เที่ยวไป – คิดไปโดย ผศ. กวี วรกวิน


                รอบรู้สังคมวันนี้จะมากล่าวถึงการท่องเที่ยว วิธีเรียนหนังสือแบบใหม่นั้น เขามุ่งหวังให้นักเรียนทุกคนได้รู้จักคิด มีวิธีคิด ฝึกทักษะการคิด จะได้หลากหลายวิธี จากวิธีคิดเหล่านั้นจะประกอบไปด้วยการหาข้อมูล (Data) หรือข่าวสาร (Information) วิธีวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) และสังเคราะห์ข้อมูล (Synthesis) และหลังจากนั้นสิ่งที่ได้มาเป็นข้อสรุปใหม่ๆ จะกลายเป็นองค์ความรู้ (Knowledge) ที่เกิดจากการสร้างด้วยตัวของเราเอง
                ดังนั้นการคิดเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ จึงเป็นกระบวนการที่ยาว และใช้เวลานาน และต้องเกิดจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ด้วยตัวของเราเอง คนที่จะสร้างองค์ความรู้ได้รวดเร็วจึงจำเป็นต้องเป็นคนที่มีทักษะความคิดจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกฝน การคิดบ่อยๆและคิดหลากหลายวิธี

ความหลากหลายในวิธีคิด
                ในเชิงสังคม เราจะเห็นว่าเนื้อหา หรือ บริบทที่เป็นสิ่งแวดล้อมในระบบธรรมชาติ ระบบมนุษย์ และระบบวัฒนธรรม ล้วนเป็นเนื้อหาและบริบททางสังคมที่พร้อมจะเป็นข้อมูลและสังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ทั้งสิ้น

การท่องเที่ยวกับสังคมโลก: การคิดแบบกว้างไกล
                ตัวอย่างวิธีคิดวิเคราะห์ เพื่อฝึกทักษะการคิด คือ เรื่องของการท่องเที่ยว ใครๆ ก็รู้จักคำว่า การท่องเที่ยว ซึ่งจะพบว่าการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับคนยุคปัจจุบัน จากข้อมูลทั่วไป เราอาจฝึกคิดและสรุปเป็นเบื้องต้นได้ดังนี้
1.    การท่องเที่ยวเป็นเรื่องของคน + ธรรมชาติ + วัฒนธรรม
2.    การท่องเที่ยวเป็นเรื่องความเป็นสากลในระดับนานาชาติ
3.    การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในโลก
4.    ประเทศที่เจริญแล้วจะมีรายได้ และพัฒนา
การจะคิดสรุปเป็นข้อความข้างบนได้ หมายความว่า ต้องเป็นคนช่างอ่าน ช่างสังเกต และ
เก็บข้อมูลมาโดยตลอดทั้งทางตรงและทางอ้อม แล้วก็คิดวิเคราะห์พร้อมกับสังเคราะห์มาเรื่อยๆ จนได้ภาพองค์รวมเป็นข้อสรุปดัง 4 ข้อข้างต้น เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยทั่วไป การคิดแบบนี้เรียกว่าคิดแบบกว้างไกล ระดับทั่วโลกและต้องมีข้อมูล มีหลักคิด จึงจะสรุปเป็นองค์ความรู้ได้

ประเทศไทยกับการท่องเที่ยว : การคิดแบบจำกัดกรอบ
                การเป็นนักคิดที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง ก็ต้องคิดในขอบเขตที่แคบลงมา คือเป็นเรื่องเฉพาะมากขึ้นแต่มีรายละเอียดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
1.    ประเทศไทย เป็นประเทศที่ร่ำรวยแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
2.    ธรรมชาติของทะเลไทยเป็นมนต์เสน่ห์ที่ตราตรึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก
3.    ประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 อันดับประเทศของโลกที่มีความเจริญก้าวหน้าทางการท่องเที่ยว
4.    ลักษณะและการบริการของคนไทย เป็นที่พึงพอใจของคนทั่วโลก
5.    ผลไม้และอาหารไทย เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยว
6.    ความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติ ผู้คน และวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้น เป็นผลผลิตที่เป็นองค์ความรู้ที่ใครๆ ก็คิดได้ สรุปได้ แต่การคิดได้
และสรุปได้จำเป็นต้องมีข้อมูลและข่าวสารมาเป็นเนื้อหาที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ข้อสรุปข้างบนเป็นการสังเคราะห์ประโยคที่เป็นเนื้อหาทางสังคมที่เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวประโยคที่ได้ถือเป็นข้อความใหม่องค์ความรู้ใหม่ไม่ได้คัดลอกใครมา หรือจำใครมาพูด หากจะเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ต้องสร้างผลผลิตใหม่เกิดจากวิธีคิดใหม่ๆ สร้างประโยคใหม่ วลีใหม่ ข้อความใหม่ เนื้อใหม่

ภูมิทัศน์ กับ ภูมิประเทศ : การคิดแบบกำหนดจุด
                ถ้าเยาวชนต้องการมีความเป็นเอกลักษณ์ทางความคิด ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง ก็ต้องเป็นคนช่างคิด ขยันคิด มีวิธีคิด มีวิธีสร้างความเข้าใจ และสร้างความหมายที่ดี ถูกต้อง แต่
แตกต่างไปจากวิธีคิดอื่นๆ เช่น
                คำว่า ภูมิทัศน์ กับ ภูมิประเทศ สองคำนี้เป็นคำที่เกิดขึ้นในบริบทของการท้องเที่ยว แล้วก็พบบ่อยๆในหนังสือ ได้ฟังบ่อยๆจากผู้พูด แต่จะมีใครสักกี่คนที่เข้าใจความหมายคำทั้งสองคำนี้ได้อย่างมีความหมาย และลึกซึ้งในคุณค่าของคำที่เป็นเนื้อหาทางการท่องเที่ยวเหล่านี้บ้าง
                ฉะนั้นจะเป็นคนที่มีความหมายและมีลักษณะเฉพาะก็ต้องเลือกคิดตรงที่จะสร้างความแตกต่างจากลักษณะโดยทั่วๆ ไปให้ได้ และสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่วิธีคิดของตนเอง การที่จะคิดดีหรือไม่ดีอยู่ที่ทักษะการคิด
                จากบทความฉบับนี้ก่อนจะอธิบายคำว่า ภูมิ หากผู้ใดทำเอาไปปฏิวัติการฝึกคิดอยู่บ่อยๆก็อาจจะเช่น ทางภูมิไป
                ภูมิทัศน์ =  ภูมิ + ทัศน์
                                ภูมิ = องค์รูปที่เป็นภาพรวม
                                ทัศน์ = มอง, ดู , เห็น
                ภูมิทัศน์ = องค์รูปที่มองเห็น หรือ ภาพรวมที่มองเห็น
                แต่องค์ประกอบที่เรามองเห็นเป็นภูมิทัศน์หนึ่งๆจะมีทั้งแผ่นดิน แผ่นน้ำ ภูมิประเทศ      พืชพรรณ แสงสีของบรรยากาศ เมฆหมอกในท้องฟ้า สรรพสิ่งที่อาจจะมีตึกรามบ้านช่อง รูปแบบต่างๆ ผู้คนที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราจะมองเห็นในภูมิทัศน์หนึ่งๆ ถึงแม้ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกองค์ประกอบ แต่ภูมิทัศน์หนึ่งๆ จะต้องมีหลายสิ่งประกอบกัน เช่น มีภูเขา เมฆ ท้องฟ้า ทุ่งนา นกบิน อาจเป็นภูมิทัศน์หนึ่ง หรือมีทะเล เรือ ท้องฟ้าสีแดง มีชายฝั่ง มีชาวประมง มีหมู่บ้านชาวประมง รวมเป็นอีกภูมิทัศน์หนึ่ง จะเห็นได้ว่า ภูมิทัศน์ เป็นภาพองค์รวมของแผ่นดิน แผ่นฟ้า แผ่นน้ำ พืชพรรณ ผู้คนและลักษณะทางวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งที่เห็นเหล่านั้นมีเงื่อนไขซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ
                ภูมิประเทศ =   ภูมิ + ประ + เทศ
                                                ภูมิ = องค์รูป ที่เป็นภาพรวม
                                                ประ = จุด, แต้ม, เรียงราย
                                                เทศ = ที่, สถานที่
                ภูมิประเทศ = องค์รวมของที่หรือแผ่นดินที่เรียงรายกันอยู่
                ภูมิประเทศหนึ่งๆจึงเป็นภาพที่เรามองเห็นเป็นภาพรวมของรูปทรงแผ่นดินที่เรียงรายกันอยู่ เช่น ภาพที่มองเห็นเป็น ภูเขา ลาดเชิงเขา โคก เนิน ที่ลาด ที่ราบ ที่ลุ่ม แอ่ง ร่อง เป็นต้น เราจึงหมายความว่าภูมิประเทศ เป็นภาพรวมของสัณฐานแผ่นดินรูปทรงต่างๆ ที่เราเห็นร่วมกัน และสัณฐานเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีระบบ
                จะเห็นว่า ภูมิประเทศ จะไม่เกี่ยวกับ บรรยากาศ พืช ผู้คน หรือวัฒนธรรมใดๆ คงเป็นเฉพาะสัณฐานแผ่นดินเท่านั้น
                จะเห็นได้ว่า ภูมิทัศน์ กับ ภูมิประเทศ มีนัยสำคัญต่างกันชัดเจน แต่คนทั่วๆไปไม่ค่อยจะได้คิดถึงความหมายของสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะเป็นนักท่องเที่ยวร่วมสมัยปัจจุบัน ก็ต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ อย่าทำตัวเป็นฉิ่งฉาบทัวร์ ที่ไร้กระบวนท่าไร้กรอบวิธีคิด ไปไหนมาไหนบ่อยๆ เป็นกระบวนท่าทีได้เปรียบและงอกงามอยู่แล้ว แต่ถ้าพกสติปัญญาเป็นอาวุธติดตัวไปด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีความเจริญงอกงาม  เยาวชนในวันนี้หรือผู้ใหญ่ ในวันหน้าจะเป็นคนไทยรุ่นอุดมด้วยความคิด สำหรับวันนี้ ขอให้หลักคิดไว้ประโยคหนึ่งว่า การเดินทาง คือความเจริญงอกงาม

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32112เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท