สัญจรเยี่ยมเยียนเครือข่ายอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร


วันนี้ที่โพธิ์ประทับช้าง มีอะไรที่ต้องคิดเพิ่ม

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 ผมได้ลงพื้นที่ ร่วมกับคุณหมอสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ เลขานุการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ไปเยี่ยมเยียนแกนนำเครือข่ายอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ผมรับอาสาขับรถเองครับ ทั้งๆที่ยังไม่มีใบขับขี่เลย คุณหมอก็ย้ำอยู่ประจำให้ไปทำซะ แต่ความดื้อของผมก็ยังไม่ทำซะที แต่การขับรถของผมเองก็ไม่แพ้มืออาชีพนะครับ   เริ่มออกเดินทางเวลา 08.05 น. ไปถึงตำบลไผ่ท่าโพธิ์ ก็แวะพบหมอลำไย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายอำเภอโพธิ์ประทับช้าง วันนี้แกไม่สบาย จึงไม่ได้ไปร่วมประชุม แต่ผมกับหมอสุรเดช ก็ได้พูดคุยปรึกษากับหมอลำไยถึงการทำงานในพื้นที่ พบว่า ตอนนี้เครือข่ายมีจำนวนสมาชิกลดน้อยลง ทุนสนับสนุนเครือข่ายที่มีอยู่จำนวนมากยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะติดในเรื่องการเบิกจ่าย ด้วยการซักถามที่มาที่ไปมากมาย ทำให้สมาชิกเกิดความท้อแท้ในการทำงานไม่อยากใช้เงินเครือข่ายมาทำงาน ประธานเครือข่ายอย่างอาจารย์ไพฑูรย์ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการเกษตร ก็ค่อยข้างยึดติดกับการทำงานที่มีเงื่อนไขมาก การพูดจาก็ไม่ค่อยเสริมกำลังใจคนทำงานซักเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะให้คำสั่งสมาชิกไปทำงาน  ทั้งนี้แกนนำสำคัญๆหลายคน มีความจำเป็นด้านครอบครัว จึงเริ่มถอยห่างออกไปจัดการเรื่องครอบครัวก่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่างานอาสาสมัคร  หมอลำไย จึงได้ฝากคำถาม/ประเด็น ให้กับหมอสุรเดช ช่วยประสานพูดคุยกับแกนนำสมาชิกเครือข่ายในวันนี้ 2 ประเด็น คือ 1.การจัดสรรงบประมาณ 2.แนวทางการทำงานต่อไป   หมอสุรเดชรับคำหมอลำไยช่วยดำเนินการต่อให้  หลังจากคุณหมอทั้งสองท่านกำลังพูดคุยกันอยู่นั้น ผมก็แอบไปกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยหลังบ้านหมอลำไย พอดีพี่สาวของหมอลำไยกำลังทำอยู่ ผมจึงอาสาเป็นนักชิมสัญจรอย่างเต็มใจ (กินไป 1 จาน อร่อยมากครับ) ก่อนออกเดินทางต่อไปร่วมประชุม หมอลำไยก็ฝากขนุนให้อีก 1 ลูก ก่อนกลับด้วย  เวลา 10.00 น. เดินทางถึงบ้านผู้ใหญ่ดำ ที่ตำบลดงเสือเหลือง อ.โพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นเป้าหมายสถานที่ประชุมในวันนี้ มีคนเข้าร่วม 15 คน มากันครบ 5 ตำบล อาจารย์ไพฑูรย์ ประธานเครือข่ายได้เล่าให้ฟังทั่วไปว่า... "ตำบลเนินสว่าง ขณะนี้อาจารย์พิชัยซึ่งเป็นประธานกลุ่มได้ลาออกไปแล้ว ทำให้ต้องหาตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่รักษาการแทนก่อน แล้วค่อยหารือกับสมาชิกกลุ่มอย่างเป็นทางการต่อไป ในส่วนกากน้ำตาลที่อยู่กับอาจารย์พิชัยนั้น มี 10 กระติก ถ้าขายได้หมดหรือไม่หมด ให้นำเงินหรือกระติกกากน้ำตาล มาไว้ที่ส่วนกลาง       ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากไปรับกากน้ำตาลมาจำหน่ายล่าสุด ผลปรากฏว่ามีน้อยลง อาจเนื่องมาจากสาเหตุของ ช่วงรอน้ำ ไม่ใช้ช่วงการเพาะปลูก หรืออาจเป็นเพราะสมาชิกมีจำนวนน้อยลง    ในส่วนจุดรับซื้อตอนนี้มี 2 จุดเพิ่มมาจากเดิม คือ ป่ามะคาบ และสระยายชี  ไม่ต้องไปซื้อที่ทับคล้อแล้วเพราะต้นทุนสูง (ค่าเดินทาง) ที่ป่ามะคาบ ขาย กิโลกรัมละ 6 บาท ส่วนที่ สระยายชี ขาย กิโลกรัมละ 6.5 บาท  คิดว่าทางกลุ่มจะเลือกซื้อที่ป่ามะคาบ ดีกว่า เพราะไปรับทีละมากๆ เพื่อความคุ้มค่า..." 

 จากนั้นอาจารย์ไพฑูรย์เล่าต่อว่า...

"ผลสืบเนื่องมาจากการประชุมเวทีเครือข่ายชมรมเกษตรธรรมชาติฯ ที่ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน และเล่าให้ฟังถึงความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งตอนนี้เครือข่ายอำเภอโพธิ์ประทับช้าง กิจกรรมยังไม่ขยายไปถึงไหน และคาดว่าจะคืนเงินทั้งหมดหากไม่มีกิจกรรมทำต่อ จึงอยากหารือกับทางกลุ่ม เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดการ" 

 แล้วเวทีประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน รวมไปถึงคุณหมอสุรเดชด้วย ช่วยเสริมประเด็นที่หมอลำไยฝากมาด้วย ส่วนผมก็เก็บภาพ + ถ่ายวิดีโอ + บันทึก  รวบรวมข้อเสนอแนะการทำงานต่อไปดังนี้   

                ข้อเสนอแนะ
1.       ทำแปลงสาธิตนาข้าวปลอดสาร เป็นแหล่งเรียนรู้
2.       สำรวจแกนนำที่น่าสนใจ เป็นเวทีพบปะในแต่ละตำบล อาจเริ่มต้นที่ตำบลเนินสว่างก่อน
3.       บริหารจัดการซื้อกล้องดิจิตอล เพื่อเก็บภาพ พัฒนาการเรียนรู้/องค์ความรู้ของสมาชิก
มติที่ประชุม          เห็นชอบ ดำเนินการในระยะต่อไป
กำหนดการประชุมครั้งต่อไป  วันที่ 26 มิถุนายน 2549 ที่บ้านลุงหวาน แต้มทอง  ต.ทุ่งใหญ่

                    

 เวลา 12.30 น. ได้เวลาอาหารเที่ยงแล้ว วันนี้ได้ชิมน้ำพริกปลาร้า ผักต้มหลากหลายชนิด และก็แกงส้มปลาดุก อร่อยมากกกกกกกกกก  

หลังจากอิ่มหนำสำราญแล้ว ผมกับหมอสุรเดช ก็เดินทางต่อ ไปพบ ลุงนิสิทธิ์ ฉันทธรรมสกุล ซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิฯ บ้านอยู่ไม่ไกลจากบ้านผู้ใหญ่ดำเท่าไรนัก ประมาณ 1.5 กม. พอไปถึงบ้านลุงนิสิทธิ์ ก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี ดื่มน้ำดื่มท่า ไม่หนำซ้ำ แม่บ้านลุงนิสิทธิ์ ก็เอากระท้อนดอง มาให้ชิมด้วย 5 ลูก หมอสุรเดชให้ผมจัดการซะ ผมเองก็ปฏิเสธผู้ใหญ่ไม่เป็นเสียด้วยซิ ก็เลยชิมไปบันทึกไปช่วงระหว่างที่คุณหมอกับลุงนิสิทธิ์กำลังสนทนาแลกเปลี่ยนกัน โดยลุงนิสิทธิ์เล่าให้ฟังว่า... ทำงานร่วมกับ พอช. ได้ซักพักก็ออกมาอยู่บ้านแล้ว เพราะเป็นคนพูดตรง เห็นอะไรไม่ถูกไม่ควร ก็จะแนะนำพูดคุยตรงไปตรงมา จนทางทีมงาน พอช. จังหวัด รับไม่ได้ต้องเชิญออก ซึ่งลุงนิสิทธิ์ก็เล่าต่อว่า ไม่ได้เสียใจอะไรเลย เพราะทำงานร่วมกับเค้าแล้ว ผลงานไม่ได้เกิดอย่างต่อเนื่อง ผู้ได้รับประโยชน์มีเฉพาะนักพัฒนาเท่านั้น!!!! ไม่ได้ก่อผลโดยตรงกับชาวบ้านเลย คิดไปคิดมาก็ดีแล้วที่ตัวเองออกมา ทำงานในพื้นที่ดีกว่า ตอนนี้ก็ทำประเด็นกลุ่มออมทรัพย์และ ประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่ ก็ยังคงทำงานมาอย่างต่อเนื่องอยู่   ทั้งนี้คุณหมอสุรเดช ก็ได้พูดคุยให้ลุงนิสิทธิ์ฟังถึงยุทธศาสตร์การทำงานของชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ ในปี 49 - 50 นี้ โดยได้เน้นในเรื่อง การทำวิสาหกิจชุมชนของเครือข่าย เพื่อเป็นจุดรวมใจของคนทำงาน และพัฒนาต่อยอดถึงความยั่งยืนของเครือข่ายด้วย แต่เพราะประสบการณ์การทำงานเชิงวิสาหกิจ มีน้อยจึงอยากเทียบเชิญลุงนิสิทธิ์มาร่วมเป็นกรรมการ ให้คำแนะนำดีดี ที่จะร่วมกันดำเนินงานต่อไป  ซึ่งลุงนิสิทธิ์เองก็เต็มใจช่วยเพราะช่วงนี้ก็พอมีเวลาว่างมากขึ้นด้วย   เวลา 14.45 น. ผมกับหมอสุรเดช ก็เดินทางกลับพิจิตรโดยสวัสดิภาพ แต่เอ๊ะ!!! สังเกตว่า คุณหมอสุรเดชหลับสนิทเลยครับช่วงที่ผมขับรถอยู่ คล้ายกับคนแบตเตอรี่หมดซะอย่างนั้น 

***วันนี้ผมทั้งอิ่มข้อมูลและอิ่มท้องมากเลยครับ และไม่อยากบอกเลยว่า ตั้งแต่เช้าผมท้องเสียมาตลอดเลย ตั้งแต่บ้านหมอลำไย บ้านผู้ใหญ่ดำ บ้านลุงนิสิทธิ์  แต่ก็สนุกดีครับ เพราะอิ่มข้อมูลอิ่มท้อง และได้ขับรถขับถ่ายสะดวกจริงๆเลย    

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31929เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เปียเขียนเล่าสนุกและได้สาระอย่างนี้ต่อไปอาจได้รางวัลสุดคะนึง

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท