ต้นทุนความรู้ในการทำจัดการความรู้


ทุนความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นสิ่งที่ครูจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน เรียกว่าใครมีพื้นฐานเท่าไร เมื่อครูรู้แล้วก็จะเป็นประโยชน์กับครูที่จะได้ดำเนินการสอนหรือส่งเริมการเรียนรู้ให้มันแตกต่าง ให้มันแตกต่างไปตามพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน ให้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน สู่ความเป็นดาวดวงใครดวงมัน

ในทางการจัดการความรู้ เรื่องทุนความรู้เดิมใช้มาก  พูดกันบ่อยมาก ไม่แพ้ในการปฏิรูปการเรียนรู้ เพราะทุกคนที่เข้าร่วมจัดการความรู้ ล้วนแล้วแต่คือผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นวงเรียนรู้ของตัวละครที่เป็น คุณเอื้อ คุณอำนวย หรือคุณกิจ  แต่ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้หรือการทำกิจกรรมจัดการความรู้นั้น ผู้จัดจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามได้คำนึงถึงเรื่องทุนความรู้นี้และได้ทำกันจริงจังหรือเปล่า  ทั้งครูอาจารย์ในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ( การศึกษาตามอัธยาศัยนี้ ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช เรียกว่าการศึกษาภาคประชาชน การศึกษา  KM ) คำว่าทุนความรู้เดิม สะกิดใจผมอีกครั้ง ก็เมื่อวานในที่ประชุมคณะทำงาน KM แก้จนเมืองนคร ที่ มวล. (เป็นกลุ่มเล็กๆ ราว 10 คน ) ประชุมกัน 2 เรื่องสำคัญ คือ บันทึกการเรียนรู้แก้จนตามวิถีคนคอน ที่ผมรับมอบหมายมา ทำการบ้านเสร็จแล้ว เข้าที่ประชุมพิจารณา   กับอีกเรื่องหนึ่งคือการกระชับแผนขั้นตอนการทำงาน การระบุกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาให้ชัดเจน Road map นั่นเอง เรื่องทุนความรู้เดิมคำนี้ได้ยินตอนพิจารณาในเรื่องหลังครับ

เรื่องแรกคุยกันเรื่องบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือคุณกิจ ที่ชื่อว่าบันทึกการเรียนรู้แก้จนตามวิถีคนคอนเรื่องแรกนี้ที่ประชุมให้ปรับแก้ชื่อบันทึก เพราะกิจกรรมในโครงการมิใช่แก้จนอย่างเดียว ให้ทำ  Art work ใส่แบบตัวหนังสือ สี แทรกภาพ ให้เหมาะกับผู้ใช้บันทึกคือคุณกิจที่เป็นชาวบ้าน ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องสายตาสั้นยาว ทักษะอ่านเขียนหนังสือไม่คล่อง เป็นต้น เรื่องรายละเอียดในเล่มก็ไม่ได้แก้อะไร ยืนตามที่ผมนำเสนอ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการให้คุณกิจตั้งเป้าหมายแก้จนครอบครัวตนว่าจะทำอะไร ซึ่งทำอะไรนี้ย่อยเป็น 2 เรื่อง คือ แก้จนที่วัดความสำเร็จกันที่ตัวเลข ทั้งตัวเลขเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ออม กับที่วัดความสำเร็จกันด้วยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น สุขภาพดี การส่งเสริมสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คุณธรรม วัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี เป็นต้น เมื่อคุณกิจแต่ละครัวเรือนตั้งเป้าหมาย(ส่วนของหัวปลา)แล้ว ซึ่งคือหลักสูตรในทางการเรียนการสอน เป็นหลักสูตรของแต่ละครัวเรือนนั่นเอง ก็ให้บอกวิธีทำกิจกรรมแก้จนในแต่ละเป้าหมายด้วยว่าทำอย่างไร ซึ่งในทางการเรียนการสอน ผมว่าสิ่งนี้คือวิธีเรียนวิธีสอนของครัวเรือนนั่นเองครับ  จากนั้นก็ให้นำความรู้(ทั้งที่อยู่ในหัวกับที่บันทึกกันลืมไว้แล้วในเล่ม) มาทบทวนกันเพื่อปรับปรุงการแก้จนของตนให้สู่เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น (ที่ว่าถอดบทเรียนกันนั่นแหละครับ)มีทีมคุณอำนวยตำบลคอยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ ทำอย่างนี้ซ้ำๆกันหลายครั้งหลายวงรอบจนเห็นว่าดีแล้วคล่องแล้ว จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนกิจกรรมต่อไปของบันทึกการเรียนรู้ คือการให้คุณกิจเล่าประสบการณ์แก้จนของแต่ละครัวเรือน กิจกรรมนี้ทำ 2 ขั้นตอน 2 วิธี ครับ คือให้เล่าในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการทำความรู้สู่การแลกเปลี่ยนที่กว้างขึ้น ฝึกคุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ ด้วย ฝึก.........หลายๆอย่างครับ แล้วแต่ว่าชุมชนไหนจะเน้นคุณลักษณะอะไร  กับอีกวิธีคือเล่าละเอียด สัมภาษณ์กันนาน จะเป็นที่บ้าน ที่สวน ที่นา เพื่อสกัดการหาขุมความรู้  แก่นความรู้ สำหรับการยกย่องชมเชย ให้บำเหน็จรางวัล ดูผลสัมฤทธิ์โครงการ ครับ คิดว่าไม่เกินสองสัปดาห์บันทึกการเรียนรู้แก้จนตามวิถีคนคอนเล่มนี้ คงเสร็จใช้งานภาคสนามได้


ผมพูดเรื่องบันทึกการเรียนรู้แก้จนตามวิถีคนคอนเสียยาว เรื่องทุนความรู้เดิมที่เกริ่นนำไว้ค้างเติ่งอยู่ ก็จะเล่าต่อว่า    ที่ประชุมพูดอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันในเรื่องต่อมาคือการกระชับแผนขั้นตอนการทำงาน การระบุกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาให้ชัดเจน Road map โครงการ กันพอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนด้านการพัฒนาสมรรถนะคุณอำนวย  แต่ผมจะย่อให้เข้าใจว่า ที่ประชุมเห็นว่าจำเป็นต้องลงทุนลงแรงยกระดับสมรรถภาพคุณอำนวยตำบล (อาจจะอำนวยอื่นๆด้วย) เพราะต้นทุนความรู้เรื่องพรรค์อย่างนี้ยังไม่ค่อยมีกัน ทั้งเรื่องการทำ AAR การทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ การทำ Mind map และอื่นๆ   (ว่าด้วยภาพรวมทั้งจังหวัด มิได้ดูย่อยพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งว่ามีไม่มีนะครับ....จริงๆถ้าส่องกล้องมองไปทีละพื้นที่ย่อย คงจะพบว่ามีกันมากบ้างน้อยบ้างแล้วตามสภาพ  ) แต่ผมหยั่งความรู้สึกท่าทีของที่ประชุมว่า น่าจะคิดว่าอย่าประมาทดีกว่า อย่าเสี่ยงว่ารู้แล้วดีกว่า อย่าไปเสียใจทีหลัง หรือคิดได้ภายหลังว่าจำต้องทำเสียตั้งแต่เริ่มโครงการ กันเหนียวไว้ก่อน ลงทุนติดอาวุธความรู้ทักษะ อุดมการณ์ความสามารถหรือโดยรวมเรียกว่าสมรรถภาพการทำงานเสียตั้งแต่บัดนี้ ก็เป็นเหตุผลที่น่ารับฟังยิ่งว่าการบริหารโครงการใหญ่เช่นนี้ต้องทำเป็นชั้นๆ เป็นขั้นๆ เป็นตอนๆ เปรียบเหมือนกับทำขนมชั้น ราดทีละชั้นๆ ไม่ใช่จะปล่อยให้ทำกันเองแบบขนมกวน ที่จะคิดสูตรปรุงกันอย่างไรก็ได้

ผมคิดว่าการพัฒนาสมรรถนะดังกล่าว ด้วยการให้การอบรม แบบชั้นเรียน F2F ต้องเสริมด้วยการให้เรียนรู้ด้วยตนเอง ( การเรียนรู้ด้วยตนเอง ชาว กศน. เขาได้ตั้งชื่อว่า กรต.) ต้องให้ กรต. เนื้อหาดังกล่าว ฝึกเรื่องดังกล่าวด้วย 3 เรื่องดังกล่าว มีหนังสือน่าสนใจ เว็ปไซต์ blog ชุมชน blog ซึ่งเป็นความรู้ปฏิบัติ ประกาศตนว่าเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนกันมากมาย เป็น Best practice น่าจะ กรต.มาประกอบ F2F คือทำหรือพัฒนาสมรรถนะอย่างทำขนมกวน   หลักสูตรการพัฒนาสมรรถภาพคุณอำนวยก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การลงทุนเพิ่มความรู้ใหม่ให้ ก็จะได้ไปรับกับทุนเดิมที่เขามีอยู่แล้ว แล้วก็เรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่องตลอดไป นี่คือความเห็นผมครับ

หมายเลขบันทึก: 32608เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท