เมื่อรู้ตัวอาจจะสายเกินแก้


เมื่อเราไม่มีภูมคุ้มกันเลย แล้วเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต

          เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พ.ค.49  ช่วงเวลา ก่อนเที่ยงคืน เปลี่ยนช่องทีวีมาเจอรายการคุณ"สัญญา  คุณากร"  พูดคุยกับคุณ "นิติภูมิ นวรัตน์"  โดยคำพูดของคุณสัญญา ฯ จะมีคำว่า "องค์ความรู้" ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายท่านกำลังดำเนินการกันอยู่  แต่ในองค์ความรู้ที่ทั้ง 2 ท่านได้พูดคุยก็คือ ทั้งสองท่านใช้คำว่า "กรณีศึกษา" การล่มสลายของ "สหภาพโซเวียต"  และ "ประเทศอาเจนติน่า"  จริง ๆ ผมสนใจประเทศอาเจนติน่ามานาน ครั้งหนึ่งเคยได้เข้าอบรมที่โรงเรียนผู้นำ พลตรี จำลอง ศรีเมือง  ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงทานอาหารเช้าผมทานเสร็จเร็ว และเข้าห้องอบรมมาก่อนคนอื่น ๆ  ในจอโปรแจ็คเตอร์ฉายภาพยนตร์สารคดี ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร  แต่มารู้สึกสะกิดใจเมื่อมีภาพการเดินประท้วงของประชาชนชาวอาเจนติน่า  ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมากต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศ  ก็เลยตั้งใจดูซึ่งผู้ดำเนินรายการ ก็คือคุณนิติภูมิ นวรัตน์ เมื่อหลายท่านเข้ามาในห้องอบรม   ผมสังเกตว่ามีหลายท่านก็สนใจดูเหมือนกับผม   เมื่อจบรายการผมเข้าไปติดต่อที่ห้องควบคุมขอซื้อแผ่น ซีดีนั้นทันที  และติดตามข่าวประเทศอาเจนติน่ามาเรื่อย ๆ และเอาแผ่น ซีดีนั้นมาเปิดให้เพื่อน ๆ ดู ทำให้นึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัวที่อาจจะมาถึงประเทศเรา

          และวันนี้วันอังคาร(30 พ.ค.49)  ก็ได้ดูข่าวทีวีการต่อต้านการตั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  ที่วิเศษไชยชาญ  จ.อ่างทอง  ก็อดที่จะเขียนบันทึกนี้ไม่ได้ สงสารเขานะครับ  ตามข่าวที่เห็น  ผู้ต่อต้านเป็นทั้งผู้ประกอบการ แม่ค้ารายย่อย  หน้าตาบุคคลิกก็ไม่ใช่เป็นคนร่ำรวยอะไรก็เป็นเพียงชาวบ้านที่ยึดอาชีพค้าขายขนาดเล็ก  ผสมภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสืบทอดมาให้ทำอาชีพกันต่อ ๆ กันมา  เล่ากับพิธีกรผู้สัมภาษณ์ว่า  ตลาดเก่าที่ศาลเจ้ารวงทอง  ได้ถูกไฟไหม้ไป  พวกเขายังไม่ทันหายจากความเจ็บปวดจากความเสียหายในครั้งนั้นเลย  เหมือนกับไฟไหม้ครั้งที่ 2  เมื่อมีห้างใหญ่มาตั้งใกล้ ๆ  พวกเขามองอนาคตว่าต้องมีผลกระทบอย่างมากอย่างแน่นอน (ตามที่ผมเห็นและเสียงบ่นให้ได้ยินในจังหวัดของผมก็เป็นอย่างนั้นจริง)   วัฒนธรรมการบริโภคของชุมชนจะเปลี่ยนไป  อาชีพเก่าจะถูกลืมวัฒนธรรมโดนคุกคาม 

              จากรายการทีวี 2 รายการนี้    รายการวันศุกร์ก็กินใจไม่น้อยเลย  ตามที่คุณสัญญา ฯ ถามคุณนิติภูมิ ฯ  ว่า....
              ตอนที่ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศรัสเซียนั้น  พบเห็นอะไรที่ทำให้ประเทศนั้นล่มสลายไป
ทั้ง  ๆ ที่เป็นประเทศที่ใหญ่โต  คุณนิติภูมิ ฯ เล่าว่า คนรัสเซียตอนแรกก็ใช้ชีวิตแบบพื้นเพดั้งเดิม  กินขนมปังที่แข็งโป้ก  กินอาหารพื้นเมือง  แต่เมื่อมีวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้าไป  มีห้างสรรพสินค้าบริการแบบ 24 ชั่วโมง มีอาหารรสชาดแปลกใหม่  เมื่อได้กินได้ลองก็คิดว่าเป็นความทันสมัย(กินของพื้นเมืองเดิมก็คิดว่าเชย)  ทำบ่อย ๆ ก็กลายเป็นความเคยชิน และของเก่าของตนเองก็ค่อย ๆ ถูกกลืนหายไป รายได้ในภาพรวมของประเทศก็ไหลออกหายไป 
              คุณสัญญา ฯ ถามคุณนิติภูมิ  ถึงประเทศ อาเจนติน่า  ที่ประชาชนเดือดร้อนมากมาย    นั้นเป็นอย่างไร  คุณนิติภูมิเล่าว่า  ตอนที่ได้เดินทางไปหาข้อมูล  ศึกษาเกี่ยวกับประเทศอาเจนติน่า  ในช่วงหนึ่งต้องเดินทางไกลไปอีกเมืองหนึ่ง  จำเป็นต้องเช่ารถ  เมื่อตกลงราคาเสร็จแล้ว  คนขับก็ไม่ยอมออกรถซักที  ก็เลยถามคณะที่มาด้วยกันว่าทำไม  ก็ได้รับคำตอบว่า  ยังไม่ได้ตกลงเรื่องการจ่ายค่าผ่านถนนว่าใครเป็นคนจ่าย  และน้ำดื่มระหว่างทางใครเป็นคนซื้อ  คุณนิติภูมิเล่าว่า ประเทศอาเจนติน่าแปรรูป  สาธารณูปโภคพื้นฐานให้ต่างชาติแทบทั้งหมด  ไม่ว่า ไฟฟ้า  น้ำประปา  ถนน ฯลฯ ซึ่งประชาชนต้องจ่ายทั้งนั้น  เมื่อประชาชนรู้นั้นสายไปแล้ว
              กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่จังหวัดอ่างทอง  ได้คิดมองสิ่งที่จะเกิดในอนาคต  กำลังต่อต้านอยู่
ได้ผลหรือไม่ก็ยังไม่รู้  ส่วนจังหวัดอื่น ๆ หลายจังหวัดนั้น  ห้าง ฯ ตั้งกันไปเรียบร้อยแล้วและแม่ค้าเก่าก็เลิกอาชีพแล้วด้วยเช่นกันตามที่เห็น  
              เมื่อเราไม่มีภูมคุ้มกันเลย  แล้วเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32241เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
     ขอบพระคุณมากนะครับที่บันทึกเล่าสู่กันฟัง  "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวง ที่ต้องปฏิบัติกันอย่างจริงจัง น่าจะช่วยได้นะครับ เพราะขณะนี้เราตกหลุมพลางของกระแสหลักกันไปมากแล้ว

        ขอบพระคุณ  คุณสิงห์ป่าสักมากนะครับที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น  และขอเรียนให้ทราบนะครับผมติดตามบันทึกของท่านอยู่เสมอ

        ผมมีเรื่องเล่าต่ออีกนิดหนึ่งนะครับเกี่ยวกับเรื่องเล่าของคุณนิติภูมิ ฯ ในรายการทีวีเมื่อวันศุกร์ ที่ 26 พ.ค.49  โดยคุณนิติภูมิเล่าว่า  ตนเองได้ส่งลูกกลับไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ (บ้านเดิม) ซึงก็ถือว่าเป็นบ้านนอก  วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือที่นั่น (ชั้นประถม) เรียนรู้การใช้ชีวิตกับเพื่อน  เรียนรู้วิถีชีวิตของคนบ้านนอก  ซึ่งก็ถือว่าเป็นสังคมที่ลูกจะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น  ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้  ในการเรียนที่กรุงเทพ ฯ คุณนิติภูมิ ฯ   มองว่าเป็นการเรียนแบบที่มีการแข่งขันกันสูง  มุ่งที่ตำราเป็นที่ตั้ง  โดยเริ่มกับเด็กเล็กไปเลย ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวแย่งชิงโอกาส  จึงไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้น  การเรียนชั้นประถมที่นั่นเพื่อปลูกฝังการเรียนรู้สังคมให้กับลูก  เมื่อโตขึ้นก็ถือได้ว่าเขาได้รู้จักชีวิตจริงแล้ว  (คนบ้านนอกอยู่แบบเอื้ออาทรคอยช่วยเหลือกัน)   ก็เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ฯ  คุณนิติภูมิเล่าว่า "ผมภูมิใจมากเมื่อวันหนึ่งไปเยี่ยมลูกแล้วลูกตะโกนด่าเพื่อน"  นั้นหมายถึงวิถีชีวิตที่แท้จริงของสังคมระหว่างเพื่อนกับเพื่อน

         ผมทำงานสัมผัสกับความเป็นบ้านนอกมาตลอด  ตั้งแต่เรียนจนทำงาน  เรานักส่งเสริมพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา  สมัยก่อนที่ผมเรียนกับสมัยนี้ผิดกับเยอะมาก สมัยที่ผมเรียนชั้นประถม  เมื่อถึงฤดูกาลทำนา  ผมจำได้ว่าโรงเรียนปิด 10 วัน  เพื่อให้นักเรียนในชนบท เฝ้าบ้าน หรือเลี้ยงดูน้อง  ให้พ่อแม่ออกไปทำนา ซึ่งเป็นบรรยายกาศของวิถีชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติจริง ๆ ทุกคนมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น  บรรยากาศแบบเอื้ออาทรดังในอดีตแทบหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน  พ่อแม่จะได้ทำนาหรือไม่   มีเงินหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวแต่ถ้าไม่ไปโรงเรียนก็คือขาดเรียน  และที่พบเห็นในการหารายได้ส่วนใหญ่แล้ว คนในชนบทจะหาเงินเพื่อส่งลูกเรียนกันทั้งนั้น  และเป็นหนี้จากรายจ่ายส่วนนี้เป็นจำนวนมาก

เยี่ยมเลยคุณชาญวิทย์  ความจริงผมก็ดูรายการนี้ด้วยแต่ก็จำรายละเอียดไม่ได้มากนัก  ขอบคุณที่เอามาเผยแพร่เพื่อที่บางคนที่ไม่ได้ชมรายการนี้จะได้รู้และตั้งสติและคิดจากตังอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น

ขอบคุณครับพี่ต้อมที่เข้ามาเยี่ยม
ไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ
แวะมาเยี่ยมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท