โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ตั้ง ๑ ตำบล ๑ ชมรมผู้ป่วยเบาหวาน


ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต้องการให้ลองนำกระบวนการ KM มาใช้กับผู้ป่วย แบบชาวบ้านเลย
วันนี้ดิฉันได้โทรศัพท์ไปคุยกับเภสัชกรเอนก ทนงหาญ หนึ่งในทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่อถามความเป็นอยู่ของสมาชิก เพราะฟังข่าวจากวิทยุบอกว่าที่ธาตุพนมอาจมีน้ำท่วมในระยะนี้ คุณเอนกบอกว่าที่โรงพยาบาลไม่มีน้ำท่วม ยังทำงานกันได้เป็นปกติดี  
 

 เภสัชกรเอนก ทนงหาญ

ดิฉันสนใจทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมเป็นพิเศษ เพราะตอนที่จัดตลาดนัดความรู้ ทีมของโรงพยาบาลนี้ขอมาเข้าร่วมกิจกรรมถึง ๖ คน โดยบอกว่าท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนใจและต้องการให้นำ KM มาใช้ เดิมจะมีคุณหมอปกรวิทย์ จิรัปปภา มางานนี้ด้วย พอถึงวันมาจริงคุณหมอปกรวิทย์ติดภารกิจมาไม่ได้ แต่ก็ส่งคุณหมอประกาศิต จิรัปปภา มาแทน ดิฉันจึงอยากทราบว่าตอนนี้ทำอะไรกันอยู่บ้าง คำตอบที่ได้รับจากคุณเอนก ฟังแล้วรู้สึกปลื้มใจ ทีมนี้ได้นำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปปฏิบัติต่อ แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็พอมองเห็นความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า เพราะทีมมีความตั้งใจและท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

คุณเอนกบอกว่าจะเขียนเล่ามาเหมือนกัน แต่เห็นว่าเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่ค่อยมีอะไรจะเล่า เกรงใจทีมงานของเครือข่ายที่ส่งเอกสาร (คงเป็นจดหมายข่าวและแบบสอบถาม) มาให้อยู่เรื่อยๆ ดิฉันบอกว่าจะเขียนลง blog ให้ แต่ถ้ามีส่วนใดไม่ถูกต้อง ขอให้คุณเอนกแก้ไขให้ด้วย คุณเอนกยังรับปากด้วยว่าจะพยายามเขียนเรื่องเล่ามาลงใน blog ของเราแน่ๆ  

ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เก็บมาจากการคุยกับคุณเอนกค่ะ

ได้ idea มาจากคุณหมอบุญรัก (นพ.บุญรัก ธำรงลักษณ์กุล รพศ.ระยอง) กำลังจัดตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวาน แบบ "๑ ตำบล ๑ ชมรม" ทั้งหมดมี ๑๕ ตำบล ซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดให้ไว้ชมรมละ ๑ เครื่อง และสนับสนุน strip สำหรับตรวจเลือด เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรม ต่อไปชมรมคงจัดการกันเองได้เหมือนของคุณหมอบุญรัก เตรียมจะจัดอบรมให้ตัวแทนจากแต่ละตำบล (ตำบลละ ๑๐ คน) ในวันที่ ๗ กันยายนนี้ เพื่อให้เป็นแกนนำต่อไป

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต้องการให้ลองนำกระบวนการ KM มาใช้กับผู้ป่วย แบบชาวบ้านเลย  แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทีมงานจึงต้องมาคุยกันก่อนว่าจะทำอย่างไรกันดี

คุณหมอประกาศิต จิรัปปภา ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ (ท่านเดียว) กำลังพัฒนาเรื่องการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง อบรมบุคลากรทั้งโรงพยาบาล ให้ทุกคนรู้ว่าเรื่องของแผลที่เท้าไม่ใช่ปัญหาจากเส้นประสาทอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของเส้นเลือดด้วย

คุยกันพอเห็นภาพคร่าวๆ ไม่เหมือนกับไปรู้ไปเห็นด้วยตนเอง ดิฉันบอกคุณเอนกว่าจะไปเยี่ยมที่ธาตุพนม สมาชิกท่านใดสนใจร่วมสัญจรด้วย ติดต่อเข้ามาได้นะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 3211เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ตอนสายๆ วันนี้ได้รับหลังได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ ก็รีบโทรหาคุณหมอประกาศิต จิรัปปภา ซึ่งเป็นศัลย์แพทย์ที่เข้าร่วมตลาดนัดความรู้ และเป็นผู้ที่นำความรู้แนวใหม่ในการดูแล DM foot มาใช้ในโรงพยาบาล และถือว่าเป็นโรงพยาบาลเดียวในจังหวัดที่มีการดูแลผู้ป่วยอยู่ตอนนี้ คุณฝากหมอบบอกว่ายินดีมาก และรู้สึกขอบคุณอาจารย์ ที่ชวนทีมงานของพวกเราไปดูงานที่เทพธารินทร์ เช่นเดียวกันที่พวกเรายินดีและดีใจที่ทีมอาจารย์จะมาเยี่ยมพวกเราด้วย ซึ่งคงต้องประสานกันกับ คุณสุภาพรรณ อีกครั้งครับ ส่วนเรื่องเล่าของพวกเรา อย่างที่ได้เรียนกับอาจารย์ครับว่า ผลเป็นยังไม่เป็นรูปธรรมนักในบางเรื่อง ที่ต้องทำเพิ่มเติม คือการจัดตั้งชมรม การส่งต่อผู้ป่วยไปในเครือข่ายสถานีอนามัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการวางแผนและเตรียมกิจกรรมไปเรื่อยๆ จึงขอเรียนแผนของพวกเราให้ทราบอีกครั้งครับ แล้วจะรีบส่งเรื่องเล่าไปนะครับ เมื่อได้ทำกิจกรรมต่างๆไปแล้ว

1.หลังจากเข้าร่วมตลาดนัดความรู้ ทีมที่ไป ก็ได้รับแนวคิดหลายอย่างเหมือนกันครับ อย่างตอนนี้ที่ทำอยู่ก็ได้แนวคิดจาก ร.พ.ระยองที่ คุณหมอบุญรัก เล่าเรื่องไว้ว่า ที่ระยองซื้อเครื่องเจาะน้ำตาลให้ผู้ป่วยในชุมชน ทีมพวกเราก็เอาแนวคิดนี้มาเป็นหลักในการที่ใช้จัดตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวานใน อ.ธาตุพนม โดยกำหนดไว้ที่ หนึ่งตำบลหนึ่งชมรม (เรียนแบบหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ครับ) โดยตอนนี้กำลังรอเครื่องที่สั่งซื้อจากบริษัทอยู่ครับ (บริษัท Abbot) จำนวน 16 เครื่อง พร้อมแผ่นตรวจ ก็ใช้งบประมาณไป 45,000 บาท ในการจัดซื้อครับ

2.ยังไม่ได้ใช้แนวคิด KM มาใช้ในโรงพยาบาลเลยครับ อาจเพราะยังไม่มั่นใจพอ แต่ก็จะพยามยามลองเอาไปใช้ดูในโดยจะลองใช้กับชมรมเบาหวานที่จะเข้ามาอบรมแกนนำเพื่อจัดตั้งชมรม ในวันที่ 7 กันยายนนี้ (ตำบลละ 10 คน รวม 160 คน)

3.เมื่อวานนี้ (29 สิงหาคม 48) ได้ประชุมกับ สถานีอนามัยเครือข่ายจำนวน 7 แห่งที่มีพยาบาลวิชาชีพอยู่ โดยกำหนดส่งผู้ป่วยที่คุมระดับน้ำตาลได้ดี และไม่มี complication ไปรับการดูแลที่สถานีอนามัย เพื่อลดความคับคั่งของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และดำเนินกิจกรรมในเชิงรุกมาขึ้น (ไอเดียจาก ร.พ.คำตะกล้า จ.สกลนคร) ซึ่งวันที่ประชุมนอกจากหาลือถึงแนวทางปฏิบัติแล้ว ก็ได้ประชุมวิชาการไปด้วย โดยใช้ทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล (มีอายุรแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และโภชนากร ) เป็นที่ปรึกษาหลักครับ คาดว่าจะส่งผู้ป่วยกลุ่มแรกประมาณ 200 คนไปรับการดูแลต่อในเดือน ตุลาคม 2548 นี้ ครับ

ขอบคุณครับ

ภก.เอนก ทนงหาญ

เลขานุการทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม

 

ส่วนในปีที่ผ่านมา กิจกรรมในภาพรวมในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ยังทำกันอย่างต่อเนื่อง ....เลยเอามาลงสรุปให้ดูอีกครั้งครับ เผื่อว่าในเครือข่ายจะมีข้อเสนอแนะ เพิ่มเติม......ขอบคุณครับ

 

การดูแลดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม

 

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ให้บริการผู้ป่วยในเขตรับผิดชอบ ประมาณ 84,894 คน บุคลากรประกอบด้วย อายุรแพทย์ 1 คน ศัลยแพทย์ 1 คน กุมารแพทย์ 1 คน สูติแพทย์ 1 คน แพทย์ทั่วไป 1 คน ทันตแพทย์ 2 คน เภสัชกร 7 คน นักกายภาพบำบัด 1 คน นักโภชนากร 1 คน และพยาบาล 86 คน ซึ่งในปีงบประมาณ 2547 พบว่ามีสถิติผู้ป่วย เบาหวานมารับบริการจำนวนมากที่สุด (อันดับ1 ใน 10 อันดับโรคแรก) คือมารับบริการที่ผู้ป่วยนอก 5,123 ครั้ง และผู้ป่วยใน 273 ครั้ง จากทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 1,204 ราย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในปีงบประมาณ 2548 เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานเป็นสำคัญ โดยเน้นไปที่การจัดบริการให้ครอบคลุมทั้งมารตฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย และการมีส่วนร่วมของ ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งมุ่งสร้างเครือข่ายการดูแลไปยังศูนย์สุขภาพชุมชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น

1.คลินิกเบาหวาน

ในปีงบประมาณ 2547 คลินิกเบาหวานมีผู้ป่วยทั้งหมด 1,204 ราย มารับริการทุกวันศุกร์โดยจัดการให้บริการแบบ one stop service และนัดผู้ป่วยทุก 1- 3 เดือน โดยปัญหาสำคัญที่พบคือจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการในภาพรวมทั้งทางด้านความพึงพอใจของผู้ป่วย และประสิทธิผลของการรักษา ในปีงบประมาณ 2548 จึงได้เริ่มจัดกิจกรรมในคลินิกเบาหวานใหม่ โดยมุ่งเป้าให้เกิด การดูแลผู้ป่วยที่เป็นองค์รวม (Holistic)

การพัฒนาคลินิกเบาหวานในช่วงแรก

เพิ่มวันให้บริการเป็น 2 วันต่อสัปดาห์ (จากเดิมนัดเฉพาะวันศุกร์) เริ่มดำเนินการเดือน ตุลาคม 2547 ถึงกุมภาพันธ์ 2548 โดยแบ่งผู้ป่วย 2 กลุ่มคือ

(1)กลุ่ม Good control (FBS < 180 mg%) นัดวันศุกร์ ทุก 1-3 เดือน เหมือนเดิม

(2)กลุ่ม Poor control with complication (FBS > 180 mg%) จำนวนทั้งหมด 114 ราย จะนัดวันพฤหัสบดี เดือนละครั้ง เพื่อให้แพทย์มีเวลามากขึ้นในการคัดกรองปัญหาโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเพิ่มการทำกิจกรรมให้ความรู้รายกลุ่มแก่ผู้ป่วยและญาติ โดยทีมสหวิชาชีพ ทั้งหมด 4 ครั้งภายใน 4 เดือน ดังนี้

- แพทย์/พยาบาล : ความรู้เรื่องโรค การดูแลตนเอง การปฏิบัติตัว

- เภสัชกร : ความรู้เรื่องยา ความสำคัญของการใช้ยา อาการไม่พึงประสงค์ของยา

- นักกายภาพบำบัด : การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับโรคเบาหวาน ข้อห้าม ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย

- โภชนากร : ให้ความรู้เรื่องอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน

จากผลการดำเนินการในช่วงแรก พบว่าความพึงพอใจของผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งทางด้านคุณภาพการให้บริการ และระยะเวลารอคอย รวมทั้งพบว่าผู้ป่วยว่าในผู้ป่วยกลุ่มที่(2) สามารถคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น(FBS <180 mg%) ถึงร้อยละ 41.23 แต่อย่างไรก็ตามการให้ความรู้รายกลุ่มแก่ผู้ป่วยและญาติ ยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้ป่วย และการวัดประสิทธิผลของการรักษาจากค่า FBS อาจยังไม่เหมาะสม รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยลงไปสู่ชุมชนยังไม่สามารถทำได้

 

การพัฒนาคลินิกเบาหวานในปัจจุบัน

มุ่งสู่คุณภาพการรักษาในทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยใช้ ค่า HbA1c เป็นตัวแบ่งกลุ่มผู้ป่วย และวัด ประสิทธิผลของการรักษา (Clinical Outcome) จากค่า HbA1c และการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยกำหนดกิจกรรมเพิ่มคือ

1. กำหนดให้ค้นหาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานทุกคนปีละ 1 ครั้ง(annual checkup) ตามมาตรฐานของราชวิทยาลัยอายุรศาสตร์และได้เริ่มดำเนินการตรวจ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2548 โดยมีการตรวจทาง ห้องปฏิบัติการ คือ HbA1c, LDL, HDL เพิ่มจากเดิมที่ตรวจได้เฉพาะ U/A , BUN, Cr, Chl. , TGโดยที่ OPD card ผู้ป่วยเบาหวานจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน และตรวจสอบว่าได้รับการตรวจครบถ้วน

2. ผู้ป่วยจะได้รับสมุดประจำตัวผู้ป่วยเบาหวานสีชมพู เพื่อใช้ในการบันทึกประวัติ การตรวจร่างกาย การดำเนินโรค การใช้ยา การได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งเนื้อหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ โรคเบาหวาน ทั้งหมด

3. แพทย์คัดกรองผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี (HbA1c < 7%) และไม่มี complication เพื่อส่งต่อให้สถานีอนามัยดูแล ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการคัดแยกกลุ่มผู้ป่วยและกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของเจ้าหน้าที่ สอ. ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณถัดไป

4.พัฒนาทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบสหวิชาชีพ ทั้งด้านองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรม ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โดยกำหนดให้มี การแลกเปลี่ยนแบบเสวนาวิชาการ อย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง

       

    • เดือน ตุลาคม 2547 ศัลยแพทย์ได้ปรับเปลี่ยนความรู้ใหม่ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลที่เท้า ทั้งในส่วนการรักษาของแพทย์ และการดูแลผู้ป่วยของของทีม และอบรมเพิ่มเติมทุก 3 เดือน อีก 2 ครั้ง
    •  

       

    • เดือน พฤษภาคม 2548 ได้เปลี่ยนอุปกรณ์ในการฉีดInsulinในผู้ป่วยทุกราย จาก Insulin syring เป็น ปากกาอินสุลิน (novopen) ซึ่งมีข้อดี คือ ใช้ง่าย ปรับปริมาณยาง่าย ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น เข็มฉีดยามีขนาดเล็กฉีดไม่เจ็บ และพกพาสะดวก ซึ่งจะสามารถเพิ่ม Adherence มากขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้
    •  

 

2.ผู้ป่วยเบาหวานที่รับการรักษาในโรงพยาบาล

1.แพทย์กำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วย DM with CRF ใหม่ในด้านการปรับเปลี่ยนยาจากยารับประทาน เป็น Insulin เพื่อป้องกันภาวะ Hypoglycemiaเนื่องจาก ผู้ป่วยกลุ่ม DM with CRF มีความเสี่ยงในการเกิด ภาวะ Hypoglycemia มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุทั้งภาวะโรค การใช้ยา และการปฏิบัติตัว โดยเริ่มดำเนินการ เดือน ม.ค. 2547 ในการทบทวนพบว่าเดือน ม.ค. – ต.ค. 2547 ผู้ป่วยจำนวนกลุ่มนี้ทั้งหมด 94 ครั้ง ถูกปรับเปลี่ยนจากยากินเป็น Insulin ทั้งหมดทุกคน และในเดือน พ.ย. 2547 – พ.ค. 2548 ยังพบว่ามีจำนวนผู้ป่วย DM with CRF ที่Admit ด้วยภาวะ Hypoglycemia 6 รายจาก 25 ราย ( 24 % ) ซึ่งจากการทบทวนสาเหตุพบว่ามีสาเหตุอื่นนอกเหนือจากยา เช่น Sepsis การรับประทานอาหารน้อย และการปรับขนาดยาของผู้ป่วย

2.ผู้ป่วยในที่พบปัญหาโรคแทรกซ้อนทางศัลยกรรม เช่น DM foot ได้มีการปรับเปลี่ยนความรู้และแนวทางการดูแลรักษาใหม่แก่ทีม รวมทั้งระบบการ Consult ระหว่างแพทย์ผู้ดูแลกับศัลยแพทย์ โดยพบว่าระหว่างเดือน ต.ค. 2547 – พ.ค. 2548 มีผู้ป่วยได้รับการ consult กับแพทย์เฉพาะทาง 12 ราย ยังไม่พบการ Re-admit

3.ทีมสหวิชาชีพร่วมกันให้ข้อมูลในผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งญาติและผู้ดูแล ขณะนอนโรงพยาบาลตามแผนการจำหน่ายผู้ป่วย(D/C Plan) โดยมีแพทย์ พยาบาลให้ข้อมูลเรื่องโรค การปฏิบัติตัว เภสัชกรร่วมให้ข้อมูลด้านการใช้ยา ค้นหาปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับยา นักกายภาพบำบัดสอนด้านการออกกำลังกาย และโภชนากรให้ข้อมูลด้านอาหารผู้ป่วยเบาหวาน จากการดำเนินการเดือน ต.ค. 2547 – พ.ค. 2548 จำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการดูแลจากทีม = 162 ราย

4. ผู้ป่วยเบาหวานที่นอนในโรงพยาบาล ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล มีโรคแทรกซ้อน และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะดำเนินการส่งต่อให้ทีมเยี่ยมบ้าน (HHC)เพื่อกำหนดวันเยี่ยมบ้านภายใน 2 สัปดาห์หลังจำหน่าย โดยทีมเยี่ยมบ้านประกอบด้วยพยาบาล PCU และพยาบาลประจำ Ward ทำการเยี่ยมบ้านในทุกวันพฤหัสบดี เพื่อประเมินการปฏิบัติตัวตามแผนการจำหน่าย และการเปลี่ยนแปลง/การดำเนินโรค โดยสามารถดำเนินการเต็มรูปแบบในเขตตำบลธาตุพนม(ส่วนของ PCU ในโรงพยาบาล) ส่วนผู้ป่วยนอกเขต จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2549 โดยส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัย ดำเนินการเยี่ยมบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งการส่งต่อข้อมูลกลับ

จากการดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2547 – มิ.ย. 2548 ในเขต ต.ธาตุพนม ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ ผู้ป่วยถูกส่งเยี่ยมบ้านทั้งหมด 22 ราย พบว่า

- อัตราการปฏิบัติตาม D/C plan = 100 %

- อัตราการเปลี่ยนแปลง/ดำเนินโรค = 4 ราย(18.2 %)

 

 

ดีใจครับที่เห็น KM ใน DM clinic รพร.ธาตุพนม ผมเคยเป็น ผอ
รพ.เรณูนคร ห่างจากธาตุพนม 15 กม. เคยทำงานร่วมกับคุณหมอมนู ชัยวงศ์โรจน์ ผอ. รพร.ในปัจจุบัน ช่วงเวลา 16 ปีที่เรณูนครนั้น ทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานซึ่งยังมีชีวิต ณ เวลานั้น  ราวๆ 600 คน ตลอด ซึ่งมากเมื่อเทียบประชากรทั้งอำเภอเพียงห้าหมื่นคน สมัยนั้น รพ.เรณูนครใช้การใช้เจาะปลายนิ้วหยดบนแถบแล้วใส่เครื่องให้ผู้ป่วยเห็นตัวเลขระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งพอเห็นว่าตัวเลขสูง ผู้ป่วยก็ตระหนักและทบทวนว่าตนปฏิบัติตัวหรือบริโภคอะไรน้ำตาลจึงสูง อย่างฤดูผลไม้เช่นลำไยนี่ใช่เลยครับ ผมย้ายจากเรณูนครมา รพ.น่าน ได้ 7 ปี แล้ว เลยไม่ทราบรูปแบบการให้บริการ DM clinic ของ รพ.เรณูนครในปัจจุบัน
นักวิชาการจากตรัง

ขอชื่นชมโครงการดี

      เรียนทีมสุขภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม

      ก่อนที่กระผมจะคลิกเข้ามาในเว็บนี้ กระผมได้มีแนวคิดที่ว่าอยากจะตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวานในเขตเครือข่าย PCU ซึ่งมีสถานบริการในเครือข่ายทั้งหมด 6 แห่ง กินอาณาเขต 4 ตำบล สัก และ 4 ชมรมย่อย(4 ตำบล) รวมเป็น 1 ชมรมใหญ่(เขตโซน)  โดยจัดตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวาน จากจำนวนผู้ป่วย DM ที่มารักษาและรับยาคลินิกเบาหวาน ณ PCU ของกระผมเอง(กะจะทำเป็นโครงการเมกกะโปรเจ็ก ว่างั้นเถอะครับ) โดยคลินิกนั้นมี แพทย์ หรือ ผอ.โรงพยาบาล มาตรวจผู้ป่วยเองทุกวันจันทร์

      หลังจากได้อ่านโครงการที่ทีมสุขภาพของท่านได้จัดขึ้นมานั้น ยิ่งจุดประกายให้ผมคิดอยากจะทำมากยิ่งขึ้นครับ ผมอยากขอคำแนะนำสำหรับผู้ที่ริเริ่มจะจัดตั้งชมรมฯ ต้องเตรียมอะไรอีกบ้างนอกจากข้อมูลผู้ป่วย และสถิติต่างๆ ทีมสุขภาพ  และแบบอย่างการเขียนโครงการใหญ่ๆ แบบนี้ ถ้ามีแนวทางโปรดช่วยชี้แนะด้วยนะครับ ผมคิดว่าโครงการฯของท่านที่ได้จัดทำมานั้น สามารถที่จะนำไปประยุกต์ได้เป็นอย่างมากกับ แนวคิดที่ผมกำลังจะให้เกิดขึ้นจริงๆ

                                           ด้วยความนับถือ

                                   นักวิชาการประจำเครือข่าย PCU

เรียน ภก.เอนก ทนงหาญ หากนำ KM ไปใช้แล้ว รบกวนเขียนมาเล่าให้อ่านด้วยน่ะค่ะ ว่านำไปใช้อย่างไร (วิธีการ) ขั้นตอน และผลที่เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นผลใหญ่ๆ แล้วจะติดตามอ่านค่ะ

อีกอย่างไม่ทราบว่าคุณหมอเปิดบล็อกเองหรือยังค่ะ ถ้ายังก็สมัครเลยค่ะ ไม่ยาก

ทีมธาตุพนมจะมาเรียนรู้เรื่อง Foot Care ที่เทพธารินทร์ในวันที่ ๗-๘ ตุลาคม นี้ จะมีการสอนวิธีการใช้บล็อกและให้เปิดบล็อกด้วยค่ะ

ตอนนี้ทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวาน กำลังคุยกันอยู่ครับว่าจะเริ่มลงเยี่ยมชมรม หลังจากเปิดชมรมไป ในเดือนที่ 2 ว่ามีแนวคิดไหนบ้าง เพราะตอนที่คิดจะจัดตั้งชมรมก็หวั่นใจเหมือนกันครับว่าจะใหญ่ และวุ่นวายไปหรือไม่ ที่คิดตั้งทีละ 16 ชมรม แล้วจะมีเวลาที่ไหนไปตามดู ไปสอน ....เนี่ย....

แต่ก็คุยกันในทีม ที่เชิญเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยมาร่วมเป็นพี่เลี้ยงด้วยครับ โดยใช้แนวคิดของการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยเป็นหลัก  เลยไม่ได้กำหนดกิจกรรมตายตัว ว่าต้องทำอะไร เมื่อไหร่  ส่งงานอะไร(แต่ให้แนวทางการทำกิจกรรม และการบันทึกไว้ครับ)  รวมทั้งไม่ได้ใส่ความรู้หรือกิจกรรมวิชาการในช่วงแรกมากนัก(กลัวเครียด..ทั้งทีมผู้จัด... ทั้งผู้ป่วย..)  แต่ใช้แนวความคิดที่ว่า ความรู้ที่มีอยู่ในตัวเองของผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคน ที่เราเรียกว่า tacit knowledge มีอะไรกันบ้างผ่านเรื่องเล่า "การดูแลตนเองเมื่อเป็นเบาหวาน"  เหลือแต่การดึงความรู้(ถอดความรู้)เหล่านี้ออกมา ไม่รู้จะได้ Knowledg Assets อะไรมั่งหรือเปล่า เพราะวันนั้นวุ่นวายเหมือนกันครับ ซึ่งตรงนี้คงเป็นส่วนสำคัญที่ทีมเราพยายามทำ และเรียนรู้ไปด้วยในวันนั้น  ซึ่งผลเป็นอย่างไรจะเล่าอีกทีครับ(เมื่อไปเรียนทำ blog กับ อ.วัลลา เรียบร้อย) เพราะยังไม่ลึกซึ้งกันมาก ทั้งการเป็นคุณอำนวย คุณลิขิต  และคาดว่าเมือครบปี แต่ละชมรมคงมี best practice มาเล่าได้อีกครั้งครับ ตอนนั้นเครื่องมือเช่น ธารปัญญา ที่เคยไปเห็นมาดู... อาจใช้ประโยชน์ได้เต็มที่  

ส่วนกิจกรรมที่ชมรมต้องทำสม่ำเสมอแน่ๆ ทุกเดือน(ใช้เป็นตัวล่อ..) คือ การเจาะน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้วด้วยตนเอง แล้วบันทึกผลมาให้หมอดู  เมื่อมาตรวจตามนัดที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละคนครับ (.....แอบคิดเอาไว้ครับว่า  ตอนที่ผู้ป่วยในชมรมมารวมกันเพื่อเจาะเลือดในแต่ละเดือน เค้าน่าจะทำอะไรกันมั่ง อย่างน้อยก็จับกลุ่มคุยถึงผลนำตาลที่ได้ล่ะ......ว่าทำไมแต่ละคนถึงต่างกัน เพราะอะไร......)

  

ขอชื่นชมทีมของธาตุพนมมากๆ เลย ที่มีความมุ่งมั่นทำงานไม่ถอยเลยค่ะ

แล้ว มีเทคนิคการแพทย์ ช่วยทำงานด้านโรคเบาหวานด้วยไหมครับ ไม่เห็นมีกล่าวถึง น้อยใจนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท