ตลาดนัดความรู้ป้องกันไข้เลือดออก


ตลาดนัดความรู้ป้องกันไข้เลือดออก


          วันนี้ (29 ส.ค.48) ผมเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ  “การมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก”   ที่วิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข   จ.นครปฐม   จัดโดยสมาคมหมออนามัย   โดย สคส. สนับสนุนวิทยากร   คือคุณอ้อมเป็นวิทยากรหลัก   คุณธวัชเป็นผู้ช่วย   และผมเป็นกองหนุน


          KM เริ่มด้วยความเชื่อว่า   ความรู้ที่ต้องการมีอยู่แล้วภายในองค์กรหรือภายในกลุ่ม   ดังนั้นผู้จัดการประชุมนี้จึงจัดเวลาให้ 2 หน่วยงานที่ถือว่ามี Best Practice ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายมาเล่าวิธีทำงานของตน   คือของสถานีอนามัยบ้านวังสิงห์คำ  ต.ป่าแดด  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  กับของ จ.อุดรธานี


          ฟังจาก 2 หน่วยงาน   เราก็เห็นชัดเจนว่าความเชื่อของเราถูกต้อง   ทั้ง 2 หน่วยงานมีความรู้ปฏิบัติมากมาย   บางเรื่องถือเป็นนวัตกรรมหรือการสร้างสรรค์   เช่น  ทีมอุดรธานีมีการประดิษฐ์เครื่องชอร์ตลูกน้ำยุง   รวมทั้งคิดใช้สารเคมีชนิดใหม่แทนทรายอะเบท   ส่วนของ ต.ป่าแดด   ใช้มาตรการถึง 15 มาตรการ   ดำเนินการอย่างเป็นระบบ   เข้มข้น  และต่อเนื่อง   ยุทธศาสตร์สำคัญคือยุทธศาสตร์ร่วมใจร่วมแรงกันทุกฝ่าย   ยุทธศาสตร์แข่งขัน   และยุทธศาสตร์ให้รางวัล   โครงการที่ฮือฮาไปทั่วประเทศคือโครงการจับตายยุงลาย  ตัวละ 25 สตางค์


          สอ. บ้านวังสิงห์คำบอกว่าโครงการของตนใช้ยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งในการป้องกันไข้เลือดออก


          ตอนบ่ายเป็นการประชุมกลุ่ม   ให้แต่ละคนเล่าความสำเร็จในการทำงาน   ผมได้เข้าไปฟังบางกลุ่ม   เห็นได้ชัดว่ายุทธศาสตร์สำคัญคือการดึงเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วม   เพื่อใช้ทรัพยากรของ อบต.   และดำเนินกุศโลบายให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันกำจัดลูกน้ำยุง   “ขุมความรู้” เล็ก ๆ ออกมาจากเรื่องเล่าในกลุ่มมากมาย   เช่นการประเมินผลสำเร็จของแต่ละกลุ่มเอามาเปรียบเทียบหาผู้ชนะและได้รางวัล   ชาวบ้านไม่ยอมให้คนอื่นมาประเมิน   ต้องผลัดกันประเมินจึงเกิดการแข่งขันกันดำเนินการตามเกณฑ์   เป็นต้น


          ผมหวังว่าหลังการจัดตลาดนัดในวันที่ 29 – 30 ส.ค.48 แล้ว   จะเกิด CoP ป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก   โดยสมาคมหมออนามัยเป็นเจ้าของ CoP   ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส.   โดย สคส. เป็น “ผู้ช่วยพระเอก” อยู่เบื้องหลัง

 

               


           บรรยากาศห้องประชุมใหญ่                     บรรยากาศห้องประชุมย่อย

 
                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         29 ส.ค.48
                                 

หมายเลขบันทึก: 3264เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชุมชนในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก กำลังจะเกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีกระบวนการและเครือข่ายที่ชัดเจน รวมทั้งจะมีคนที่ไปวิ่งงานต่อจากกระบวนการเหล่านี้

ขอขอบคุณ อาจารย์หมอที่ไปแวะเยี่ยมให้กำลังใจ รวมทั้งอาจารย์ธวัช อาจารย์อ้อมที่จุดประกายแนวคิดต่างๆ

คงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ขอบคุณ ทีมงาน สคส.อย่างมากครับ ที่เป็น "แรงหนุน" อย่างยอดเยี่ยม

การำทำงานเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก นั้นทำกันมานานมากแล้ว แต่ที่ไม่ได้ผลคือ "ทำเหมือนเดิม" ไม่เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่

"แรงหนุนจากเครือข่าย" จะช่วยทำให้เกิดการสร้างกลยุทธ์และวิธีการจัดการแบบใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เดินย่ำรอยเดิมที่ซ้ำๆ และไม่ได้ผล

ส่วนทีม Fa. งานนี้ คงต้องทำการบ้านกันหนักหน่อยนะครับ เพราะหลังจากที่เป็นฝ่ายลงมือทำเองมานานกว่า 30 ปี คงต้องออก "แรงใหม่"  ที่ปล่อยให้ชุมชนเป็นพระเอก แล้ว "หมออนามัย" ทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" ที่เข้มแข็ง

เครือข่ายไข้เลือดออก คงมีนวัตกรรม และขุมความรู้เรื่องการทำงาน ยุทธศาสตร์ มาตรการ ระดับชุมชน ที่ประสบความสำเร็จ มาแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องนะครับ

 

และขอให้เครือข่ายไข้เลือดออก ทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ต่อเนื่อง เป็นขุมพลังของชาติบ้านเมืองอย่างแข็งขัน ต่อไปนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท