การเขียนบทความ


บทความคือ ความเรียงที่เขียนขึ้นโดยมีหลักฐานข้อเท็จจริง

การเขียนบทความ

            บทความคือ ความเรียงที่เขียนขึ้นโดยมีหลักฐานข้อเท็จจริง และในเนื้อหานั้นผู้เขียน        ได้แทรกข้อเสนอแนะเชิงวิจารณ์หรือสร้างสรรค์เอาไว้ด้วย บทความเป็นงานเขียนที่ปรากฏคู่กับหนังสือพิมพ์ เพราะบทความเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่เพิ่งนิยมกันในหมู่นักอ่านและ  ผู้เขียนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง แต่ก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว รูปแบบการเขียนบทความคล้ายกับเรียงความมากและถึงแม้เนื้อหาสาระของบทความส่วนใหญ่จะได้จากข่าวสด แต่วิธีเขียนบทความก็ต่างจากวิธีเขียนข่าวเช่นเดียวกัน

ลักษณะเฉพาะของบทความ

1.ต้องเป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากกำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น อาจเป็นปัญหาที่คนกำลังอยากรู้ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือมีผลอย่างไร หรือเป็นเรื่องที่เข้ายุคเข้าสมัย

            2. ต้องมีแก่นสาร มีสาระอ่านแล้วได้ความรู้หรือความคิดเพิ่มเติมมิใช่เรื่องเลื่อนลอยไร้สาระ

            3. ต้องมีข้อทรรศนะ ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของผู้เขียนแทรกอยู่ด้วย

            4. มีวิธีเชิญชวนให้อ่าน อ่านแล้วท้าทายความคิด และสนุกเพลิดเพลินจากความคิดในเชิงถกเถียงโต้แย้งนั้น

            5. เนื้อหาสาระ และสำนวนภาษาเหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะ   ผู้อ่านที่มีการศึกษาน้อย นิยมอ่านข่าวสดมากกว่าบทความ

  ลักษณะที่แตกต่างและเหมือนกันของบทความ เรียงความ และข่าว

            1. รูปแบบ เรียงความและบทความมีรูปแบบการเขียนเหมือนกัน คือ มีโครงสร้าง             อันประกอบด้วยสามส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปหรือคำลงท้าย การตั้งชื่อเรื่องหรือหัวข้อเรื่องอาจจะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ส่วนข่าวที่เป็นการเสนอเรื่องราวหรือเหตุการณ์        ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สาระสำคัญของข่าวอยู่ที่ความนำอันเป็นย่อหน้าแรกของการเขียนข่าว ส่วนย่อหน้าต่อ ๆ มามีความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงย่อหน้าสุดท้ายอาจ  ตัดทิ้งไปได้โดยไม่เสียความถ้าเนื้อที่กระดาษจำกัด

            2. ความมุ่งหมาย  บทความนั้นเขียนขึ้นเพื่อเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง หรือเหตุการณ์

นั้น ๆ  ส่วนเรียงความเป็นการเขียนเพื่อแสดงความรู้เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

            3. เนื้อเรื่อง หัวข้อเรื่องของบทความต้องทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ อยู่ในความสนใจของ    ผู้อ่านขณะนั้น เวลาผ่านไปเพียงสัปดาห์หนึ่งหรือมากกว่านั้นก็อาจล้าสมัยไป ส่วนเรียงความ       จะหยิบยกเอาเรื่องใด ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมมาเขียนก็ได้ และหัวข้อเรื่องเดียวกันนี้      จะเขียนเมื่อไรก็ได้ไม่ถือว่าล้าสมัย แต่ข่าวมีอายุอยู่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าเสนอข่าวช้าไปสักวันหรือสองวันก็ไม่น่าสนใจเสียแล้ว

            4. วิธีเขียน เรียงความเขียนด้วยท่วงทำนองการเขียนแบบเรียบ ๆ ไม่โลดโผน ต่างจากวิธีเขียนบทความที่ต้องการใช้สำนวนโวหารอันชวนให้อ่าน ให้คิดตามเนื้อเรื่อง การเขียนข่าวต้องตอบคำถาม 5 ข้อ คือ ใคร ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร และทำไม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น  เขียนสั้น ๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่มีชื่อผู้เขียนข่าว ใช้ภาษาที่ชนทุกชั้นอ่านได้ ไม่มี

ข้อความใดที่บ่งอารมณ์และความโน้มเอียงของผู้เขียน

ประเภทของบทความ

            บทความแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ บทความเชิงสาระ (Formal Essay) และบทความเชิงปกิณกะ (Informal Essay) บทความเชิงสาระจะเน้นหนักไปทางวิชาการ ผู้เขียนต้องการอธิบายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ ไม่คำนึงถึงการใช้สำนวนโวหารหรือความเพลิดเพลินของผู้อ่าน เพราะถือว่าผู้อ่านต้องการปัญญาความคิดมากกว่าความสนุก ส่วนบทความเชิงปกิณกะนั้น แม้ผู้เขียนจะมุ่งหมายให้ความรู้ความคิดกับผู้อ่านบ้าง แต่ต้องถือว่าเป็น           ความมุ่งหมายรอง เพราะผู้อ่านบทความเชิงปกิณกะจะต้องได้ความเพลิดเพลินเป็นเบื้องต้น       นักเขียนบางคนก็อาจจะเขียนบทความเชิงสาระพร้อม ๆ กับให้ความรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน     แก่ผู้อ่านด้วย

            บทความสมัยนี้ค่อนข้างจะมีลักษณะผสมผสานกันทั้งเชิงสาระและปกิณกะ ดังที่ปรากฏอยู่ตามหนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์ ถ้าจะแบ่งตามเนื้อเรื่องของบทความแล้วยังแยกออกไปได้อีกหลายประเภท เช่น

            1. บทความแสดงความคิดเห็น เป็นบทความที่ผู้เขียนหยิบยกเอาปัญหาในสังคมนั้น   ขึ้นมาเขียน  มีทั้งปัญหาส่วนรวมและปัญหาส่วนบุคคล  ปัญหาส่วนรวมก็เช่น  ปัญหาเศรษฐกิจ

การศึกษา การเมือง การปกครอง ฯลฯ  ปัญหาส่วนบุคคลก็เช่น การป้องกันอาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยให้ตนเอง การประกันชีวิต ฯลฯ บางครั้งผู้เขียนอาจจะเขียนตอบโต้บทความที่ผู้อื่นเขียนขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นในแนวหนึ่งแนวใด ปัญหาที่มีข้อขัดแย้งนี้มักจะมีข้อคิดแตกต่างกันออกไปสองแนว คือ ความคิดเห็นในแนวยอมรับและโต้แย้ง เช่น หัวข้อบทความที่ว่า เพศศึกษาเหมาะสมกับการศึกษาระดับมัธยมเพียงไร บทความประเภทนี้ผู้เขียนอาจจะเลือกแสดงความ     คิดเห็นในแนวใดแนวหนึ่งก็ได้ หรือจะเสนอความคิดเห็นของคนทั่ว ๆ ไปทุกด้านก็ได้ เพื่อปล่อยให้

ผู้อ่านพิจารณาตัดสินเอาอง วิธีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นนี้ ผู้เขียนต้องเริ่มต้นด้วยการ     แยกแยะปัญหาให้กระจ่างชัดเสียก่อนว่า คืออะไร วิธีแก้ปัญหามีอย่างไร ผู้เขียนเห็นชอบด้วยวิธีไหน เหตุที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบด้วย ในตอนลงท้ายควรจะย้ำความคิดเห็นของตนให้เด่นชัดอีกทีหนึ่ง

            2. บทความประเภทสัมภาษณ์ เป็นบทความที่แสดงความคิดของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนบทความควรรู้จักเลือกบุคคลที่จะสัมภาษณ์ เช่น เป็นคนเด่น มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความเข้าใจอย่างดีในเรื่องที่เราจะเขียน ได้แก่ การสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีถึงมาตรการผลักดันผู้อพยพจากเวียดนามและกัมพูชา สัมภาษณ์รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง      เกี่ยวกับนโยบายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางแฟชั่นสตรีเรื่องแนวโน้มในการแต่งกายของสตรีไทยในปัจจุบัน ฯลฯ  การเลือกสัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราต้องการ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะบุคคลเหล่านี้จะสามารถให้ข้อเท็จจริงตลอดจนข้อคิดเห็นต่าง ๆ     ได้อย่างถูกต้อง และน่าเชื่อถือ บางครั้งผู้เขียนอาจเลือกสัมภาษณ์บุคคลอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่    ผู้สันทัดจัดเจนในเรื่องนั้น แต่เป็นผู้ที่เด่นอยู่ในความสนใจของสังคม  เช่น สัมภาษณ์ดาราภาพยนตร์     เกี่ยวกับทรรศนะในการเลือกคู่ครองและการหย่าร้าง ทั้งนี้เพราะความเด่นของตัวบุคคลอาจดึงเรื่องขึ้นสู่ความสนใจของผู้อ่านได้ ในการนี้ผู้เขียนอาจแทรกเรื่องราวอื่น ๆ ลงไปด้วยเป็นต้นว่าชีวประวัติย่อ ๆ และเรื่องที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านั้น

            3. บทความกึ่งชีวประวัติ มีลักษณะคล้ายกับบทความประเภทสัมภาษณ์ต่างกันในแง่ที่บทความประเภทสัมภาษณ์ต้องการแสดงข้อคิดเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องใด     เรื่องหนึ่ง  ส่วนบทความกึ่งชีวประวัตินั้นต้องการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ให้สัมภาษณ์    แต่ไม่ได้เน้นที่อัตชีวประวัติกลับไปเน้นที่ความสามารถและคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เขาประสบ  ความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าบุคคลทั่วไป เขามีวิธีการและหลักการในการดำรงชีวิต ตลอดจนการปฏิบัติตนอย่างไร  เรื่องชีวประวัติเป็นสิ่งสำคัญรองลงมา ข้อมูลที่เราเก็บเอามาเขียนนั้น นอกจากจะได้จากการสัมภาษณ์บุคคลนั้นเองแล้ว อาจได้มาจากการสอบถามบุคคลแวดล้อม ซึ่งมีทั้งญาติมิตร และศัตรู ตลอดจนจากเอกสารหรือผลงานต่างๆ ที่เขาได้เคยสร้างไว้ รวมกันเข้าเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการเขียนบทความ

            4. บทความประเภทให้ความรู้ เป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออธิบายวิธีทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในการเขียนควรเลือกเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ และผู้อ่านสามารถ         ทำความเข้าใจตลอดจนปฏิบัติตามได้ไม่ยาก หัวข้อที่จะเลือกมาเขียนมีอยู่กว้างขวาง เช่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 เป็นต้นว่า วิธีปรุงอาหารคาวหวาน วิธีตัดเย็บเสื้อผ้า การทำสวนครัว ฯลฯ

            5.  บทความประเภทให้แง่คิด โน้มน้าวใจ หรือกระตุ้นให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง         ผู้เขียนอาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา หรือเขียนในเชิงอุปมาอุปมัยก็ได้ การเขียนเชิงอุปมาอุปมัยนั้นจะพูดถึงสิ่งอื่น ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันโดยตลอด ข้อความทั้งเรื่องจะแทนความคิดที่ต้องการให้ผู้อ่านทราบ เช่น กล่าวถึงสัตว์ฝูงหนึ่ง แต่เดิมเคยอยู่เป็นสุขรักใคร่สามัคคีกัน ต่อมาทะเลาะกันวิวาทกันแยกตัวไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมากไม่ช้านักสัตว์ฝูงนั้นก็ถูกสัตว์ฝูงอื่นรังแกล้มตายไปหมดสิ้น  เรื่องทั้งหมดนี้เป็นการแทนความคิดของผู้เขียนที่จะชี้ให้เห็นโทษของการแตกสามัคคี เรื่องที่นำมาเขียนอาจเป็นการให้แง่คิดทั่ว ๆ ไป เช่น เรื่องการประหยัด ความรักชาติ ความเป็นพลเมืองดี ฯลฯ

            6. บทความประเภทรายงานผลการท่องเที่ยว ถ้าเป็นการไปเที่ยวสถานที่แปลกใหม่    ไม่เคยมีใครไปมาก่อน จะเร้าความสนใจของผู้อ่านดีขึ้น เนื้อเรื่องนอกจากจะกล่าวถึงเรื่องราว     การเดินทาง ลักษณะภูมิประเทศ และความสวยงามของสถานที่นั้น ๆ แล้ว ยังอาจแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เช่น ข้อผิดพลาด ข้อเสนอแนะเพื่อความสะดวกสบาย สถานที่ที่ไม่ควรพลาด ข้อคิดเห็น   บางประการเกี่ยวกับสถานที่นั้นซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรจะมีควรจะเป็น ฯลฯ เกร็ดเหล่านี้จะช่วยเสริมเรื่องราวให้น่าอ่านยิ่งขึ้น

            7. บทความประเภทวิจารณ์ ผู้เขียนจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของเรื่องที่จะวิจารณ์อย่างถี่ถ้วน โดยอาศัยหลักวิชา เหตุผลหรือข้อเท็จจริงตัดสินว่าดีหรือไม่ ควรหรือไม่ควรอย่างไร บทความประเภทวิจารณ์นี้แบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้ 3 ประเภท

            ก. บทวิจารณ์หนังสือ  ผู้เขียนจะต้องมีความรู้กว้างขวางในวิชาการหลายแขนง เพื่อเป็นแนวในการพิจารณาคุณค่าของหนังสือเรื่องนั้น ผู้เขียนจะวิจารณ์โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวมิได้     ต้องอาศัยหลักวิชา หยิบยกประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือมากล่าวว่าดีหรือไม่ เหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร เช่น การวิจารณ์นวนิยายเรื่องหนึ่ง ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ การใช้ภาษา             เค้าโครงเรื่อง การจัดฉาก ลักษณะตัวละคร ความสมจริง การดำเนินเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง           ผู้วิจารณ์ต้องกล่าวทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี ท้ายสุดผู้วิจารณ์ต้องสรุปข้อคิดเห็นของตนเองว่า         หนังสือ  เรื่องนั้นมีคุณค่าควรแก่การอ่านหรือไม่เพียงใด

            ข. บทความวิจารณ์ข่าว มีมูลเหตุโดยตรงมาจากข่าว และเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดปัญหา       ในกลุ่มชน อาจเป็นปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาส่วนบุคคลก็ได้ ผู้เขียนจะต้องศึกษาที่มาของข่าว ตลอดจนผลอันจะเกิดขึ้นเนื่องจากข่าวนั้น แล้วนำมาเขียนวิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นของตนว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรตามเนื้อหาของข่าว และอาจแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเป็นการเสนอแนะด้วย

            ค. บทความวิจารณ์การเมือง ผู้เขียนหยิบยกเอาเรื่องราวต่าง ๆ ทางการเมืองที่เป็นปัญหาขึ้นมากล่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำใด ๆ ก็ตามย่อมจะมีผลสองแง่อยู่เสมอ คือ ดีหรือเสีย ฉะนั้นผู้เขียนจึงต้องคอยจับเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลดังกล่าวมาแยกแยะ แสดงความคิดเห็น   และอาจแนะแนวทางปฏิบัตินอกเหนือจากที่ได้เป็นไปแล้ว ผู้เขียนบทความวิจารณ์การเมืองจะต้องเป็นผู้ติดตามข่าวคราวให้ทันเหตุการณ์ มีความรอบรู้เรื่องการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ การเมืองในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำนายเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

วิธีหาเนื้อหา

            ก่อนจะเขียนบทความ ผู้เขียนจะต้องค้นคว้าหาความรู้และเรื่องราวอันเป็นสาระ เพื่อมาเป็นเนื้อหาแห่งการเขียน และเนื้อหานี้จะได้มาจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน การสัมภาษณ์ หนังสือจากห้องสมุด จากบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัว            จากการเดินทางท่องเที่ยว จากปฏิทินในรอบปีซึ่งมีเทศกาลมากมายหลายอย่าง และจากวงการสถาบันต่าง ๆ

วิธีเขียน

            การวางโครงเรื่องให้ดีจะช่วยการเขียนได้มาก เพราะโครงเรื่องจะช่วยควบคุมการเขียน     ให้เป็นไปตามแนวคิดที่กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้เขียนซ้ำซากวนเวียนด้วย โครงเรื่อง  แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

            1. คำนำ เป็นการเกริ่นหรือบอกกล่าวให้รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร การขึ้นคำนำมีอยู่ 2 แบบ คือ การกล่าวทั่ว ๆ ไปก่อนที่จะวกเข้าเรื่องที่จะเขียนและการกล่าวเจาะจงไปตรงกับหัวข้อเรื่อง       ที่จะเขียนเลยทีเดียว การเขียนคำนำต้องให้น่าอ่านชวนติดตาม เพราะผู้อ่านนิยมอ่านย่อหน้าแรกก่อน  ถ้าเขียนคำนำจะเร้าความสนใจของผู้อ่านได้ต่อไป

            2. เนื้อเรื่อง แบ่งเป็น 2 ตอน ส่วนแรก คือ การขยายความเมื่อเกริ่นแล้วในคำนำ ผู้อ่านยังติดตามความคิดได้ไม่ดีพอ ก็ต้องขยายความออกไปเพื่อช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น ส่วนที่สองเป็น    รายละเอียด มีการให้สถิติ รวบรวมข้อมูลการเปรียบเทียบหรือการยกตัวอย่างประกอบ แต่ต้องระวังอย่าให้มากเกินไปจนน่าเบื่อ

            3. คำลงท้าย เป็นส่วนที่แสดงทรรศนะข้อคิดเห็นของผู้เขียน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาที่มีด้วย

 การตั้งชื่อเรื่อง

            ชื่อเรื่องจะสะดุดตาผู้อ่านเป็นอันดับแรก ฉะนั้นการตั้งชื่อเรื่องจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการเขียนบทความ ชื่อเรื่องสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับยุคสมัยด้วย บางสมัยชื่อจะสั้น บางสมัยชื่อจะยาวแล้วแต่ความนิยม นักเขียนควรตั้งชื่อให้แปลกไว้ แต่ชื่อเรื่องกับเนื้อเรื่องควรมีความสัมพันธ์กันไม่ใช่ไปคนละทิศละทาง

วิธีเขียนคำนำ

            การเขียนคำนำเป็นตอนที่ยากที่สุด แต่ถ้าเริ่มได้แล้วก็จะช่วยให้เรื่องดำเนินไป การเขียน  คำนำจึงต้องการความประณีตมาก เพื่อเป็นเครื่องจูงใจผู้อ่านให้ติดตามเรื่องไปจนจบ

วิธีเขียนคำนำตามที่นิยมกันก็คือ

            1. อ้างถึงวันเกิดของบุคคลสำคัญ ๆ วันครบรอบปี วันสถาปนา  ฯลฯ ซึ่งส่วนมากผู้อ่าน      รู้เรื่องมาบ้างแล้ว และก็คงอยากรู้เพิ่มเติม

            2. บอกวัตถุประสงค์หรือสาเหตุจูงใจให้เขียน เพื่อเป็นการขึ้นต้นอย่างตรงไปตรงมา

            3. บอกผลสรุปของความมุ่งหมาย คล้ายกับวิธีที่ 2 แต่แนบเนียนไม่บอกตรงไปนัก

            4. ขึ้นต้นด้วยข้อความโลดโผน น่าตื่นเต้น เพื่อให้ผู้อ่านสะดุดใจ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขต และขอบข่ายแห่งความสุภาพ

            5. เขียนแบบแนวขัน จะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ขันและความพอใจ

            6. เขียนแบบประชดประชันหรือเสียดสี

            7. ยกเหตุการณ์มาเล่า  แล้วจึงบอกผล

            8. ตั้งต้นด้วยคำถาม ชวนให้สนใจ อยากรู้คำตอบ

            9. เขียนแบบกันเอง คล้ายกำลังสนทนากับผู้อ่าน

            10.เขียนแบบบรรยาย ต้องมีถ้อยคำและลีลาที่น่าอ่าน

            ข้อควรระวังในการเขียนคำนำก็คือ ไม่ควรขึ้นต้นด้วยประโยคเดียวกับชื่อเรื่อง เว้นแต่       ชื่อเรื่องจะแปลก และเป็นความตั้งใจที่จะเน้นเป็นพิเศษ นอกจากนั้นไม่ควรใช้สุภาษิตคำประพันธ์  ที่คนรู้จักและเข้าใจดีอยู่แล้ว เพราะจะไม่เร้าความสนใจเท่าที่ควร

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 313793เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2009 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำความรู้มาแบ่งปัน

ขอบพระคุณค่ะ

อาจารย์

งานเสร็จแล้ว

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ ครับ

อาจารย์

ขอบคุณค่ะ อาจารย์

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ (^_^)

เรียนคุณประเทือง

มีรายละเอียด เกิดประโยชน์มากครับ ในบันทึกผมมีเรื่องเทคนิคการเขียนบทความให้น่าอ่าน อาจจะพอแลกเปลี่ยน

เรียนรู้ได้ครับ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้ว

ขอบคุณค่ะอาจารย์

ได้ความรู้มากๆเลยค่ะ

ขอบคุณครับ

อาจารย์ประเทือง

ขอบคุณค่ะ,!!!!

อาจารย์..

ขอบคุณค่ะอาจารย์

ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นเยอะเลย^_^

Thank You

Happy

H.F.T.H

COMINGSOON!!!!!!

ขอบคุณนะคะ ดีมากเลย

ขอบคุณมากค่ะชัดเจนดีมาก

เป็นประโยชน์มากจริงๆคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท