ประสบการณ์การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ


ประสบการณ์การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล
ศูนย์พัฒนาคุณภาพ รพ.สงขลา
                                ทิศทางของการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลผู้ป่วย  คงหลีกหนีไม่พ้นการผสมผสานการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพ  คงเป็นเรื่องไม่ยากนักสำหรับโรงพยาบาลที่มีวัฒนธรรมของการพัฒนาคุณภาพที่ดี  เพียงแต่เข้าใจแนวคิด , หลักการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  และนำลงสู่การปฏิบัติ  ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าทันทีที่เข้ามาในโรงพยาบาลแล้วรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน?  ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้ให้บริการมีความรู้สึกเสมือนว่ากำลังดูแลรักษาญาติของตนเองอยู่?  ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้อย่างปกติสุข?  และ  ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของเราปลอดภัยจากความเสี่ยงและมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ  สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการได้
                                เหตุที่ต้องทำโรงพยาบาลของเราให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  เพราะในอดีต  การดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะเน้นการตั้งรับเป็นส่วนมาก (รักษาโรคให้กับผู้ป่วย)  แต่รูปแบบใหม่ของการดูแลรักษาจะมุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวมและดูแลเชิงรุกมากยิ่งขึ้น(การส่งเสริม การป้องกันโรค การวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาต้นตอก่อนที่จะเกิดภาวะป่วยโดยจะลงลึกถึงการแก้ไขในระดับชุมชน)  จะมีบทบาทที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประชากรมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น  กลุ่มผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นทำให้มีภาวะของโรคเรื้อรังมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม, ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า    หรือระบบเหมาจ่ายโดยบุคคลที่สาม  เช่น  ประกันชีวิต  จะทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ่อยครั้งขึ้น  ทำให้บุคลากรมีภาระงานมากขึ้นและอาจให้บริการที่มีคุณภาพต่ำลง, ในระยะยาวหากสถานบริการไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพจะ ทำให้มีการใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพ    การให้บริการสุขภาพที่ขาดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างแท้จริง  คงจะไม่ใช่การพัฒนาคุณภาพอย่างสมบูรณ์แบบ, การศึกษาปัญหาที่แท้จริง  และการสร้างพลัง  อำนาจ  ให้กับผู้ป่วยและชุมชน  เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ  ( Root  cause  analysis ) และเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชนซึ่งอาจจะทำให้อัตราการเจ็บป่วย, Re-admission, ภาวะแทรกซ้อนของโรค ลดลงและทำให้คุณชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น
                                การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  มีเกณฑ์ผ่านในระดับแรก (Healthy  Thailand) ใน เกณฑ์องค์ประกอบ  1-6 จะต้องได้คะแนนตั้งแต่ระดับ 2  ขึ้นไป  ส่วนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  (HPH)  ต้องผ่านเกณฑ์องค์ประกอบที่  1 - 7  ตั้งแต่ระดับ  ขึ้นไป  (หมายเหตุ  :  ระดับที่  1  =  พอใช้, ระดับที่  2 = เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง,  ระดับที่  3 = มีแนวโน้มที่ดีใน  Area  สำคัญ, ระดับที่  4 = มีผลลัพธ์ที่ดีใน Area  ที่สำคัญ, และระดับที่  5 = ดีเลิศ)  ในโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ  (HA)  โดย สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)แล้ว  สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจและรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (HPH)  จาก  พ.ร.พ.  ได้เลย  โดยไม่ต้องผ่านการประเมิน  Healthy  Thailand  ก่อน
                                ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจในเรื่องขององค์ประกอบทั้ง  7  องค์ประกอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
           องค์ประกอบที่  1  การนำองค์กรและการบริหาร  หมายถึง  โรงพยาบาลต้องมีวิสัยทัศน์  โครงสร้าง  แผนหลัก  แผนปฏิบัติการ  การติดตามประเมินผล และวัฒนธรรมองค์กร  โดยจุดเน้นอยู่ที่ทีมนำ  ต้องให้ความสำคัญกับ  HPH  มาก, ในการปรับโครงสร้างโดยการผสมผสานทีม  HA & HPH  ในทุกระดับ  และผสมผสานงาน  HPH  เข้าสู่การปฏิบัติงานประจำให้ได้ทุกหน่วยงาน  โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลรักษาผู้ป่วย  และควรมีการติดตามงานดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ  สำหรับโรงเรียนแพทย์ต้องมีนโยบายในการเสริมสร้างความตระหนักและความรู้ในเรื่องของการส่งเสริมและป้องกันให้กับนักศึกษาแพทย์/พยาบาล/เภสัชฯ/ทันตฯ  เป็นต้น
             องค์ประกอบที่  การบริหารทรัพยากรและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล  หมายถึง  การจัดสรรงบประมาณ  วัสดุ  อุปกรณ์  การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ  และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทุกระดับ  โดยมีจุดเน้นที่ต้องมีแผนการจัดสรรงบประมาณด้าน  Prevention & Promotion  อย่างเหมาะสมและให้การสนับสนุนให้กับเครือข่ายในเรื่อง วัสดุ  อุปกรณ์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้รับบริการและชุมชน, เน้นการเสริมสร้างทักษะ  ความรู้ความสามารถ  ด้านส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยและญาติ, พัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรม  เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ  และมีแผนการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรในโรงพยาบาลและในเครือข่าย  
            องค์ประกอบที่  3  การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงาน  HPH  หมายถึง  โครงสร้างทางกายภาพ  การจัดการด้านกายภาพ  การจัดการสิ่งแวดล้อมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้มีการส่งเสริมสุขภาพ  จุดเน้น  โครงการสร้างทางกายภาพต้องมีความสะอาด  ( 5 ส.) ปลอดภัย (ความเสี่ยงทางกายภาพ)  และมีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดีใน  ICU.  OR  OPD  และต้องมีระบบ  One  way  ที่ดีในหน่วยงานซักฟอก  จ่ายกลาง  และโภชนาการ  ต้อมีระบบการป้องกันการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น  การแยกขยะ  การแยกทำลายขยะ  ขยะติดเชื้อ  ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่ดี  ควรมีมุมส่งเสริมสุขภาพที่เพียงพอ  และร้านอาหารที่ถูกสุขอนามัย
              องค์ประกอบที่  4  การส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรของโรงพยาบาล  หมายถึง  การมีกฎระเบียบ ข้อตกลง  ด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่, การทบทวนความรู้และทักษะและระบบข้อมูลสุขภาพ/พฤติกรรมสุขภาพ  ของเจ้าหน้าที่  จุดเน้น  เจ้าหน้าที่ต้องเป็น  Model  ที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพ, มีการตรวจสุขภาพประจำปีแก่เจ้าหน้าที่, มีการให้การดูแลรักษาในกลุ่มป่วยและมีการจัดกลุ่มบำบัดในเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยง, มีการจัดสถานที่ให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ เช่น  ลานแอร์โรบิค  สนามกีฬาต่าง ๆ ที่พอเพียง  ฟิตเนตเซ็นเตอร์  เป็นต้น  และที่สำคัญที่สุด  คือการป้องกันอุบัติเหตุหรือโรคที่เกิดจากการทำงาน
             องค์ประกอบที่  5  การส่งเสริมสุขภาพผู้รับบริการ  ครอบครัว  และญาติ  หมายถึง  การปรับระบบบริการของโรงพยาบาล  ระบบข้อมูล/ข่าวสาร  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  การส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วย  ครอบครัว  และญาติ  การส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มสุขภาพดี  และการบริการข้อมูลข่าวสารสุขภาพ  จุดเน้น  เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด  ที่มีบทบาทที่สำคัญ  คือ  PCT  และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องปลูกฝังแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ  ให้กับผู้รับบริการทุกเมื่อ  โดยเน้นในเรื่อง  H-E-L-P  หมายถึง  Holistic : เราดูแลมิติด้านจิตใจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ของผู้ป่วยดีแล้วหรือไม่  อย่างไร  Empowerment  :  เราจะ  empower  ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างไรได้ผลและเพียงพอหรือไม่  Lifestyle  :  เราจะเตรียมผู้ป่วยอย่างไร  จึงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ  โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิต  และข้อจำกัดเรื่องสิ่งแวดล้อม  Prevention :  เราวางแนวทางป้องกันการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยรายนี้  ได้อย่างไร  จะป้องกันคนอื่นได้อย่างไร  เพียงแค่นี้  ผลงานในเรื่อง  HPH  ก็จะออกมาอย่างมากมาย, การใช้สื่อต่าง ๆ ที่เพียงพอต่อการส่งเสริมสุขภาพ, การจัดกิจกรรมกลุ่มที่ต้องการปรับพฤติกรรม  การสร้างทางเลือกให้กับผู้รับบริการ  การทบทวนกิจกรรม  C 3 THER  และแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ  และที่สำคัญ  คือการเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับจนจำหน่ายและกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างปกติสุข  โดยใช้เครื่องมือ  Discharge  Planning,  Case  Management  และ  Disease  Management  มีการติดตามการดูแลผู้ป่วยถึงชุมชน / โรงพยาบาลที่รับดูแลต่อและมีการ  Feedback  ข้อมูลกลับมายัง  PCT อย่างสม่ำเสมอ  
             องค์ประกอบที่  6  การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน  หมายถึง  การบริการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนและการสร้างชุมชนเข้มแข็ง  ชุมชนในที่นี้  ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล  เช่น  โรงพยาบาลระดับเล็ก  อาจมีชุมชนที่อยู่ในความดูแลมาก  ส่วนโรงพยาบาลระดับใหญ่  หรือโรงเรียนแพทย์  ชุมชน  อาจหมายถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาและหากิจกรรมทำร่วมกัน  ก็จัดว่าเป็นชุมชนได้  โดยจุดเน้นอยู่ที่  จะ  Empowerment  ชุมชนอย่างไร  สร้างพลังให้กับชุมชนสามารถดูแลและขับเคลื่อนกลุ่มได้ด้วยตนเอง, ควรมีการวิเคราะห์หากลุ่มเสี่ยงและมีกิจกรรมตอบรับ  สำหรับนักศึกษา  ควรมีโปรแกรมในการฝึกลงเยี่ยมชุมชน  วิเคราะห์ปัญหาและจัดกิจกรรมในชุมชน  เพราะบุคลากรดังกล่าว  ส่วนใหญ่จบแล้วจะต้องไปปฏิบัติงานในชุมชนและเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ
                                ตัวอย่างกิจกรรมที่  PCT/หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการด้านส่งเสริมสุขภาพ
1.     ห้องฉุกเฉิน วิเคราะห์ปัญหาความชุกของโรค (Top 5 diseases)  พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เป็นปัญหาสำคัญคืออุบัติเหตุจาการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์  ก็ควรจะมีแนวคิดและกิจกรรมในเรื่องการรณรงค์เรื่อง เมาแล้วไม่ขับหรือการสวมหมวกกันน๊อกให้กับประชาชน
2.     ห้องฉุกเฉินพบว่ามีหญิงไทยรายหนึ่งต้องมาขอรับการรักษา(นอนที่ห้องฉุกเฉิน)เกือบทุกวันด้วยเรื่องหอบหืด(ถึงแม้บางวันไม่ได้หอบจริง)  ก็ควรจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง เช่น ค้นหาปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้านอนที่บ้านต้องมานอนโรงพยาบาลทุกคืน  มีทีมลงเยี่ยมบ้านหาแนวทางแก้ปัญหาแบบองค์รวมและ Empowerment แก่ผู้ป่วยรายนี้จนผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลน้อยลง
3.      หอผู้ป่วยอายุรกรรมพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดแก้ปัญหาร่วมกับ OPD อายุรกรรม โดยทำเป็น Disease Management ในการเสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุขพร้อมทั้งมีการค้นหากลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเริ่มป่วยเพื่อให้การส่งเสริมดูแลและป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน
4.     หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม มีการปรับรูปแบบ Discharge Planning ในการดูแลรักษาผู้ป่วยขาดสารอาหารให้มีการดูแลแบบองค์รวม และมีการติดตามการดูแลรักษาต่อเนื่องถึงชุมชน
5.     ผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัด colostomy  จะมีลำไส้ใหญ่เปิดออกทางหน้าท้อง  ทำให้พ่อและแม่มักจะวิตกกังวลกับภาพลักษณ์ของเด็ก  ทีม PCT / หน่วยงาน  เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว (องค์รวม)  ได้นำมาทบทวนและสร้างนวัตกรรมผ้าปิดหน้าท้อง   ซึ่งผลลัพธ์ทำให้พ่อและแม่คลายความวิตกกังวล   และเด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติสุข
6.     ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน   ทำให้พบปัญหาทารกถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล    นักสังคมสงเคราะห์ร่วมกับ PCT  สูติกรรม  ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว   พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับและช่วยแก้ไขปัญหา  เช่น  มีการค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อการทอดทิ้งบุตร  ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ให้ Family Counseling เพื่อลดการทอดทิ้งบุตร  มีการช่วยเหลือมารดาและเด็ก    โดยการประสานงานกับองค์กรภายนอก   NGO  จัดหากองทุนช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ 
7.     แม้แต่หน่วยงานสนับสนุนทางคลินิกก็ยังสามารถดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ เช่น งานทันตกรรม งานเภสัชกรรม งานโภชนากร เป็นต้น

               องค์ประกอบที่ ผลลัพธ์ของกระบวนการส่งเสริมสุขภาพ  หมายถึง  ผลที่เกิดจากการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทั้ง  6 องค์ประกอบ 
ผลลัพธ์ของกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ  มักจะเน้นผลลัพธ์ที่เป็นกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าผลลัพธ์ที่เป็นเพียงตัวเลขหรือสถิติต่าง ๆ   ผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 1 และ 2 เป็นผลลัพธ์ในระดับของทีมนำหรือภาพรวมของโรงพยาบาล  ในเรื่องโครงสร้าง   และการบริหารจัดการ  ทั้งด้านทรัพยากร  และทรัพยากรบุคคล  การสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม  ส่วนผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ ในมุมมองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมักจะเน้นที่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพและปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่  ผู้รับบริการ  และชุมชน  (นอกเหนือจากความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)  จุดเน้นของผลลัพธ์   มักจะเน้นผลลัพธ์ในองค์ประกอบที่ 4-6 เป็นสำคัญ  เช่น  ผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 4  มักจะดูพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของเจ้าหน้าที่ ( เช่น การบริโภคอาหาร  การออกกำลังกาย  การหลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด  และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน)  และผลลัพธ์ของสภาวะสุขภาพ  เช่น  ผลการตรวจสุขภาพประจำปี   การลาป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้   ระดับความเครียดของเจ้าหน้าที่  เป็นต้น  ผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 5 และ 6  เน้นพฤติกรรมสุขภาพและสภาวะสุขภาพของผู้รับบริการทั้งในกลุ่มปกติ  กลุ่มเสี่ยง  และกลุ่มผู้ป่วย  (โดยใช้แนวคิดของ   Holistic  / Empowerment / Life  Style / Prevention )  และเชื่อมโยงกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยและกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน  เป็นต้น
  กล่าวโดยสรุป   โรงพยาบาลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบสุขภาพ  เป็นศูนย์รวมของผู้มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ   เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือและศรัทธาจากผู้รับบริการและชุมชน  และได้รับความคาดหวังที่น่าจะเป็นผู้นำด้านสุขภาพ    การที่โรงพยาบาลมุ่งเน้นกระบวนการส่งเสริมสุขภาพควบคู่กับคุณภาพด้านการดูแลรักษาที่ดี  ถือได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลสุขภาพที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนและยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์   วิถีชุมชน  คู่มือการเรียนรู้  ที่ทำให้งานชุมชนง่าย  ได้ผลและสนุก. 
       สถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ.  บริษัทดีไซร์ จำกัด.  กทม , 2545.
สำนักส่งเสริมสุขภาพ  กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข.  แนวคิด  มุมมอง  เรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ.
       กรุงเทพฯ ,  2546.
กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและแบบประเมินตนเอง.
       กรมอนามัย , 2545.
นพ.อนุวัฒน์  ศุภชุติกุล การนำมาตรฐาน HPH ไปปฏิบัติควบคู่กับมาตรฐาน HA.
       สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล , 2546
วารสารการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 เม.ย. มิ.ย.42.
       กรมอนามัย , 2542.
การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HA) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (HPH).
       คณะกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ   โรงพยาบาลสงขลา , 2547

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3235เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล
เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากเลยครับ ในการนำประเด็นที่พบจากการดูแลผู้ป่วยในหน่วยงานต่างๆ เชื่อมโยงไปสู่การทำงานในชุมชน 

จะเป็นไปได้หรือเปล่า ที่ทีมคุณกิจ คุณอำนวย  รพ.สงขลา ช่วยเล่าบทเรียน การทำงานเชิงรุก  เช่น ทีม ER กับ การเสริมพลังชุมชน ในการเดินทางสร้างสุข ปลอดภัย ประหยัด   เราให้ถุงยางอนามัย ชาวบ้านใช้  แล้วเราจะช่วยให้ลูกชาวบ้าน ได้มีหมวกนิรภัย ราคาทุน ใช้ได้อย่างไร  รพ.หรือนักสาธารณสุข จะช่วยขายหมวกนิรภัย ตัดราคา ร้านค้า แต่ช่วยเร่งให้ สังคมเปลี่ยน หรือ ยอมรับพฤติกรรมใหม่โดยเร็ว  และยั่งยืน คล้ายกับที่ รพ.มีถุงยางอนามัยหยอดเหรียญ ตัดราคา ร้านเซเว่น   ที่ รพ.หาดใหญ่ ลองขายถุงยางอนามัยหยอดเหรียญ ได้เดือนละ 300- 400 กล่อง มีในห้องน้ำหน้าห้องฉุกเฉินด้วย

     ไหนๆจะสร้างสุข เสริมพลังชุมชน อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย รัฐควรอุดหนุนให้ประชาชน  หากเรามีทีมงาน เราก็อาจมีบริการจำหน่าย ในราคาทุน หรือ มีกำไรเล็กน้อย เพื่อชดเชยความเหนื่อยยากแก่ลูกทีม   ให้ประชาชน ได้ตอบรับการชักชวนของเรา  หรืออย่างน้อย ก็ลูกๆ จนท ใน รพ.ก็ไม่ต้องไปซื้อแพง   มีปัญหาเล็กน้อยคือ สินค้าหมวกนิรภัย ก็มีหลายแบบ หลายขนาด หลายโรงงาน หลายราคา  นักวิชาการในส่วนกลาง จึงควรช่วย ทำชุดความรู้ตรงนี้ เผยแพร่ให้ เท่าที่ทำได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท