กระบวนการนิเทศ


การนิเทศการศึกษา

ชื่องานวิจัย      :  การศึกษากระบวนการและผลการนิเทศแบบกัลยาณมิตรของครู 

   ในโรงเรียนชุมแสงสงคราม อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์

ผู้วิจัย            :  นางลภัสรดา  จูเมฆา

 

 

บทคัดย่อ

            การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบกระบวนการและผลการนิเทศแบบกัลยาณมิตรของครูโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”  ผลการศึกษา พบว่า

  1. ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ครูส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง  มีอายุอยู่ระหว่าง  41-50  ปี     จบการศึกษาระดับปริญญาตรี  และมีตำแหน่งเป็น ครู คศ. 2 
  2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและผลการนิเทศแบบกัลยาณมิตรของครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”  พบว่า

2.1     ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์” มีความคิดเห็นว่าเพื่อนครูมีการปฏิบัติการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในระดับมากทั้งภาพรวม  และรายองค์ประกอบ  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์” มีความคิดเห็นว่าเพื่อนครูมีการปฏิบัติการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในระดับมากถึงมากที่สุด 

2.2     ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”  มีความคิดเห็นว่า ตนเองได้รับความรู้ ความเข้าใจ  ทักษะ เกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้  การพัฒนาหลักสูตร และการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจากการนิเทศแบบกัลยาณมิตรโดยเพื่อนครูในระดับมากทุกข้อ

2.3     ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”   มีความพึงพอใจต่อกระบวนการและผลของการนิเทศแบบกัลยาณมิตรของเพื่อนครูในระดับมากทุกข้อ  ยกเว้นในประเด็นเกี่ยวกับครูมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษามากขึ้น มีความคิดเห็นในระดับมากที่สุด

 

อภิปรายผลการวิจัย

            จากผลสรุปของการวิจัย ผู้วิจัยสามารถอภิปรายผลได้ดังนี้

จากผลการวิจัยที่พบว่า ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม  “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์” มีความ

คิดเห็นว่าเพื่อนครูมีการปฏิบัติการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในระดับมากทั้งภาพรวม รายองค์ประกอบ  และรายข้อ  และเพื่อนครูมีความคิดเห็นว่า ตนเองได้รับความรู้ ความเข้าใจ  ทักษะ เกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้  การพัฒนาหลักสูตร และการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจากการนิเทศแบบกัลยาณมิตรโดยเพื่อนครูในระดับมาก ทั้งภาพรวม  รายองค์ประกอบ  และรายข้อทุกข้อ  แสดงว่า ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”  มีการปฏิบัติการนิเทศแบบกัลยาณมิตรเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ทั้งแนวทางการปฏิบัติ ความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ และผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังนั้น จึงทำให้ครูในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”  มีความคิดเห็นในระดับเดียวกันทั้งหมด  ทั้งนี้เพราะ ครูโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์” ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นิเทศเป็นครูผู้มีความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริหารและบุคคลอื่น ๆ และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น ครูต้นแบบ ครูแกนนำ  หรือคนดีศรีพิษณุโลกและครูดีในดวงใจ และในหน่วยงานทางการศึกษาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการนำเอา      ผู้นิเทศที่มีสถานภาพเสมอกันกับผู้รับการนิเทศ  ซึ่งจะทำให้ครูสามารถพัฒนาตนเองได้ดีมาก ถ้าครูตระหนักว่า เขาเป็นคนที่มีความรู้มีคุณค่าพอที่จะพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของตนเองและรู้สึกอบอุ่นใจที่มีเพื่อนครูไปช่วยเหลือให้ความไว้วางใจอยากจะมาพบกันบ่อย ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่าในสังคมไทย นอกจากนั้น ครูและผู้นิเทศล้วนเป็นกัลยาณมิตรต่อกันพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประเด็นนี้ยึดพื้นฐานทางวัฒนธรรมไทยและทางศาสนาที่แสดงให้เห็นถึงเมตตาธรรม ปัญญาธรรม และ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการนิเทศแบบกัลยาณมิตร แตกต่างจากการนิเทศที่เป็นสากลซึ่งมักจะเน้นในเรื่องของปัญญาธรรมเพียงอย่างเดียว การพัฒนาครูตลอดจนกระบวนการล้วนมีลักษณะเสริมแรงมากกว่าการตำหนิติเตียน  ซึ่งแนวคิดที่สำคัญของการนิเทศแบบกัลยาณมิตรที่ว่า การที่ครูด้วยกันเป็นต้นแบบแล้วทำงานกับครูด้วยกันเป็นกระบวนการแสวงหาจุดดีและจุดแข็งของเพื่อนครูโดยพยายามสังเกตว่าเพื่อนครูมีความสามารถอย่างใดบ้าง จึงคอยพยายามเสริมจุดแข็งมากกว่าการตำหนิติเตียน  จึงพอจะกล่าวได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลการวิจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

 

ข้อเสนอแนะ

  1. ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย

จากผลการวิจัยที่พบว่า การนิเทศแบบกัลยาณมิตรทำให้ครูได้รับความรู้ ความเข้าใจ  และทักษะเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร และการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ  ดังนั้น  โรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”   จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง และปรับรูปรูปแบบของกระบวนการนิเทศให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน  อาทิเช่น  การจับคู่นิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อนระหว่างครูที่มีความสามารถในระดับเดียวกันเพื่อที่จะไม่เป็นการเหลื่อมล้ำกันไม่รู้สึกเขินอายกัน

  1. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป

2.1  ควรมีการทำวิจัยเพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์” เพื่อให้ทราบว่า มีปัจจัยใดบ้างที่สามารถทำให้การนิเทศแบบกัลยาณมิตรประสบความสำเร็จ และมีปัจจัยใดบ้างที่เป็นอุปสรรคทำให้การนิเทศแบบกัลยาณมิตรไม่ประสบผลสำเร็จ  ซึ่งผลการวิจัยจะช่วยให้ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการนิเทศได้ใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศในการจัดรูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์” ให้มีความเหมาะสมและประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต และเพื่อจะได้ขยายผลการนำ  รูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรไปใช้อย่างทั่วถึงต่อไป

     2.2  ควรจัดให้มีการประเมินโครงการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในโรงเรียนชุมแสงสงคราม “อุดรคณารักษ์อุปถัมภ์”  เพื่อทำให้ทราบถึงประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงานโครงการ ซึ่งจะนำไปเป็นสารสนเทศในการวางแผนการพัฒนาโครงการนิเทศแบบกัลยาณมิตร

 

คำสำคัญ (Tags): #กระบวนการนิเทศ
หมายเลขบันทึก: 314629เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นางสาวนพรัตน์ สะอาดแก้ว

งานออกมาดีน่ะค่ะอาจารย์หนูศิษย์เก่าชุมแสง

นางสุพิชฌาย์ ฟ้าหวั่น

ขอชื่นชมผลงานเต็มรูปแบบทางเมล์ได้ไหมคะพอดีอยากได้ข้อมูลสนับสนุนงานวิจัยค่ะ

สวัสดีค่ะ

กำลังศึกษางานที่อนุเคราะห์ให้มา แต่ขอไฟน์หน้าปกได้ไหมค่ะ

เพื่ออ้างอิงบรรณานุกรมน่ะค่ะ

ขอขอบคุณในความกรุณานะคะ

จากผู้หลงใหลการนิเทศแบบกัลยาณมิตรค่ะ

สุพิชฌาย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท