การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๕)


เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์ เป็นหนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี อันที่จริงแล้ว ก็เป็นเทคนิคง่ายๆที่นักเรียนชาวนาสามารถหมักจุลินทรีย์กันได้ด้วยตนเองอย่างไม่ต้องยุ่งยาก และเทคนิคนี้สามารถช่วยลดต้นทุนการทำนาให้ต่ำลงได้อีกทางหนึ่งด้วย ... อย่างนี้ก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก นักเรียนชาวนาจะต้องเรียนรู้และสามารถใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่มีที่พบตามธรรมชาติ

การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๕)
ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๕ มาลงต่อนะครับ ท่านจะได้เห็นว่าชาวนาความรู้หรือภูมิปัญญาเดิมที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ดี และสามารถสร้างความรู้ขึ้นใช้เองได้ ดังตัวอย่างจุลินทรีย์ที่ไปเก็บมาจากน้ำตกไซเบอ นั่นคือความรู้สำหรับใช้งาน ในเรื่องการจัดการความรู้ อะไรก็ตามที่เอามาใช้งานได้ เรียกว่า “ความรู้” ทั้งหมด


โรงเรียนชาวนากับการจัดการความรู้
ตอนที่ 5 เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์
เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์ เป็นหนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี อันที่จริงแล้ว ก็เป็นเทคนิคง่ายๆที่นักเรียนชาวนาสามารถหมักจุลินทรีย์กันได้ด้วยตนเองอย่างไม่ต้องยุ่งยาก และเทคนิคนี้สามารถช่วยลดต้นทุนการทำนาให้ต่ำลงได้อีกทางหนึ่งด้วย ... อย่างนี้ก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก นักเรียนชาวนาจะต้องเรียนรู้และสามารถใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่มีที่พบตามธรรมชาติ


ก่อนอื่นใคร่ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้น ณ ที่นี้กันก่อนว่า เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์นี้มาจากร่องรอยความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต่างก็รู้จักกันมานานแล้ว โรงเรียนชาวนาจึงย้อนนำเอาความรู้เก่าแก่นี้กลับมาพูดคุยกันใหม่ไปพร้อมๆกับการฝึกหัดปฏิบัติจริง ซึ่งโรงเรียนชาวนายังไม่ได้นำไปทดลองตามวิทยาศาสตร์ แต่ได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ตามภูมิปัญญาชาวบ้านไปแล้ว และได้ผลดี เป็นที่น่าพึ่งพอใจ (ถ้าหากเป็นเช่นนี้ ก็ต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถต่อไปอีกเรื่อยๆในอนาคต จะได้เป็นความรู้ห้าดาว)


เรื่องเทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์ จะต้องทำความเข้าใจเนื้อหาเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก เป็นเรื่องของฟางข้าวในไร่นาและการใช้ประโยชน์ ส่วนประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของการหมักน้ำจุลินทรีย์

เรื่องเทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์ จะต้องทำความเข้าใจเนื้อหาเป็น 2


เรื่องฟางข้าวนี้ สำหรับชาวนาโดยทั่วไป หลังจากเกี่ยวข้าวกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มักจะเผาฟางทิ้งกัน อันเป็นสิ่งที่คุ้นเคยจนไม่ใช่เป็นเรื่องน่าแปลกอะไรไปเสียแล้ว เพราะใครๆเขาก็ทำกัน หากแต่ว่าฟางข้าวนั้นมีประโยชน์อยู่หลายประการเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น นำไปเป็นอาหารให้กับเลี้ยงสัตว์ ให้กับวัว ควาย และนอกจากนี้ โรงเรียนชาวนาก็มองเห็นว่าฟางข้าวในนานี้แหละที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้กับพื้นนาได้อีกเป็นอย่างดี โดยที่นักเรียนชาวนาไม่ต้องเผาฟางทิ้ง หลังเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ฟางข้าวเป็นอย่างไรก็ปล่อยทิ้งไว้กลางทุ่งนาอย่างนั้นแหละ


จากกรณีศึกษาในโรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆ ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างของคุณสนั่น เวียงขำ นักเรียนชาวนาที่นำเทคนิคนี้ไปใช้ลดต้นทุนการทำนา บนพื้นนาข้าวเนื้อที่จำนวน 9 ไร่พอดีๆ เมื่อก่อนนี้ จะต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง กว่าจะไถนาให้เสร็จ เรียกได้ว่าเอากันเหนื่อยไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว แต่ในคราวปัจจุบันนี้ ได้หันมาใช้เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์นี่เอง ที่ทำให้การไถนาย่นระยะเวลาลงเหลือเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น ก็เสร็จแล้ว แค่ครึ่งวันก็เสร็จแล้วจริงๆ ย่นระยะเวลาไปจากเดิมถึง 1 ใน 3 คุณสนั่น เวียงขำ จึงสามารถประหยัดทั้งเวลา เพราะใช้เวลาลดลง ประหยัดเงิน เพราะใช้น้ำมันน้อยลง และประหยัดแรง เพราะไม่ต้องเหนื่อยนานกว่าแต่เก่าก่อน

หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว คุณสนั่น เวียงขำ ไม่ได้เผาฟางข้าว แต่ปล่อยฟางข้าวทิ้งไว้ใน ทุ่งนา แล้วก็ปล่อยน้ำเข้านา พอให้มีน้ำในนาบ้าง แต่ก็ไม่ต้องให้ถึงกับท่วมนา จากนั้นจึงนำน้ำหมักจุลินทรีย์ที่หมักเอาไว้เองใส่ถัง (ถังน้ำมันเก่าๆ) เจาะรูเพื่อให้น้ำค่อยๆไหลออกจากถัง แล้ววางถังบนรถไถ คราวนี้ก็ขับไปๆมาๆให้ทั่วบริเวณที่นาที่เต็มไปด้วยฟางข้าวกับน้ำ น้ำหมักจุลินทรีย์ก็ค่อยๆทยอยไหลลงปะปนกันไปทั่วสารทิศ จุลินทรีย์จะลงไปทำหน้าที่กับฟางที่ชุ่มช่ำไปด้วยน้ำเอง ทำให้ฟางข้าวเน่าย่อยสลายเร็วขึ้น เพราะการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ เป็นการใช้ธรรมชาติดำเนินการไปตามธรรมชาติเอง การไถหมักฟางข้าวเอาไว้ก็เพื่อที่จะเตรียมพื้นนาเอาไว้รองรับอินทรียวัตถุที่จะมากับน้ำท่วมในเดือนกันยายน และการหมักย่ำฟางเอาไว้ก็เพื่อที่จะไม่ให้ฟางข้าวลอยไปกับสายน้ำเมื่อยามน้ำหลากอย่างแรง



ภาพที่ 9 คุณสนั่น เวียงขำ นักเรียนชาวนาบ้านสังโฆแสดงการวางถังน้ำหมัก
ภาพที่ 10 คุณสนั่น เวียงขำ สาธิตเทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์


ภาพที่ 11 สภาพพื้นที่นาที่มีการใช้เทคนิคการไถหมักฟางด้วยจุลินทรีย์
ภาพที่ 12 สภาพพื้นที่นาที่มีการเผาฟาง โดยไม่ใช้เทคนิคการไถหมักฟางฯ

จากกรณีศึกษาตัวอย่างดังกล่าวนี้ นักเรียนชาวนาไม่ต้องใช้วิธีอื่น ไม่ต้องเผา ไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ ไม่ต้องออกแรกให้เหนื่อยมาก แต่ได้ประโยชน์ต่อดิน ซึ่งดินในนาข้าวด้วย ที่แน่ๆและสำคัญยิ่งกว่าแน่ก็คือ จะไม่มีสารเคมีตกค้างในดินเลย


คราวนี้มาถึงประเด็นของการหาจุลินทรีย์และการหมักน้ำจุลินทรีย์ สำหรับกิจกรรมในโรงเรียนชาวนาสังโฆ ตำบลวัดวาด ได้พานักเรียนชาวนาไปถึงแหล่งเพื่อหาจุลินทรีย์ ที่น้ำตก ไซเบอร์ อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา ทำให้งานนี้นักเรียนชาวนารวมรุ่น ได้ทั้งไปเที่ยวได้ทั้งไปเก็บเอาจุลินทรีย์ จนได้ไปเรียนรู้กับไปเห็นของจริง ได้รู้จักธรรมชาติของจุลินทรีย์ในป่าและที่น้ำตกไซเบอร์



ภาพที่ 13 นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาวัดดาวเดินทางไปน้ำตกไซเบอร์ ในอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข็ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2547
ภาพที่ 14 นักเรียนชาวนาเก็บจุลินทรีย์ที่อยู่ตามผิวน้ำและโขดหินเพื่อนำใส่ขวด ในบริเวณน้ำตกไซเบอร์

โรงเรียนชาวนาจึงเอาน้ำตกไซเบอร์เป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชาวนา เป้าหมาย การเดินทางไปน้ำตกในครั้งนี้ ก็เพื่อจะสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงประจักษ์จริงและสร้าง ความเข้าใจให้แก่นักเรียนชาวนา โดยเรียนจากธรรมชาติ แล้วนำสู่การถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน


กิจกรรมจึงต้องการให้นักเรียนชาวนาสามารถรู้วิธีเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์อย่างง่ายได้ด้วยตนเอง รู้จักลักษณะ และการอยู่อาศัยของจุลินทรีย์ตามแหล่งต่างๆที่อยู่ต่างสถานที่กัน สร้างกระบวนการเรียนรู้จากธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้ถ่ายทอด นักเรียนชาวนาได้สัมผัสของจริงและได้เห็นถึง การพึ่งพาของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างจุลินทรีย์ ที่จะนำมาขยายผลต่อการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนในลำดับต่อไป


การเก็บจุลินทรีย์จากในน้ำ แถวๆโขดหินซอกหิน ก็ใช้ขวดพลาสติกน้ำดื่มเป็นภาชนะสำหรับเก็บจุลินทรีย์ในน้ำ และอีกบริเวณหนึ่งจากบริเวณโคนต้นไม้ บริเวณพื้นดินที่มีเศษใบไม้ทับถมกันอยู่ ก็โกยเอาเก็บใส่ในถุงพลาสติกหรือถุงกระสอบ...ตามแต่จะเตรียมกันมา นักเรียนชาวนาแต่ละคนได้กันคนละถุงสองถุงหิ้วกลับเมืองสุพรรณ



ภาพที่ 15 นักเรียนชาวนาเดินเก็บจุลินทรีย์ตามบริเวณต้นไม้ในป่า
ภาพที่ 16 ร่วมกันค้นหาเชื้อจุลินทรีย์ตามบริเวณที่ใบไม้ทับถมกันในป่า

ตามความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่บอกกล่าวกันมา ก็พอจะทำให้ทราบได้ว่า นักเรียนชาวนามีวิธีการดูจุลินทรีย์ เรื่องนี้อาศัยจากประสบการณ์ เวลาเดินในป่าและที่น้ำตกต้องอาศัย การสังเกต โดยดึงเอาประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ออกมาคิดประเมิน นอกจากนี้ ยังทราบว่าจุลินทรีย์ที่ได้จากพื้นดินตามโคนต้นไม้ ตามเศษใบไม้ใบพืช จะมีความแตกต่างไปจากจุลินทรีย์ที่ได้จากในน้ำ (น้ำตก) เป็นเรื่องความคงทนแข็งแรงของจุลินทรีย์ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ได้จากในน้ำนั้น นักเรียนชาวนาบอกว่า มันไม่แข็งแรง สู้ที่เก็บจากพื้นดินไม่ได้ (มิน่าเล่า... จึงเห็นแต่นักเรียนชาวนาไม่ค่อยจะลงน้ำกันเลย เอาแต่จะเข้าพงเข้าโพงกันอยู่... ในขณะนั้น) ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่จะต้องไปขบคิดพิจารณาและทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ตามวิทยาศาสตร์กันต่อไปในอนาคต


ผลที่ได้จากการไปเก็บจุลินทรีย์ที่น้ำตกไซเบอร์ ก็ทำให้นักเรียนชาวนาได้เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อยู่ตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามใบไผ่ ตามโคนไม้ใหญ่ ตามขอนไม้ขนาดใหญ่ที่ย่อยสลายผุพัง ต่างๆเหล่านี้เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอากาศในการดำเนินกิจกรรมการย่อยสลาย และเก็บจุลินทรีย์ตามแหล่งน้ำ (น้ำตก) จุลินทรีย์ที่อยู่ตามตะกอนดินนั้นไม่ต้องอาศัยอากาศในการหายใจ


การไปดูถึงสถานที่จริงได้ช่วยให้นักเรียนชาวนาเห็นความประจักษ์จริงในเรื่องของการพึ่งพากันทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต่างๆ สิ่งแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้นของสถานที่นั้นๆเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้จุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตไปตามสภาพได้ ซึ่งนับเป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ นักเรียนชาวนาจะเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ วิชาสังคมภูมิศาสตร์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาเกษตรศาสตร์ เพราะนักเรียนชาวนาจะต้องนำความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์ ความคิดความอ่านไปร่วมผสานกัน เพื่อนำมาปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงและพัฒนา จุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นตำบลวัดดาวได้อย่างเหมาะสม


หลังจากกลับไปถึงบ้านใครบ้านมันกันแล้ว แต่ละคนก็จะต้องนำจุลินทรีย์ที่เก็บมาได้จากน้ำตกไซเบอร์ไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะขยายจุลินทรีย์ให้มีมากๆขึ้น และให้สภาพ ตัวจุลินทรีย์แข็งแรงมากขึ้นด้วย เมื่อระยะเวลาผ่านไปเกือบสัปดาห์ จึงนำจุลินทรีย์ที่ได้เอาไปหมักกับน้ำในถัง



ภาพที่ 17 จุลินทรีย์ที่อาศัยกับเศษใบไม้ ซึ่งเก็บมาจากบริเวณน้ำตกไซเบอร์ อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข็ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
ภาพที่ 18 น้ำหมักจุลินทรีย์

ในสัปดาห์ต่อมา โรงเรียนชาวนาจึงจัดกิจกรรมสาธิตวิธีการหมักน้ำจุลินทรีย์ในชั่วโมงเรียนกันขึ้น อันเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ภายหลังจากที่พากันไปเก็บถึงแหล่งมาได้แล้ว



ภาพที่ 19 คุณสุทิน ขุนไม้งาม นักเรียนชาวนาสังโฆกำลังสาธิตการเพาะเลี้ยง จุลินทรีย์ในถัง
ภาพที่ 20 กิจกรรมการสาธิตเพาะเลี้ยง จุลินทรีย์ หนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี

นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้เรื่องเชื้อจุลินทรีย์ครบทุกวงจร นักเรียนชาวนาจึงเป็นคุณกิจ ส่วนเจ้าหน้าที่ยังคงทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ทั้งคู่ได้ร่วมมือกันเรียนรู้ โดยตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยการไปดูแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่น้ำตกไซเบอร์ พร้อมๆกับการเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ในสภาพต่างๆ กลับมาหมักด้วยตนเอง และนำไปการใช้ประโยชน์ในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะนำไปผสมในปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวจำนวนหนึ่ง และลดต้นทุนการทำ ปุ๋ยหมักชีวภาพของกองทุนปุ๋ยชีวภาพประจำตำบลได้หลายพันบาท (ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนอื่นต่อไป)


เชื้อจุลินทรีย์มีประโยชน์ต่อนักเรียนชาวนา และมีประโยชน์ต่อแปลงนาแปลงพืชผัก มีประโยชน์ต่อดิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีตามแบบระบบการผลิตเดิม นักเรียนชาวนาไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นนี้ ทำให้เห็นได้ว่าการก้าวเข้าสู่วิถีของการเกษตรยั่งยืนจะสามารถทำให้นักเรียนชาวนาวัฒนายั่งยืนตลอดไป


ท่านเห็นความสามารถในการสร้าง “ความรู้” ขึ้นใช้เองของชาวบ้านไหมครับ จุลินทรีย์จากน้ำตกไซเบอของนักเรียนโรงเรียนชาวนานี้ จะมีนักวิชาการ คือ รศ. ดร. ก้าน จันทร์พรหมา แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำไปให้นักวิทยาศาสตร์เพาะแยกชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ ได้ผลนำส่งให้นักเรียนโรงรียนชาวนาได้ตื่นเต้นกัน เป็นตัวอย่างของการที่นักวิชาการเข้าไปทำวิจัยต่อยอดความรู้ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นใช้ ผมจะเอาเรื่องนี้มาเล่าภายหลัง


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

</strong></strong>

</strong>

หมายเลขบันทึก: 325เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2005 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท