เทคนิคการเตรียมรับการประเมินคุณภาพภายนอก, การกำหนดราคากลางแบบเรียน


ชาว กศน.รวมใจร่วมเปิดงานเฉลิมพระเกียรติฯ, เหมือน “รู้ข้อสอบ”, ราคากลางคือราคาที่เหมาะสม

30  พฤศจิกายน  - 5  ธันวาคม  2552

 

         - 1 ธ.ค.52  ไปประชุมประจำเดือนและประชุมเฉพาะกิจเรื่อง การจัดสรรงบประมาณ, การซื้อสื่อ, การประกันคุณภาพฯ, การคัดเลือกบุคคล-หน่วยงานดีเด่น  ที่ สำนักงาน.กศน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   โดย สนง.กศน.จ.อย.ได้แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นกรรมการดำเนินงานประกันคุณภาพสถานศึกษา สนับสนุนการจัดทำเอกสารร่องรอย ที่ กศน.อำเภอ มหาราช, เสนา  และ ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะรับการประเมินจริง ที่ กศน.อำเภอ บางปะหัน, บางซ้าย, มหาราช, เสนา

 

         - 2 ธ.ค.52  ช่วงเช้า ประชุมบุคลากร กศน.อำเภอผักไห่ประจำเดือน    ช่วงบ่าย เตรียมเอกสาร-แผ่น CD สำหรับไปสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพสถานศึกษาต่าง ๆ

 

         - 3 ธ.ค.52  ร่วมคณะบุคลากรและนักศึกษารวม 25 คน ไปร่วมพิธีเปิดแสงไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 บริเวณถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ( เวทีป้อมมหากาฬ )

เดินทางโดยรถตู้ 2 คัน

ออกจากผักไห่ 13:00 น. กลับถึงผักไห่ 24:00 น.


 

         - 4 ธ.ค.52  ไปสนับสนุนการจัดทำเอกสารร่องรอยเตรียมรับการประเมินคุณภาพภายนอก ที่ กศน.อำเภอมหาราช และได้แนะนำเทคนิคการเตรียมรับการประเมินฯ  ดังนี้

            1. ถ้าเรารู้ว่า คณะกรรมการประเมินภายนอก จะมาดูอะไรบ้าง ถามอะไรบ้าง หาอะไรบ้าง ให้คะแนนเท่าไรบ้าง  ก็เหมือนเรารู้ข้อสอบล่วงหน้า สามารถทำคะแนนสูงได้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถรู้ ( รู้ข้อสอบ ) จากเอกสาร 4 รายการ คือ
               - หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินฯ ของ สมศ.
               - แบบบันทึกข้อมูลภาคสนามฯ ของคณะกรรมการฯ
               - คู่มือการประเมินฯ ( ปรับ ) ของ สมศ.

               - รายงานการประเมินฯ ของ คณะกรรมการฯ
               เอกสารทั้ง 4 รายการนี้ ไม่ใช่ความลับ สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ สมศ. ที่ http://www.onesqa.or.th/onesqa/th/home/index.php   โดยปกติ คณะกรรมการจะกรอกข้อมูลในแบบบันทึกข้อมูลภาคสนามฯ และรายงานการประเมินฯ เอง จากการค้นหาจากเอกสารต่าง ๆ เช่น SAR และการสอบถามเรา และกรอกตามที่กำหนดในเอกสารหลักเกณฑ์ฯและคู่มือฯ  ( เขาต้องกรอกแน่ ๆ เพราะเขาต้องส่ง สมศ. ไม่กรอกไม่ได้ )   โดยเฉพาะแบบบันทึกข้อมูลภาคสนามฯ เขาต้องกรอกว่าเห็นสิ่งนั้นอยู่ที่ใด เช่น พบใน SAR หน้าใด   และคำนวณออกมาเป็นคะแนนที่ได้จริงในแต่ละมาตรฐานเลย
               เทคนิคก็คือ เรากรอกแบบบันทึกข้อมูลภาคสนามฯ และรายงานการประเมินฯ นี้ เตรียมไว้ให้เขาเลย  ซึ่งจะมีประโยชน์มาก เพราะการกรอกว่าอะไรที่เขาต้องการนั้น อยู่ที่ไหน จะทำให้เรารู้ว่ามีสิ่งที่เขาจะดู จะถาม จะหา จะให้คะแนน พร้อมหรือยัง   และก็สามารถคำนวณออกมาได้เลยว่าเราจะได้คะแนนเท่าไร   แบบบันทึกและรายงานที่เรากรอกเองนี้ ให้คณะกรรมการดูในวันประเมินเลย ( เพราะไม่ใช่เอกสารลับ )  จะสะดวกสำหรับคณะกรรมการมาก ( กศน.อ.ผักไห่ เคยทำมาแล้ว ได้รับคำชมจากกรรมการ )  เขาเพียงแค่ตรวจสอบว่ามีตามที่เรากรอกหรือไม่   ถ้าเขาค้นหาเองอาจจะค้นหาพบไม่ครบถ้วน  ถ้าเขาถามเราในวันประเมินฯโดยที่เราไม่เตรียมไว้ก่อน เราก็อาจค้นหาไม่พบด้วย ทำให้ได้คะแนนน้อยกว่าที่ควร    ถ้าเรากรอกแบบบันทึกข้อมูลฯและรายงานฯนี้สมบูรณ์เมื่อใด เราก็พร้อมแล้วที่จะรับการประเมินฯ

            2. ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ให้จัดทำแฟ้มสำหรับรับการประเมินฯ เพียงแต่เมื่อคณะกรรมการถามหาอะไรก็ควรหาให้ได้ในเวลาที่สมควร  การจัดทำแฟ้มก็เพื่อจะหาเอกสารพบได้ง่ายในเวลาที่สมควร  ฉะนั้น จะจัดแฟ้มตาม 6 มาตรฐานของต้นสังกัด หรือจะจัดแฟ้มตาม 5 มาตรฐานของ สมศ. หรือจะทำไว้ทั้งสองระบบ ก็ได้ทั้งสิ้น  แต่เนื่องจากคณะกรรมการต้องกรอกแบบบันทึกข้อมูลภาคสนามฯตาม 5 มาตรฐานของ สมศ. การจัดทำแฟ้มตาม 5 มาตรฐานของ สมศ. จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งคณะกรรมการและเราผู้ค้นหาเอกสาร
               โดยเพื่อความชัดเจน สะดวกในการค้นหาเอกสาร ควรแยกแฟ้มตามตัวบ่งชี้ และในแต่ละแฟ้มควรแยกเอกสารตามเกณฑ์แต่ละเกณฑ์เลย โดยพิมพ์ชื่อเกณฑ์เป็นใบขั้นก่อนแล้วต่อด้วยเอกสารหลักฐานของเกณฑ์ จากนั้นเป็นใบขั้นที่เป็นชื่อเกณฑ์ต่อไป ตามลำดับ
               อีกประการหนึ่ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์ของเอกสารหลักฐานนั้น ควรใช้ปากการเน้นคำ ทำแถบสีเน้นคำไว้ ไม่ต้องให้คณะกรรมการอ่านทั้งหมดแล้วค้นหาประเด็นเอง ซึ่งคณะกรรมการอาจค้นไม่พบ ไม่ทราบว่าเอกสารนั้นเกี่ยวข้องอย่างไร

            3. การดำเนินงานต่าง ๆ ควรยึดหลักตามวงจรเดรมมิ่ง P D C A   ซึ่งการให้คะแนนประเมินฯในด้านต่าง ๆ ก็จะเป็นไปตามหลัก P D C A  คือ
               - P = Plan = 1 คะแนน = งาน/กิจกรรมนั้น มีแผนงาน/โครงการ
               - D = Do = 2 คะแนน = มีหลักฐานการลงมือทำตามแผนงาน/โครงการ เช่น รายงานผลการดำเนินงานเป็นรูปเล่ม มีภาพประกอบ มีรายชื่อผู้เข้าร่วมงาน/กิจกรรม
              - C = Check = 3 คะแนน = มีการติดตามประเมินผลสรุปผล สรุปปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ ( ถ้ารายงานผลการดำเนินงานเป็นรูปเล่ม มีภาพประกอบ มีรายชื่อผู้เข้าร่วมงาน/กิจกรรม แต่ไม่มีสรุปผลการติดตามประเมินผล ปัญหาอุปสรรคข้อเสนอแนะ   ก็จะได้เพียง 2 คะแนน จากคะเต็ม 4 )
               - A= Action = 4 คะแนน = มีการนำข้อเสนอแนะจากการสรุปผล ไปปฏิบัติจริง
               ฉะนั้น งาน/กิจกรรม ใด ๆ ถ้าต้องการได้คะแนนเต็ม ต้องหาตัวอย่างหลักฐานการนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติจริงในการแก้ไขพัฒนา ไว้

 

         วันที่ 4 ธ.ค.52 นี้  อ.อดุลย์ จาก กศน.อ.วังน้อย  โทรศัพท์มาถามวิธีกำหนดราคากลางการจัดซื้อ/จ้าง หนังสือแบบเรียน   ได้ตอบว่า ราคากลางคือราคาที่เหมาะสมในแต่ละท้องที่   ท้องที่ใดอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิต ราคากลางก็จะสูงขึ้นเพราะต้องรวมค่าขนส่งด้วย  นอกจากนี้ถ้าจัดจ้างจำนวนน้อย ราคากลางค่าจ้างพิมพ์แบบเรียนก็ต้องรวมค่าต้นฉบับมากขึ้น  เช่น แบบเรียนเล่มเดียวกัน ถ้าท้องที่กรุงเทพฯและจัดซื้อ/จ้างจำนวนมาก ราคากลางต้องต่ำ  ส่วนท้องที่ อ.อมก๋อย และจัดซื้อ/จ้างจำนวนน้อย ราคากลางต้องสูง   วิธีกำหนดราคากลางอย่างง่าย คือ
         - พิจารณาจากรายการราคาของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่ส่งมา  โดยอาจเลือกราคาของสำนักพิมพ์ที่ราคาต่ำสุด หรือราคาของสำนักพิมพ์ที่เป็นกลาง ๆ ให้เป็นราคากลางของเรา ( พิจารณาทีละเล่ม )  หรือ
         - ใช้ราคากลางของอำเภอข้างเคียง ( ถ้าอำเภอข้างเคียงกำหนดราคากลางไว้แล้ว )

 

         - 5 ธ.ค. 52  ร่วมพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งภาคเช้า ภาคค่ำ รวมทั้งร่วมกิจกรรมเนื่องในวันเฉลิมฯ ของ นักศึกษา กศน.อ.ผักไห่


หมายเลขบันทึก: 318380เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2009 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เห็นด้วยกับ อ.เอก นะคะที่จะจัดแฟ้มไว้ 2 ชุด คือแฟ้มตาม 6 มาตรฐานของต้นสังกัด และจะจัดแฟ้มตาม 5 มาตรฐานของ สมศ. อย่าคิดว่าเป็นการเพิ่มงาน เพราะจะทำให้เราสามารถหาข้อมูลตอบคณะกรรมการได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน และมีโอกาสเป็นไปได้อย่างยิ่งที่คณะกรรมการ 2 -3 ท่านจะเรียกดูข้อมูลเอกสารตัวเดียวกัน เป็นกำลังใจให้ทุกศูนย์ที่กำลังเข้าสู่การประเมินค่ะ

งานเยอะนะคะ ดูแลสุขภาพกันนะคะ

คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ

ดีใจที่ อ.ศิริรักษณ์_คนหลังเลนส์ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ช่วงนี้ อำเภอที่ทำประกันคุณภาพฯคงต้องทำเต็มที่ แต่ต้องทำใจไม่ให้เครียดนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นบันทึกที่แบ่งปันความรู้ที่ดีค่ะ

จะได้เตรียมเข้ารับการประเมินในรอบต่อไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ ผอ.สุนันทา
ระยะหลัง ๆ นี้ พวกเรามักจะผ่านการประเมินด้วยคะแนนสูงนะครับ เพราะรูแกว ( รู้ข้อสอบ ) สมศ. แล้ว

ขอบคุณครับ คงจะเตรียมการรับประเมิน รอบ 3 ครับ

ผมสงสัยการแต่งกายชุดพนักงานราชการเห็นก่อนนั้นให้คาดเข็มขัดสีดำ(อ.เอกชัยเคยเอามาลงเว็บเมื่อสามสี่ปีก่อนตอนเป็นพนักงานราชการใหม่ๆแต่ผมก็ยังไม่ได้สั่งตัดทางจังหวัดไม่ได้บังคับ) แต่ของกศน.ผักไห่เห็นคาดด้วยสีน้ำตาล ขอความกระจ่างด้วยว่าคาดด้วยสีใดจึงจะถูกต้อง

เรียน คุณพรชัย ( ข้อความ 5 )
         ถึงแม้มาตรฐานและตัวบ่งชี้ ของ กศน. กับ ในระบบโรงเรียน จะไม่เหมือนกันและการประเมินรอบ 3 ก็คงจะมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างอีก แต่ผมคิดว่า เทคนิคที่เตรียมคำตอบตามคู่มือ-แบบบันทึกข้อมูลภาคสนาม-แบบรายงาน ของ สมศ. ไว้ล่วงหน้า ก็ยังเป็นเทคนิคที่ดีครับ

ตอบ "ครูรักถิ่น" ( ข้อความ 6 )
         หึ หึ ไม่รู้จะว่ายังไงเลยครับผม รู้ได้ยังไงครับว่าคนที่คาดเข็มขัดสีน้ำตาล( สีกากี ) นั้นเป็นพนักงานราชการ
         ที่ถูกต้อง เข็มขัดเครื่องแบบปกติ พนักงานราชการ กศน. เป็นสีดำครับ แต่เขาบอกว่าหาซื้อเข็มขัดสีดำไม่ได้ น่ะครับ ( ที่จริงเข็มขัดลูกจ้างประจำก็สีดำ และลูกจ้างประจำตำแหน่งนักการภารโรงก็ไม่มีขีดอินทรธนู แต่นักการภารโรงบางคนก็คาดเข็มขัดสีกากีและติดขีดอินทรธนู เพราะอะไร ?! )
         ขอถือโอกาสอัพเดตเรื่องอินทรธนู
พนักงานราชการ ( เครื่องแบบพิธีการ ) ว่า มีจำหน่ายแล้วนะครับ เข้าไปดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่ http://www.thaiinsignia.com/index.php/goverment-insignia/moi/moi-formal-suit/-13.html

ขอแสดงความคิดเห็น

ตามความคิดของผม คิดว่า เรายังไม่เคย บังคับใช้ระเบียบ และวาระ การแต่งกายที่ชัดเจน และชี้แจงให้ พนักงานราชการทราบ เขาจึงแต่งกายตามต้นแบบที่เขารับรู้มา ซึ่งนั่นก็คือครูในระบบ แม้แต่พนักงานราชการ ของโรงเรียนในระบบเองก็แล้วแต่ ถ้าถามว่าผิดใหม คิดว่าถ้าเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการก็ น่าจะออมชอมกันได้ และตักเตือนให้เขารู้ตัว แต่ถ้าจงใจก็ ถือว่าแต่งกายเรียนแบบข้าราชการครับ อันนี้ถือว่าเป็นความผิดอาญาครับ อยู่ที่เจตนา แต่คิดว่าถ้าชี้แจงให้เข้าใจแล้วคงไม่มีปัญหา

ส่วน การรับการประเมิน สมศ.ถ้าทำดีแล้วไม่น่าจะเครียดมาก ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการกดดันกันเองภายในองค์กร กลัวจะไม่ถูกใจคณะกรรมการประเมิน ผมคิดว่าเดินตามทาตรฐานที่มีมาให้ ทำให้ครบถ้วน แวทำใจให้สบาย เพราะทางเดินมันขีดช่องไว้แล้ว ไม่น่าจะเครียดมากครับ

ขอแสดงความคิดเห็นเท่านี้ขอบคุณครับ

เห็นด้วยกับคุณ "อภิบาล ศรชบ้านเจษฏา 5 ลำไทร"  ในเรื่องการประเมินฯ ครับ ถึงเราจะไม่ประมาท เตรียมให้พร้อม แต่ก็อย่าเครียด ทำใจสบาย ๆ

ส่วนเรื่องเครื่องแบบพนักงานราชการนั้น พนักงานราชการบางคนก็รู้นะว่าเข็มขีดสีดำ แต่เครื่องแบบของเราเสื้อเป็นสีกากีมีสายอินทรธนู จึงดูแปลกๆถ้าใส่เข็มขัดสีดำและไม่ติดอินทรธนู ( ต่างกับเครื่องแบบพนักง่านราชการของกรมการปกครองที่เสื้อเป็นสีขาว ถึงแม้จะมีสายอินทรธนูเช่นกัน แต่ไม่ใส่ขีดอินทรธนูก็ดูไม่แปลก ) พนักงานราชการของเราบางคนบอกว่าถ้าให้ใส่เข็มขัดสีดำและไม่ติดขีด ก็จะไม่แต่งเครื่องแบบฯ

มาเยี่ยมเยียน อ.เอกชัย ขอชื่นชม ในการเป็นหนึ่งในผู้แบ่งปัน สร้างความเข้มแข็งให้ กศน. อย. ของเรา ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท