9 ยุทธการชวนคนแหกกรอบเติมนวัตกรรมใหม่ใส่องค์กร


9 ยุทธการชวนคนแหกกรอบเติมนวัตกรรมใหม่ใส่องค์กร

     - พลิก 9 ยุทธการพังกรอบความคิดฝุ่นเกาะ เพื่อกระโจนไปหา solutions ใหม่ ๆ
     - ถอดรหัส "CREATIVITY" แก้ปัญหาต่อมความคิดของคนได้อย่างไร ?
     - ชี้แผนสกัดดาวรุ่ง ระบบสายบังคับบัญชา บั่นทอนอำนาจความคิดที่ไร้ขอบเขตไปอย่างน่าเสียดาย
     - ถึงเวลาดึงศักยภาพแฝงของคน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอันประเมินค่าไม่ได้เป็นของกำนัลแก่ธุรกิจ

     ที่ปรึกษาความคิดสร้างสรรค์ เปิดโปงยุทธวิธีแหกกฎ 9 กรอบ แก้เกมคนไม่ยอมคิด พร้อมข้อเสนอแนะอีก 11 วิธี เพื่อฝึกหัดให้แก้ปัญหาด้วยวิธีการแปลกใหม่ ชี้วิสัยทัศน์ผู้นำปัจจุบันตื่นตัวกระตุ้นคนคิดนอกกรอบ เพื่อทะยานสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมมากขึ้น แต่ระดับหัวหน้างานยังไม่เล่นด้วย กลัวหมดค่าความเก๋า
    
     ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ Training Captain บริษัท 37.5 องศาเซลเซียส จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านงานฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาองค์กร กล่าวว่า ปัจจุบันข้อจำกัดของคนส่วนใหญ่ที่ขาดการใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเพราะติดกรอบไร้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งกรอบเหล่านี้มีทั้งหมด 9 กรอบด้วยกันคือ

     กรอบที่ 1 หลุมพรางของเวลา คนส่วนใหญ่มักอ้างว่าไม่มีเวลาคิดสร้างสรรค์ วิธีแก้กรอบนี้ คือ ต้องหันกลับมาลองพิจารณาดูซิว่า สามารถหาเวลาเพื่อคิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอะไรได้บ้าง ลองคิดออกมาซัก 21 กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ รับประทานอาหาร ขับรถ ฟังวิทยุ ดูทีวี ก็จะพบว่า คนทั่วไปมีเวลาเหลือเฟือที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์
     กรอบที่ 2 สิ่งแวดล้อมไม่อำนวย เป็นอีกเหตุผลที่ถูกอ้างว่าคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ เพราะบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย วิธีแก้ คือ ต้องลองระบุถึงสภาวะที่กระตุ้นให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้มากที่สุด เช่น ช่วงเวลาของวัน สถานที่ เสียงเพลง หรือกลิ่น แล้วลองคิดซิว่าจะสามารถนำบรรยากาศที่เอื้อเหล่านั้นมาใช้ในที่ทำงานได้อย่างไร อย่างเช่น บิลเกตต์ ชอบอะควาเรียม ยังจำลองควาเรียมมาไว้ในห้องทำงาน บนจอคอมพิวเตอร์ได้
     กรอบที่ 3 ไม่กล้าเสี่ยง ส่วนใหญ่ติดกรอบนี้เพราะกลัวว่าจะผิดพลาด วิธีแก้ จึงต้องฝึกพิจารณาว่าคนที่กล้าเสี่ยงแล้วประสบความสำเร็จมีใครบ้าง แล้วคนที่ไม่กล้าเสี่ยงแล้วประสบความสำเร็จ มาเปรียบเทียบกัน โดยปกติจะพบว่าคนที่กล้าเสี่ยงจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ไม่กล้าเสี่ยง จากนั้นลองคิดถึงตนเองบ้างว่าสิ่งที่เคยเสี่ยงมากที่สุดในชีวิต คืออะไร เพราะเมื่อนึกถึงเรื่องนั้นแล้ว จะทำให้เรากล้าเสี่ยงในครั้งต่อไป แต่ถ้าเรื่องที่จะเสี่ยงต่อไปนั้นมีความเสี่ยงกว่าเรื่องที่ผ่านมา ต้องลองถามตัวเองว่า ถ้าเสี่ยงครั้งนี้จะถึงตายมั้ย?? การตั้งคำถามกับตนเองจะทำให้ตนเองมีความกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น
     กรอบที่ 4 หลงความสมบูรณ์แบบ  กรอบนี้ทำให้บ่อยครั้งที่คนเราคิดเรื่องที่สร้างสรรค์ แต่ไม่ทำ เพราะมองว่ายังไม่ดีพอ วิธีแก้คือ การลงมือทำเรื่องใดๆ ก็ตาม ต้องหาเป้าหมายที่จะทำ จากนั้นทดสอบทางเลือกต่างๆ แล้วเริ่มลงมือทำ จากนั้นจึงค่อยกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่ทำนั้นใช่ หรือ ไม่ แล้ววัดความก้าวหน้า ทั้งนี้ต้องรู้จักพอใจและยินดีกับความพยายามของตนเอง แล้วพยายามอีกครั้งถ้ายังทำไม่สำเร็จ แก่นสำคัญ คือ ต้องเข้าใจว่า ความพยายาม คือ การทำให้บรรลุเป้าหมาย แต่ถ้าผิดพลาด คือ ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มากขึ้น และจะไม่ถึงเป้าหมายถ้าล้มเลิกกลางคัน "แค่ถึงเป้าก็พอ แม้ไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม"
     กรอบที่ 5 นิ่งเสียตำลึงทอง กรอบนี้คนที่เป็นมักคิดว่าของเดิมที่มีอยู่ ก็ดีอยู่แล้ว รอให้ล้าสมัยก่อน หรือรอให้มีคู่แข่งเข้ามาก่อน ค่อยคิดหาทางใหม่ๆ วิธีแก้ จึงต้องฝึกให้ลองคิดว่าอะไรที่ของเดิมก็มีอยู่แล้ว และดูด้วย แต่ก็มีของใหม่ที่ดีกว่าเข้ามาทดแทน 
     กรอบที่ 6 ไม่เพียงแค่ถูกหรือผิด การวางคำตอบเพียงถูกหรือผิด ทำให้ความคิดเราถูกจำกัด วิธีแก้ จึงต้องลองคิดใหม่ถึงความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้มา 1 เหตุการณ์ แล้วลองหาเรื่องสมมุติมาสัก 3 เรื่องที่จะทำให้เห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ว่ากันว่าการค้นหาอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหากเป็นอย่างนั้น หรือเป็นอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร จะทำให้เราไม่จำกัดกรอบความคิดอยู่เพียงถูกหรือผิด
     กรอบที่ 7 คิดไปเอง เป็นอีกเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดสร้างสรรค์ เพราะคิดไปเองว่าตนนั้นคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น วิธีแก้นั้น ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าคนวัยทำงานจริงๆ แล้ว ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพียง 3% ของความสามารถทั้งหมดที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา จึงมีเซลล์สมองในการคิดสร้างสรรค์เหลือถึง 99.7% ลองพิจารณาดูบ้างซิว่า วันนี้ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากปกติบ้าง การคิดว่าตนเองเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นกำลังใจสำคัญที่ให้แก่ตนเอง
     กรอบที่ 8 ความถูกต้องมีหนึ่งเดียว การคิดหาคำตอบที่ถูกต้องอย่างเดียว ทำให้ไม่คิดอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมได้ วิธีแก้ คือ จากที่เคยหาคำตอบเพียงคำตอบเดียว ลองหาทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมาอีก คิดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความคิดที่อาจเพี้ยนไปเลย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพื่ออย่างน้อยที่สุด ก็ถือว่ายังได้คิด เวลาได้ความคิดใหม่ๆมา บางครั้งลองนำความคิดเหล่านั้นมาลองปรับใช้ดู ในที่สุด สิ่งที่คิดว่าแปลกใหม่ ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะถูกปรับมาใช้ได้จริงในที่สุด
     กรอบที่ 9 คำนึงแต่กำไร ความคิดแปลกใหม่ที่ยังไม่สร้างกำไรในขณะนี้จึงมักถูกละทิ้ง วิธีแก้ คือ เรียนรู้ว่าบางครั้งความคิดที่แปลกใหม่ก็ก่อให้เกิดผลกำไรได้ในภายหลัง ถ้ารู้จักปรับใช้เข้ากับความต้องการของลูกค้า เช่น กรณีศึกษาของ 3M ที่พัฒนาโพสท์อิท มาจากกาวที่เดิมติดไม่แน่น หรือไนกี้ที่ทำยางรองเท้าให้มีลักษณะเหมือนขนมวาฟเฟิล เป็นต้น

          ต้องแก้ด้วย CREATIVITY
     เมื่อเอาชนะกรอบทั้ง 9 ที่ทำให้หลุดออกจากความคิดเดิมๆ ได้แล้ว ศรัณย์ แนะนำว่ายังมีอีก 11 วิธีการที่จะทำช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคน ทั้งยังนำมาใช้แก้ปัญหาได้อีกด้วย เรียกว่าหลัก CREATIVITY โดย

     C = Combine & Compare การเปรียบเทียบ และการผสมผสาน เป็นการแก้ปัญหาเรื่องที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยเรื่องราวที่คล้ายกัน โดยหยิบเอาเรื่องที่คล้ายกันนั้น มาพิจารณาขั้นตอนเปรียบเทียบความคล้ายและประยุกต์ให้เข้ากับปัญหาที่กำลังคิด จุดนี้ที่ต้องระวัง คือ ถ้านำเรื่องที่ใกล้เคียงกันมากมาเปรียบเทียบกัน จะไม่ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ แต่ถ้าเรื่องที่ไกลกันมาก็จะไม่สามารถประยุกต์ให้เข้ากันได้เลย สำหรับการผสมผสาน เป็นการฝึกลองจินตนาการจับคู่สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาผสมกัน เช่น กาวแท่ง และเนย หรือเมื่อเห็นผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ ลองฝึกจินตนาการดูว่าถูกจับคู่กันด้วยอะไร

     R = Risk Taking เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน ความกล้าเสี่ยงจะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของความคิดสร้างสรรค์เพราะทำให้มีความคิดที่แตกต่าง แต่จะเสี่ยงให้สำเร็จได้อย่างไร ก่อนอื่นอาจต้องยอมรับก่อนว่าจะถูกวิจารณ์ ก็ต้องตั้งเป้าหมายที่มั่นคง อาจลดความเสี่ยงด้วยการหาข้อมูล และเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือจากการต่อต้าน จากใครบ้าง และจะมีระดับรุนแรงขนาดไหน แบ่งความเสี่ยงเพื่อสร้างแรงกระตุ้น หรือแจ้งให้ผู้ร่วมงานทีมรับรู้ หาวิธีสร้างความยืดหยุ่น และเมื่อกล้าเสี่ยงแล้ว ควรคิดถึงการให้รางวัลตนเองได้ด้วย จากนั้นก็ลงมือได้เลย     

     E = Expand & Shrink ยืดๆ หดๆ วิธีนี้เหมาะกับกระตุ้นความคิดถึงวัตถุที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ลองคิดว่าถ้ายืดสินค้าชิ้นหนึ่ง ให้ยาวขึ้นจะเป็นอย่างไร และถ้าหดให้สั้นลงจะเป็นอย่างไร แต่ปัญหาที่เป็นนามธรรมก็สามารถทำได้ เช่น ปัญหาระดับประเทศ มองอย่างไรให้เห็นเป็นปัญหาของคนทะเลาะกัน

     A = Ask "What''s good, What if, What else ?" ดีอย่างไร และถ้าหาก และจะเป็นอย่างอื่นอะไรได้อีก เป็นวิธีฝึกคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้ คือ อะไร ทำไมต้องทำ แล้วถ้าใช้วิธีทำแบบอื่นจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะได้วิธีทำงานที่ดีกว่าเดิมก็ได้

     T = Transform viewpoint เปลี่ยนมุมมอง เป็นการฝึกมองปัญหาในมุมที่แตกต่างจากปกติ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่แตกต่าง หรือใช้มุมมองคนอื่น เช่น ปัญหาเดียวกัน ถ้าเป็นซีอีโอจะตัดสินปัญหานั้นอย่างไร หรือลองคิดในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าปัญหานี้เกิดขึ้นในอดีตจะเป็นอย่างไร หรือถ้าเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร และลองคิดในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป

     I = In another sequence ในลำดับที่แตกต่าง เช่น ถ้าปัญหากลายเป็นคำตอบ? มองปัญหาถอยหลังย้อมกลับ? ลองสลับขั้นตอน? ดำเนินขั้นตอนที่แตกต่าง? หรือถ้าขั้นตอนย้อนกลับ? แล้วลองหยิบเหตุการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์กับเหตุการณ์ปกติ อาจได้ทางแก้ปัญหาใหม่ๆ

     V = Visit other places ไปในที่อื่นๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เปลี่ยนสถานที่บ้าง ทำให้เกิดไอเดียที่แปลกใหม่กลับมา

     I = Incubate กกใข่ให้ได้ที่ วิธีนี้บ่งบอกว่า บางครั้งความคิดใหม่ก็เกิดได้จากช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างครึ่งหลับ ครึ่งตื่น บางคนอาจเข้านอนพร้อมปัญหาที่ขบคิดอยู่ ทำให้จิตใต้สำนึกยังคงทำงาน และเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้บางครั้งก็เจอคำตอบอย่างคาดไม่ถึงได้

     T = Trigger ideas ลั่นไกความคิด เมื่อมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องลงมือทำ

     Y = Youth advantage ใช้ประโยชน์จากความเป็นเด็ก เป็นการแก้ปัญหาโดยใช้คุณสมบัติความเป็นเด็กที่ประกอบด้วย ไร้เดียงสา เล็กจิ๋ว อยากรู้อยากเห็น ตรงไปตรงมาตามคำพูด ซื่อ สนุกสนาน มองเชิงบวก

     ศรัณย์ กล่าวต่อว่า กระบวนการทั้ง 11 ข้อข้างต้น ยังต้องประกอบด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่มีเพชฌฆาตความคิด หมายความว่า เมื่อมีไอเดียใหม่ๆ ที่ดูว่าจะปฏิบัติไม่ได้ ผู้ร่วมงานต้องฝึกที่จะกล่าวว่าก็เป็นไอเดียที่ดีนะ แล้วจะปฎิบัติได้อย่างไร เขาบอกว่าถามแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุด จะนำไปสู่วิธีการที่ปฏิบัติได้จริง และอยู่ในงบประมาณที่เป็นไปได้

     แต่ในกรณีที่ผู้คิดหาวิธีการที่ปฏิบัติจริงไม่ได้ ก็จะเป็นผู้ถอนความคิดเหล่านั้นเอง ซึ่งจะทำให้ผู้เสนอความคิดไม่รู้สึกว่าถูกปฏิเสธ อย่างไรก็ตามความคิดนอกกรอบที่วันนี้ยังปฏิบัติจริงไม่ได้ เป็นสิ่งที่ควรเก็บไว้ เพราะเมื่อมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงขึ้น สิ่งที่คิดไว้ อาจนำมาใช้ได้จริงก็ได้

     เผยหัวหน้าสกัดดาวรุ่ง

     ที่ปรึกษาความคิดสร้างสรรค์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ ผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงเริ่มหันมาสนับสนุนให้คนในองค์กรสร้างความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม ทำให้การจัดฝึกอบรมพนักงานในเรื่องดังกล่าวมีมากขึ้น

     อย่างไรก็ตามเมื่อพนักงานกลับไปองค์กร ผลตอบรับที่ได้รับส่วนใหญ่มักเล่าว่าเสนอความคิดไปแล้ว หัวหน้าไม่ยอมรับ ซึ่งเขามองว่าส่วนหนึ่งเพราะหัวหน้าเชื่อมั่นในประสบการณ์ของตนเองเกินไป ทั้งนี้หัวหน้าที่ดีต้องรู้วิธีที่จะผสมผสานประสบการณ์ของตนกับความคิดที่แปลกใหม่ของพนักงานรุ่นใหม่ให้ได้ เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร 

     เขาแนะนำเพิ่มเติมถึงกระบวนการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมนั้น มี 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับแรกเป็นมุมมองของสภาพแวดล้อม ที่มีผลกระทบมาจากภายนอก ทำให้องค์กรต้องสร้างสรรค์ ระดับต่อมา คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้นำเห็นความสำคัญ แล้วพนักงานร่วมกันคิดสร้างสรรค์ และมีค่านิยมเชื่อในคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ และระดับสุดท้าย ความคิดสร้างสรรค์ที่คิดได้ต้องสร้างให้เกิดมูลค่าสู่องค์กรด้วย

     เขากล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรที่สร้างความคิดสร้างสรรค์ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมากกว่า เช่น มีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้วรู้จักนำมาปฏิบัติได้จริง หรือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่องค์กรเหล่านี้ยังไม่ได้มีการบริหารจัดการให้เป็นแบบนี้ 

     ดังนั้นจึงยังมีศักยภาพแอบแฝงอยู่อีกมาก ถ้ามีระบบการจัดการที่ดี เช่น มีระบบกระตุ้นให้คนคิด ให้คนกล้านำเสนอ และเสนออย่างมีหลักการ มีระบบให้รางวัล รวมถึงระบบที่ทำให้คนเก่งคิดในระดับที่แตกต่างกันได้รับการพัฒนา ท้ายที่สุดความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นจะก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร

     เรียบเรียงจากกิจกรรม "การสังสรรค์ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเชิงธุรกิจ" จัดโดย บริษัท 37.5 องศาเซลเซียส จำกัด ปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนปาร์ค สุขุมวิท 22

     กว่าจะออกผลเป็นนวัตกรรม
 ...เพราะคนในองค์กรไม่เชื่อว่า ตนเองสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ และไม่รู้เทคนิคในการคิดสร้างสรรค์

   เปรียบได้กับสวนผลไม้ที่ยังไม่ได้เริ่มปลูกฝังเมล็ดพันธุ์
...เพราะไม่ได้บริหารคนให้คิดอย่างสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ได้รับการอุปถัมภ์

   เปรียบเสมือนต้นกล้าที่ขาดการรดน้ำ ขาดแสงแดด ขาดการดูแลเอาใจใส่ ต้นกล้าจึงเหี่ยวเฉาตายจากไป
...เพราะขาดการพัฒนาไปสู่การกระทำที่เพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กร

   เปรียบเสมือนต้นไม้ที่โตเต็มที่ แต่ขาดการผสมเกสร จึงไม่อาจผลิดอกออกผล

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ http://www.manager.co.th  อ้างถึงจาก http://www.siamhrm.com

 

บันทึกเพิ่มเติมแนบท้าย วันที่ 4 กันยายน 2548 เวลา 19.18 น.

     ผมได้ปรับปรุงใหม่ โดยนำไปไว้ในส่วนบันทึกทั้งหมดที่เดียวกันตามที่อาจารย์จันทวรรณได้แนะนำครับ

     สาเหตุที่ได้นำมาไว้เพราะมองเห็นว่าการสร้างนวตกรรม มีความจำเป็นมากครับสำหรับการกล้าคิดนอกกรอบ และโดยเฉพาะในสังคมของเรา ทั้งนี้หากมีคนเพียงน้อยนิดที่ชาญชัยคิดนอกรอบเมื่อไหร่ ก็จะถูกปฏิบัติตอบเช่นคนที่แปลกแยกทันที

     คนที่ทานกับความรู้สึกนี้ได้ โดยเฉพาะในองค์กรราชการที่ใหญ่ และมีวัฒนธรรมการทำงานฝังรากลึกมาช้านาน ก็เป็นธรรมชาติที่ยากจะเปลี่ยนแปลง (น.พ.โกมาตรฯ ได้เขียนไว้) จะมีโอกาสสร้างนวตกรรม แม้ไม่เป็นนวตกรรม ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับสังคมได้ ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เป็นไป แม้จะนานหน่อยก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

หมายเลขบันทึก: 3248เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
 มีการเปิดประเด็นต่ออยู่ที่ "ยืม 9 ยุทธการชวนคนแหกกรอบเติมนวัตกรรมใหม่ใส่องค์กร" น่าสนใจมากทีเดียว ขอเชิญครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท