เรื่องเล่า"จัดการความรู้แก้จนเมืองนคร"(1)


เป็นโครงการใหญ่ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ในภาค ราชการอย่างบูรณาการ ทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับระบบราชการและคนทำงานจำนวนมาก ซึ่งต้องวางระบบการเรียนรู้เป็นชั้นๆ

ผมเริ่มทำงานKMกับส่วนราชการเนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนซึ่งมักจะได้ยินเสียงบ่นว่าราชการต่างคนต่างทำ ไม่ค่อยประสานงานกัน กิจกรรมไม่สอดคล้องตรงกับความต้องการของชุมชน จึงเริ่มชักชวนส่วนราชการมาทำงานร่วมกันโดยใช้กิจกรรมพัฒนาชุมชนที่หน่วยงานมีพันธกิจร่วมกันเป็นตัวเชื่อม เริ่มด้วยการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ผมใช้ความสัมพันธ์จากการรู้จักกันในเวทีสัมมนาเสนอให้พี่ประมวล นักวิชาการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ประสานหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการที่สนง.พัฒนาชุมชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และเริ่มทำหน้าที่เลขาสรุปการประชุมและนำข้อคิดเห็นร่วมกันมาเขียนเป็นร่างโครงการ และเริ่มขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น จากนั้นชวนกันมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขโครงการร่วมกันหลายครั้ง จนสุดท้ายได้โครงการความร่วมมือ9หน่วยงานเพื่อร่วมกันจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่นำร่อง 3หมู่บ้านใน3ตำบลของอำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากโครงการนำร่องที่แต่ละหน่วยงานร่วมลงขันกันทำโดยไม่มีงบสนับสนุน เราได้ขยับขยายการทำงานโดยขอเข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเรียนปรึกษาและของบสนับสนุนเพื่อขยายพื้นที่เต็มทั้ง3ตำบลซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเซ็นอนุมัติในทันทีเพราะท่านบอกว่าตรงกับความตั้งใจของท่านที่อยากให้หน่วยงานร่วมกันวางแผนทำงานโดยให้ชุมชนเป็นแกนกลางของการพัฒนา เราได้งบมาประมาณ 280,000 บาท ผ่านทางสนง.พัฒนาชุมชน แต่ในทางปฏิบัติถือเป็นการทำงานร่วมกันของ9หน่วยงาน

โครงการจัดการความรู้ใน3ตำบลมอบให้ผมเป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างสนุกสนานได้ทั้งความสัมพันธ์และความรู้ทั้งส่วนราชการและชุมชน โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ในเวทีหลายครั้ง และพวกเราเองก็ได้เข้าพบท่านเพื่อเล่าความคืบหน้าและขอคำแนะนำจากท่านจนสิ้นสุดโครงการตามแผนงาน(แต่ยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องในพื้นที่)งบประมาณปี2548

วันหนึ่งผมพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่สนามบิน ท่านได้เรียกไปคุยโดยบอกว่าในปีงบประมาณ2549จะสนับสนุนโครงการจัดการความรู้ให้ขยายผลกว้างขวางขึ้น ผมมีความเห็นว่าควรเชื่อมโยงกับงานของน้ายงค์(ประยงค์ รณรงค์)เพื่อไม่ให้ต่างคนต่างทำ เพราะที่สุดแล้วเป็นเรื่องของการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนเหมือนกัน ท่านจึงเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับโครงการที่น้ายงค์ทำร่วมกับปกครองจังหวัดในปีงบประมาณ2548มาก่อนคือโครงการจัดทำแผนแม่บทชีวิตชุมชน โดยจะใช้การจัดการความรู้เข้ามาต่อยอด มอบหมายให้กศน.เป็นเจ้าภาพหลักด้วยงบประมาณจำนวน 14.9 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติคือทำงานร่วมกันเช่นเดียวกับโครงการจัดการความรู้3ตำบล เนื้อหาคือ เป็นการทำKMกับส่วนราชการแบบบูรณาการโดยใช้ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจนและแผนชีวิตชุมชนเป็นกิจกรรมเดินเรื่อง โดยใช้ชื่อย่อว่าโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร

โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร

โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครจะเข้าไปต่อยอดกระบวนการจัดทำแผนชีวิตชุมชนซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้จำนวน25,600ครัวเรือนจำนวน400หมู่บ้านจาก165ตำบลใน21กับ2กิ่งอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผ่านกลไกสนับสนุนของส่วนราชการและผู้นำชุมชนที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันโดยใช้แนวคิดการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ

แนวคิดการจัดการความรู้

การจัดการความรู้แก้จนเมืองนครจะใช้จินตนาการและเป้าหมายเป็นเครื่องนำทางในการพัฒนางานที่ทำเพื่อฝึกฝนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว กลุ่ม หน่วยงาน ชุมชนและสังคม โดยใช้กรอบวิสัยทัศน์จังหวัดนครศรีธรรมราชและเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง

ผมได้เข้ามาร่วมงานในฐานะคณะทำงานและเลขานุการวิชาการด้านการจัดการความรู้ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรและที่ปรึกษาการดำเนินงานโครงการ โดยมีกศน.เป็นเจ้าภาพหลักในการ ขับเคลื่อนโครงการ สิ่งที่ผมดำเนินการเป็นเรื่องแรกคือ ประชุมคณะทำงานวิชาการด้านการจัดการความรู้ซึ่งมีรองอธิการบดี ม.รามคำแหง วิทยาเขตนครศรีธรรมราชเป็นประธานเพื่อทำความรู้จักกันและปรึกษาหารือแนวทางการทำงาน โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย หลังจากนั้นก็มีการจัดประชุมอีกหลายครั้งเพื่อทำความเข้าใจกับหัวหน้าส่วนราชการในระดับต่างๆและแกนนำชุมชน ซึ่งค่อนข้างใช้เวลามากแต่ก็คืบหน้าไม่มากนัก เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ในภาค ราชการอย่างบูรณาการ ทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับระบบราชการและคนทำงานจำนวนมาก ซึ่งต้องวางระบบการเรียนรู้เป็นชั้นๆ ไม่เหมือนพื้นที่3ตำบลนำร่องที่เรามุ่งไปที่คนหน้างานได้เลย โดยไม่ต้องข้องเกี่ยวกับระบบสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆบังเกิดขึ้น แม้ไม่มาก แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งหากมีการดำเนินการ อย่างต่อเนื่องตามกระบวนการที่วางไว้ก็จะเห็นผลในไม่ช้า

กระบวนการจัดการความรู้ที่ได้ดำเนินไปและมีผลคืบหน้าแล้วมีดังนี้

1)การจัดวงเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหนุนเสริมกันอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยมีแกนนำหลักคือผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย 1.1)วงคุณเอื้อจังหวัด 1.2)วงคุณเอื้ออำเภอ 1.3)คุณอำนวยอำเภอ 1.4)คุณอำนวยตำบล 1.5)คุณอำนวยหมู่บ้าน1.6)คุณกิจ และ1.7)วงคุณอำนวยกลาง ซึ่งกระบวนการได้จัดให้มีการเรียนรู้ในวงคุณอำนวยอำเภอเป็นจุดเชื่อมต่อทางด้านปฏิบัติการโดยวงคุณเอื้อจังหวัดเป็นจุดเชื่อมต่อทางด้านนโยบาย

2)มีการประชุมวงคุณอำนวยอำเภอและคุณอำนวยกลางซึ่งเป็นเวทีเชื่อมโยงภาคปฏิบัติการและฝ่ายนโยบายเข้าด้วยกัน โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 4 เป็นเวทีเรียนรู้คุณอำนวยอำเภอ วันที่ 21 เป็นเวทีเรียนรู้คุณอำนวยกลาง(และคุณเอื้อจังหวัดที่เกี่ยวข้อง) วันที่ 30 เป็นเวทีเรียนรู้คุณเอื้อจังหวัด โดยท่านผู้ว่าราชการจะติดตามความคืบหน้าและผลักดันการทำงานผ่าน3วงเรียนรู้หลักนี้

การเรียนรู้แต่ละครั้งจะนำงานที่ทำในแต่ละพื้นที่/คนมาเล่าสู่กันฟัง เพิ่มเติมเนื้อหา/เทคนิควิธีบางอย่างให้(ติดอาวุธเพิ่ม) ร่วมกันกำหนดกิจกรรมที่จะลงไปขับเคลื่อนต่อ แล้วนำความคืบหน้าที่สำเร็จมาเล่าสู่กันฟัง โดยกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ของตนเองเพื่อความสำเร็จของงานเป็น เข็มทิศนำทาง

3)มีทีมงานของกศน.ซึ่งมุ่งมั่น ตั้งใจทำงานโดยเกาะติดกับงานอย่างจริงจังต่อเนื่องซึ่งมิใช่โดยหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นความตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองนครให้เข้มแข็ง ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยการนำของผอ.วิมล ซึ่งน่าประทับใจมาก

4)เริ่มมีแบบบันทึก"ความรู้ตามวิถีคนคอน"ที่ออกแบบโดยอาจารย์จำนง หนูนิลจากกศน.เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งผมเห็นว่าต่อไปจะเป็นแบบเรียนรู้ที่จะขยายผลไปทั่วประเทศ โดยเราจะเริ่มที่คุณอำนวยตำบลจำนวน492คนและคุณอำนวยหมู่บ้านจำนวน3,200คน

5)มีการเปิดBlog "ชุมชนจัดการความรู้เมืองนคร" และBlogส่วนตัวของทีมงานเพื่อเป็น ช่องทางสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งภายในโครงการ ผู้สนใจในจังหวัดนครศรีธรรมราชและกับภายนอกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆจำนวนมาก

นอกจากนี้ ด้วยแนวคิดที่ต้องการเชื่อมโยงการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของทีมงานในแต่ละวงเรียนรู้เข้ากับการเรียนรู้ในระบบ โดยคิดว่าทีมงานทั้งหมดก็เปรียบเสมือนนักศึกษา ถ้าความรู้ปฏิบัติที่ทำสำเร็จของแต่ละวงเรียนรู้ นำมาบันทึกเป็นเรื่องเล่า สกัดเป็นความรู้เชิงระบบหรือความรู้เชิงนามธรรมที่สามารถขยายผลได้กว้างไกลขึ้น ก็น่าจะเทียบคุณวุฒิให้ในแต่ละระดับ ไล่ตั้งแต่คุณวุฒิตามอัธยาศัยหรือสายสามัญของกศน.(ซึ่งทางกศน.มีแผนเทียบโอนคร่าวๆแล้ว)ระดับปริญญาตรี โท เอกในอุดมศึกษา ซึ่งหากมวล.ทำเรื่องนี้ ก็จะเป็นการบูรณาการการเรียนเข้ากับการบริการวิชาการ สหกิจศึกษาและการทำวิจัยด้วย ได้ทั้งเงินและงานตามภารกิจ ความคิดนี้ผมได้ลองหารือกับกรรมการสภา และประชุมกับคณาจารย์บางท่านแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่ก็ทราบว่าบางสำนักวิชาได้ดำเนินการเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ผมเห็นว่าเกินกำลัง จึงหยุดพักไว้ ขอทำในส่วนที่พอทำได้ก่อน

คำสำคัญ (Tags): #แก้จนเมืองนคร
หมายเลขบันทึก: 32549เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท