Discovery ขั้นตอนแรกที่น่าสนใจของ Appreciative Inquiry


เมื่อวานนี้ในการพูดคุยประจำสัปดาห์ของทีมงานใน สคส.  (ส่วนใหญ่แล้วเป็นวันพุธ)  ประเด็นแรกสุดเลย   คือ   การ review หนังสือเรื่อง   Appreciative Inquiry (AI)   ครั้งนี้  เป็นคราวของพี่แกบ (สุปราณี) และหญิง (นภินทร)  รับผิดชอบในบทที่ 4  แนวทางแห่งการเปลี่ยนแปลง  และบทที่ 5  การนำ AI มาใช้ในการพัฒนาองค์กร   (ชื่อเรื่องนั้นแปลโดยผู้ที่รับผิดชอบทั้ง 2 ท่าน   เพราะหนังสือต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษครับ)  ซึ่งทั้งสองท่านให้ความสำราญแก่เราเป็นอย่างมาก  อีกยังได้ความรู้เพิ่มเยอะทีเดียว

จุดหนึ่ง  ที่ผมสนใจ  คือการนำ AI ไปใช้ในการพัฒนาองค์กร   ในหนังสือเขาแบ่งออก  3  ขั้น  ได้แก่   ขั้นแรก  ค้นหาสิ่งดีๆ (Discovering the best of .......)   ขั้นที่สอง  การเรียนรู้ว่าสิ่งดีๆเหล่านั้น  เกิดขึ้นได้อย่างไร (Understanding what creates the best of .......)  และขั้นสาม  คือ การขยายความดี (เหล่านั้น) (Amplifying) 

ที่ว่าสนใจ  คือ   การค้นหาสิ่งดีๆ   (Discovering the best of .....)   เนื่องจากว่า   ต่อจากการ review หนังสือแล้ว   ก็มีเรื่อง AAR  งานที่เราทำ    ประเด็นที่คุยกัน  ประมาณว่าหน่วยงานที่ติดต่อเรามามักไม่เข้าใจ (หรือเปล่า  ไม่แน่ใจ) หรืออาจจะมองไม่เห็นความสำคัญ ในการเลือก  ตัวคนที่มาเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้     แล้วก็เลยต้องเจอกับภาวะ   ไม่มีสิ่งดีๆมาแลกกัน   เหตุการณ์อย่างนี้มีให้เห็นหลายครั้ง

สิ่งดีๆ  อันที่จริง  สคส. ย้ำเสมอว่า  ไม่ใช่สิ่งดีๆก้อนใหญ่ๆ เพราะถ้ามัวไปหาก็คงต้องใช้เวลานานมาก  หรือไม่ก็ไม่เจอเลย      แต่เป็นสิ่งดีๆชิ้นเล็กชิ้นน้อย  ที่ใกล้ๆตัว   ที่เรา (โดยเฉพาะผมเองเมื่อก่อน) มักมองข้าม  เพราะคิดว่าไม่สำคัญเท่าไร     สิ่งดีๆเล็กๆเหล่านี้แหละ  ที่จะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังให้เราได้ "ใจคน"     เรายกย่องให้เกียรติคนที่เขาทำมาแล้ว   โดยการให้โอกาสเขาได้มาเล่าว่าทำได้อย่างไรจึงสำเร็จ    หาวิธีทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้แพร่ขจรขจายไปยังคนอื่นๆ  ในหลายๆวิธี   เช่น  เจ้าตัวเล่าสดๆ,  อัดเป็น VDO clip  บ้าง   เขียนเป็นเรื่องเล่าบ้าง   และหลายๆวิธีแล้วแต่จะรังสรรค์    แล้วถ้าจะให้ยิ่งดี  หากสามารถไปมองหาว่าใครเกิดไอเดียเอาไปโมดิฟายทำอะไรใหม่บ้าง  แล้วเชิญเขามาเล่าด้วย   ถ้าได้อย่างนี้    ไม่ต้องถามเลยครับว่าเกลียวความรู้หมุนหรือยัง?

ออกไปในโลกกว้างอีกหน่อย   ที่จริงมันมีร่องรอย  สิ่งดีๆเล็ก   อยู่มากพอสมควร    ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน  ในท้องถิ่น  ในวัด   ในโรงเรียน ในสถานีอนามัย  ใน อบต.   ในโรงพยาบาล  ในมหาวิทยาลัย  ในหน่วยงานราชการ  ในบริษัทเอกชน ฯลฯ   แต่ร่องรอยสิ่งดีๆเหล่านั้น  มักถูกสต๊าฟเอาไว้   เป็นผลงานของโครงการร้อยแปดพันเก้า   ที่เมื่อจบสิ้นโครงการแล้ว  ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ   ทิ้งเอาไว้เป็นร่องรอยเก่าๆที่น่าเสียดาย

หากมีใคร  หน่วยงานใด  มหาวิทยาลัยใด อาสาที่จะค้นหาสิ่งดีๆ   จากร่องรอยเก่าๆ (แต่ต้องยังไม่ตายนะครับ)   แล้วมีไอเดียที่เอามาเจียรไนในขั้นสอง...ขั้นสาม ของ Appreciative Inquiry ในบริบทใดก็ตาม (แต่ต้องไม่เล็กเกินไปนะครับ)     สคส.  ยินดีจะเข้าไปแจมด้วย (อาจารย์หมอวิจารณ์ส่งสัญญานมาแล้วครับ)      แต่  สคส.  จะไม่เล่นบทเป็นแม่งานเองนะครับ  เพราะมันจะไม่ยั่งยืน   และไม่เอาเงินไปให้ด้วยนะครับ   เรามีเพียงเครื่องมือเชิงเทคนิคของการจัดการความรู้  เอาไปเสริมไปเติมเต็มให้แก่ผู้ที่ทำ   และช่วยสร้างโอกาสให้กิจกรรมดีๆเหล่านี้ได้ขึ้นเวที ลปรร. ในหลายๆระดับ   ช่วยเหลือให้สิ่งดีๆเหล่านี้ได้ขจรขจายไปทั่วบ้านทั่วเมือง  ให้ได้มากที่สุดเท่าที่แรงเราพอมี

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32614เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • อ่านบันทึกนี้แล้ว กระตุ้นให้เกิดการค้นหาสิ่งดี ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท