occrayong
กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม รพ.ระยอง

พิษแมงดาทะเล


รวบรวมข้อมูลโดยศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายภาคตะวันออก โรงพยาบาลระยอง

แมงดาทะเล (Horse shoe crab หรือ King crab)
มีลำตัวแข็งเหมือนกระดองปู แต่รูปร่างคล้ายแมงมุม ตัวใหญ่ ที่ท้องมีระยางเป็นเหงือกใช้ในการหายใจ อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งน้ำตื้นแถบปากน้ำ และอ่าว โดยมักจะหมกตัวฝังอยู่ตามพื้นโคลนและทราย พบมากในน่านน้ำแถบเอเชีย

แมงดาทะเลตัวเมีย จะมีขนาดใหญ่ ว่ายน้ำแข็งแรงกว่าตัวผู้ ในฤดูสืบพันธุ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนกันยายน ในเวลากลางคืนเดือนมืดแมงดาทะเลตัวผู้จะเกาะบนหลังตัวเมีย แล้วว่ายน้ำเข้าสู่ชายหาดทรายเป็นคู่ๆ โดยตัวเมียจะขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ในทรายเพื่อวางไข่ จึงมองเห็นแต่ตัวผู้ที่ยังคงเกาะอยู่บนหลังตัวเมียเห็นแกว่งหางอยู่ไปมา ในฤดูนี้แมงดาทะเลจะชุกชุม และมีไข่ ซึ่งคนชอบรับประทาน จึงมีการจับแมงดาทะเลมาปรุงอาหารหลายอย่าง เช่น แกง หรือยำ แต่มักปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับพิษจากอาหารที่ปรุงจากแมงดาทะเลบ่อยๆ ในน่านน้ำของไทย มีแมงดาทะเลที่พบได้ 2 ชนิด คือ

  1. แมงดาจาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Techypleus gigas ตัวใหญ่ กว้างถึง 10 นิ้ว หางเป็นสามเหลี่ยม ยังไม่เคยมีรายงานว่าแมงดาทะเลชนิดนี้มีพิษ
  2. แมงดาถ้วย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Carcinoscorpius rotundicauda เป็นแมงดาทะเลที่มีพิษ ชาวบ้านมักเรียกว่า แมงดาไฟ หรือเหรา จะมีหางกลม

ชาวบ้านมีวิธีการสังเกตว่าแมงดาทะเลตัวใดมีพิษ ดังนี้ คือ ด้านหน้าใต้ท้องของเหราตัวเมีย จะหักเว้ามากคล้ายตัวผู้ และลำตัวที่ท้องจะมีขนรุงรัง ส่วนด้านหลังมีสีแดงดำ ตาสีแดง ผิดกับแมงดาจาน ซึ่งมีตาสีดำ

อาการพิษ

พิษเนื่องจากการกินแมงดาทะเลคล้ายกับอาการที่เกิดจากกินหอยบางชนิดที่เรียกว่า paralytic shellfish แต่พิษนี้ไม่ใช่ประเภท cholinesterase inhibitor เป็นพิษที่คงทนต่อความร้อน ถึงแม้หุงต้มแล้วพิษก็ยังไม่เสื่อมสลาย พิษจะมีผลต่อระบบประสาท มักเกิดอาการภายหลังจากการกินเข้าไปแล้วประมาณ 15 นาทีถึง 1ชั่วโมง เริ่มด้วยอาการชาที่ริมฝีปาก ปลายนิ้วมือและเท้าชาลามกว้างมาก และรู้สึกเสียวแปลบเกิดขึ้น เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เดินโซเซ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ถ้ามีอาการช็อก ก็จะทำให้ถึงตายได้

การรักษา

ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีอาการอาเจียน ควรกระตุ้นให้อาเจียน ให้ activated charcoal และให้ยาระบาย ถ้ามีอาการท้องเสีย ให้สารน้ำทดแทน และแก้ไขภาวะเกลือแร่ไม่สมดุล

รักษาตามอาการ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การช่วยการหายใจ การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การรักษาระดับความดันโลหิต ถ้าให้การรักษาประคับประคองเป็นอย่างดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้ใน 3 – 5 วัน

เอกสารอ้างอิง

สุรศักดิ์ พุ่มมณี. แมงดาทะเลความรู้เกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ ตอนที่ 3. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2530.

สมิง เก่าเจริญ และคณะ.หลักการวินิจฉัยและรักษาภาวะเป็นพิษ.ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 2541.


รวบรวมข้อมูลโดยศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายภาคตะวันออก โรงพยาบาลระยอง
โทร. 0-3861-1104 ต่อ 2127

หมายเลขบันทึก: 325982เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท