นวัตกรรม (INNOVATION)


มหัศจรรย์แท้จริงแห่งการค้นพบ ไม่ได้อยู่ที่การค้นหาสิ่งใหม่ๆ แต่อยู่ที่การมีมุมมองใหม่ๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับของฝากจากเพื่อนที่เพิ่งกลับจากแดนจิงโจ้ เป็นกาแฟกึ่งสำเร็จรูปชนิด 3 in 1 ยี่ห้อเดียวกับที่มีขายอยู่ในเมืองไทยนี่เอง แต่ความพิเศษอยู่ที่กาแฟนี้ถูกบรรจุอยู่ในหลอดคล้ายยาสีฟันทั่วไป  เป็นอันให้รู้สึกประทับใจในความช่างคิดอีกครั้ง  ทำให้ต้องย้อนกลับมามองว่าบ้านเรามีสินค้าอะไรที่สร้างนวัตกรรม (Innovation) ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งบ้าง

นวัตกรรม (Innovation) คือ การมีจินตนาการ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นระบบ แล้วนำไปปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ต้องให้เกิดประโยชน์ และมีมูลค่าเพิ่มด้วย

การสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด กว่าจะออกตลาด (Launch)ได้แต่ละตัว บางบริษัทต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้ากันอยู่นานเป็นปีเลยทีเดียว เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ (Competitive Advantage) ทั้งการศึกษาตนเอง (Company) โดยพัฒนาตัวสินค้า ความเป็นไปได้ในการผลิต ต้นทุนและกลุ่มลูกค้า (Customers) ช่องทางจำหน่าย หรือแม้แต่คู่แข่ง (Competitors)  หลายๆ องค์กรจึงต้องการสร้างความแตกต่าง เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำ  โดยเปลี่ยนจากแนวคิดการพัฒนาสินค้า (Development) เป็นการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ที่กว่าคู่แข่งจะคิดได้ก็หนีไปไกลแล้ว

หลักการออกแบบใหม่ๆ มักเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของลูกค้า เช่น ต้องการโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ฟังเพลงและเล่น Internet ได้ จนเกือบจะกลายเป็นคอมพิวเตอร์ไปอยู่แล้ว  หรือแม้แต่เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น นมข้นชนิดบีบ  เนยแท่ง (stick) ชนิดไม่ต้องใช้ช้อนตักป้ายบนขนมปัง  บางครั้งสิ่งรอบๆ ตัวเรา กลับทำให้รู้สึกไม่สะดวกสบายไปซะหมด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ยังอยู่กันได้  นี่คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อความพึงพอใจ แต่ก็กลายเป็นโอกาสให้เกิดการแข่งขันทางการตลาด  ใครคิดก่อน ทำก่อน มักได้เปรียบคู่แข่งเสมอ ฝ่ายเสียเปรียบก็ต้องคิดหาหนทางแก้ไข ปรับปรุง หามาตรการต่างๆ ทุกทางเพื่อให้ต่อสู้ได้ ลองคิดแทนเล่นๆ ดูว่า หากเครื่องซักผ้าแบบไม่ต้องใช้ผงซักฟอก (มีการผลิตแล้วโดยใช้ ozone แทน) มีราคาใกล้เคียงกับของปกติ  ผู้ผลิตผงซักฟอกจะหากลยุทธ์อะไรมาแก้สถานการณ์

การคิดแบบ Innovation ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากซะจนไม่มีใครคิดได้ เพียงแต่ต้องเปิดกว้างทางความคิด (Open-minded) มีจินตนาการ ไม่จำกัดความคิดให้อยู่ในกรอบมากจนเกินไป  วิธีการฝึกจินตนาการง่ายๆ ลองหาสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัว แล้วคิดดูว่าของชิ้นนั้นจะสามารถใช้ทำอะไรได้อีกบ้างนอกจากหน้าที่หลักของตัวมันเอง เช่น หลอด นอกจากใช้ดูดน้ำแล้วจะสามารถทำอะไรได้อีก  แรกๆ อาจจะไปได้ไม่ไกลแต่อย่ารัดเข็มขัดทางความคิด  ลองฝึกเล่นกันหลายๆ คนเพื่อให้ได้แนวคิดมาก่อน และฝึกฝนจนเคยชิน เมื่อความสามารถในการจินตนาการที่ฝังไว้ได้ถูกขุดขึ้นมาแล้ว จะพบว่าสิ่งที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องยาก  อยู่ที่ทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ

คำสำคัญ (Tags): #facilitator
หมายเลขบันทึก: 31584เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท