ดื่มนม อย่าพูดมาก


...เวลากินข้าวหรือดื่มนมเป็นเวลาที่คนเราไม่ควรจะพูดมากเกิน ถ้าจำเป็นต้องพูดคุยกัน ให้เน้นฟังให้มาก พูดให้น้อย ปล่อยให้คนอื่น(ที่ไม่ดื่มนม)พูดแทน เนื่องจากเวลาพูดจะมีการกลืนลมเข้าไปในกระเพาะอาหาร-ลำไส้...

นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง โปรตีนในนมย่อยง่าย มีเกลือแร่ดีๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฯลฯ มีวิตะมิน เช่น วิตะมินบีสอง วิตะมินดี ฯลฯ

วิตะมินดีในนมช่วยการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ดี คนที่อายุน้อย และมีโอกาสได้รับแสงแดดช่วงเช้า-เย็นจะสร้างวิตะมินดีได้ส่วนหนึ่ง(ที่ผิวหนัง)

คนสูงอายุหรือคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับแสงแดดช่วงเช้า-เย็นจะสร้างวิตะมินดี(ที่ผิวหนัง)ได้น้อยลง การดื่มนมไขมันต่ำจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตะมินดีเพิ่มขึ้น ทำให้ได้คุณค่าจากแคลเซียมเต็มที่

เราๆ ท่านๆ (ที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำ)คงจะมีประสบการณ์ในการดื่มนมแล้วท้องอืด แน่นท้อง หรือท้องเสียมาแล้วไม่มากก็น้อย

 

วันนี้มีข่าวดีครับ... ข่าวดีที่ว่านี้คือ คนไทยส่วนใหญ่ดื่มนมได้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน อาจารย์นักโภชนาการท่านแนะนำวิธีดื่มนมไว้อย่างนี้ครับ...

  1. เริ่มแต่น้อย:                               
    คนรักสุขภาพมักจะใจร้อน พอรู้คุณค่านมก็ดื่มนมคราวละมากๆ ทำให้เดือดร้อน เพราะคนที่ไม่ใช่ฝรั่งมีน้ำย่อยนมน้อย ต่อไปให้ลองดื่มนมทีละน้อย ครั้งละไม่เกิน ½ แก้ว (120 มิลลิลิตร)
  2. ค่อยๆ เพิ่ม:                               
    บางคนพอดื่มนมวันแรกได้ วันต่อไปก็เพิ่มพรวดพราด เช่น วันแรกดื่ม 1 แก้ว... สบายมาก วันที่สองดื่ม 4 แก้ว... คราวนี้ท้องเสียเลย

    การดื่มนมควรเพิ่มช้าๆ เช่น ถ้าดื่มครั้งแรก ½ แก้ว และไม่มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสีย ต่อไปค่อยๆ เพิ่มคราวละ ¼ แก้วทุกๆ 1 สัปดาห์
  3. ไม่มากเกิน:                                
    นมก็คล้ายกับเรื่องอื่นๆ ของชีวิตที่ว่า “ดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องพอดีด้วย” คนไทยส่วนใหญ่มีน้ำย่อยน้ำตาลในนม(แลคโทส)น้อย การดื่มนมคราวละน้อยๆ จะปลอดภัยกว่า

    อาจารย์ท่านแนะนำว่า น้อยไว้ก่อนดีกว่า นั่นคือ... ดื่มครั้งละไม่เกิน 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) ปลอดภัยที่สุด
  4. ดื่มพร้อมอาหาร:                            
    อาหารที่เรากินเข้าไปมีส่วนทำให้ลำไส้เปลี่ยนแบบแผนในการเคลื่อนไหว ถ้าดื่มนมตอนท้องว่าง... ลำไส้จะบีบไล่ลงล่างเร็ว ทำให้น้ำย่อยมีเวลาทำงานน้อยเกิน

    ถ้าดื่มนมพร้อมอาหาร... ลำไส้จะบีบไล่ลงล่างช้าๆ ทว่า... จะบีบตัวแบบย้อนไปย้อนมามากขึ้น ทำให้อาหาร(และนม)คลุกเคล้ากับน้ำย่อยได้ดี ค่อยๆ ย่อยไปทีละน้อย ทำให้ย่อยน้ำตาลนมได้ดีขึ้น
  5. อย่าพูดมาก:                                 
    เวลากินข้าวหรือดื่มนมเป็นเวลาที่คนเราไม่ควรจะพูดมากเกิน ถ้าจำเป็นต้องพูดคุยกัน ให้เน้นฟังให้มาก พูดให้น้อย ปล่อยให้คนอื่น(ที่ไม่ดื่มนม)พูดแทน เนื่องจากเวลาพูดจะมีการกลืนลมเข้าไปในกระเพาะอาหาร-ลำไส้

    ถ้าลมเข้าไปมากจะทำให้กระเพาะอาหาร-ลำไส้บีบไล่ลงล่างเร็ว ทำให้น้ำย่อยมีเวลาทำงานน้อยเกิน ตรงกันข้าม... ถ้าไม่พูดมาก จะกลืนลมลงไปน้อย ทำให้กระเพาะอาหาร-ลำไส้บีบไล่ลงล่างช้าลง ทำให้น้ำย่อยมีเวลาทำงานมากขึ้น กระบวนการย่อยจะดีขึ้น

คำแนะนำ:                                                                     

เนื่องจากนมมีไขมันอิ่มตัวสูง ไขมันอิ่มตัวมีส่วนทำให้โคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) เพิ่มขึ้น ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปดื่มนมไขมันต่ำ (low fat) หรือนมไม่มีไขมัน (non fat)

นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง ช่วยให้อิ่มได้นาน นมไขมันต่ำยังเป็นอาหารเสริมที่ใช้ช่วยควบคุมน้ำหนัก (ลดความอ้วน) ได้ดี
  • นมไขมันต่ำ:                                  
    นมไขมันต่ำมีวิตะมิน โดยเฉพาะวิตะมินดี วิตะมินดีช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ดี และมีรสชาดดีกว่านมไม่มีไขมัน
    แนะนำให้ใช้นมไขมันต่ำผสมชาหรือกาแฟแทนครีมเทียม(คอฟฟี่เมต) เนื่องจากครีมเทียมมีไขมันทรานส์ ทำให้โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง โคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) เพิ่มขึ้น
  • นมไม่มีไขมัน:                                
    นมไม่มีไขมันมีข้อดีที่ไม่มีไขมันอิ่มตัวเลย ทว่า... ไม่มีวิตะมินดีซึ่งเป็นวิตะมินที่ละลายในน้ำมัน แนะนำให้ผสมนมไม่มีไขมันกับนมไขมันต่ำ เพื่อให้ได้วิตะมินดีเพิ่มขึ้น วิตะมินดีจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น

ขอแนะนำ...                                                    

    แหล่งที่มา:                                      

  • ขอขอบคุณ > อาจารย์ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน. โภชนาการทันสมัย ฉบับผู้บริโภค. วิทยพัฒน์ (กระดานเสวนาวิทยพัฒน์ > www.wphat.com/webboard > เลือก “คุยกับ ดร.วินัย”). พิมพ์ครั้งที่ 2. 2544. หน้า 33-35.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙.
  • เชิญอ่านบ้านสาระที่นี่ > http://gotoknow.org/blog/talk2u
หมายเลขบันทึก: 31947เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีค่ะ มารับความรู้กับคุณหมอนะคะ
  • อ่านหัวข้อเรื่อง เข้าใจ อีกแบบนะคะ ทำนองดุ หรือบังคับอย่าพูดมาก ดื่มนมซะ ประมาณนี้ค่ะ
  • ถึง บางอ้อ แล้วค่ะ เวลาทานนมห้ามพูด ?
  • ขอขอบพระคุณคุณหมอค่ะ
  • ขอขอบคุณอาจารย์สุวรรณา และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

เรื่องนี้ไม่ได้บังคับใครครับ...
ใครจะพูดไปด้วย ดื่มนมไปด้วยก็ได้
ทว่า... ได้นำประโยชน์ของการไม่พูดมากมาชี้แจง

  • ความจริง... สาเหตุของลมในลำไส้มากที่ทำให้ระบบการย่อยไม่ดีเท่าที่ควรมีอย่างอื่นอีก เช่น
    1). ดื่มน้ำอัดลม (carbonate) มากเกิน
    2). พูดมากระหว่างมื้อ
    3). กินอาหารบางชนิด เช่น ถั่ว ฯลฯ มากเกิน
    4). คนที่ไม่กินเส้นใย (ไฟเบอร์) เลย อยู่ๆ ทราบว่า มีประโยชน์ เลยกินมากทีเดียว การกินเส้นใยควรเพิ่มทีละน้อย และดื่มน้ำระหว่างมื้อให้มากพอ

วิธีดื่มนมให้ดี มีอีกวิธีหนึ่งคือ ถ้าเราพิจารณาความทุกข์ยากของคนเลี้ยงโค ปรารถนาให้เขามีรายได้จากอาชีพ มีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัว หรือเครือญาติ เป็นอารมณ์ของกรุณา หรือเมตตาได้ นี่ก็ได้บุญทุกวันเหมือนกัน (ถ้าคิดได้ทุกวัน)...

  • 1). ถ้าเอ็นดูคนไทย... เชิญดื่มนมจากโคไทย
    2). ถ้าเอ็นดูฝรั่ง... เชิญดื่มนมผงละลายน้ำ
    (คุณภาพดีใกล้เคียงกัน)
  • อาจารย์ นพ.วัลลภ คะ หนูรบกวนถามข้อมูลเพิ่มเติม
  • การรับประทานโยเกิร์ต ต้องใช้กับวิธีที่อาจารย์รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน แนะนำหรือไม่คะ
  • รบกวนอาจารย์ อธิบายข้อดี ของการบริจาคโลหิต หน่อยนะคะ พอดีว่าเมื่อวานได้มีโอกาส บริจาคโลหิตมาคะ นอกจากได้บุญ แล้วมีผลดีต่อร่างกายอย่างไรบ้างคะ
  • ขอบคุณมากคะ
  • ขอขอบคุณอาจารย์สุนทรี ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • คนเอเชีย รวมทั้งคนไทยมีน้ำย่อยน้ำตาลนมน้อย...
    การดื่มนมจึงควรดื่มครั้งละน้อยๆ

โยเกิร์ตเป็นภูมิปัญญามาแต่โบราณ ใช้จุลินทรีย์ชนิดดี หรือแบคทีเรีย ย่อยน้ำตาลนมจนหมด หรือเกือบหมด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำย่อยแบบนมทั่วไป

  • โยเกิร์ตไทยมีปัญหาที่เติมน้ำตาลมากเกิน และอาจทำให้อ้วนได้ ถ้าเป็นไปได้...
    1). ควรเลือกชนิดน้ำตาลต่ำ (low sugar) 
    2). และไขมันต่ำ (low fat) 

การบริจาคเลือดได้บุญแน่นอนครับ... นำบุญนี้ไปถวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์ พระพุทธรูป หรือพระธรรมได้อย่างมั่นใจ นึกครั้งใดก็ปลาบปลื้ม ปีติยินดี มีคนทำบุญประเภทบริจาคเลือด ดวงตา หรืออวัยวะทั่วโลกนับล้านๆ คน (เพื่อนเยอะจัง...)

  • การให้เลือดมีผลต่อร่างกายอย่างไร...                       
    1). คนที่ประสบชะตากรรมโหดๆ เช่น ผ่านสงคราม ปัญหาครอบครัว ฯลฯ (Poststress disorder / PTSD) มีรายงานว่า อาการทุเลาเมื่อได้บริจาคเลือด
    2). คนที่บริจาคเลือดประจำมักจะรักษาสุขภาพดีกว่าคนทั่วไป เช่น ไม่สำส่อนทางเพศ ฯลฯ และได้รับการตรวจวัดความดันเลือด น้ำหนักเป็นประจำ(ก่อนให้เลือด)
    2). มีผู้สันนิษฐานว่า การมีธาตุเหล็กมากเกินในคนที่กินเนื้อแดงมาก(ฝรั่ง หรือซีกโลกตะวันก) อาจทำให้ร่างกายเกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น ถ้าเป็นผู้หญิงมีโอกาสนำออกโดยการเสียเหล็กไปกับเลือดหรือน้ำนม (ประจำเดือน ตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมลูก) ถ้าเป็นผู้ชายมีทางเดียวคือ บริจาคเลือด (ถ้าไม่นับยาขับเหล็กที่ค่อนข้างอันตราย)

กล่าวโดยสรุปว่า การบริจาคเลือดยังไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายชัดเจนนัก ทว่า... คุณค่าทางใจนี่มากมาย มหาศาล นึกถึงคราวใดก็ปลาบปลื้ม ปีติ โสมนัส

ตั้งแต่เกิดมา... ผมได้เห็น และได้ยินคนดีใจ ภูมิใจ มั่นใจกับการบริจาคเลือดมามากมาย ไม่เคยได้ยินผู้บริจาครายใดเสียใจที่บริจาคเลือดเลยแม้แต่คนเดียว...

ขอกล่าวอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุกับท่านผู้บริจาคเลือด ดวงตา อวัยวะทุกท่าน...

 

อาจารย์วัลลภคะ ขอบคุณมาก ๆ คะ
อาจารย์วัลลภคะ ขอบคุณมาก ๆ คะ
  • ขอขอบคุณอาจารย์สุนทรี ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ... ที่อาจารย์ไปบริจาคเลือดมา
  • ขอให้อาจารย์มีสุขภาพดี มีเลือดดี และมีกุศลเจตนาที่จะบริจาคเลือดไปอีกหลายสิบปีทีเดียว...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท