ลักษณะของคน


                    เมื่อพูดถึงลักษณะของคน  ดูเหมือนจะเข้าใจกันว่า  มนุษย์ในโลกนี้มีลักษณะเพียงสองอย่าง  คือ  ดีกับชั่ว ที่จริงยังมีมนุษย์อีกจำพวกหนึ่ง  คือ  มนุษย์ที่ไม่มีลักษณะเลย
                    คนที่มีลักษณะดี  เช่น  คนที่ซื่อตรง  ขยันขันแข็ง  มีสติปัญญา  เป็นที่เชื่อถือของคนทั้งหลาย  ส่วนคนที่มีลักษณะชั่ว  เช่น  คนที่คดโกง  เกียจคร้าน  โง่เขลา  ไม่เป็นผู้ทำตัวให้เป็นที่เชื่อถือของใคร
                    แต่คนทั้งสองจำพวกนี้  ถึงแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก  ยังไม่มากเท่าอีกจำพวกหนึ่ง  ซึ่งไม่มีลักษณะเสียเลย  บุคคลที่ไม่มีลักษณะนี้  มีอยู่มากมายหลายชนิด  เป็นต้นว่า  คนที่โลเลไม่แน่นอน  ทำอะไรจับจด  ไม่รู้จักทำจริง  ไม่รู้จักมีความคิดความเห็นของตัวเอง  คอยแต่จะงมงายเอาอย่างผู้อื่น  ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องแสดงตนให้เด่นขึ้นผิดกับคนอื่น ๆ บุคคลจำพวกนี้  อาจไม่ได้ทำความผิดร้ายให้เดือดร้อนแก่ใครก็ได้  แต่ก็มิได้มีอะไรที่เป็นของตัว  จึงนับว่าไม่มีลักษณะ
                    ขอให้ลองนึกถึงบุคคลหลาย ๆ คนที่เป็นญาติมิตรสหาย  จะได้พบคนหนึ่งที่เป็นคนใจดี  อ่อนโยน  เที่ยงธรรม  และเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์  อีกคนหนึ่งเป็นคนฉุนเฉียว  โกรธง่าย  แต่ไม่พยาบาท  คนหนึ่งเป็นคนแคล่วคล่อง  ว่องไว  ทำอะไรรวดเร็ว  อีกคนหนึ่งเป็นคนจู้จี้จุกจิก  แต่ละเอียดลออ  คนหนึ่งเป็นคนมุทะลุดุดัน  แต่เมื่อพูดกันโดยดียกเหตุผลสมควรแล้วก็เชื่อฟัง  อีกคนหนึ่งเป็นคนใจน้อยโกรธง่าย  รักง่ายเกลียดง่ายสงสารง่ายแต่ไม่พยาบาท  คนหนึ่งเวลาทำอะไรจะต้องคอยตรวจตราดูแลจึงทำได้ดี  อีกคนหนึ่งจะต้องปล่อยให้ทำตามลำพังจึงจะได้ผลดี  ถ้าไปจู้จี้จุกจิกเข้าเลยเสียหมด  คนหนึ่งชอบให้เราไปหาพบปะพูดจาด้วยเสมอจึงจะรักใคร่กันดี  อีกคนหนึ่งชอบเห็นกันแต่ในเวลามีธุระ  ถ้าไม่มีธุระอะไรก็ชอบให้ต่างคนต่างอยู่  บุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีความบกพร่องในบางอย่างก็ยังนับได้ว่า  “ มีลักษณะ ”  มีอะไรที่ทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนอย่างไร  แต่มีคนอีกมากมายที่หาลักษณะอันใดมิได้  เราไม่สามารถจะทำให้ถูกใจได้  พูดดีกลับเป็นร้าย  ทำคุณกลับเป็นโทษ  เป็นบุคคลที่ไม่มีความมุ่งหมายแน่นอน  ไม่มีใจหนักแน่น  ไม่มีความคิดความอ่านอะไรของตัวเอง  คอยแต่เอาอย่างผู้อื่น  คอยแต่พึ่งอาศัยผู้อื่น  คอยแต่หาความดีด้วยวิธีประจบคน  เป็นคนจับจด  ไม่ทำอะไรจริง  เปลี่ยนความคิดง่าย  หน้าที่ของตัวมีอยู่อย่างไรไม่ปฏิบัติคอยจะทำสิ่งที่นอกเรื่องนอกราว  บุคคลชนิดนี้ล้วนแต่ไม่มีลักษณะ
                    ขอให้เราสังเกตว่า  นักแต่งหนังสือจะมีชื่อเสียงจริง ๆ ได้จะต้องมีลักษณะ  คือ  จะต้องให้ดีในทางใดทางหนึ่ง  ให้หนักไปในทางใดทางหนึ่ง  ให้เด่นในทางใดทางหนึ่ง  เช่น  ศรีปราชญ์เด่นในทางโคลง  สุนทรภู่เด่นในทางกลอนแปด  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  เด่นในทางแต่งบทละคร  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรง ฯ เด่นในทางพงศาวดาร  เสด็จในกรมหมื่นพิทยา ฯ เด่นในทางฉันท์  ท่านเหล่านี้ล้วนแต่พยายามทำให้หนักหรือเด่นดีไปในทางหนึ่ง  นักแต่งหนังสือที่ไม่พยายามให้เด่นในทางหนึ่งทางใด  โดยที่ทำเล่นมากกว่าทำจริงก็ดี   หรือโลภมากอยากได้เด่นดีไปเสียหมดทุกทาง  ทำอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้างก็ดี  ก็เป็นอันว่าเอาดีไม่ได้  เพราะไม่มีลักษณะ  ไม่รู้ว่าดีทางไหน  เป็นความดีที่แลเห็นไม่ได้
                    ในเรื่องลักษณะของคนนี้  มีคำไทยแต่โบราณมาเรียกว่า  “ แวว ”  คนที่มีลักษณะเขาเรียกว่าคนที่มีแวว
                    การมีลักษณะติดตัว  มีคุณธรรมอะไรที่เป็นของตัวอยู่นั้นเป็นของดียิ่ง  มนุษย์ทุกคนจะต้องมีลักษณะ  คนไม่มีลักษณะก็เหมือนหนึ่งสวะที่ลอยน้ำ  เมื่อน้ำขึ้นก็ลอยขึ้น  เมื่อน้ำลงก็ลอยล่อง  แต่คนที่มีลักษณะย่อมเป็นเหมือนเรือที่มีกำลังต้านทานแรงน้ำ  เพื่อเดินทางไปสู่ที่มุ่งหมาย  ไม่ปล่อยให้น้ำพัดพาไปเล่นตามสบายใจ
                    ลักษณะดีกว่าความรู้  คนไม่มีลักษณะถึงแม้จะมีความรู้ดีวิเศษปานใด  ก็ใช้ไม่ได้  ความรู้ทำคนให้ได้รับความนิยม  แต่ลักษณะทำให้คนได้รับความนับถือ  ความนิยมกับความนับถือนั้นต่างกันมาก  เรามีแต่ความรู้  ก็มีแต่เพียงคนนิยมว่าความรู้ของเราดี  แต่อาจจะไม่มีใครนับถือว่าตัวเราเป็นคนดีเลยก็ได้  ถ้าเราไม่มีลักษณะ  เราทำอะไรไม่จริง  เราไม่มีความคิดอ่านที่เป็นของเราเอง  แต่ถ้าหากว่าเราเป็นผู้มีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว  เราย่อมได้รับความนับถือ  และเมื่อได้รับความนับถือ  ก็ย่อมได้รับความนิยมด้วย
                    ถ้าเราทำอะไรทำจริง  เรามีคุณสมบัติอะไรในตัวที่เด่นอยู่  ถึงแม้เราจะไม่มีความรู้อะไรมากมาย  และถึงแม้เราจะมีความบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่บ้าง  เราก็ย่อมได้รับความนับถือและมีคนเกรง
                    “ ลักษณะ ”  ที่เรามีอยู่ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูตัวของเรายิ่งกว่าความรู้  และเป็นเครื่องแก้ไขลบเลือนความบกพร่องบางอย่างของเราด้วย
                    มีพุทธภาษิตที่น่าจับใจอยู่หนึ่งว่า  “ พึงรักษาความดีของตนไว้  เหมือนเกลือจะต้องมีความเค็มอยู่เสมอ ”  มนุษย์เราจะต้องมีลักษณะ  คือ  จะต้องมีความเค็มอยู่ในตัว  เกลือที่ไม่มีความเค็ม  จะเรียกว่าเกลือไม่ได้ฉันใด  มนุษย์ที่ไม่มีลักษณะ  ก็ไม่น่าจะเรียกว่ามนุษย์ได้ฉันนั้น
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31646เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท