ภาษาคืออะไร


อันเนื่องมาจากเอกสารประกอบการสอน

ภาษาคืออะไร ?

 

                การสื่อสารจำเป็นต้องอาศัยสัญลักษณ์หรือภาษาเพื่อสื่อความคิด  ความเข้าใจ  ความรู้สึกซึ่งกันและกัน  การสื่อสารจำเป็นต้องอาศัยทั้งสัญลักษณ์และภาษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน   ความหมายของภาษามีผู้รู้ได้ให้ความหมายและคำนิยามไว้อย่างหลากหลาย  ดังนี้

                พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  ๒๕๔๒ (๒๕๔๒ : ๘๒๒) ให้ความหมายของภาษาไว้ว่า  ภาษา  หมายถึง  ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  เช่น  ภาษาไทย  ภาษาจีน  หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ  เช่น  ภาษาราชการ  ภาษากำหมาย  ภาษาธรรม; เสียง  ตังหนังสือ  หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้  เช่น  ภาษาพูด  ภาษาเขียน  ภาษาท่าทาง  ภาษามือ.

                อุดม    วิโรตม์สิกขดิตย์(๒๕๔๗ : ๑-๒) กล่าวว่า  ภาษา  หมายถึง  การสื่อความหมายที่ต้องมีเสียง  ความหมาย  ระบบ  กฏเกณฑ์ที่ยอมรับกันทั่วไป  หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวว่า  ภาษาต้องมีโครงสร้าง(Structure)

                มยุเรศ  รัตนานิคม(๒๕๔๒ : ๓) กล่าวว่า  ภาษา  หมายถึง  รหัสชนิดหนึ่งซึ่งมนุษย์ใช้สื่อความหมายระหว่างกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยผ่านสื่อที่เป็นเสียงสัญลักษณ์ตามที่ได้ตกลงยอมรับกันในสังคมของผู้ใช้รหัสเดียวกันนั้น  เสียงสัญลักษณ์ดังกล่าวจะต้องมีระบบแบบแผนที่แน่นอนและมีความสัมพันธ์กันกับระบบความหมายอันเป็นความหมายที่สามารถเข้าใจตรงกันได้ในหมู่ชนนั้น ๆ

                นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศได้ให้ความหมายของภาษาในแนวทางเดียวกัน  เช่น  โรแนลด์  วอร์ดอฟ(Ronald Wardhaugh . ๑๙๗๒ : ๓),  จอห์น์  บี  แครอลล์(John B. Caroll. ๑๙๓๕ : ๑๐),  เอซี  กิมสัน(A.C. Gimson. ๑๙๗๐ : ๓),  พัชรี  โภคาสัมฤทธิ์(๒๕๒๙ : ๑),  พิณทิพย์  ทวยเจริญ (๒๕๒๕ : ๑),  วิจินต์  ภาณุพงศ์(๒๕๒๒ : ๖)  เป็นต้น

                กล่าวโดยสรุป  ภาษา  หมายถึง  การวางเงื่อนไขในการสื่อสารของกลุ่มหรือสังคมนั้น ๆ โดยเข้าใจร่วมกันว่าเงื่อนไขหรือรหัสที่กำหนดไว้หมายถึงอะไร  ซึ่งใช้สื่อสารความคิด  ความเข้าใจและความรู้สึกของผู้สื่อไปยังผู้รับโดยอาศัยเงื่อนไขที่กำหนดไว้(ภาษา)เป็นเครื่องสื่อความโดยภาษาต้องประกอบด้วยระบบ  ความหมาย และโครงสร้างเพื่อให้เข้าใจตรงกันผู้อยู่ในกลุ่มหรือสังคมนั้น ๆ จึงต้องเรียนรู้ภาษาซึ่งกันและกัน  แต่บางครั้งสิ่งที่เกิดจากสัญชาตญาณก็อาจเป็นภาษาได้เช่น  ภาษาสัตว์  ภาษาดนตรี  ภาษานก  เป็นต้น

 ลักษณะสำคัญของภาษา

                ไม่ว่าภาษาใดในโลกย่อมมีลักษณะสำคัญที่มุ่งสื่อสารให้เข้าใจหรือสื่อความรู้  ความคิด  ความรู้สึก  โดยมีนักวิชาการด้านภาษาได้แบ่งลักษณะสำคัญทางภาษาไว้อย่างน่าสนใจ  เช่น  นิสา   ศักดิ์เดชยนต์,  ยุพา  ส่งศิริและใจเอื้อ   บูรณะสมบัติ (๒๕๒๖ : ๓), ประยุทธ   กุยสาคร.  ๒๕๒๗ : ๘-๑๓)  วิไลวรรณ    ขนิษฐานันท์ (ม.ป.ป. : ๑-๔),  จรัลวิไล  จรูญโรจน์ (๒๕๔๙ :๑๕-๒๒)  เป็นต้น  สรุปได้ดังต่อไปนี้

                                ๑.  ภาษาเป็นเสียงที่มีความหมาย  หมายถึงคำที่เป็นเสียงพูดเท่านั้น  ภาษาเขียนเป็นเพียงตัวแทนของภาษาพูด  เสียงที่มีความหมายในภาษาหนึ่งอาจเป็นเสียงที่ไม่มีความหมายในภาษาอื่นก็ได้

                                ๒. ภาษามีระบบกฎเกณฑ์ที่แน่นอน  คือ  มีการวางโครงสร้างระบบลำดับของเสียงพูด  คำ   ประโยค  โดยมักแบ่งออกเป็น  ๒  ประการ  คือ  โครงสร้างทางไวยากรณ์และโครงสร้างทางเสียง

                                ๓. มีลักษณะที่อธิบายเหตุผลไม่ได้  คือ ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมคำที่มีความหมายเดียวกันแต่เขียนและออกเสียงต่างกันทั้งที่มีความหมายตรงกัน

                                ๔. ภาษามีลักษณะเป็นสังคม  กล่าวคือภาษามีผู้ใช้อยู่ในวัฒนธรรมกลุ่มเดียวกัน  แต่การออกเสียงหรือสำเนียงอาจแตกต่างกันบ้าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสรีระอวัยวะออกเสียงของแต่ละบุคคล

                                ๕.  ภาษามีลักษณะสร้างสรรค์  คือ  ภาษาสามารถสื่อความเป็นประโยคได้อย่างไม่รู้จบทั้งที่พยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์มีจำนวนจำกัด

                                ๖.  ภาษาเป็นวัฒนธรรม  กล่าวคือ ภาษามีลักษณะสำคัญเหมือนวัฒนธรรม  เพราะภาษาเป็นมรดกทางสังคม  มีการถ่ายทอด  มีการพัฒนา  มีการเปลี่ยนแปลง  ปรับปรุงแก้ไขตามกาลสมัย

                                ๗.  ภาษามีระดับ  ภาษาย่อมมีระดับในการใช้เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะและถูกต้องตามบริบทที่เผชิญอยู่  โดยมากแบ่งออกเป็น ๓  กลุ่ม  คือ  ภาษาปาก  ภาษากึ่งแบบแผน  และภาษาแบบแผน(ภาษาราชการ) 

                                ๘.  ภาษาเป็นเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน  กล่าวคือภาษาเป็นเรื่องของหมู่ชนที่ต้องทำความเข้าใจหรือวางสัญลักษณ์ที่เข้าใจร่วมกัน 

                                ๙.  ภาษาย่อมเกิดจากการเรียนรู้  กล่าวคือ  มนุษย์จะเรียนรู้ภาษาได้ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังคนอื่นพูดมาก่อนแล้วค่อยเลียนแบบอย่างตาม  การเรียนรู้ภาษาของมนุษย์อยู่ในทุกช่วงวัย  นับตั้งแต่วัยเด็ก  วัยรุ่น  วัยกลางคน  วัยชรา  มนุษย์ย่อมมีการเรียนรู้ภาษาอยู่เสมอ  การเรียนรู้ภาษานั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมไม่ใช้สัญชาตญาณ  กล่าวคือ  หากเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนจีนมาอยู่ในสังคมไทยย่อมพูดภาษาไทยได้แต่ไม่สามารถพูดภาษาจีนอันเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองได้  แต่เด็กคนนี้ย่อมมีสัญชาตญาณในการเรียนรู้ภาษาจีนได้ดีกว่าคนไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์จีน

                                ๑๐.  ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสาร ภาษาเป็นเครื่องมือที่สื่อความรู้  ความคิด  ความรู้สึกของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร  โดยกระบวนการสื่อสารนั้นต้องอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือที่เข้าใจร่วมกัน  นั่นคือภาษานั่นเอง

                                ๑๑.    แต่ละภาษาย่อมมีความแตกต่างกัน  ทั้งนี้เพราะภาษาแต่ละภาษานั้นมีโครงสร้างทั้งทางเสียงและทางไวยากรณ์ที่แตกต่างกันย่อมนำมาซึ่งความหมายที่แตกต่างกันด้วย  หรือแม้แต่ในภาษาเดียวกันแต่มีโครงสร้างที่แตกต่างกันย่อมมีลักษณะความหมายที่แตกต่างกันไปด้วย

                                ๑๒.  ภาษาย่อมไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว  กล่าวคือ  แม้ว่าภาษาจะมีระบบโครงสร้างที่ชัดเจน  แต่ความจริงแล้วโครงสร้างเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัว  ทั้งนี้เพราะต้องอาศัยบริบทต่าง ๆ ช่วยเหลือให้ภาษาเหล่านั้นมีความหมายหรือเสียงต่างจากเก่าได้

                                ๑๓.  ภาษาทุกภาษาย่อมมีค่าแห่งความเป็นภาษาเท่าเทียมกัน  กล่าวคือ  ภาษาย่อมมีคุณค่าความสำคัญเท่ากัน  ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนก็ตามทีทั้งนี้เพราะภาษาทุกภาษาย่อมกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่ต่างกันแต่มีศักดิ์ในการสื่อสารเท่าเทียมกัน

                                ๑๔.  ภาษาเป็นวิทยาศาสตร์  กล่าวคือ  ภาษาเป็นการออกเสียงโดยการกักเสียงหรือระเบิดเสียงตามหลักทางวิทยาศาสตร์สามารถฝึกหัดและเรียนรู้ได้  ศาสตร์ในการเรียนรู้ภาษาโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ตั้งเรียนรู้ตั้งแต่ระบบสมองสั่งการ  ระบบของอวัยวะออกเสียง  ระบบเสียง  เรียกศาสตร์แขนงนี้ว่าภาษาศาสตร์

                              ๑๕.    ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปร  เนื่องจากภาษาเป็นการวางเงื่อนไขของสังคมแต่ละสังคม  ดังนั้นเมื่อมีผลกระทบอันเกิดจากภาษาย่อมมีการแปรเปลี่ยนภาษาได้ตามเหตุการณ์นั้น ๆ ทางสังคมอย่างแน่นอน 

                                ๑๖.  ภาษาย่อมมีความหมาย  ความหมายเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของภาษา  ทุกภาษาย่อมต้องมีความหมายอยู่ด้วยเสมอซึ่งมีอยู่  ๓  อย่างคือ 

                                        ๑)ความหมายที่แทนรูปธรรม เช่น  คน  ต้นไม้  สัตว์  เป็นต้น 

                                        ๒)ความหมายที่แทนนามธรรม  เช่น  หนาว  ร้อน  ชอบ  สวย สบาย  ดี  ชั่ว  เป็นต้น 

                                        ๓)ความหมายของคำที่มีบริบทหรือตำแหน่งเป็นตัวบังคับ  เช่น  ไก่ขันตอนเช้า /ขัน/ หมายถึง กิริยาอาการส่งเสียงของไก่  เขาใช้ขันตักน้ำ  /ขัน/  หมายถึง ภาชนะที่ใช้ตักน้ำ  เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 322514เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีคะอาจารย์

อาจารย์มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่างมาเล่าสู่กันฟังเสมอๆนะคะ

สิ่งที่อาจารย์ต้องการสื่อน่าสนใจในการเรียนรู้คะ

ขอบคุณสิ่งที่แบ่งปันคะ

มีอีกภาษานึงค่ะ

ภาษาใจ อิอิ

เดี่ยวนี้คนชอบพูดกันแบบภาษาใจ มันเลยไม่เข้าใจกันสักที

ลอง อ่านหนังสือ ของธีรยุทธ บุญมีดูครับ

ว่า มนุษย์ คิด ภายใต้กรอบของภาษา

แนวคิด ของโซซู จะ ทำให้เข้าใจภาษามากขึ้นครับ

ภาษา คือ กระบวนการสร้างสันติภาพครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท