“ตามไปดู” มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม


"ถ้าคุณอยากรู้.... เราจะตามไปดู"

ตามไปดู มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม
                จากการดูงานเครือข่าย จังหวัดสมุทรสงคราม สรุปงานการทำงานในรอบ 1 เดือน ของกลุ่มเครือข่ายมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีวิชาท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียนกัน อยู่ 6 ภาควิชาวิชา ได้แก่ 1. เกษตรธรรมชาติและพลังงานยั่งยืน   2. ขนมไทย อาหารไทยพื้นบ้าน   3. แปรรูปผลผลิตการเกษตร    4. สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย   5. ศิลปวัฒนธรรม หัตกรรมพื้นบ้าน  และ 6. การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง  ซึ่งมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเสมือนเวทีกลางที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ โดยเน้นความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาให้ชาวบ้านได้แชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีแห่งนี้
                ซึ่งการเรียนแต่ละครั้งจะไม่มีวาระของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ขึ้นอยู่กับความสนใจของกลุ่มแต่ละกลุ่มที่จะไปเรียนรู้กันตามความสนใจ และตามบ้านผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
                โดยแต่ละครั้งที่กลุ่มไหนทำอะไรก็จะมาแลกเปลี่ยนกันในเวทีใหญ่  “มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น” ในวันจันทร์สุดท้ายของเดือน รวมทั้งครั้งนี้ที่ ฝ่าย ปชส. สคส.ได้ร่วมสังเกตการณ์ในการสรุปบทเรียนในรอบ 1 เดือนที่เริ่มมีการนำกระบวนการ “การจัดการความรู้” เข้าไปซึมซับให้กลุ่มแต่ละกลุ่มได้เข้าใจถึงกระบวนการ และวิธีการในการได้มาซึ่งความรู้ และเก็บองค์ความรู้นั้นไว้ได้อย่างมีแบบแผน
                การสรุปบทเรียนครั้งนี้ กลุ่มแต่ละกลุ่มได้ใช้เวทีใหญ่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งอาศัยช่วงเวลาเลิกงานมาร่วมคิด ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กัน โดยเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 17.30 – 21.00 น. ของวันที่ จันทร์ที่  29 สิงหาคม 2548 จำนวนผู้ที่เข้าร่วมสรุปบทเรียนครั้งนี้ มี ทั้งหมด 6 กลุ่มวิชาตามหลักสูตรของมหาวิชชาลัยฯ จำนวนผู้เข้าร่วม กว่า 50 คน ทุกคนเริ่มทยอยเข้ามากันเรื่อยๆตามความสะดวกของเงื่อนเวลา
                ขณะเดียวกันกลุ่มที่มาก่อนก็สรุปบทเรียนของตัวเองไป โดยมีคุณ “ลิขิต” (พี่โก๋) เป็นผู้จดบันทึกเรื่องราวต่างๆของกลุ่มที่มาสรุป จะถูกบันทึกไว้บนคลิฟชาร์ท ในขณะที่แต่ละกลุ่มสรุปบทเรียน ก็มีเพื่อนสมาชิกแสดงความคิดเห็นร่วมกันตลอดเวลา (เป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ที่น่าประทับใจ ดูเป็นกันเองเสมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน)
                หลังจากที่ทุกกลุ่มได้สรุปบทเรียนของตัวเองแล้ว ก็มีการวางแผนกันว่าต่อไปจะทำอะไรต่อ และทางที่ประชุมก็มีเรื่องที่แจ้งให้กลุ่มทราบเป็นวาระไป เช่น ครั้งต่อไป วันที่ 2 กันยายน อบรมเรื่องอาหารปลอดภัยที่ ร.ร.ศรัทธาสมุทร และวันที่ 23 กันยายน กลุ่มจะไปเรียนรู้เรื่องออมทรัพย์กับพระอาจารย์สุบิน จังหวัดตราด หากใครต้องการจะเดินทางไปดุงานครั้งนี้ ก็สามารถแจ้งได้ที่กลุ่มต่อไป
                นอกจากนี้ยังมี อาจารย์คมกฤช นาชาติสิริ นักวิชาการเกษตร จังหวัดเพชรบุรี เดิมพื้นเพบ้านเกิดอยู่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ไปรับราชการอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรฯ จ.เพชรบุรี และมีเครือข่ายเรื่องการท่องเที่ยวทางน้ำอยู่ที่ จ.เพชรบุรีด้วย และมีแนวความคิดจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับกลุ่มชาวบ้านใน จังหวัด สมุทรสงคราม ในการทำการท่องเที่ยวทางน้ำร่วมกันเป็นเครือข่าย
                และครั้งนี้มาร่วมเรียนรู้ในเรื่องการทำท่องเที่ยวแบบยั่งยืน “โฮมสเตย์” เนื่องจากปีนี้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลาดน้ำที่ จ.สมุทรสงครามมากกว่าทุกปี หากมีเครือข่ายทั้ง 2 จังหวัด นำร่องการท่องเที่ยวทางน้ำ ให้เชื่อมโยงกันไปถึง จ. เพชรบุรี จะสามารถทำร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน
              อาจารย์คมกฤช บอกอีกว่า  “ทุกวันนี้เรามีแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวทางน้ำยังไม่ชัดเจน หากร่วมกันรวมกลุ่มกันทำ จะสามารถขยายเครือข่ายการท่องเที่ยวทางน้ำให้เป็นแพ็กเกจทัวร์ ให้มากกว่าที่มีอยู่”
              (พี่พงษ์) สรณพงษ์ บัวโรย นักวิชาการเกษตร จ.สมุทรสงครามเล่าให้ผมฟังว่า เครือข่ายเรียนรู้ของมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จะมีผู้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนดูงานตลอดเวลา อย่างวันอังคารที่ 30 ส.ค. นี้ ก็จะมีกลุ่มชาวบ้านในอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มาดูงานที่นี่ด้วย 
หลังจากประชุมเสร็จสิ้น ทุกคนได้รับประทานอาหารค่ำร่วมกัน เป็น “ข้าวต้มปลา-เกี๊ยวกรอบ” และขนมดอกโสน จากกลุ่มขนมไทย ที่อาสาเป็นเจ้าภาพเรื่องอาหารในค่ำคืนนี้ หลังอาหารมื้อค่ำทุกคนต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงงานที่ตัวเองทำกันสักครู่ใหญ่ ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน 
              หลังเวทีจบลงเหลือบมองนาฬิกาบอกเวลา 21.30 น. ผมตกใจนิดๆ ที่ตกใจเพราะทุกคนยังอยู่ร่วมกันจนจบเวทีอย่างเหนียวแน่น ...หลังจากพี่พงษ์สรุปปิดประชุมเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมิวายจับกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย นั่งคุยงานกันต่อ ถามถึงความคืบหน้าและงานของแต่ละกลุ่มว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว 
               กระทั่ง 22.00 น. ทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับ บ้างก็ขอติดรถคนเพื่อนๆไปลงกลางทาง  ปากซอย ท้ายซอย ฯลฯ วันนี้ผมต้องนอนพักที่นี่ 1 คืนเพื่อขอดูเวทีในตอนเช้า ที่จะมีกลุ่มเกษตรในจังหวัดอื่นๆมาขอดูงานที่นี่ในเช้าวันรุ่งขึ้นเวลา 10.00 น.
               ค่ำคืนนี้ผมได้เห็นการสรุปบทเรียนของเครือข่ายสมุทรสงคราม ที่ดูคึกคักและน่าตื่นตาตื่นใจมาก เนื่องจากทุกคนสามารถที่จะเล่าเรื่องราวที่กลุ่มของตัวเองได้ทำมาได้อย่างออกรสชาติ และมีการแสดงความคิดเห็นกันตลอดเวลา ไม่เว้นจังหวะให้เส้นเสียงของจิ้งหรีดยามค่ำคืนนี้ ได้ร้องแทรกเสียงขัดจังหวะของที่ประชุมได้เลย
                ผมติดรถและรบกวนให้พี่ สรณพงษ์ ไปส่งที่ “บ้านชมเดือน รีสอร์ท” เพื่อพักเอาแรงลุยดูงานต่อในเช้าวันพรุ่งนี้ .....เฮ้อ บรรยากาศที่นี่ดีจริงๆ คืนนี้คงหลับฝันดีแน่
                                                   

                                                   **************
                เช้าผมตื่นจากความฝันที่สเปะสปะ ฝันอะไรหลายเรื่องวุ่นวายไม่เป็นเรื่องเลย....จากนั้นก็รีบอาบน้ำแล้วเช็คเอ้าท์ออกจาก “บ้านชมเดือน รีสอร์ท” เวลา 9.20 น. แล้วต่อรถสามล้อไปที่เวที ..ใช้เวลา 15 นาทีก็ถึงเวที ที่ผมเพิ่งจากมันมาเมื่อคืนนี้เอง
                หลังจากลงจากสามล้อ...ภาพที่เห็นคือผู้คนเต็มพื้นที่เวที กระทั่งต้องแบกแคร่มาให้ผู้มาดูงานนั่งกัน บ้างก็นั่งที่ใต้ต้นไม้ ม้าหินที่ห่างจากเวทีไป หรือแม้กระทั่งนั่งๆยืนๆก็มีพอประมาณ ผมเห็นพี่โต ผู้ประสานงานเวที จึงเข้าไปถามพี่เขาว่ามากันกี่คนครับพี่โต
                พี่โตบอกว่า “4 รถบัส จำนวนคนประมาณ 260 คน เป็นกลุ่มเกษตรกร อำเภอนาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอบต.นำกลุ่มเกษตรกรมาดูงาน เพื่อไปต่อยอดความรู้เดิมกับของกลุ่มตัวเอง
                พี่สรณพงษ์เป็นผู้บรรยายเรื่องราว ที่มาที่ไปของมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้านใน จังหวัดสมุทรสงคราม และเรื่องราวต่างๆ ที่ชาวบ้านมาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน กระทั่งบรรยายจบลง กลุ่มต่างๆก็แยกย้ายกันไปเก็บข้อมูล ในแต่ละเรื่องที่มีความสนใจส่วนตัว (ลักษณะเหมือนผึ้งแกรัง) ซึ่งคนจำนวนมากต่างก็จากออไปทั่วทุกซอกทุกมุมในพื้นที่เรียนรู้ ผมเองก็เช่นกันด้วยระยะเวลาที่จำกัด ต้องเก็บภาพ ไปพร้อมๆกับสัมภาษณ์เก็บข้อมูลในเรื่องต่างๆให้ได้มากที่สุด
                เรื่องที่ผมไปดูพร้อมๆกับคนจำนวนมาก ที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้คือ การทำน้ำส้มควันไม้ด้วยวิธีการหล่อเย็น , การทำปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์ , ประสิทธิภาพของจักรยานน้ำ ,กลุ่มขนมไทยจากภูมิปัญญาไทย, ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์, การเลี้ยงปลาดุกใต้ถุนโรงเรียน การทำแปลงผักปลอดสารพิษ การปลูกสมุนไพร และการเพาะเห็ดนางฟ้าของนักเรียนโรงเรียนวัดบางพลับ (สุนทรานุกูล)
                นอกจากนี้อาจารย์สมทรง แสงตะวัน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เสียสละที่ดินสร้างมหาวิชชาลัยฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวบ้านแล้ว และยังขยายความรู้เรื่องต่างๆ ไปสู่โรงเรียนด้วย โดยนักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติ และมีครูเป็นคุณอำนวย ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลูกสมุนไพร ,การปลูกผักปลอดสารพิษ ,การทำปุ๋ยชีวภาพ ,การทำน้ำหมักชีวภาพ ,การใช้ประโยชน์จากตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์,การเพาะเห็ดนางฟ้า และการเลี้ยงปลาดุกใต้ถุนโรงเรียน
                สิ่งที่เห็นจากการดูงานในภาคเช้าในมุมของ KM คือการจดบันทึก “คุณลิขิต” ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่มาศึกษาดูงาน จะมีสมุดบันทึกเป็นลักษณะของแบบสอบถาม มีหัวข้อหลัก และหัวข้อย่อย และมีการจดบันทึกส่วนตัว ซึ่งแต่ละคนจะมีสมุด 1 เล่มเป็นของตัวเอง และจะเดินจับกลุ่มไปร่วมกันศึกษาเรื่องราวต่างๆ (ช่วยกันจด ช่วยกันจำ) พอได้ความรู้เข้าที่ดีแล้ว ต่างก็พยักหน้าใส่กันแล้วบอกว่าเข้าใจแล้ว จากนั้นจึงจะเปลี่ยนจุดไปเรียนรู้เรื่องอื่นๆต่อไป
                “มีบางกลุ่มกางตำรา และสูตรต่างๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน และล้อมวงกันจดบันทึกอย่างจริงจัง”
                เวทีนี้จบลงโดยที่กลุ่มผู้ดูงานก็ได้ความรู้กลับไป ขณะเดียวกันกลุ่มมหาชิชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ได้ร่วมเรียนรู้เหมือนกันว่ากลุ่มที่มาดูงานมีของดีอะไรที่กลุ่มทำอยู่บ้าง การแลกเปลี่ยนเกิดจากการพูดคุยซักถามกันระหว่างดูงานกลุ่มย่อย หลังจากผู้ดูงานกลับ กลุ่มผู้ให้ความรู้ก็มาสรุปกันต่อว่า วันนี้เราได้อะไรจากกลุ่มที่มาเรียนรู้บ้าง และจะปรับรูปแบบ วางแผนการดูงานของกลุ่มต่อไปอย่างไร
                ผมขอสรุปในสิ่งที่ผมได้เห็นในเวทีของกลุ่มมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งการสรุปงานที่กลุ่มทำกัน 1 เดือนที่ผ่านมา และการเป็นแหล่งให้ความรู้ในช่วงเช้าอีกวันให้กับเกษตรกร ในอำเภอนาดี จ.ปราจีนบุรี ในมุมของการจัดการความรู้ดังนี้

           หัวปลา // กลุ่มมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม มีเป้าหมาเพื่อการพึ่งตนเองในทุกๆเรื่อง โดยใช้ เวทีมหาวิชชาลัยฯ เป็นตัวเชื่อมโยงความรู้จากกลุ่มต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาความรู้ของกลุ่มต่อไป
เช่น ในกลุ่ม 6 ภาควิชามีการแลกเปลี่ยนกันทุก 1 เดือน ในเวทีมหาวิชชาลัยฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะเรียนรู้ได้ทุกเรื่องตามความถนัด และตามความสะดวก เช่น วันนี้มาเรียนเรื่องขนมดอกโสนของป้าเดือนในเวทีสรุปงานด้วย
           ตัวปลา // มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระดับ “คุณกิจ” ของแต่ละกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว ระดับคุณกิจมีความรู้ หรือนวัตกรรมใหม่ๆก็จะเอาความรู้มาเล่าให้ที่ประชุมฟัง โดยมี “คุณลิขิต”จดบันทึกเรื่องราวไว้ทุกครั้ง นอกจากนี้คุณกิจแต่ละกลุ่มยังเรียนรู้จากการดูงานและนำความรู้ที่ได้มาต่อยอด ทดลองทำและปรับใช้กับกลุ่มของตัวเอง
เช่น ป้าล้อม ได้ความรู้จากการไปดูงานเรื่องกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของพระอาจารย์สุบิน จ.ตราด ซึ่งป้าล้อมเล่าว่า จุดที่คิดแล้วอยากเอามาริเริ่มทำกับกลุ่มชาวบ้านของตนเอง เพราะ เห็นการทำมาหากินของกลุ่มตัวเองแล้ว คิดว่ายังไม่มีอะไรที่แน่นอน ยังทำมาหากินไปวันๆไปฝากแบงก์ก็ถอนกันหมด เงินกู้ก็กูกันอุตลุต แต่สำหรับเงินออมยิ่งออมก็ยิ่งเพิ่ม สามารถเอาไว้ใช้จ่ายยามแก่ได้ นอกจากนี้ทำให้ชาวบ้านในกลุ่มเกิดความสามัคคี เป็นที่เชื่อมโยงกันมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งตอนนี้เริ่มทำมา 10 เดือน เริ่มต้นได้เงิน 8,570 บาท สมาชิก 195 คน เงินหมุนเวียน 24,000 บาทที่สามารถให้ชาวบ้านได้กู้ไปลงทุนทำอาชีพเสริมอื่นๆได้
           หางปลา // ความรู้ที่ชาวบ้านได้ คือได้ความรู้ใน 6 ภาควิชาที่มีการแลกเปลี่ยน และต่อยอดความรู้กันในแต่ละกลุ่มกันอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีบางส่วนที่ทำตำราเรื่องของความรู้ต่างๆที่ได้มาเป็นการเขียนตำราขึ้นมาไว้ศึกษาของกลุ่ม เช่น ตำราเรื่องแนวกันขึ้นและป้องกันชายฝั่ง เป็นต้น  
           **คงต้องติดตามกลุ่มนี้อย่างละเอียดต่อไป เพราะมีการเรียนรู้ทั้งชุมชน มีหลายเรื่องที่เชื่อมโยงชุมชนต่างๆ เข้ามาสู่มหาวิชาลัยวิชชาลัย นอกจากจะมีการเรียนรู้กันในชุมชนแล้ว ยังขยายไปสู่ที่โรงเรียนใกล้เคียงหลายแห่งให้ได้เรียนรู้สิ่งที่ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ ซึ่งสามารถปลูกฝังสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านให้อยู่ในชีวิตประจำวันของเยาวชนได้อย่างแยบยลโดยผ่านกระบวนการ ทดลอง ปฏิบัติจริงทุกเรื่องและทุกขั้นตอน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3256เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท