"บันทึก" ทรัพย์สินทางปัญญา ตอนที่ 1 เล่าเรื่องคุณบันทึก


สิบปากว่า...ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น...ไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำ...ไม่เท่าทำเอง อีกบทเรียนหนึ่งของการทำงานของผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้

   ในภาวะปัจจุบัน ทุก ๆ คนต่างให้ความสำคัญกับ "ทรัพย์สินทางปัญญา" ต่างคิดค้นและค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมามากมายและหลากหลาย ทั้งที่ทำการประดิษฐ์  การทดลอง  และ การลงมือกระทำเพื่อให้ได้มา หลังจากนั้นจึงนำไปจดลิขสิทธิ์ เป็นภูมิความรู้ที่แต่ละคน แต่ละกลุ่ม และแต่ละหน่วยงานแสดงความเป็นเจ้าของ

   "การบันทึก" เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านพบช่วยทำให้มีการสื่อสารระหว่างกันได้ดีขึ้น อาจจะในลักษณะของการเขียน  การถ่ายภาพ  การบันทึกเสียง และผ่านบุคคลอื่นเป็นผู้เล่าให้ฟัง และอื่น ๆ อีกหลายรูปแบบ  หรืออาจจะมีการพัฒนาขึ้นจากเดิมโดยใช้เทคนิค "การประสม" เช่น การเขียนประสมภาพถ่าย  การใช้ VDO ซึ่งมีทั้งภาพ ข้อความ และเสียงประกอบ เป็นมัลติมีเดีย 

   "การพัฒนาตนเอง" จึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละบุคคล  การจูงใจ  และเป้าหมาย ซึ่งคงเช่นเดียวกับ การทำงานส่งเสริมการเกษตร  ถ้าได้มีการบันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาหรือสั่งสมมาเป็นระยะเวลานานย่อมทำให้เสริมคุณค่ากับ "ตัวเจ้าของชิ้นงาน" ที่เป็นผู้จัดทำขึ้น ไม่ใช่ทุกอย่างจะสายไปเสียแล้ว  แต่ทุกอย่างสามารถเริ่มต้นขึ้นใหม่ได้ ถ้าเราคิดได้ว่า "เรามีทรัพย์สินทางปัญญา" ที่ติดตัวมา ติดมากับวิชาชีพของเราเอง 

   วันนี้ จึงอยากจะเล่าเรื่อง "คุณบันทึก" ให้ฟัง ซึ่งคุณบันทึกได้เริ่มจากการคิดที่จะเก็บงานต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้และการถ่ายทอดสู่งานชิ้นอื่น ๆ ที่จะทำต่อเนื่อง  "คุณบันทึก" จึงฝึกฝนตนเองจากการเขียนตามมีตามเกิด ที่เรียกว่า เขียนไร้รูปแบบ  เขียนเสร็จแล้วนำไปให้คนอื่นอ่าน (อย่าอายตนเอง เพราะเราดีใจที่เราเริ่มต้นจับปากกาเขียน) เขียนแล้วอ่านเองบ้าง  โดยหมั่นฝึกเขียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผสมความคิดของตนเอง  หลังจากนั้นจึงฝึกเขียนจากข้อเท็จจริงที่เป็นการบรรยายความล้วน ๆ เช่น จากการฟังประชุม  จากการเข้าอบรม  จากการเข้าสัมมนา  จากการฟังคนอื่นพูด  และจากการอ่านแล้วเขียนสรุปความ  หลังจากนั้นจึงเริ่มฝึกขั้นที่ 2 คือ เขียนเป็นConcept (ห้ามเขียนบรรยายความรู้) เพราะมีคนอ่านแล้วบอกว่าขี้เกียจอ่านมันยาวไป จึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นเขียนแบบ Diagram  เขียนเป็น Flow  Chart  เขียนเป็นก้างปลา  เขียนเป็นตาราง  เขียนเป็น Problem Tree และอื่น ๆ ที่สำคัญสุดคือ มีคนอ่านงานที่เราเขียนและเล่าเชื่อมโยงให้เราฟังด้วย (เป็นความทึ่ง) ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มฝึกฝนตนเองมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่ 3 เขียนเป็นบทเรียนด้วยตนเอง โดยทดลองฝึกแกะงานและถอดบทเรียนจากการนั่งดูและการสังเกต ที่ถอดคำพูด เช่น คำถาม-คำตอบ-ผลสรุป และเครื่องมือ ออกมาให้เห็นเป็นลำดับขั้นตอนที่เกิดจากการจัดกระบวนการจริง ๆ ตามเรื่องราวหรือเนื้อหาสาระที่พูดคุยกัน เช่น บทเรียนของจังหวัดน่าน  บทเรียนของจังหวัดเชียงราย และบทเรียนของจังหวัดชุมพร เรื่อง การจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อจัดทำแผนชุมชน เพื่อฝึกการเรียนรู้โดยใช้สื่อบทเรียนด้วยคนเอง  และการจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบ "ถาม-ตอบ"  หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้าย คือ เขียนเป็นสรุปบทเรียนเชิงวิจัย ที่มาจากการไปปฏิบัติงานจริง โดยกำหนดกรอบการเขียนให้กับตนเอง เช่น  ที่มาที่ไปของการทำงานที่ไปปฏิบัติ  กระบวนการที่ทำมีอะไรบ้าง  ตกลงแล้วสรุปเนื้อหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง  แล้วข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติหรือพัฒนาครั้งต่อไปมีอะไรบ้าง  ตกลงแล้วการไปทำงานชิ้นนั้น ๆ ตัวเราเองเรียนรู้หรือพัฒนาอะไรขึ้นบ้าง (จากที่ลงมือทำ  การสังเกตการณ์  การร่วมสัมมนาฯ ฯลฯ) และ งานที่จะดำเนินการต่อไปนั้นมีอะไรบ้าง

   ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ "คุณบันทึก" ได้หมั่นฝึกฝนตนเองเพื่อหวังเพียงให้ตนเองเรียนรู้และมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและได้ทดลองทำด้วยสองมือของตน เพราะเมื่อ "คุณบันทึก"  ออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือกับบุคคลอื่นจะได้มี "ข้อมูล" ไปร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนได้อย่างผู้มีประสบการณ์จริง ซึ่งคุณบันทึกมีหลักคิดของตนเองว่า.....

     "สิบปากว่า...ไม่เท่าตาเห็น"

     "สิบตาเห็น...ไม่เท่ามือคลำ"

     "สิบมือคลำ...ไม่เท่าทำเอง"

   ดังนั้น เวลาคุณบันทึก ไปไหนมาไหน หรือไปทำอะไรกับใคร ก็จะเริ่มจากการฟังคนอื่นเขาพูดก่อน และฟังอย่างตั้งใจด้วย  เพราะเมื่อฟังอย่างตั้งใจจริงจะทำให้เกิดสมาธิและสรุปเนื้อหาได้ ซึ่งเป็นเนื้อหาตอนต่อไปที่จะนำเรื่องราวของคุณบันทึกมาเล่าให้ฟังค่ะ.

                                                  ศิริวรรณ  หวังดี

                                              29 พฤษภาคม 2549

                                  

     "สิบมือคลำ...ไม่เท่าทำเอง"

หมายเลขบันทึก: 31548เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท