วิพากษ์บทความ “มาตรการด้านการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไท”


วิพากษ์บทความ “มาตรการด้านการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไท”


          วันที่ 31 ส.ค. – 2 ก.ย.48   กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก   และหน่วยงานพันธมิตรจัดการประชุมวิชาการ   การแพทย์แผนไทย   การแพทย์พื้นบ้าน   และการแพทย์ทางเลือก   ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ  ครั้งที่ 2   ที่เมืองทองธานี


          เขาเชิญผมไปร่วมวิพากษ์บทความเรื่อง “ระบบโครงสร้างและกลไกในการอนุรักษ์  พัฒนาและคุ้มครอง  ภูมิปัญญาไท  สุขภาพวิถีไท : มาตรการด้านการจัดการความรู้  วิจัยและพัฒนา”   โดยสมภพ  ประธานธุรานุรักษ์,   พร้อมจิต  ศรลัมภ์,   นพมาศ  สุนทรเจริญนนท์   และธีรเดช  อุทัยวิทยารัตน์   ในวันที่ 1 ก.ย.48


          ผมได้เตรียม ppt. ไปวิพากษ์แล้ว   เป็นการวิพากษ์แบบคนไม่รู้จริงแต่ก็มีใจ   อยากให้เรื่อง   “ภูมิปัญญาไท  สุขภาพวิถีไท”   เจริญก้าวหน้า   ก่อคุณประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง   ยิ่งมีการโยงสู่ KM ผมยิ่งมีใจ


          ผมเตรียมไปให้ข้อเสนอแนะ 5 ประเด็น   ภายใต้แนวคิดว่าบทความชิ้นนี้เป็นการเริ่มต้นของ “การเดินทางไกล” ของประเทศไทย   ที่จะส่งเสริมภูมิปัญญาไท   สุขภาพวิถีไท   ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเต็มศักยภาพ  คือ

1.      จะต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลด้าน KM ของภูมิปัญญาไท   สุขภาพวิถีไท   ซึ่งหมายถึงการใช้ความรู้ด้านนี้   แล้วใช้ซ้ำอีกหลังจากทราบผลการใช้   โดยที่ในกระบวนการใช้ & ใช้ซ้ำเกิดความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ข้อมูล/ความรู้ดังกล่าวจะต้องมองทั้งด้าน “ผู้ให้บริการ” และด้าน “ผู้รับบริการ” หรือ “ผู้ใช้”  
ตัวอย่างของผู้ให้บริการที่เป็นรูปธรรมเช่น  ร้านยาไทย   ร้านยาจีน   หมอนวดไทย   หมอนวดจีน   การออกกำลังกายแบบไท้เก็ก   และอื่น ๆ
          นี่คือข้อมูลด้าน “การสร้างความรู้จากการปฏิบัติ”
2.      จะต้องมีการรวบรวม/ศึกษา  ข้อมูล/ความรู้ด้าน “ผู้ใช้” (demand – side)   ทั้งแบบที่มีผู้ให้บริการและแบบไม่มีผู้ให้บริการ   นำมาเป็น feedback เพื่อพัฒนาบริการ   พัฒนามาตรฐานของบริการ/ผลิตภัณฑ์   โดยที่มาตรฐานนั้นยอมรับความหลากหลาย
3.      มีการศึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาไทย   เช่น  ชื่อการค้าของยาแผนโบราณ   การจดทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ   การจดสิทธิบัตรของความรู้/วิธีการที่พัฒนาขึ้นจากการทดลองแบบลองผิดลองถูกของคนที่เป็นชาวบ้าน   แต่เกิดความรู้ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมเด่นชัด
4.      มีการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กึ่งสุขภาพ   เช่น  สบู่สมุนไพร   ยาสีฟันสมุนไพร   เครื่องสำอางสมุนไพร   น้ำมันหอม  ฯลฯ   รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในการประกอบอาชีพที่ช่วยการสร้างเสริมสุขภาพ   ลดปัจจัยเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย   เช่น  สมุนไพรไล่แมลง   จุลินทรีย์   ฮอร์โมนบำรุงพืช ฯลฯ  ที่ใช้ทำการเกษตรอินทรีย์   เป็นต้น
5.      จะต้องถกเถียงกันเรื่องความหมายของคำว่า “ภูมิปัญญาไท”   ซึ่งผมมีความเห็นว่าจะต้องครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิม   และภูมิปัญญาสมัยใหม่ที่เกิดจากการปฏิบัติในยุคปัจจุบัน   เสริมด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์/วิชาการ


         ครับ   เอามาลงไว้เพื่อให้ “ผู้รู้” ช่วยกันถกเถียงต่อ   เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อ
บ้านเมืองของเรา
                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         29 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 3204เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมสนใจประเด็นข้อสุดท้ายของอาจารย์ครับ

 เวลาได้ฟังใครพูดถึง "ภูมิปัญญาไท" หรือ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น"
แล้วจะรู้สึกว่า เป็นการมองแบบคงที่ คือเหมือนกับปัญญาเหล่านั้น
เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นมาแบบลึกลับ ต้องยกย่องไว้สูงๆ
แต่ที่จริง ส่วนใหญ่ (ตามความเข้าใจของผม) ก็เกิดจากการ
ทดลองปฏิบัติจนได้ผลสำเร็จ ประกอบกับพื้นฐานวัฒนธรรมไทย
และพุทธศาสนา คิดค้นทางออกที่ใช้งานได้จริงขึ้นมา

ทางออกเหล่านั้น ก็คือสิ่งที่คนไทยยุคหนึ่ง คิดขึ้น (ไม่ใช่ผีบอก)
ผมจึงเห็นด้วย ว่าไม่ว่าจะคนไทยยุคก่อน หรือยุคปัจจุบันคิดขึ้น
ก็ควรนับเป็นภูมิปัญญาไท (ไท ไม่ใช่ทาสความคิดคนอื่น) เหมือน
กันหมด  น่าภาคภูมิใจเท่าเทียมกันหมด

 นึกถึงตัวอย่างดีๆ อย่างงานวิจัยของคุณยุวนุชขึ้นมาเลยครับ
ที่เห็นการผสานภูมิปัญญาไทดั้งเดิม กับวิทยาศาสตร์โดยคนไทย
(ภูมิปัญญาไทสมัยใหม่) ได้อย่างกลมกลืน งดงาม

 

สวัสดีครับอาจารย์

เห็นชื่อบทความที่ว่า “ระบบโครงสร้างและกลไกในการอนุรักษ์  พัฒนาและคุ้มครอง  ภูมิปัญญาไท  สุขภาพวิถีไท : มาตรการด้านการจัดการความรู้  วิจัยและพัฒนา” นึกไม่ออกเลยว่าเขาจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร นี่เป็นการตีความจากชื่อบทความนะครับ...หากได้อ่านบทความเต็มอาจมีความเป็นเป็นอย่างอื่น...ที่บอกว่า "นึกไม่ออกเลยว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร" ผมขอขยายความต่อครับ...

ในทัศนะผม...ผู้เสนอบทความนี้กำลังมองว่า  ภูมิปัญญาก็ดี...สุขภาพวิถีไทยก็ดี...เป็นวัตถุสิ่งของที่จะวางกลไก...และมีมาตรการไปจัดการได้...ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่...

เราอาจจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เปิดเผยตัวเองออกมาในรูปผลผลิตทางวัฒนธรรมได้...แต่ตัวของมันเองไม่สามารถจับต้องได้...นี่เป็นทัศนะของผมเกี่ยวกับภูมปัญญาและสุขภาพวิถีไทย

ก็อย่างที่เรียนไว้ตอนแรกครับ...หากได้อ่านบทความฉบับเต็ม....มุมมองอาจเป็นอย่างอื่น...หรืออาจเหมือนเดิม...ถ้าผมคาดเดาเนื้อหาถูก

สวัสดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท