ครม. เอาใจ “ท้องถิ่น” จัดสรรงบฯ ครบ 35% เร่งถ่ายโอนภารกิจ


งบประมาณ
       ครม.ไฟเขียวจัดสรรรายได้ให้ อปท. งบประมาณปี 50 ร้อยละ 35 วงเงิน 5.1 แสนล้าน ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ โดยให้ อปท. ไปจัดเก็บเองเพิ่มเป็นร้อยละ 10 หรือ 3.2 หมื่นล้าน และรัฐแบ่งรายได้กับอุดหนุน ให้อีก 4.7 แสนล้าน พร้อมเร่งรัดให้รับโดนภารกิจการศึกษา-สาธารณสุข ขณะที่เทศบาลขานรับแต่ขอยืดเวลา     รับโอนการศึกษาไปปี 53
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 49 นายดนุพร ปุณณกันต์ รักษาการรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบให้มีการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งบประมาณปี 2550 สัดส่วนร้อยละ 35 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอมา โดยไม่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542
       นายดนุพร กล่าวอีกว่า การจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. ครบร้อยละ 35 หรือเป็นเงิน 5.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองได้ให้ อปท. จัดเก็บเพิ่มเป็น ร้อยละ 10 ของรายได้ที่กำหนดให้จัดเก็บ       ในปี 2549 เป็นจำนวนเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท โดยจากการกระจายอำนาจทางการคลัง ขยายฐานภาษีประเภทใหม่ ๆ และเพิ่มอัตราภาษีให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ   2.รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.13 เท่ากับอัตราที่เคยเพิ่มขึ้นในปี 2549 เป็นจำนวนเงิน 2 แสนล้านบาท    3. ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จำนวน 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท และต้องดำเนินงานเร่งรัด      การถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษา สาธารณสุขและภารกิจถ่ายโอนที่เหลือให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติ การกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.   “หากยังไม่สามารถดำเนินการถ่ายโอนได้ รัฐบาลอาจจะมีแนวทางดำเนินการ คืออาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 มอบอำนาจและหน้าที่ของภารกิจที่จะต้องถ่ายโอนให้ อปท. โดยไม่รวมภารกิจที่ต้องดำเนินการ ตามเงื่อนไข หรืออาจจะพิจารณาถ่ายโอนงบประมาณของโครงการตามนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือซ้ำซ้อนกับภารกิจของ อปท. และระยะยาวรัฐบาลอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนด และแบ่งปันภารกิจของ อปท.ใหม่ หรือขอขยายระยะเวลาการถ่ายโอนออกไปให้เหมาะสมกับฐานะทางการคลัง  ของประเทศ” นายดนุพร กล่าว
       นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หมายความว่าในแง่ความพร้อมของการดำเนินงานหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ยังสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลจะไปสังกัด อปท. และตอนร่าง พ.ร.บ.การกระจายอำนาจฯ อาจไม่เข้าใจถึงกระบวนการจริง ๆ อาจไม่มีการพูดคุยกับผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้ร่าง   ทั้งนี้   ใน พ.ร.บ.การกระจายอำนาจฯ พูดถึงเรื่องการถ่ายเงิน ถ่ายคน และถ่ายภารกิจ ปัญหาขณะนี้คือ เรื่องถ่ายโอนคนและภารกิจ ยังมีความไม่เห็นพ้องต้องกัน เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมานานแต่มีข้อจำกัดในแง่ของความยอมรับ       ของบุคคลในองค์กร ทั้งนี้ตอนร่างพ.ร.บ. บางทีอาจไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องปรับ     ให้เข้าสภาพการณ์
       ด้านนายวิศัลย์ โฆษิตรานนท์ ผู้แทนเทศบาลในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (กกถ.) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับตามมติ ครม.ดังกล่าว แต่จะต้องเร่งรัดภารกิจด้านถ่ายโอนการศึกษาและสาธารณสุข  ซึ่งขณะนี้ภารกิจทั้งสองภารกิจยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะภารกิจการถ่ายโอนการศึกษา ในปีการศึกษา 2549    ยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งที่ประชุม กกถ. เห็นว่าควรให้ขยายระยะเวลาไปในปีงบประมาณ 2553

สยามรัฐ  31  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32300เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท