พุทธธรรมาภิบาล : แนวคิดธรรมาภิบาลวิถีพุทธ (๑)


“เราไม่ขัดแย้งกับโลก แต่โลกขัดแย้งกับเรา ผู้กล่าวเป็นธรรมไม่ขัดแย้งกับใครในโลก สิ่งที่บัณฑิตสมมุติว่าไม่มีในโลก แม้เราก็บอกว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งใดที่บัณฑิตสมมุติว่ามีในโลก แม้เราก็บอกว่าสิ่งนั้นมี... อุบล ปทุม บุณฑริก เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ เติบโตพ้นน้ำ ตั้งอยู่ในน้ำแต่ไม่ติดน้ำ แม้ฉันใด ตถาคตเกิดในโลก เติบโตในโลก ครอบงำโลก โลกฉาบทาไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน”[

บทนำ

              โลกในยุคโลกาภิวัตน์ มีปัญหามากมาย ตั้งแต่ปัญหาพื้นฐานไปจนถึงปัญหาระดับโครงสร้าง  ตัวอย่างของปัญหาต่างๆ ได้แก่  ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ   เกิดช่องว่างระหว่างความมีกับความไม่มีขยายตัวไปในวงกว้าง  ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย  ปัญหาข้อพิพาทระหว่างพรมแดน  หลายประเทศประสบปัญหาเพราะไม่สามารถสร้างสันติภาพภายในประเทศของตนได้  ปัญหาดังกล่าวกำลังรอแนวทางการแก้ไข  ในแวดวงวิชาการปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะนำพระพุทธศาสนาเข้าไปผูกพัน (engage) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม มีความพยายามที่จะตีความพุทธธรรมให้ครอบคลุมปัญหาใหม่ๆ เนื่องจากพุทธศาสนาแบบจารีตที่เน้นการแก้ปัญหาแบบปัจเจกบุคคลไม่เพียงพอต่อการตอบปัญหาของสังคมยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนได้ การแก้ปัญหาความทุกข์ของปัจเจกบุคคลและสังคมสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้[1]  ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากล่าวได้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีความขัดแย้งน้อยที่สุด  พระพุทธองค์สามารถสร้างสังคมสงฆ์ขึ้นมาให้เป็นแบบอย่างของรูปแบบการปกครอง หรือรูปแบบการบริหารจัดการในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี   อย่างไรก็ตามบัดนี้พระพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองได้ล่วงเลยมาแล้วกว่า ๒๕๕๐ ปี  หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์   แต่พระธรรมของพระพุทธองค์ก็ยังคงอยู่ และมีความสำคัญเสมอมาสามารถนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยได้ ดังความตอนหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า   “เราไม่ขัดแย้งกับโลก แต่โลกขัดแย้งกับเรา ผู้กล่าวเป็นธรรมไม่ขัดแย้งกับใครในโลก สิ่งที่บัณฑิตสมมุติว่าไม่มีในโลก แม้เราก็บอกว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งใดที่บัณฑิตสมมุติว่ามีในโลก แม้เราก็บอกว่าสิ่งนั้นมี... อุบล ปทุม บุณฑริก เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ เติบโตพ้นน้ำ ตั้งอยู่ในน้ำแต่ไม่ติดน้ำ  แม้ฉันใด ตถาคตเกิดในโลก เติบโตในโลก ครอบงำโลก โลกฉาบทาไม่ได้  ฉันนั้นเหมือนกัน”[2]  พุทธดำรัสข้างต้นตีความได้ว่า คำว่า “ตถาคต” หมายถึง “ธรรม” หรือ “ธรรม” หมายถึง “ตถาคต” ดังพุทธพจน์ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นตถาคต”  ดังนั้นพระธรรมของพระองค์หากรู้จักประยุกต์ใช้ย่อมสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในโลกได้อย่างแท้จริง   มีเพียงกิเลสของมนุษย์เท่านั้นที่เห็นว่าธรรมของพระพุทธองค์ล้าสมัย  พุทธธรรมาภิบาล หรือธรรมาภิบาลตามแนวพุทธเป็นกระบวนยุทธวิธีหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจศึกษาหาคำตอบ และพยายามนำเสนอในงานชิ้นนี้เพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่มีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่งดังเช่นในปัจจุบัน  ทั้งนี้ด้วยผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดธรรมาภิบาล  หรือ good governance ตามแนวตะวันตกที่มีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้นยังมีจุดอ่อน และความไม่ชัดเจนในหลายประเด็น  ทั้งในแง่ความหมาย  เป้าประสงค์ รวมถึงกระบวนวิธีการปฏิบัติ  หากจะทำให้สมบูรณ์ พระพุทธศาสนาจะมีทางออกของเรื่องนี้อย่างไร   จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้  ทั้งนี้ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์คำสอนในพระพุทธศาสนาโดยยึดคัมภีร์จักกวัตติสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการหรือการปกครอง และมีความใกล้เคียงกับหลักธรรมาภิบาลมากที่สุด พร้อมกันนี้ยังได้นำหลักฐานจากส่วนอื่นๆ ในพระไตรปิฎกมาสนับสนุนโดยพิจารณาจากกรอบหลักธรรมาภิบาลปัจจุบัน ประเด็นวัตถุประสงค์ในการศึกษาอื่นๆ ที่ผู้เขียนได้กำหนดไว้เป็นแนวทาง  เช่น อะไรคือที่มาของแนวคิดธรรมาภิบาล   อะไรคือความแตกต่างของคำว่า ธรรมราชา หรือธรรมาภิบาล   อะไรคือจุดอ่อนของธรรมาภิบาลแบบปัจจุบัน  รวมถึงบทบาทของพุทธศาสนาจะมีส่วนช่วยพัฒนาธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นกับสังคมโลกโดยรวมได้อย่างไร  เป็นต้น

 

แนวคิดธรรมาภิบาล 

           คำว่า “good governance” เป็นศัพท์ที่พัฒนามาจากคำว่า “good government” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการโลกาภิวัตน์  หรือการแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของชาติมหาอำนาจสู่ชาติด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา  ซึ่งเกิดขึ้นหลังยุคสงครามเย็นได้สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก  อเมริกาได้มีความพยายามที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ โดยการแผ่ขยายแนวคิดและอิทธิพลไปในส่วนต่างๆ ของโลกเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐเอง   กระแสโลกาภิวัตน์จึงเป็นอำนาจเผด็จการแบบใหม่ที่อาศัยการครอบงำจากทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลของแต่ละประเทศ  ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม จึงถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยร่วมกับกลุ่มผู้นำหรือนักการเมืองท้องถิ่น  อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การปกครองที่ไม่เป็นธรรม แนวคิดธรรมาภิบาลจึงเกิดขึ้นโดยมีที่มาอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. จากเจตนารมณ์ของนักวิชาการ หรือนักรัฐศาสตร์ที่ต้องการให้มนุษยชาติมีระบบการปกครองที่ดีและเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันกลไกการปกครองไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้นได้

๒. เกิดจากกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง World Bank (ธนาคารโลก) และ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ที่ต้องการหลักประกันให้แก่เจ้าหนี้ในการทวงหนี้ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นล้วนเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนท้องถิ่นต่างๆ

         สำหรับประเทศไทยหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในปี ๒๕๔๐ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศลูกหนี้ที่เข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ย่อมไม่อาจจะหลีกเลี่ยงแนวคิดและอิทธิพลดังกล่าวได้ แนวคิดธรรมาภิบาลจึงเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับข้อตกลงในโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวกันว่าสาเหตุที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเกิดจากการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในแวดวงนักการเมือง  แวดวงนักธุรกิจ รวมถึงแวดวงข้าราชการอันนำมาซึ่งความไร้เสถียรภาพภายในประเทศ  อีกส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีการโจมตีค่าเงินบาทจากกลุ่มทุนต่างชาติขนาดใหญ่  ทำให้นักวิชาการไทยกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลสร้าง “ธรรมรัฐแห่งชาติ” ขึ้น ในระยะแรก  คำว่า ธรรมาภิบาล (good governance)  มีนักวิชาการไทยหลายท่านได้บัญญัติศัพท์เรียกกันไปต่าง ๆ มาก่อน เช่น   สุประศาสนการ   ธรรมรัฐ   ธรรมราษฎร์  การกำกับดูแลที่ดี ประชารัฐ   รัฐาภิบาล  การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี และกลไกประชารัฐที่ดี

          ในส่วนของความหมายนั้น  UNDP (United Nation Development Program)     หน่วยงานสังกัดองค์การสหประชาชาติ ได้ให้นิยามความหมายของ good governance    หรือธรรมาภิบาลว่า คือการใช้อำนาจทางการเมือง การบริหาร และเศรษฐกิจในการดำเนินภารกิจ กิจกรรมต่างๆ ของประเทศในทุกระดับโดยมีกลไก กระบวนการ สถาบัน ซึ่งประชาชนและกลุ่มต่างๆ สามารถแสดงออกถึงความต้องการผลประโยชน์ การใช้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การประสาน ประนีประนอมความแตกต่างโดยผ่านกลไก กระบวนการ และสถาบันเหล่านั้น

          อาจารย์ธีรยุทธ  บุญมี  ซึ่งเรียก good governance เป็นท่านแรกๆว่า ธรรมรัฐ ได้ให้ความหมายว่า คือ การบริหารจัดการประเทศที่ดีในทุกๆ ด้าน และทุกๆ ระดับ การบริหารจัดการที่ดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีหลักคิดว่าทั้งประชาชน ข้าราชการ บริหารประเทศเป็นหุ้นส่วน (partnership) กันในการกำหนดชะตากรรมประเทศ 

          ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้ให้คำนิยามของธรรมรัฐไว้ว่า คือ รัฐที่มีความถูกต้อง เป็นธรรม ซึ่งหมายถึงความถูกต้องเป็นธรรมใน ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ

๑. การเมืองและระบบราชการที่โปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม ถูกตรวจสอบได้

๒. ภาคธุรกิจที่โปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม สามารถตรวจสอบได้

๓. สังคมที่เข้มแข็ง ความเป็นประชาสังคม (civil society) สามารถตรวจสอบภาครัฐ และภาคธุรกิจให้ตั้งอยู่ในความถูกต้องได้[3]

          เมื่อกล่าวโดยสรุป  ธรรมาภิบาล  หมายถึง  การบริหารจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาของประเทศ  โดยมีการเชื่อมโยงองค์ประกอบทั้งสามส่วนของสังคม  คือ ภาคราชการ  ภาคธุรกิจเอกชน  และภาคประชาสังคม  และให้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์  ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองอย่างสมดุล  ส่งผลให้สังคมดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ตลอดจนมีการใช้อำนาจในการพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปอย่างมั่นคงยั่งยืน  และสามารถตรวจสอบได้

         สำหรับประเทศไทยในภาคราชการได้เริ่มดำเนินการสร้าง  “ธรรมาภิบาล”  ขึ้นแล้ว  กล่าวคือ  ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี  พ.ศ. ๒๕๔๒  โดยระเบียบนี้กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐ  ดำเนินการบริหารจัดการโดยยึดหลักการ  ๖  หลัก  ได้แก่  หลักนิติธรรม  หลักคุณธรรม  หลักความโปร่งใส  หลักความมีส่วนร่วม  หลักความรับผิดชอบ  และหลักความคุ้มค่า  ซึ่งสรุปสาระสำคัญ  ได้ดังนี้

.  หลักนิติธรรม (the rule of law) ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจ หรืออำนาจของตัวบุคคล

.  หลักคุณธรรม (morality) ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคมและส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกันเพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบวิชาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ

.  หลักความโปร่งใส (accountability) ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติโดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวกและมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

.  หลักความมีส่วนร่วม (participation)  ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติหรืออื่นๆ 

.  หลักความรับผิดชอบ (responsibility) ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมืองและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน

.  หลักความคุ้มค่า (cost – effectiveness or economy) ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและรักษาพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน[4]

            สำหรับในภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม  การสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นนั้น  ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางมากนัก  รวมทั้งประชาชนยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างดีพอ  จึงทำให้ยังขาดกลไกของการตรวจสอบและการกำกับดูแลในการปฏิบัติงานเพื่อก่อให้เกิด “ธรรมาภิบาล” ขึ้นอย่างแท้จริง    สถาบันที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นมีอยู่ด้วยกันสามสถาบัน ได้แก่ ภาครัฐ  ภาคเอกชน  และประชาสังคม  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสามนี้ที่จะนับว่าประสบความสำเร็จได้  จะต้องยังผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้  จะต้องมีรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีประชาสังคมที่มีความตื่นตัว และตระหนักในบทบาท สิทธิ และหน้าที่ของตน  และมีภาคธุรกิจเอกชนที่มีผลิตภาพสูง  สามส่วนนี้ถือเป็นองค์ประกอบที่จะขาดเสียมิได้ของการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น  รัฐที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมือง และกฎหมายที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมในขณะที่ประชาสังคมที่เข้มแข็งจะช่วยระดมกลุ่มและชุมชนส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคม  ให้หลักประกันในเรื่องโอกาสของการมีส่วนร่วม  และช่วยสร้างทุนทางสังคมและความสมัครสมานสามัคคีระหว่างคนในสังคม ส่วนภาคธุรกิจเอกชนที่มีผลิตภาพสูง ถือเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ  และเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศ 

             ถึงแม้ว่าหลักธรรมภิบาลจะมีความสำคัญดังที่กล่าวแล้วข้างต้น  แต่สภาพการณ์ต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันทั้งระดับบริษัท ระดับสังคม ระดับประเทศหรือในระดับโลก  ยังดูว่าจะยังห่างไกลกับนิยามและความหมายแห่งหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านัยแห่งธรรมาภิบาลในปัจจุบันกับนัยแห่งธรรมาภิบาลในพระพุทธศาสนานั้นยังมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเป้าหมาย   กระบวนวิธีการปฏิบัติ   รวมถึงที่มาหรือปรัชญาของแนวคิดดังกล่าว  หากพิจารณาวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงนัยแฝง จะพบว่าธรรมาภิบาลเกิดขึ้นบนฐานคิดเรื่องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ อันว่าด้วยความสามารถด้านการแข่งขันเป็นหลัก   เป็นอัตตวาทุปาทาน ระดับประเทศ ทำให้ผู้ที่มีกำลังมากกว่ามุ่งแข่งขันเพื่อเอาชนะผู้อ่อนด้อยกว่าโดยชอบธรรมเข้าทำนอง “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”  ปลาใหญ่ในที่นี้หมายถึงชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใช้หลักธรรมาภิบาลครอบงำปลาเล็กคือชาติที่ด้อยกว่า ในระดับสังคมก็เช่นเดียวกัน  หากปรัชญา  หลักคิด  ตั้งไว้ผิด  คือมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่เช่นนี้ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง    แต่หากพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ไม่ต้องคาดหวังผลเลิศ  การมีธรรมาภิบาลย่อมดีกว่าการไม่มี   นั่นคือหลักธรรมาภิบาลถือเป็นการประนีประนอม หรือการสมานฉันท์ระหว่างสิ่งที่ดีที่สุด กับสิ่งที่เลวที่สุด  หรือระหว่างธรรมกับอธรรม  เพราะหลักการพื้นฐานของแนวคิดดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์  หรือความเห็นแก่ตัวดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าแม้ธรรมาภิบาลจะเป็นสิ่งที่ดีโดยหลักการ  แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบปัญหาจริยศาสตร์อันเป็นความขัดแย้งระหว่าง ธรรมาภิบาลเล็กระดับบุคคล หรือองค์กร กับธรรมาภิบาลใหญ่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก  ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากอุปาทาน  ๔ คือความยึดมั่นถือมั่นในตนเอง รวมถึงประเทศตนเอง เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นใคร่ที่จะเอาชนะทางเศรษฐกิจเรียกว่ากามุปาทาน  ความยึดมั่นในแนวคิด เรียกทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในการปฏิบัติเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน [5]  

          ความสลับซับซ้อนของสังคมและสิ่งแวดล้อมออกเป็นระดับต่างๆ เช่น  ระดับนานาชาติหรือระดับโลก เรียกว่าโลกาภิบาล (global governance) ระดับประเทศใดประเทศหนึ่ง เรียกว่า รัฐาภิบาล (national governance)     ระดับสังคมของแต่ละประเทศ เรียกว่า สังคมภิบาล   (social governance)    ระดับองค์กรหรือบรรษัทในประเทศใดประเทศหนึ่ง เรียกว่า บรรษัทภิบาล  (corporate governance)   มองในระดับหน่วยย่อยสุด คือระดับบุคคล และระดับครอบครัวก็จำต้องมีธรรมาภิบาล รวมถึงแนวปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือว่าเป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งโลก ผู้เขียนกำหนดให้พื้นที่สีขาวมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ได้สูงตามแนวคิดธรรมาภิบาลตะวันตก เพราะมีผลประโยชน์ตนเป็นเป้าหมายหลัก ทำให้เกิดความสงสัยว่าหากมีธรรมาภิบาลแล้วผู้ปฏิบัติจะยึดผลประโยชน์ของใคร ระหว่างตนเอง  สังคม ประเทศ หรือเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะเท่านั้น  เพราะเมื่อมีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มหนึ่งก็จะมีอีกกลุ่มเสียผลประโยชน์อยู่เสมอ กรณีที่เห็นได้ในปัจจุบันเช่น เรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่สร้างมลภาวะมากที่สุด  แต่อเมริกาเลือกที่จะดูแลปัญหาด้านเศรษฐกิจของตัวเองแทนการดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งโลก  คำถามคืออเมริกาควรยึดธรรมาภิบาลระดับโลก หรือธรรมาภิบาลระดับประเทศ  จะเห็นได้ว่าธรรมาภิบาลนั้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและยากที่สุด  จุดอ่อนสำคัญของแนวคิดธรรมาภิบาลแบบตะวันตกก็คือเป็นแนวคิดแบบวัตถุนิยม  หรือประโยชน์นิยม นอกจากนี้กระบวนการธรรมาภิบาลในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับผู้นำ  ผู้บริหารมากกว่าพนักงาน หรือประชาชน  รวมถึงระดับโครงสร้างมีการใช้กฎหมาย  กฎบัตร  หรือกติการ่วมเป็นเครื่องมือมากกว่าที่จะเริ่มต้นที่ภายในจิตใจ  ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งและเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาที่แท้จริง   นอกจากนี้ธรรมาภิบาลดังกล่าวยังมีลักษณะหยุดนิ่ง  นั่นคือมุ่งเพียงสันติภาพภายนอก สุขภายนอกเท่านั้น  ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงธรรมหรืออุดมคติที่สูงขึ้นไปอีก  ในขณะที่พุทธศาสนามีอุดมการณ์และเป้าหมายที่สูงส่งและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง นั่นคือพื้นที่สีดำที่ทุกฝ่ายจะได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางธรรมะโดยไม่มีความขัดแย้ง  (โปรดติดตามตอน ๒)

 


[1] พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา) , ประเด็นโต้แย้งว่าด้วยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม,   วารสาร บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์  ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม – ธันวาคม  ๒๕๔๙, หน้า ๕๒. 

[2]  สํ.ข.๑๗/๙๔/๑๗๘ . (ปุปผสูตร)

[3]  http://www.bpp.go.th/PDF/GoodGovernance.pdf

[4]  http://www.bpp.go.th/PDF/GoodGovernance.pdf

[5]  พระเดโชพล ชนาสโภ,  อุปาทานในพุทธศาสนาเถรวาทกับปัญหาในโลกปัจจุบัน. หน้า ๑๓๘

หมายเลขบันทึก: 326472เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท