บอกเคล็ดลับแก่ สพบ.


บอกเคล็ดลับแก่ สพบ.


          ที่จริงเป็นเคล็ดลับที่ สคส. ใช้อยู่   และคิดว่าไม่ใช่แค่มีประโยชน์ต่อ สพบ. เท่านั้น   แต่ยังมีประโยชน์ต่อหน่วยงานระดับขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐทุกหน่วยงาน


          เคล็ดลับนี้มีสั้น ๆ (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) คือ   อย่าทำตัว (องค์กร/หน่วยงาน) เป็นเปรต


          คำว่าเปรตแปลว่าผู้หิวโหย


          ในที่นี้หมายถึงผู้หิวโหยผลงานและมุ่งดำเนินการด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อสร้างผลงานให้แก่ตนเอง   หรือแก่องค์กร/หน่วยงานของตนเอง


          โปรดสังเกตให้ดีนะครับว่า   เส้นกั้นระหว่างความหิวโหยกับฉันทะเป็นเส้นกั้นที่บางนิดเดียว


          ความหิวโหยมีกิเลสตัณหาเป็นเจ้าเรือน
          ฉันทะมีปัญญาและความดีเป็นเจ้าเรือน


          หน่วยงานด้านการพัฒนาของรัฐทุกหน่วยงาน   ใช้เคล็ดลับนี้ได้ทั้งสิ้น


          เมื่อท่านไม่หิวโหยผลงานส่วนของตน   ดวงตาและปัญญาของท่านจะใสสว่างขึ้น   ทำให้มองเห็นผลงานของผู้อื่น...ผู้ที่ท่านมีหน้าที่เข้าไปพัฒนา


          เมื่อท่านมองเห็นผลงานของผู้ที่ท่านมีหน้าที่พัฒนา   ท่านก็จะเข้าไปหนุนให้เขาดำเนินการ KM ได้   โดยเอาความรู้จากความสำเร็จเล็ก ๆ มาเล่าสู่กันด้วยเทคนิค storytelling ภายใต้บรรยากาศชื่นชมยินดี   และเทคนิคสุนทรียสนทนา (dialogue)


          “ขุมความรู้” ที่สกัดได้จากการเล่าสู่กันฟัง   และ “แก่นความรู้” ที่สังเคราะห์จัดหมวดหมู่ได้   คือ “ผลงาน” ร่วมกันของหน่วยงานที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น


          เท่ากับท่านได้เข้าไปทำให้หน่วยงานที่ท่านมีหน้าที่เข้าไปพัฒนา   เกิด “ผลงาน” ที่ผู้คนยกย่อง   ชื่นชม   จากต้นทุนเดิมที่มีอยู่   และโดยเทคนิค KM    เขาจะเข้าใจโดยไม่ต้องมีใครมาบอก   ว่าผลงานที่น่าชื่นชมเหล่านั้นยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงพัฒนาได้อีกมาก   และเขาจะเห็นวิธีการ   แนวทาง   และเรื่องราวที่จะปรับปรุง   เหมือนกับผู้บริหารและครูกว่า 20 รร. ที่มาร่วมตลาดนัดความรู้ครูเพื่อศิษย์ : การจัดการความรู้เพื่อเด็กไทยวัยใส (แก้วิกฤตวัยรุ่น)   กล่าวตอนช่วง AAR นั่นเอง


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         28 ส.ค.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3269เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท