เหลียวซ้าย แลขวา KM เครือข่าย (2)


ผมให้ความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อม ที่ผมทำให้เอื้อต่อการจัดการความรู้

 

การประชุมครั้งนี้ ดิฉันได้รู้จักท่าน ผอ.รพ.ตาคลี นพ.ประเทือง ตียะไพบูลย์สิน ซึ่งเมื่อได้ฟังท่านเล่าเรื่อง KM ของโรงพยาบาลตาคลีแล้ว ก็สรุปได้ทันที ว่า ท่านเป็น ผอ.ในฝัน ผู้นำงาน KM โดยแท้ และเกรงๆ อยู่ว่า ถ้าเล่าเรื่อง KM ของ รพ.ตาคลี ไปใน blog นี้ คงเป็นเนื้อหาที่จิ๊บจ๊อยเสียจริง แบบว่า ถ้าใครคิดจะไปดูงาน KM m รพ.ตาคลี ละก็ อาจต้องเหมาไปเป็นอาทิตย์ละค่ะ เพราะมีเรื่องให้ ลปรร. กันเยอะมากละค่ะ ขอบอก ...

เอาเป็นว่าจะลองนำมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนรายละเอียดลึกๆ นั้น ถ้าท่านผู้ใดอยากรู้ สงกะสัยว่า ต้องติดต่อท่าน ผอ. ขอไปชมงานละค่ะ จะได้ชัดแจ้งเห็นจริง

ภาพนี้เป็นภาพที่เก็บมาฝากก่อน จากงานของ สคส. เมื่อ 2 ธค.48 ดิฉันได้ถ่ายภาพไว้ ด้วยความทึ่งในสิ่งที่ รพ.ตาคลีได้สร้างสรรค์ออกมาเป็นช้างโมเดล (ในภาพติด อ.JJ มาด้วยนะคะ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักกันเลยตอนนั้น แล้วอาจารย์เข้าไปอยู่ในภาพตั้งแต่เมื่อไรคะเนี่ยะ ...)

ช้างโมเดล จำลองภาพ KM ของ รพ.ตาคลี

ผอ.ประเทือง ได้เล่าความรู้สึกเมื่อมาทำ KM ใหม่ๆ ไว้ว่า

ตอนแรกที่เข้ามา ผมก็งง ที่ไปรับฟังนโยบายของ พรพ. ผมรู้สึก anti การจัดการความรู้อยู่ในใจ เพราะว่าเราก็มีความรู้นะ ต้องมาจัดการความรู้ทำไม ไม่เข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อมีการประชุมที่จังหวัดนครสวรรค์ ผมยุ่งก็ไม่ได้ไป ให้เจ้าหน้าที่ไปแทน กับมาถึงทางทีมพยาบาลที่ไปแทน ก็มาบอกให้ผมเป็น CKO ผมก็บอกว่า หนูเอาไปเถอะ กัลยาเอาไปเถอะ อย่าให้หมอเลย หมอมีเรื่องงานยุ่งๆ อีกเยอะ หนูเป็น CKO ก็จะดีกว่า ... อาจารย์น่ะแหล่ะต้องเป็น ... (นี่ก็เป็นคำพูดยืนยันจากหนูกัลยาค่ะ) ... ก็เถียงกันไป เถียงกันมา ก็ เอ้า เป็นก็เป็น ... แล้วผมก็เลยทุกข์ใจ มาอ่านหนังสือ 2 เล่มของอาจารย์ประพนธ์ ก็ยังงงๆ อยู่ ... สารภาพตรงๆ ครับ

อาจารย์ก็จะพูดถึง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมก็งงๆ บอกว่า เจ้าหน้าที่เราความรู้ก็น้อยนะ คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือนะ มันแลกกันไปก็หมดไส้หมดพุง แล้วจะไปแลกอะไรกันอีก ก็คิดไป งงเหมือนกันครับ และมาคิดถึงเรื่องของ HA ก็ยอมรับว่า HA นี่ผมก็แอนตี้มาก แบบที่ว่าผมไม่สนใจแต่แรกๆ ตอนหลังก็สนใจ และ รพ. ก็ผ่านทั้ง HA, HPH แล้ว

ก็ตัดสินใจว่า จะไปหาความรู้ KM ละ ก็ไปได้เอกสาร ก็ไปหาของ อ.ไพฑูรย์ อ.วิจารณ์ ทั้งหนังสือ และ lecture ณ ปัจจุบันมีหนังสือ KM ทั้งหมด 63 เล่ม ผมอ่านทั้งหมด หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่ อ.วิจารณ์ให้ผมมา แต่ว่าผมอ่านบางหน้าเท่านั้นนะครับ เพราะภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยแข็งเรง ... และมาย่อเข้าแฟ้ม แจก Fa ทุกคน และต่อมาเราก็มีการทำออกมาเป็น Portfolio, Living library สรุปว่า ผมก็ทำ KM ให้เป็นเรื่องใหญ่ คือ ทำทั้ง รพ. เลย ทำทั้งหมด ทำก่อนที่จะทำกับเจ้าหน้าที่นะครับ

พอทำไปแล้ว เดือนนี้เพิ่งสอนเจ้าหน้าที่เรื่อง KM เพิ่งสอนนะครับ ใช้เวลาสองวัน วันนึง บ่ายบ้าง สอนกันเอง และคนงานก็สอนเขาด้วย โดยทำเป็น powerpoint และมีแฟ้มเอกสารแจกเป็นปึก และก็บางท่านก็ยังงงๆ อยู่แต่ก็พอเข้าใจ

เรื่อง KM เราปรับสิ่งแวดล้อมก่อน เราทำอย่างอื่นให้เสร็จก่อน และบังคับให้เจ้าหน้าที่ทำไปเรื่อยๆ โดยยังไม่ได้พูดให้เขาฟังกัน ยังไม่ได้พูดให้เขาฟังว่า KM คืออะไร และมี ถาม-ตอบ KM ลูกจ้างตอบ บางทีเจ้าหน้าที่ตอบไม่ได้

ผมให้ความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อม ที่ผมทำให้เอื้อต่อการจัดการความรู้มาก่อนก็คือ รูปของปลาทูโมเดล รูปของโมเดลต่างๆ จัดห้องสนทนาใน รพ. สำหรับ Back office โดยเฉพาะเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทุกจุดจะมีตัวแทนปลา และก็จะมีช้างโมเดลของ รพ. ในห้องผู้อำนวยการจะมีรูป CKO ในห้องประชุมใหญ่ก็จะมีหมด ห้องน้ำก็มี ห้องเก็บศพก็มี

และรูปธรรมจริงๆ ที่เรา highlight คือ เราได้ knowledge sharing ว่า เรา share มา 15 รพ. เราได้ Good practice อะไรบ้าง และ Good practice ที่ รพ.นำมาใช้บ้างมีอะไรบ้าง อันที่ 1 ... อันที่ 2 ในการ sharing ใน รพ.เรา เราก็ Good practice อะไรบ้าง (เรื่องนี้มีปรากฎเป็นเอกสารเลยนะคะ คงต้องไปขอดูที่ รพ.ตาคลีละค่ะ)

อันหนึ่งที่เราแสดงออกมา ระหว่างกิจกรรมที่เรานำมาใช้อย่างชัดเจน ก็แสดง paper EMS ก็แสดงใน paper ด้วย เช่น เราสรุปว่า EMS ของ รพ.ตาคลีจะใช้เวลาแค่ 2 นาที ซึ่งบางคนก็ไม่เชื่อ เพราะปรากฏว่า รถยนต์ใน EMS เราวางไว้หน้า รพ. 2. เวรพยาบาล เวชกร และคนขับรถอยู่ที่ทำงาน เราสามารถประจำได้ภายใน 2 นาที

ในเรื่องที่เราทำ knowledge center เราปรับห้องสมุดให้เป็น living library เพราะว่าผมคิดว่า Explicit นี้เป็นเรื่องสำคัญ ผมนึกถึงมัชฌิมาปฏิปทา ถ้า explicit 20% tacit 80% ถ้าเอา tacit มากๆ เข้าก็จะเกิดปัญหา เพราะว่าคนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือ ถ้าคนเราไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากๆ ก็ต้องเตรียมตัวไปก่อน ก็เป็นปัญหาตัวหนึ่งที่เป็นข้อพึงระวัง เหมือนกับพยาบาลเหมือนกัน การไป share กัน ก็ต้องเตรียมตัวไปก่อน ผมก็ถือว่า ต้องมี explicit 50% tacit 50% เพราะฉะนั้น ผมจึงทำ living library ทำให้นั่งเล่นได้ นอนได้ และมีของขบเคี้ยวเล็กๆ น้อยๆ

เรื่อง Knowledge assets ก็จะมีทั้งหมด คือ Good success, Good model, นวัตกรรมในองค์กร นอกองค์กร R2R บทเรียนในอดีต จากหนังสืออะไรต่างๆ ผมก็ได้รวบรวม เป็นการนำเข้าเป็นเอกสารเข้าไป โดยที่ไม่ได้บอกเจ้าหน้าที่เลย ไม่ได้บอกก่อน และบังคับว่า ใครไปอบรมมา คุณต้องนำมาสรุปเป็น Porfolio นะ มีรูปติดอยู่ทุกแฟ้ม โดยที่ยังไม่ได้อธิบายให้เขาฟัง เขาก็ยังงงๆ อยู่ เราก็ค่อยๆ ทำไป 10 เดือน เราถึงบอก

ในเรื่อง AAR (After action review) เราได้เยอะ เราไม่เข้าใจตอนแรกๆ ก็เพิ่งมาเข้าใจ เช่น กรณีของเวร 8 เราก็ส่งเวรกัน นี่ก็เป็น AAR แต่ว่า อย่าง OPD นี่ก็ไม่ได้ทำ ทันตฯ ไม่ได้ทำ ส่งเสริมไม่ได้ทำ สุขาไม่ได้ทำกัน ตอนนี้เราทำกันทั้ง รพ. มันก็ชัดเจนยิ่งขึ้น เราก็นึกตัวอย่างว่า เวลาชกมวย ชก 5 ยก หมดยกก็ต้องมา AAR กันละ พอยกสุดท้าย พอเราตัดสิน แพ้ ชนะ เสมอ คุณทำ Retrospect ภายใน 2-3 สัปดาห์ เราก็ทำในข้อ 4 ทบทวนโครงการ Retrospect เราทำอะไรบ้าง ซึ่งแต่ก่อนเราไม่ได้ทำกันเลย เราก็ได้ความรู้จาก AAR และ Retrospect

ในเรื่อง activity อันนี้ผมก็ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งมา เขาบอกว่า เวลาเขียนแผน มันต้องนึกถึง CNC Management ก็คือ C ที่ 1 คือ content เป็นเรื่องของ living library และ Knowledge asset, N อันที่ 2 คือ Narrative คือ เรื่องเล่า, C อันที่ 3 คือ context activity พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึง activity ตรงนี้ผมก็ได้ไปลอกอาจารย์มา แล้วมาทำ เช่น หาหนังสือให้อ่าน ทำวารสารความรู้ เช่น ประชุมประจำเดือนต้องมีวารสารความรู้แจกคณะกรรมการทุกเดือน ตอนนี้ก็แจกไปเดือนที่สามแล้วครับ ... คนเด่นเล่าสู่กันฟัง ประสบการณ์การทำงานคนเกษียณ ... เยอะไปหมด อันนี้เราทำ เราคิดโครงการได้ทั้งหมด 31 โครงการแล้วในขณะนี้ เราทำไปได้ 8-9 แต่เราก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ในสิ่งที่น่าจะทำ

เรื่อง KM ในโรงพยาบาลตาคลีนั้น ผมทำเป็นบันได 4 ขั้น สู่ความสำเร็จของ KM ได้แก่

บันไดที่ 1 ระยะเริ่มต้น

  • ผู้นำมุ่งมั่น
  • กำหนดโครงสร้างการจัดการความรู้
  • ทีมศึกษารวบรวมทฤษฎี
  • สรุปการนำ KM มาใช้ใน รพ.ตาคลี เป็น Model KM Process ประกอบด้วย ประเมินผล ทบทวน / ประยุกต์ ลองใช้ / แลกเปลี่ยนเรียนรู้ / จดเก็บ กระจาย / รวบรวม สังเคราะห์ / ค้นหา สร้างสรรค์ / กำหนดความรู้ที่ต้องการ ปัญหา

บันไดขั้นที่ 2 ระยะการติดตั้งระบบ

  • ร่วมกันกำหนด Knowledge vision
  • ร่วมกันกำหนด Knowledge mission
  • กำหนดให้ปี 2549-2550 เป็นปีแห่งการจัดการความรู้ รพ.ตาคลี
  • กำหนดให้ KM เป็นแผนยุทธศาสตร์ของ รพ.
  • กำหนดให้ KM เป็นเข็มมุ่ง ของ รพ. มค.49-กค.49
  • จัดทำ KM Logo โดยใช้หลัก เข้าหัว เข้าหู และเข้าหัวใจ
  • จัดทำแผนปฏิบัติการ
  • รณรงค์จัดการความรู้ใน รพ.
  • จัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่
    • จัดตั้ง Knowledge Center
     ห้องสมุดมีชีวิตชีวา (Living library)
     Knowledge asset
    • จัดตั้ง KM Corner
     KM Corner บริเวณลงชื่อปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
     KM Corner บริเวณศูนย์พัฒนาคุณภาพ
  • จัดทำแนวทางการจัดการความรู้โดยใช้หลักการประเมินตนเอง
  • แต่งตั้ง KM Team
  • บูรณาการการจัดการความรู้เข้ากับงานเดิม ได้แก่ HA, HPH
  • ตรวจสอบความรู้ในองค์กร (Knowledge audit) และกำหนดความรู้ที่ต้องการ

บันไดขั้นที่ 3 ดำเนินการ

  • จัดทำคู่มือแนวทางการจัดการความรู้
  • อบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ รพ. ทุกระดับ
  • อบรม Knowledge activities แบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing)
    • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันแผลกดทับ / การดูแลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ / ความคลาดเคลื่อนด้านยา / การทบทวนดูแลผู้ป่วย / การจัดการเครื่องมือ / การสื่อสารเครื่องมือ
    • แลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกองค์กร ได้แก่ ลปรร. กับ รพ. ในเครือข่าย จว.นครสวรรค์ 6 เรื่อง / ลปรร. กับ คปสอ.ตาคลี เรื่อง การติดตามดูแลต่อเนื่องที่บ้าน / ลปรร. ในชุมชน ทำอย่างไรจึงไม่ปวดเข่าในผู้สูงอายุ ทำอย่างไรจึงสูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ

บันไดขั้นที่ 4 ประเมินผล

  • บูรณาการการจัดการความรู้ให้เป็นงานประจำ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่สำคัญคือ ผมทำ KM แล้วมีความสุข เพราะว่า ไม่มีใครมาประเมิน

... ขอย้ำว่า มี KM อีกมากมายที่ รพ.ตาคลี นะคะ ที่น่าไป ลปรร. กันถึงที่ และทุกวันนี้ ทีม อ.ประเทือง ก็รับแขกกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้วละค่ะ ...

 

หมายเลขบันทึก: 31425เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
     ตอนงาน KM Forum 2 ผมแอบเมียงมอง รพ.ตาคลี หลายครั้งรู้สึกทึ่งมากครับในตอนนั้น

เพิ่งจะได้ผ่านมาอ่าน ในบันทึกสุ่มแสดงที่ อ.จันทวรรณ สุ่มไว้ ได้ประโยชน์มากขอบคุณค่ะ  ลิขิตได้ยอดเยี่ยมค่ะ ขอชมเชย

บันทึกนี้ ... ชอบตรงที่ ผอ. เป็นผู้นำนโยบาย การจัดการความรู้ที่ยอดเยี่ยม ชัดเจน และเต็มที่จริงๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท