KM ในพื้นที่ : 2. เกิดความหวัง


      ตอนที่ ๑ (click)

• เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องเล่าของคุณบุษบงก์ ชาวกัณหา แห่งจังหวัดปราจีนบุรี  ที่โดยอาชีพเป็นพยาบาลวิชาชีพ แต่โดยใจเป็นเอ็นจีโอ    คลำหาตัวตนผ่านโครงการชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อทำให้พื้นที่ปราจีนบุรีน่าอยู่     คลำอยู่ตั้งปีหนึ่งจึงพบว่าเอาเรื่องการจัดการลุ่มน้ำน่าจะดีที่สุด    ผมถามคุณบุษบงก์ว่าทีมกลางมีกี่คน ตอบว่า ๘ คน    และเวลาไปจัดเวทีตามสถานที่ต่างๆ จะมีชาวบ้านมาร่วมครั้งละ ๓๐ – ๔๐ คน    ผมเห็นกระบวนการทบทวน “ความรู้มือสอง” (คำของคุณบุษบงก์)    นำมาใช้แล้วเกิด “ความรู้มือหนึ่ง” จากการนำไปใช้ และการ ลปรร. ในประชาคมปราจีน    และการซึมซับความรู้มาจากฝ่ายราชการ วิชาการ และจากผู้มีความรู้ในพื้นที่    มองจากมุมของผมทีมของคุณบุษบงก์ขับเคลื่อนภาคีในพื้นที่เพื่อท้องถิ่นน่าอยู่ผ่านการจัดการลุ่มน้ำปราจีน ซึ่งพอทำเข้าจริงๆ กลายเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำ คือโยงไปยังลุ่มน้ำบางปะกง และโตนเลสาบ ของเขมร ที่เชื่อมโยงมาถึงลุ่มน้ำปราจีน    ผมมองเห็น “การจัดการความรู้” ผ่านแดนของกลุ่มผู้คนที่หลากหลายในพื้นที่

                                     

   คุณบุษบงก์ ชาวกัณหา  ผู้ประสานงานโครงการชีวิตสาธารณะ - ท้องถิ่นน่าอยู่  จ. ปราจีนบุรี
• เรื่องที่ ๓ เล่าโดยอดีตพยาบาลที่ลาออกมาทำงานธุรกิจ และงานประชาคม คุณเพลินใจ เลิศลักขณวงศ์ ผู้ประสานโครงการแม่สอด จ. ตาก  ในโครงการชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ ของ สสส.    โดยเล่า ๒ เรื่อง   (๑) การปนเปื้อนแคดเมี่ยมในลุ่มน้ำแม่ตาว   ซึ่งในที่สุดขยายเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาว  คือมองทั้งระบบ   (๒) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน    คำพูดของคุณเพลินใจที่ผมซึ้งมากที่สุดคือทีทำเรื่องนี้เพราะเชื่อในความเป็น “พลเมือง” ต้องเป็นพลังให้แก่บ้านเมือง

                                     

คุณเพลินใจ เลิศลักขณวงศ์  ผู้ประสานงานโครงการชีวิตสาธารณะ - ท้องถิ่นน่าอยู่  อ. แม่สอด  จ. ตาก
• เรื่องที่ ๔ การจัดทำแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา จ. กาฬสินธุ์    นำเสนอโดยทีม ๕ คน    พิเศษกว่าจังหวัดอื่นตรงมีปลัดจังหวัดและพระมาร่วมนำเสนอด้วย

                                     

                                         สองพยาบาลผู้มีจิตสาธารณะ

                                      

คุณนิตยา ธีรทัศน์ศิริพจน์ (คนกลาง) ผู้ประสานงานองค์กรภาคประชาชน  จ. กาฬสินธุ์  และทีมงานขนาบซ้ายขวา

                                     

พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย  ศูนย์พัฒนาคุณธรรม  จ. กาฬสินธุ์  และนายประสิทธิ์ คชโคตร ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์
• คุณทรรศิน สุขโต ให้ความเห็นที่น่าสนใจมากว่า ชาวบ้านคิดและพูดด้วยภาษาประสบการณ์    ซึ่งต่างจากภาคราชการและวิชาการ ซึ่งพูดด้วยภาษาข้อมูลตัวเลขและทฤษฎี   
• ผมมองว่าสภาพเดิมในพื้นที่ชาวบ้านขาดการรวมตัวกัน    มุ่งแต่พึ่งราชการ    เวลามีปัญหาก็รอหรือเรียกร้องให้ราชการมาแก้    แต่ในการประชุมนี้เราเห็นภาพใหม่    ที่คนในพื้นที่รวมตัวกัน ทั้งที่เป็นชาวบ้าน (ภาคประชาสังคม)  ราชการ  ภาควิชาการ  และภาคอื่นๆ เช่นพระ  เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจพื้นที่ และร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ และเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัตินั้น    การจะเกิดสภาพเช่นนี้ได้ต้องการแกนนำ และกิจกรรมที่ทำหน้าที่ “กาวใจ” และ “ชวนทำ”  “ชวน ลปรร.” 
• ผมเกิดความหวัง ว่าประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปสู่สังคมเรียนรู้ / สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน / สังคมอุดมปัญญา ได้    เพราะเราเห็นหน่ออ่อนของภาพดังกล่าวใน ๔ จังหวัดที่มานำเสนอในวันนี้    เราเห็นความไว้วางใจระหว่างคนต่างภาคส่วนในพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ KM     ผมเห็นว่า KM เริ่มกระจายไปสนองความต้องการของพื้นที่ในสังคมไทย สมเจตนารมณ์ของ สคส. แต่ไม่ใช่โดยฝีมือของ สคส. โดยตรง    ผมจึงมีความสุขมาก
• ที่ สคส. จัดการประชุมในวันนื้ก็เพื่อให้กลุ่มผู้สร้างนวัตกรรมการพัฒนาในพื้นที่แบบทำกันเป็นพหุภาคี จากหลายจังหวัดได้มา ลปรร. กัน    และหวังให้เชื่อมเครือข่าย ลปรร. ความรู้ปฏิบัติ กันต่อไป    ผมได้แนะนำให้ใช้ บล็อก gotoknow.org เป็นเครื่องมือ ลปรร. ความรู้ฝังลึกกันด้วย    อ. วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ แห่ง มธ. ลำปางได้ช่วยเล่าประสบการณ์การใช้ บล็อก กระตุ้นการเรียนรู้และการจดบันทึกของชาวบ้านสั้นๆ ด้วย

วิจารณ์ พานิช
๓๐ พค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #storytelling
หมายเลขบันทึก: 32630เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท