ผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่จากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของ สอ.ในจังหวัดพัทลุง


การอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัย, ผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุข

ผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุข
จากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง
ปี 2547

อนุชา หนูนุ่น[1] และสมนึก จันทร์เหมือน[2]

     จากการวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานจริง ณ สถานีอนามัย ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2547 ทั้งหมด 288 คน ได้รับแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์กลับคืน 254 คน คิดเป็นอัตราการตอบกลับ (response rate) เท่ากับร้อยละ 88.19 และเมื่อคิดเป็นรายสถานีอนามัย จากทั้งหมด 125 แห่ง ได้รับกลับคืน 118 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.40 และใช้ข้อมูลจากการรายงานจำนวนผู้มารับบริการนอกเวลาราชการของสถานีอนามัย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 254 ถึง เดือนมิถุนายน 2547 รวมเป็นระยะเวลา 9 เดือน จึงได้นำมาประมวลผล และมีผลการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งเป็น 5 ส่วน คือ
     1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง
     2. ข้อมูลผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง
     3. ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับผลกระทบฯ จำแนกตามคุณลักษณะของประชากร
     4. ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการจัดบริการสาธารณสุขช่วงการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง
     5. ข้อมูลจำนวนผู้ที่มารับบริการนอกเวลาราชการของสถานีอนามัย
     ซึ่งจะได้นำเสนอในรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป
     พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน (ร้อยละ 40.2) มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ณ สถานีอนามัยที่อยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 5 ปี 1 เดือน – 10 ปี (ร้อยละ 29.5) โดยเฉลี่ยประมาณ 10 ปี (X = 124.76 เดือน) ทั้งนี้พบว่าเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย (สัดส่วน 57.1 : 42.9)
     กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 31 – 40 ปี (ร้อยละ 48.4) โดยเฉลี่ย มีอายุ 37.07 ปี ประมาณหนึ่งในสี่ เป็นผู้ที่ยังไม่มีบุตร(ร้อยละ 25.2) และพบว่าว่าผู้ที่มีบุตรจำนวน 2 คน เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 46.1) ในจำนวนผู้ที่มีบุตรคิดโดยเฉลี่ยแล้วจะพบว่ามีบุตรจำนวน 2 คน ทั้งนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพสมรสแล้วเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด (ร้อยละ 78.7)

ส่วนที่ 2 ข้อมูลผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง
     สรุปภาพรวมของผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้บริการเอง พบว่ามีผลกระทบในระดับมาก เป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88.6) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านและรายข้อ ได้ผลการวิเคราะห์ดังนี้
     ด้านแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน  ในภาพรวมแล้วกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า จะมีผลกระทบระดับมาก (ร้อยละ 52.4) โดยประเด็นผลกระทบที่ทำให้เกิดความเต็มใจ และอยากปฏิบัติงานอย่างเต็มความรู้ ความสามารถ อยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 44.9) มีผลทำให้สามารถใช้เวลาในเวลาราชการ ไปทำงานเชิงรุกในชุมชนได้มากขึ้นในระดับมาก (ร้อยละ 44.5) และมีผลทำให้สามารถใช้เวลาในระหว่างการอยู่เวรฯ จัดการกับงานที่คั่งค้างอยู่ได้ในระดับมากที่สุด (ร้อยละ 46.9) แต่ทั้งนี้ก็ทำให้ผู้บังคับบัญชา/ผู้นิเทศ เข้มงวดในการควบคุมกำกับ และตรวจสอบปานกลาง และระดับมาก เท่า ๆ กัน (ร้อยละ 42.1)
     ด้านการพัฒนาคุณภาพบริการ ในภาพรวมแล้วกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า จะมีผลกระทบระดับมากถึงร้อยละ 74.0 โดยสถานีอนามัยได้รับการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องในระดับมาก (ร้อยละ 54.7) และมีผลทำให้เจ้าหน้าที่อยากพัฒนาตัวเองทั้งในด้านความรู้และทักษะในการให้บริการระดับมากที่สุด (ร้อยละ 46.9) ซึ่งจากการอยู่เวรฯ ทำให้ได้รับความร่วมมือจาก ชุมชนในการพัฒนาสถานีอนามัยในระดับมาก (45.7) แต่ก็มีผลทำให้การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลแย่ลงในระดับปานกลาง (ร้อยละ 37.0)
     ด้านความพึงพอใจของประชาชนในชุมชน ในภาพรวมแล้วกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า จะมีผลกระทบในระดับมาก (ร้อยละ 83.9) โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้ประชาชนมีความ คาดหวังต่อบริการสูงขึ้น มีระดับมาก (ร้อยละ 60.6) และประเด็นที่ทำให้กลุ่มผู้นำชุมชน (ตัวแทนประชาชน) ไม่มีความพึงพอใจต่อบริการมีระดับน้อย (ร้อยละ 50.8) ทั้งนี้พบว่าทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้นในระดับมาก (ร้อยละ53.1) และเป็นการเพิ่มทางเลือกที่ตรงกับความต้องการของชุมชนได้จริงในระดับมาก เช่นกัน (ร้อยละ 54.7)
     ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ในภาพรวมแล้วกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า มีผลกระทบอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 58.7) โดยเฉพาะประเด็นการไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินช่วงที่ต้องอยู่เวรฯ อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 33.5) และทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้นอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 50.0) ทั้งนี้พบว่าทำให้ไม่มีอิสระหรือไม่มีเวลาเป็นส่วนตัว ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 46.5) แต่กลับมีความรู้สึกรักและผูกพันต่ออาชีพผู้ให้บริการ สาธารณสุขในระดับมาก (ร้อยละ 52.8)
     โดยสรุปในแต่ละด้านจะพบว่าด้านแรงจูงใจในการปฏิบัติงานจะเพิ่มขึ้นในระดับมาก ถึงมากที่สุดรวมกันถึงร้อยละ 92.2 รองลงไปคือ ด้านความพึงพอใจของประชาชนในชุมชน และด้านการพัฒนาคุณภาพบริการ (ร้อยละ 91.4 และ 88.6 ตามลำดับ) โดยด้านที่มีผลกระทบน้อยที่สุด คือ ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต (ร้อยละ 62.2) ทั้งนี้หากพิจารณาในภาพรวมจะมีผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุข จากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในในระดับมาก ถึงมากที่สุดรวมกัน ร้อยละ 92.1
     เมื่อได้นำคะแนนผลกระทบฯ ในแต่ละด้านวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ พบว่าด้านการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ไม่มีความสัมพันธ์กับด้านอื่น ๆ เลย ส่วนด้านแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ด้านการพัฒนาคุณภาพบริการ และด้านความพึงพอใจของประชาชนในชุมชน ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในเชิงบวกทั้งสิ้น

ส่วนที่ 3 ข้อมูลการเปรียบเทียบระดับผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามคุณลักษณะของประชากร
     เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามตำแหน่งทางราชการของกลุ่มตัวอย่างไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
     เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามตำแหน่งทางราชการของกลุ่มตัวอย่างไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
     เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามเพศหญิงและชาย ซึ่งไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
     เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามกลุ่มอายุของกลุ่ม  ตัวอย่าง ซึ่งไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
     เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามจำนวนบุตรของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
     เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง จำแนกตามสถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ส่วนที่ 4 ข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการจัดบริการสาธารณสุขช่วงการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง
     จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีวิเคราะห์ข้อความ (Content Analysis) ที่ได้จากแบบสอบถามชนิดคำถามปลายเปิดใน 4 ประเด็นที่เป็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อการจัดบริการสาธารณสุขช่วงการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัย คือ 1.) ด้านการปรับปรุงรูปแบบการจัดบริการ หรือการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัย 2.) ด้านการปรับปรุงค่าตอบแทน อัตราการจ่ายค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทน 3.) ด้านการปรับปรุงในมาตรการการควบคุมกำกับ และการตรวจสอบ และ 4.) ด้านอื่น ๆ โดยมีจำนวนกลุ่ม ตัวอย่างที่ตอบคำถามในแบบสอบถามตอนที่ 2 (คำถามปลายเปิด) ทั้งหมด 200 คน คิดเป็นร้อยละ 78.74 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด สามารถสรุปผลได้ดังนี้
     1. ด้านการปรับปรุงรูปแบบการจัดบริการ หรือการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง สรุปผลตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างได้ดังนี้
        1.1 รูปแบบการจัดบริการเหมือนเดิม เนื่องจากประชาชนในเขตรับผิดชอบเคยชินกับการจัดบริการแบบนี้อยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่สามารถใช้เวลาช่วงที่อยู่เวรจัดการกับรายงาน หรืองานอื่น ๆ ที่คั่งค้างอยู่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน มีเวลาให้กับการทำงานในเชิงรุก หรืองานชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการในระยะยาวได้ดี
        1.2 การยุบรวมเฉพาะกรณีการเปิดให้บริการนอกเวลาราชการ ด้วยการพิจารณาตามความเหมาะสม ความพร้อมทั้งจากภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ที่สำคัญให้พิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชาวบ้าน และความจำเป็นด้านสุขภาพ
        1.3 การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดให้บริการ คือการเปิดบริการเพียง 2 ชั่วโมงหลังเวลาราชการปกติในวันปกติ และเปิดเฉพาะเวลากลางวันเสาร์ หรือทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ สำหรับวันหยุดพิเศษให้ปิดบริการ เพื่อบรรเทาปัญหาจากการไม่มีเวลาให้กับครอบ หรือปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในบางพื้นที่ อีกทั้งจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้พักผ่อนจากการทำงานบ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทะภาพของการทำงานในชั่วโมงหรือคาบทำงานถัดไป
        1.4 การเพิ่มกิจกรรมบริการหรือรูปแบบการทำงาน ในระหว่างการอยู่เวรให้บริการนอกเวลาราชการ เพื่อแก้ปัญหาจากกรณีที่อยู่เวรให้บริการโดยมีผู้ใช้บริการน้อย หรือไม่มีผู้ใช้บริการเลย ด้วยการทำงานปกติ หรืองานที่เป็นการพัฒนางานปกติ ทั้งนี้ความเหมาะสมแล้วแต่ในพื้นที่จะได้มอบหมาย ซึ่งให้นำแผนยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนาคุณภาพบริการ และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวกำหนดกรอบในการทำงาน ด้วยการระบุผลงานให้ชัดเจน ทั้งนี้จะต้องมีการทำพันธสัญญาไว้กับผู้บังคับบัญชาให้ชัดเจน
        1.5 การอยู่เวรให้บริการนอกเวลาราชการ โดยการแจ้งผู้รับบริการหรือป้ายแสดงให้เรียกได้จากบ้านพัก (ไม่ต้องอยู่ประจำบนสถานีอนามัย) จะเป็นการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัย หรือปัญหาจากการไม่มีเวลาให้กับครอบครัว กรณีที่พักอยู่บ้านพักของสถานีอนามัย
        1.6 การให้เจ้าหน้าที่อยู่เวรอย่างน้อย 2 คน ต่อ 1 เวร กรณีที่ไม่ค่อยมีความปลอดภัย และมีจำนวนผู้รับบริการมาก โดยการยุบรวมจากสถานบริการที่ไม่มีผู้ป่วย หรือมีผู้ใช้บริการน้อย อยู่ใกล้โรงพยาบาล หรืออยู่ห่างไกลไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
        1.7 ยกเลิกการให้บริการนอกเวลาราชการ เพราะไม่มีความปลอดภัย ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลาให้กับครอบครัวและความเป็นส่วนตัว
     โดยสรุป ตามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จะพบว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มีความคิดเห็นที่จะคงไว้ซึ่งรูปแบบการอยู่เวรนอกเวลาราชการ โดยให้ลดจำนวนชั่งโมงที่อยู่เวรลง เหลือ 2 ชั่วโมง ในวันปกติหลังเวลาราชการปกติ และเปิดบริการเฉพาะวันเสาร์ช่วงกลางวัน ทั้งนี้ให้มีการยุบรวมการจัดบริการก็ได้แต่ต้องได้รับการประเมินความพร้อมและความเป็นไปได้จริงในสถานีอนามัยแต่ละแห่ง สำหรับการจัดบริการนั้นก็ให้เพิ่มกิจกรรมบริการที่เน้นการให้บริการเชิงรุก และการสร้างเสริมสุขภาพเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเน้นการเฉพาะการรักษาพยาบาลผู้ป่วย แต่ให้เน้นการจัดบริการด้วยการเตรียมพร้อมเพื่อให้บริการ ณ สถานีอนามัย แต่เป็นการเตรียมเพื่อดำเนินกิจกรรมบริการอื่น ๆ ไปด้วย (กิจกรรมสนับสนุนในการดำเนินงานเชิงรุก และดำเนินงาทนในชุมชน)
     2. ด้านการปรับปรุงค่าตอบแทน อัตราการจ่ายค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทน สรุปผลตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างได้ดังนี้
        2.1 เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่สถานีอนามัยให้มากกว่าเดิม เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะต้องใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่นการพัฒนาสถานีอนามัย ค่าสาธารณูปโภค และ/หรือค่าใช้สอยอื่นตามที่จำเป็น และแต่ละสถานีอนามัยก็มีความจำเป็นและค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกัน
        2.2 จ่ายค่าตอบแทนตามจริงและให้เท่าเดิม (10,000 บาทต่อเดือน) เพราะเหมาะสมแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงลดลง เจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่บ้านพักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นควรจะมีการจ่ายค่าตอบแทนในการอยู่เวรในอัตราเดิม และให้แห่งละเท่าเดิม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้จะเพิ่มการตรวจสอบหรือการควบคุมกับให้ดีขึ้น ตลอดจนเอาจริงเอาจังกับเจ้าหน้าที่หรือสถานบริการที่ไม่ได้เปิดบริการจริงน่าจะเหมาะสมกว่า  ประเด็นที่สำคัญอีกประการ คือ แม้ว่าจะไม่มีการให้ค่าตอบแทนในการอยู่เวร สถานีอนามัยก็ยังมีความจำเป็นต้องให้บริการอยู่ดี จะปฏิเสธประชาชนไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อคราวไม่มีค่าตอบแทนก็ได้เปิดให้บริการอยู่ตลอดเวลา จึงเสนอว่าควรจะให้ค่าตอบแทน ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องพิจารณาให้กับสถานีอนามัยที่มีการปฏิบัติงานจริง และสถานีอนามัยที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจคนทำงาน
        2.3 จ่ายค่าตอบแทนในอัตราเดียวกันโดยไม่ต้องพิจารณาตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งไม่เหมือนกัน เพราะต้องทำงานและมีความรับผิดชอบตามกรอบของการทำงานเฉพาะนอกเวลาราชการเหมือน ๆ กัน ส่วนอัตราเงินเดือน และความก้าวหน้าที่ได้รับตามกรอบแนวทางในการทำงานปกตินั้นมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว และเหมาะสม
        2.4 ควรโอนเงินให้สถานีอนามัยโดยตรง มากกว่าการโอนไปให้โรงพยาบาลก่อน เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยาก และเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางของความขัดแย้งระหว่างสถานีอนามัยและโรงพยาบาลให้มากขึ้นไปอีก จากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
        2.5 ควรจัดสรรงบประมาณให้สถานีอนามัยในสัดส่วนไม่เท่ากัน (ด้วยงบปลายปิด) กล่าวคือ ตั้งงบประมาณไว้ทั้งปีในภาพรวมของจังหวัด จากนั้นให้พิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ที่  เหมาะสมและเป็นธรรมในการจัดสรรให้สถานีอนามัยแต่ละแห่ง หรือเฉพาะแห่งที่ขอทำสัญญากับเครือข่ายบริการ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อเปิดให้บริการ โดยแต่ละแห่งที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่จำเป็นต้องได้รับเท่ากัน
        2.6 ควรจัดสรรงบประมาณที่เป็นค่าตอบแทนให้สถานีอนามัยตามต้นทุนค่าแรงที่เป็นจริงในแต่ละโรค หรือกลุ่มโรค หรือในแต่ละกิจกรรม เช่น กิจกรรมการควบคุมโรค กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ เฉพาะกรณีบริการที่ดำเนินการนอกเวลาราชการ
     โดยสรุป ตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างสามารถสรุปได้ว่าค่าตอบแทนที่ให้ในการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการนั้น จะไม่เพียงพอต่อการใช้ เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสถานีอนามัย หรือค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น ฉะนั้นจึงไม่ควรลดลง แต่ให้ใช้วิธีการจัดสรรด้วยงบประมาณในภาพรวมทั้งจังหวัดในรูปแบบงบประมาณปลายปิด แล้วนำมาพิจารณาจัดสรรให้แต่ละสถานีอนามัยแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ตามสภาพปัญหา(จำนวนผู้ป่วย, ลักษณะการเจ็บป่วย, ฯลฯ) แผนพัฒนาคุณภาพบริการ แผนยุทธศาสตร์ และพันธะสัญญาที่ได้ทำไว้กับหน่วยบริการ โดยให้จัดสรรงบประมาณตรงไปยังสถานีอนามัยไม่ต้องผ่านโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะจัดสรรเป็นงวดหรือจัดสรรในแต่ละเดือนได้ตามความเหมาะสม
     3. ด้านการปรับปรุงในมาตรการการควบคุมกำกับ และการตรวจสอบ สรุปผลตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างได้ดังนี้
        3.1 การควบคุมกำกับ ควรปฏิบัติด้วยหลักการตรวจเยี่ยมมากกว่าการไปจับผิด และให้ดำเนินการตามสายการบังคับบัญชา ไม่ควรให้สายนิเทศงานเป็นผู้ควบคุมกำกับเอง เพราะเมื่อเกิดการไม่ยอมรับก็จะทำให้การประสานงานในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปทำได้ยากขึ้น จะเป็นการส่งผลกระทบในระยะยาวสำหรับการจัดบริการสาธารณสุข
        3.2 การตรวจสอบ ต้องมีความเป็นธรรมแก่สถานีอนามัยในแต่ละแห่ง และทุกแห่ง โดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อตรวจสอบเฉพาะแห่ง ตลอดจนการละเว้นในการตรวจสอบในบางแห่ง ทำให้รู้สึกสูญเสียกำลังใจในการปฏิบัติงาน
        3.3 การตรวจสอบควรมีความต่อเนื่อง และจริงจัง พบว่าในปัจจุบันการตรวจสอบก็ไม่มีความต่อเนื่อง และไม่จริง จะเป็นการตรวจสอบเพียงเพื่อตอบสนองต่อการสั่งการจากผู้บริหาร หรือผู้บังคับบัญชาของผู้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการตรวจสอบตามแผนงานปกติ หรือตามอำนาจหน้าที่ปกติที่พึงปฏิบัติ ทำให้ผู้อยู่เวรไม่เกรงกลัว และไม่ได้อยู่เวรจริง หรืออยู่เวรฯไม่ครบตามเวลาจริง ที่สำคัญทำให้ประชาชนขาดโอกาส และสูญเสียเงินงบประมาณโดยใช่เหตุ
        3.4 การตรวจสอบ หรือควบคุมกำกับ ควรจะมีค่าตอบแทนให้เหมือนผู้อยู่เวรฯ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการออกตรวจสอบการอยู่เวรฯ และจะทำให้การอยู่เวรฯ มีเจ้าหน้าที่อยู่จริง       ประชาชนได้ขาดหรือเสียผลประโยชน์
        3.5 การตรวจสอบ ควรจะได้ดำเนินการในลักษณะคณะกรรมการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย เพื่อแก้ปัญหาจากข้อครหาการไม่อยู่เวรและการสมยอมทั้งจากผู้ตรวจสอบที่เป็นผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ
        3.6 การตรวจสอบ และควบคุม กำกับที่ดี จะต้องมีมาตรการพัฒนาหรือสร้างจิตสำนึกบริการแก่ผู้ให้บริการควบคู่กันไปด้วย จึงจะเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่แท้จริง เพราะในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กลัวการตรวจสอบจากผู้บริหาร เพียงเพราะกลัวถูกตำหนิ หรือถูกลงโทษ ซึ่งเป็นแรงจูงใจเชิงลบที่สร้างความกดดัน และความเครียดทั้งจากเจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร
        3.7 การรายงานผลการปฏิบัติงานไม่ควรรายงานเฉพาะจำนวนผู้รับบริการ แต่ควรให้มีการายงานถึงผลการปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการในระหว่างการอยู่เวรฯ เช่นการจัดทำรายงาน การบันทึกข้อมูล การตรวจสอบรายงาน หรือการพัฒนานวัตกรรมทางด้านสาธารณสุขขึ้นมา ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความสามารถได้แสดงศักยภาพให้ผู้บริหารได้รับทราบด้วย
        3.8 การตรวจสอบด้วยวิธีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานจริง ด้วยอาศัยคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นกลาง และเป็นธรรมให้ข้อมูลการอยู่เวรก่อนการอนุมัติให้เบิกจ่าย และองค์ประกอบของคณะกรรมการต้องมาจากประชาชนในชุมชน ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กับภาคส่วนของผู้บังคับบัญชา หรือผู้นิเทศ
     โดยสรุป ตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างสามารถสรุปได้ว่าการการควบคุมกำกับ การตรวจสอบ และการรายงานผลนั้น ควรให้มีคนกลางเข้าร่วมควบคุมกำกับ และตรวจสอบการให้บริการในรูปของคณะกรรมการ โดยมีการทำพันธะสัญญาไว้กับผู้บริหาร ในการอยู่เวรฯ และให้มีการตรวจสอบจากผลที่คณะกรรมการฯ ได้รายงานไว้ ก่อนการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ สำหรับการรายงานผลการปฏิบัติงานไม่ควรรายงานเฉพาะจำนวนผู้รับบริการ แต่ควรให้มีการายงานถึงผลการปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการในระหว่างการอยู่เวรฯ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความสามารถได้แสดงศักยภาพให้ผู้บริหารได้รับทราบด้วย
     4. ด้านอื่น ๆ  สรุปผลตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างได้ดังนี้
        4.1 กลุ่มหรือภาคีเพื่อนหมออนามัยดูแล ควบคุมกำกับ และตรวจสอบหมออนามัยด้วยกันเอง โดยที่ยังได้รับค่าตอบแทนจากการอยู่เวรฯ เช่นเดิม ไม่ต้องปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลง ทั้งนี้ควรให้โอกาสแก่กลุ่มฯ ในการรับหลักการ ทำพันธสัญญา จากผู้บริหารของหน่วยงานเช่น คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) หรือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง และดำเนินการให้บริการประชาชน พร้อม ๆ กัน กลุ่มหรือภาคีเอง ก็มีการประเมินผลจากประชาชน จากกระบวนการดำเนินงาน และจากตัวเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเอง ซึ่งหากว่าไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่ได้ให้สัญญาไว้ก็ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในพันธสัญญา
       4.2 การพัฒนาวิชาชีพหมออนามัย และการให้บริการชุมชน งบประมาณที่ให้เป็นค่าตอบแทนในการอยู่เวรฯ โดยทางอ้อมแล้วส่วนหนึ่งก็จะถูกนำกลับมาใช้ในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ถ้าหากจะลดในส่วนค่าตอบแทนการอยู่เวรฯ ก็ควรจะนำไปเป็นงบประมาณที่ใช้สำหรับพัฒนาบุคลกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนก็ได้ หรือแปรเปลี่ยนไปเป็นงบประมาณสำหรับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการสำหรับสถานีอนามัยที่เป็นรูปธรรม เช่นการให้ความรู้และทักษะในการจัดบริการโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการป้องกันโรค หรืองานสุขภาพจิต เป็นต้น
     โดยสรุป ตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวอย่างสามารถสรุปได้ว่ามีความต้องการให้มีการดูแลและตรวจสอบกันเองในกลุ่ม และกลุ่มเป็นตัวแทนในการทำพันธะสัญญากับผู้บริหาร รวมถึงการควบคุม ตรวจสอบกันเอง

ส่วนที่ 5 ข้อมูลข้อมูลจำนวนผู้ที่มารับบริการนอกเวลาราชการของสถานีอนามัย
     พบว่าอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเวลาราชการโดยเฉลี่ยต่อประชากรทั้งหมดเท่ากับ 0.00028 ครั้งต่อคน โดยเฉลี่ยการใช้บริการต่อเดือนเท่ากับ 137 ครั้งต่อเดือน สำหรับอำเภอที่มีการใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุด คือ อำเภอควนขนุน (X = 220 ครั้ง) รองลงไปคือ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอปากพะยูน (X = 170 และ 163 ตามลำดับ) และอำเภอที่น้อยที่สุด คืออำเภอบางแก้ว (X = 40) สำหรับสถานีอนามัยที่มีผู้ใช้บริการนอกเวลาราชการโดยเฉลี่ยต่อเดือน สูงที่สุด คือ สถานีอนามัยปันแต อำเภอควนขนุน (X = 721) และต่ำที่สุด คือ สถานีอนามัยบ้านท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว (X = 4)  เมื่อนำค่าเฉลี่ยของการใช้บริการนอกเวลาราชการต่อเดือน มาจัดกลุ่มโดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยของการใช้บริการนอกเวลาราชการต่อเดือนเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือกลุ่มมากกว่า 151 ครั้งต่อเดือน (ร้อยละ 32.80) และกลุ่มที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือกลุ่ม 1 – 50 ครั้งต่อเดือน (ร้อยละ 7.20)

     ดาวน์โหลดเอกสารเฉพาะผลการวิจัยที่สมบูรณ์ได้ที่ http://gotoknow.org/file/chinekhob/OuttimeHC2547.zip

หมายเหตุ : คณะผู้วิจัย
[1] นักวิชาการสาธารณสุข 5 กลุ่มงานประกันสุขภาพ  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
[2] เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 6 หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านควนเพ็ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง

หมายเลขบันทึก: 3137เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2005 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท