนี้ ก็เป็นที่กังขาของหลายๆ ท่านว่า ไฉนเลยได้ผ่านโคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ จนถึงปัจจเวกขณญาณ อันเป็นที่สุดของญาณ ๑๖ ก็ยังมีกำลังไม่พอที่จะบรรลุโสดาปัตติผลได้ ซึ่งแตกต่างจากในสมัยพุทธกาล ซึ่งเพียงพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนธรรมในอนัตตลักขณสูตรแก่เหล่าพระภิกษุว่า "ภิกษุทั้งหลาย รูปเที่ยง ไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า" "เวทนาเที่ยง ไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า" สัญญา สังขาร วิญญาณ… (ก็ถามในลักษณะเดียวกัน) พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เมื่อสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ไม่มีตัวตน" เมื่อพระองค์ตรัสจบเพียงเท่านี้… เหล่าพระภิกษุทั้งหลายก็ได้ดวงตาเห็นธรรม อย่างน้อยที่สุดก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน

     หลายๆ คน ก็จะทักท้วงขึ้นมาทันทีว่า นั่นเป็นเพราะต่อเบื้องพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันหมายถึงว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับในยุคสมัยปัจจุบันที่จะเกิดธรรมจักษุได้ง่ายเช่นนี้… ทำให้นักปฏิบัติหลายๆ ท่านจึงเริ่มหาหนทางในการหลุดพ้นแตกต่างไปจากคำสอนในอนัตตลักขณสูตร โดยแทนที่จะกำหนดรู้สภาวะให้เห็นความไม่เที่ยงในความไม่เที่ยงจริงๆ เห็นทุกข์ในความเป็นทุกข์จริงๆ และเห็นความไม่มีตัวตนในความไม่มีตัวตนจริงๆ ก็เริ่มไปใช้วิธีไปพยายามทำให้เกิดความไม่มีตัวตนหรือทำให้ว่างด้วยกำลังสมถะบ้าง การพยายามเจริญสติเพื่อยกจิตให้อยู่เหนือขันธ์ ๕ บ้าง ตั้งใจเจริญสติโดยไปตั้งผู้รู้อยู่ตรงฐานผู้รู้บ้าง หรือแม้แต่การแยกรูป แยกนามในนามรูปปริจเฉทญาณด้วยการเจริญวิปัสสนาบ้าง ซึ่งยังล้วนเป็นการตั้งใจ จงใจ พยายามทำให้เกิด ด้วยกำลังสมาธิก็ดี กำลังสติก็ดี โดยปราศจากการรู้ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนตามแนวการสอนในอนัตตลักขณสูตรของพระพุทธองค์ หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ไปตั้งใจ จงใจหรือพยายามทำให้เกิดโดยขาดการเห็นไตรลักษณ์ในความเป็นไตรลักษณ์ในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วยใจเจ้าของจริงๆ แม้แต่ผู้เจริญวิปัสสนาที่เกิดนามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป) ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้เหตุปัจจัยของนามและรูป) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้พิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์) และอื่นๆ… อันนี้ก็เป็นเรื่องของการทำญาณให้เกิดในรูปแบบของการนั่งหลับตาเจริญวิปัสสนา ซึ่งก็เป็นเรื่องของการตั้งใจ จงใจ หรือพยายามทำให้เกิดด้วยการเจริญสติรู้สภาวะธรรมในขณะนั่งหลับตาเจริญวิปัสสนานั้น หาได้เป็นวิปัสสนาญาณซึ่งเห็นแจ้งด้วยใจเจ้าของเพราะเหตุเห็นทุกข์จริงๆ ในขีวิตประจำวันจริงๆ ก็หาได้ไม่ หรือแทบจะไม่เคยดูของจริงคือกองทุกข์ในชีวิตประจำวันเลย เอาแต่ดูของที่ทำขึ้นด้วยการตั้งใจ จงใจ หรือพยายามทำให้เกิดด้วยการนั่งหลับตาเจริญวิปัสสนา แต่แทบจะไม่ได้สนใจหรือไม่เคยใส่ใจกับการลืมตาทำวิปัสสนาเพื่อดูกองทุกข์ในชีวิตประจำวันจริงๆ เลย

     แต่ปรากฏว่าตาสีตาสาหรือแม้แต่หญิงที่มีลูกมีครอบครัวในสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งซึ่งไม่รู้จักการทำสมาธิ การเจริญสติ การเจริญวิปัสสนา หรือญาณ ๑๖ เลย แต่หมั่นดูทุกข์ จนเห็นความไม่เที่ยง หรือ ดูความไม่เที่ยง จนเห็นทุกข์ โดยดูในชีวิตประจำวันเนืองๆ ด้วยการลืมตา จนแจ้งแก่ใจเจ้าของว่า ทุกอย่างล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนทั้งสิ้น ใครไปใครมาปฏิบัติธรรม ก็คุยกันแต่ว่า เห็นกองทุกข์หรือยัง? เห็นกองทุกข์หรือยัง? ปรากฏว่าเมื่อตาสีตาสา หรือแม้แต่หญิงมีลูกมีครอบครัวเมื่อตายหรือละสังขารนี้ไป กระดูกก็กลายเป็นพระธาตุให้เห็นๆ เป็นที่ปรากฏ…นี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงแท้ตามแนวพระธรรมคำสอนในอนัตตลักขณสูตรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงเริ่มต้นด้วยการสอนให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน ในชีวิตจริงๆ จนแจ้งแก่ใจเจ้าของจริงๆ

     แต่สมัยนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้เดินตามแนวคำสอนในอนัตตลักขณสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไปตั้งใจ จงใจ หรือพยายามทำให้เกิดด้วยการเจริญสมถะก็ดี เจริญสติก็ดี หรือแม้แต่เจริญวิปัสสนาลำดับญาณตามรูปแบบที่ยึดถือกันปฏิบัติกันอยู่ก็ดี ซึ่งหากเรามาวิเคราะห์ในเชิงสร้างสรรค์ เบื้องต้นต้องกล่าวก่อนว่า การฝึกปฏิบัติตามรูปแบบในการเจริญสติ เจริญภาวนา เจริญวิปัสสนาหรือญาณ ๑๖ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เสมือนหนี่งการเรียนไปตามขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการฝึกในรูปแบบของการนั่งหลับตา เพื่อให้รู้จักสภาวะนั้นๆ แต่การจะเข้าถึงสภาวะนั้นๆ มันเป็นคนละเรื่องกับการรู้จักสภาวะนั้นๆ เพราะการเข้าถึงสภาวะนั้นๆ จนแยกรูปแยกนามได้อันเป็นวิปัสสนาญาณแท้จริงนั้น ต้องเกิดเองเป็นเอง อันเนื่องมาจากการเจริญวิปัสสนาในชีวิตจริงในชิวิตประจำวันด้วยการเข้าไปเห็นทุกข์อริยสัจในชีวิตจริงในชีวิตประจำวันอย่างแจ่มแจ้งแก่ใจเจ้าของ จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และละวางจากความยึดมั่นถือมั่นในความมีตัวตน อันเป็นเหตุต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ให้สามารถเห็นรูปเห็นนามซี่งเป็นวิปัสสนาญาณแท้จริงที่เกิดเองเป็นเอง เพราะเหตุเห็นกองทุกข์หรือทุกข์อริยสัจ แจ้งแก่ใจเจ้าของในชีวิตจริง นั่นเอง อานิสงส์ของวิปัสสนาญาณที่เกิดเองเพราะจากเริ่มจากการรู้ทุกข์ ก็จะแตกต่างจากการเกิดวิปัสสนาญาณในรูปแบบที่ทำให้เกิดด้วยการฝึกเจริญวิปัสสนาตามรูปแบบของการนั่งฝึก อันเป็นการนำผู้ปฏิบัติให้ไปรู้จักสัมผัสสภาวะเท่านั้น อาทิ อาตมาสอนในเรื่องของการฝึกทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม หรือฝึกเจริญสติให้มีสติเป็นกลางๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอยู่บนฐานผู้รู้ หรือไม่ต้องตั้ง กล่าวคือ ให้รู้อยู่ที่ "รู้" ก็ตาม อันนี้ ก็ยังจัดว่าเป็นเรื่องของการฝึกหัด หรือเป็นเบื้องต้นของการฝึกให้รู้จักสภาวะนั้นๆ แต่การจะเข้าถึงสภาวะนั้นๆ จนสักแต่ว่ารู้ และ "สักแต่ว่ารู้" นี้เค้าไปรวมลงที่ฐานผู้รู้เองหรือเป็นไปเอง โดยไม่ต้องไปตั้งอย่างที่เคยตั้งใจตั้งเมื่อตอนเริ่มฝึกหัด การที่ผู้รู้ไปรวมเองตรงฐานผู้รู้เพราะเหตุเห็นทุกข์และเกิดการปล่อยวางในอารมณ์และกิเลสทั้งหลาย จึงเป็นการเข้าถึงสภาวะด้วยการทวนกระแสอันเป็นการเดินเข้าสู่อริยมรรค ส่วนการไปตั้งผู้รู้นั้นในช่วงเริ่มฝึกหัด อันนั้น โดยมากมักจะพลาดตกไปเสวยสุขอยู่ในวิญญาณอันไม่มีประมาณ หรือความว่างไม่มีประมาณอันเป็นสุญญตวิหารธรรมที่เป็นผลจากการไปตั้งผู้รู้ เสมือนหนึ่งเป็นการชิมลางเข้าไปรู้จักสภาวะของสุญญตวิหารธรรมนั้น และมักจะเข้าใจผิดเสียเนิ่นนานว่าตนบรรลุธรรมใกล้ถึงที่สุดหรือไม่ก็ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งต่างจากการที่ผู้รู้รู้สักแต่ว่า "รู้" ทุกข์ จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และผู้รู้ก็เกิดการละวางอารมณ์ โดยผู้รู้ไปรวมเป็นหนึ่งตรงฐานของผู้รู้อันเป็นไปเอง เสมือนหนึ่งผู้รู้ได้มีประสบการณ์จริงเพราะเหตุเห็นกองทุกข์ในชีวิตจริง และเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จนเกิดการสลัดคืน และทวนกระแสความหน่วงเหนี่ยว เยื่อใย อาลัยอาวรณ์ของกระแสโลก อันอยู่ภายใต้ความครอบงำของวัฏฏะของวิญญาณทั้ง ๖ และเดินเข้าสู่อริยมรรค อริยผลได้โดยลำดับ จนถึงซึ่งความหลุดพ้น อันเป็นการเข้าถึงสุญญตวิหารธรรมที่แท้จริง ซึ่งแตกต่างจากการไปรู้จักสภาวะของสุญญตวิหารธรรมในเบื้องต้นของการฝึกหัดโดยการไปตั้งใจเพื่อตั้งผู้รู้ตรงฐานผู้รู้นั้น การเจริญสติเพื่อพัฒนาผู้รู้ไปสู่ภาคปฏิบัติโดยปรับเข้าสู่ชีวิตจริงเพื่อให้ผู้รู้ได้รู้และแจ้งในกองทุกข์จนเกิดความเบื่อหน่าย จางคลาย และสลัดคืนจากกองทุกข์ทั้งหลายในชีวิตประจำวันจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติพึงพัฒนาต่อจากการฝึกหัดดังที่ได้ศึกษาและเรียนมา ผลที่ได้ของการฝึกเพื่อให้เป็นไปเพื่อรู้จักสภาวะกับผลที่ได้ของการเข้าถึงสภาวะที่เป็นไปเองเพราะเห็นทุกข์ในความไม่เที่ยง และเห็นความไม่เที่ยงในทุกข์ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ผลที่ได้จากการทำในเรื่องเดียวกัน แต่เกิดจากเหตุปัจจัยต่างกัน กล่าวคือ การฝึกให้เป็นไปกับการมีประสบการณ์จริงในชีวิตจริง จึงมีผลได้ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากมาย โดยเปรียบเสมือนเส้นผมบังภูเขา เพราะเส้นผมนี้ไปบังตาผู้ปฏิบัติที่กำลังฝึกฝนแต่ขาดประสบการณ์จากการเห็นทุกข์อริยสัจในชีวิตจริงๆ อาจจะหลงตนได้ว่าตนเข้าถึงมรรคผลหรือจบพรหมจรรย์แล้ว

     ต่อไปก็มาถึงประเด็นสำคัญว่า เมื่อเราได้ฝึกฝนการเจริญสมาธิก็ดี การเจริญสติก็ดี การเจริญวิปัสสนา จนรู้สักแต่ว่ารู้… เป็นแล้ว เข้าใจดีแล้ว… จนสามารถกำหนดรู้รูปนาม หรือแยกรูปแยกนาม และเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ต่อไปก็ต้องรู้จักปรับการฝึกอันยังเนื่องด้วยการตั้งใจ การจงใจ การพยายามทำให้เกิด ปรับเข้าสู่ประสบการณ์จริงด้วยการเห็นกองทุกข์ทั้งหลายในชีวิตประจำวันจริงๆ อันเป็นทุกข์อริยสัจ ซี่งพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเป็นหลักไว้ในกระบวนการเข้าถึงซึ่งวิมุตติและความหลุดพ้นตามหลักอริยสัจ ๔ ว่า ทุกข์เป็นที่ต้องกำหนดรู้ เป็นประการแรก เพราะเหตุเมื่อกำหนดรู้ทุกข์ได้ ก็จะเห็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นความดับทุกข์ และเห็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์ เป็นไปตามลำดับ การที่นักปฏิบัติทั้งหลายฝึกเจริญสมาธิ เจริญสติ เจริญวิปัสสนา จนสามารถกำหนดรู้รูปนามคือแยกรูปแยกนาม เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปหรือผ่านญาณ ๑๖ ไปตามลำดับขั้นตอน อันนี้ เป็นเรื่องของการฝึกในรูปแบบของการเจริญสมาธิ เจริญสติ เจริญวิปัสสนา เพื่อให้รู้เท่าทันสภาวะที่เกิดขึ้นในขณะนั่งภาวนานั้น จนรู้จักสภาวะนั้นตามความเป็นจริง แต่สภาวะที่เห็นรูปนาม เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั้นไม่ได้เป็นไปเองอันเป็นผลจากการเข้าไปกำหนดรู้กองทุกข์หรือทุกข์อริยสัจ จึงกลายเป็นว่าเห็นรูปนาม เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แบบไปทำให้เกิดด้วยกำลังของการเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญวิปัสสนาอันเป็นไปตามรูปแบบ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเห็นกองทุกข์จนเกิดเห็นโทษของกองทุกข์ทั้งหลายตามความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้ เรียนปริยัตินำการปฏิบัติจนติดอกติดใจในปริยัติ เลยมีภูมิความรู้ชั้นสูงสามารถกำหนดรู้รูปนามอย่างละเอียด กำหนดรู้จิตเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับได้อย่างละเอียด แต่ภูมิความรู้กับภูมิจิตภูมิธรรมนั้นต่างกัน เพราะภูมิจิตภูมิธรรมนั้นเป็นประสบการณ์ตรงที่เริ่มจากการไปเห็นหรือกำหนดรู้กองทุกข์หรือทุกข์อริยสัจตามนัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในอนัตตลักขณสูตร ฉะนั้น ในการฝึกอบรมพัฒนาสติในการภาวนาฯ ซึ่งอาตมาได้แบ่งหลักสูตรไว้เป็น ๒ ขั้นตอน คือ การฝึกภาวนาเพื่อพัฒนาสติให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและสำนึก และการฝึกภาวนาเพื่อพัฒนาความรู้สำตัวทั่วพร้อมและสำนึกรู้ให้เป็นใจรู้ ต่อไปถ้าเห็นผู้เรียนมีความตั้งใจจริงที่อยากจะเข้ารับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง อาตมาคงต้องปรับเพิ่มเติมหลักสูตรอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ การปรับการฝึกหัดเจริญภาวนาเข้าสู่การภาวนาในชีวิตประจำวัน เนื้อหาในการฝึกอบรมจะเป็นการ integrate สัมมาทิฏฐิ เข้าสู่การเจริญสติ เจริญสมาธิ โดยให้อุบายในการกำหนดรู้กองทุกข์หรือทุกข์อริยสัจด้วยหลักอาตาปี สัมปชาโน สติมา อันเป็นอุบายเรืองปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงขมวดปมการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ลงไว้ที่การมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พร้อมกับการให้อุยายในการรู้เท่าทันในวงจรปฏิจจสสมุปบาททั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม อันเป็นปัญญานำให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนา ดังที่ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใด้เห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท"

     อนึ่ง การอธิบายธรรมเป็นตัวหนังสือนี้ ก็ยังหนีไม่พ้นของการเรียนปริยัติ ความแจ่มแจ้งย่อมไม่เหมือนกับการมาฝึกปฏิบัติจริงๆ เพราะมีอุบายบางประการ ที่อาตมาไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้ และผู้ปฏิบิติแม้จะเรียนจากตัวหนังสือเท่าไรก็จะยังไม่สัมผัสเข้าใจได้อย่างแท้จริง เพราะการเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจะต้องฝึกพัฒนาไปตามขั้นตอน คือ เบื้องต้นฝึกพัฒนาสติให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและสำนึกรู้ และพัฒนาความรู้สำตัวทั่วพร้อมและสำนึกรู้นั้นให้เป็นใจผู้รู้ ฉะนั้น ผู้ที่สนใจใฝ่ศึกษาเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้งในธรรมปฏิบัตินี้… หากมีความตั้งใจจริง โดยมาเข้าฝึกอบรมในโครงการฝึกอบรมพัฒนาสติในการภาวนาฯ อย่างต่อเนื่องสักระยะหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ เพื่อให้โอกาสแก่ตัวท่านเองในการดำเนินเข้าสู่เส้นทางอริยมรรคนี้… อันอาตมาก็เพียงแค่พอจะนำพาท่านเข้าสู่เส้นทางอริยมรรค โดยการบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้นขึ้นอยู่ที่ความเพียรของแต่ละท่านเอง… อาตมาซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ก็เพราะเหตุมีความตั้งใจจริงเป็นพื้นเดิมอยู่แล้วที่จะถ่ายความรู้ประสบการณ์ของอาตมาโดยไม่ปิดบังอำพราง เพราะเหตุไม่ต้องการให้นักปฏิบัติที่มีความตั้งใจจริงทั้งหลายต้องเนิ่นช้าในการปฏิบัติธรรมอย่างที่อาตมาต้องประสบมาก่อน เรียกว่าร่นระยะเวลาการเดินทางของท่านอย่างน้อยสิบปี และอดนึกสงสารไม่ได้ที่เห็นผู้สนใจปฏิบัติภาวนากันมาก ซึ่งอุตส่าห์สละเวลาและความสุฃส่วนตัวไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗วัน ๑๐วัน บ้าง แต่ผลที่ได้คือถ้าไม่นั่งหลับ ก็ตกภวังค์ หรือไม่ก็กลับบ้านไปด้วยความที่หน้าตายังไม่ผ่องใสสดชื่น หรืออาจจะบูดเบี้ยวไปกว่าเดิม เพราะความที่ปฏิบัติด้วยความตั้งใจจรดจ่อมากไปจนเกิดอาการเกร็ง บังคับ เหมือนหุ่นยนต์ ส่งผลให้ไม่สามารถปรับตัวกลับเข้าไปสู่สังคมเพื่อนฝูงญาติมิตรได้เป็นปกติ โดยปรับการปฏิบัติให้กลมกลืนอย่างเป็นธรรมชาติกับชีวิตจริงในชีวิตประจำวันและสังคมได้จริงๆ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32817เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท