ความคืบหน้าของคลินิกสุขภาพเท้า


ผู้ป่วยเบาหวานได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเท้ามากขึ้น

     จากจุดเริ่มต้นของคลินิกสุขภาพเท้าที่เคยเกริ่นนำเมื่อหลายเดือนก่อน  จนกระทั่งได้ดำเนินการไปฝึกอบรมในการดูแลสุขภาพเท้าที่รพ.เทพธารินทร์เมื่อ 14-20 กพ.49 ที่ผ่านมา และได้เล่าประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานผ่านบล็อกมาแล้วนั้น ก็ทิ้งช่วงไปหลายเดื่อนเลยทีเดียว วันนี้จึงได้มีโอกาสมาเล่าถึงความคืบหน้าของคลินิกสุขภาพเท้าของโรงพยาบาลพุทธชินราชเสียที 

     หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมกลับไปก็ได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะได้เปิดคลินิกสุขภาพเท้าภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์นพ.นิพัธ  เริ่มตั้งแต่ การจัดตั้งทีมสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วย อายุรแพทย์  ศัลยแพทย์ , เภสัชกร, นักกายภาพบำบัด ,นักกายอุปกรณ์ ,พยาบาลศัลยกรรม, พยาบาลเวชศาสตร์ครอบครัว ,นักสุขศึกษา ,นักโภชนากร ต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือถึงรูปแบบการดำเนินงานต่างๆ  เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องเชื่อมโยงในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดร่วมกัน  เมื่อได้แนวทางร่วมกันแล้วก็เริ่มทำโครงการจัดตั้งคลินิกและของบประมาณ  ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาท่านได้เล็งเห็นความสำคัญในงานดังกล่าวท่านได้อนุมัติให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

    งานดูแลสุขภาพเท้าเบาหวานของคลินิกสุขภาพเท้ารพ.พุทธชินราช  เปิดดำเนินงานคลินิกดูแลสุขภาพเท้า  เมื่อ 2 พค.49 ให้บริการทุกวันอังคารและพุธในระยะเริ่มแรก มีโครงการขยายวันให้บริการ •มีพยาบาลที่รับผิดชอบโดยตรง 2 คน  มีแผนการดำเนินงานขยายผลการดูแลสุขภาพเท้าลงสู่ศูนย์สุขภาพชุมชนร่วมกับแกนนำชุมชน ซึ่งแบ่งเป็นงานดูแลสุขภาพเท้าในคลินิกสุขภาพเท้า  และงานดูแลสุขภาพเท้าในชุมชน  ดังนี้

   งานดูแลสุขภาพเท้าในคลินิกสุขภาพเท้า 

 -ประเมินภาวะเสี่ยง    การตรวจคัดกรอง ประเมินเท้า การดูแลสุขภาพเท้า การเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้า

-ให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้า  ให้การรักษาดูแลเท้า เมื่อเกิดบาดเจ็บหรือแผล ให้ความรู้เรื่อง Foot wear ที่เหมาะสมในแต่ละราย นัดติดตามการดูแลต่อเนื่อง 

 -ลดการเกิดแผลที่เท้า  การทำหัตถการ  การขูดหนังหนา  การตัดเล็บ  การดูแลเล็บขบ   Foot wear, Proper gait aids และอื่นๆตามลักษณะปัญหาของผู้รับบริการแต่ละราย

 -ลดการถูกตัดเท้า และขา การรักษาดูแลเท้า การทำแผล การOff Loading   การประเมินหลอดเลือด  เป็นต้น

   งานดูแลสุขภาพเท้าในชุมชน

 -เชือมโยงกับศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่ายฯ
 -ส่งต่อการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน  ติดตามเยี่ยมบ้านในรายที่มีระดับความเสี่ยงสูง  •ประสานงานกับPCU. และส่งต่อ ที่มีผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลที่เท้าในเขตรับผิดชอบที่อยู่ที่บ้าน เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการดูแลต่อเนื่อง  และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านในบางรายตามเกณฑ์ที่กำหนด
 -กิจกรรมการรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพเท้าเบาหวาน
 -สร้างเครือข่ายการตรวจคัดกรอง ประเมินเท้าการดูแลสุขภาพเท้าในชุมชน ร่วมกับ PCU
      -จัดอบรมเพิ่มศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่ใน PCU.เขตอำเภอเมือง เรื่องการตรวจประเมินเท้า และการดูแลสุขภาพเท้า  ซึ่งได้จัดอบรมไปแล้วเมื่อ 24พค.49ภาคทฤษฎี  ส่วนภารปฏิบัติเริ่มดูงานการตรวจ คัดกรองประเมินเท้า และการทำหัตถการต่างๆ  ตั้งแต่ 31พค.49 ครั้งละ4-5คนจนครบ ซึ่งเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่มเพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
      -จัดกิจกรรมในชมรมผู้ป่วยเบาหวานเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพเท้าในชุมชนของเขตอำเภอเมือง

        เมื่อ 2พค.49จึงได้เริ่มดำเนินการเปิดคลินิกสุขภาพเท้าขึ้นมีพยาบาลรับผิดชอบประจำคลินิกอยู่ 2 คนคือคุณเปรมสุรีณ์ และดิฉัน ทับทิมค่ะ  โดยมีอาจารย์แพทย์ที่ให้การตรวจรักษาที่คลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลให้คำปรึกษา   ส่วนทางด้านวัสดุอุปกรณ์ยังไม่พร้อมกำลังอยู่ในขั้นตอนการเบิก-จ่าย จึงได้ดำเนินการในส่วนที่สามารถจะทำได้  ได้แก่การเริ่มตรวจคัดกรองเท้าประเมินเท้าเบื้องตัน โดยใช้แบบประเมินที่ดัดแปลงมาจากรพ.เทพธารินทร์มาใช้ ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจประเมินและแนวทางการปฏิบัติ  บันทึกลงในแบบฟอร์มที่จัดทำขึ้นดังนี้

1.ประวัติเกี่ยวกับความเจ็บป่วย  โรคต่างๆที่เป็นอยู่

2 ประวัติเคยเป็นแผลที่เท้า  การมีแผลที่เท้า  ประวัติการเดินแล้วปวดน่องเวลาพักจะหายไป

3.Foot Exam ดูเรื่อง เล็บ เช่นเล็บหนา เล็บขบ การติดเชื้อราหรือไม่ ,ดูเกี่ยวกับความผิดปกติของรูปเท้า ดูลักษณะของผิวหนัง  ดูแผล ดูหนังหนา ตาปลา เมื่อพบหนังหนาๆ เราก็จะทำหัตถการขูดหนังหนาให้  มีเล็บขบเราก็จะดูแลและแนะนำการดูแลเล็บให้เป็นต้น

4.ประเมินหลอดเลือด, Check  pedal pulses คลำ Dorsalis pedis  และ Posterior Tibrail pules,วัดหาค่า ABI ,ภาวะ PVD (ขณะนี้กำลังดำเนินการเบิกจ่าย Doppler อยู่) ,Sensory Foot Exam  โดย Monofilament ด้วยขนาด 5.07(10 gm.) เมื่อพบความผิดปกติเราก็จะรายงานแพทย์เพื่อเข้ากระบวนการ การConsult แพทย์ศัลยกรรม ในPCTทีมต่อไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ร่วมกัน

5.หลังตรวจประเมินจะสรุปภาวะเสี่ยง และให้การดูแลตามภาวะเสี่ยง ตามการจัดระดับความเสี่ยงดังนี้

  -Low risk (0) ไม่มีประวัติ หรือการตรวจพบส่วนที่ชา หรือความรู้สึกป้องกันเสีย ( loss of -rotective)  ไม่พบเท้าผิดรูป ไม่มีแผล หรือประวัติตัดนิ้วขา  กำหนดนัดตรวจทุก 1 ปี พร้อมให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพเท้า การดูแลเล็บ ผิวหนัง การป้องกันการเกิดหนังหนา ป้องกันการเกิดแผล  การออกกำลังกาย  การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม  ให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆด้วย
  -Moderate risk (1) มีการตรวจพบ loss of protective sensation  กำหนดนัดติดตามตรวจประเมินเท้า ทุก 6 เดือน    พร้อมให้คำแนะนำเช่นเดียวกับ Low risk และแนะนำพบแพทย์เมื่อมีปัญหา         
  -High risk (2) ตรวจพบ loss of protective sensation  มีหนังหนาหรือตาปลา และขาผิดรูป กำหนดติดตามนัดทุก1- 3 เดือน โดยลงทะเบียนไว้เพื่อนัดติดตาม  และนัดทำหัถการต่างๆ และส่งนักกายภาพบำบัดประเมินเพื่อจัดหารองเท้าที่เหมาะสม ให้คำแนะนำเช่นเดียวกับกับ Moderate risk  ระมัดระวังไม่ให้เกิดหนังหนาและตาปลา  ถ้าพบหนังหนาหรือตาปลาให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อทำหัตการเกี่ยวกับหนังหนาและตาปลา
                        
  -Very high risk (3) ตรวจพบ loss of protective sensation ขาผิดรูป และมีประวัติเคยเป็นแผลที่เท้าและเคยตัดนิ้ว หรือขา  กำหนดการติดตามภายใน 1-4สัปดาห์ ลงทะเบียนผู้ป่วยไว้เพื่อติดตามผลและส่งพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแผล ขูดหนังหนาหรือหนังหนาๆ เน้นให้ผู้ป่วยตระหนักถึงการดูแลเท้า การดูแลรักษาแผล อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ควรมีอุปกรณ์พิเศษเพื่อลดแรงกดที่แผล การควบคุมภาวะของโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรึกษากายภาพเพื่อออกแบบรองเท้าหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสม
6.ประเมิน Foot wear  พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่อง Foot wearที่เหมาะสมในแต่ละรายไป การปรับเปลี่ยนรองเท้า
7.การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเท้าแบบรายบุคคล
8.Management Plan ,care,หัตถการต่างๆตามสภาพและปัญหาในผู้รับบริการแต่ละราย ,consult, ส่งต่อ , ติดตามเยี่ยม ฯลฯ
        หลังจากที่เริ่มดำเนินการตรวจเท้าแล้วจนถึงปัจจุบัน ตรวจคัดกรองได้ประมาณ 112 คน  และมีบางส่วนที่เราได้นัดมาทำหัตการเกี่ยวกับการขูดหนังหนา  การดูแลเล็บ และผิวหนัง ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่เราใช้ก็ได้ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมศักยภาพของหน่วยงานเรา ได้ไปดูอุปกรณ์ตามร้านขายของเสริมสวยบ้าง  ได้ติดต่อกับหน่วยงานพัสดุของรพ.เพื่อกำหนดสเปคในการจัดซื้อจัดหาต่อไป ตอนนี้ทางด้านความพร้อมเกี่ยวกับเรื่อง Foot wear อยู่ในระหว่างปรึกษากันระหว่าง หน่วยงานกายภาพบำบัด กายอุปกรณ์(เมื่อประมาณปลายเมย.49มีเจ้าหน้าที่กายอุปกรณ์ได้ไปอบรมเรื่องการทำรองเท้า ที่ศูนย์จุฬาภรณ์มาด้วย) กับเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อดำเนินการเรื่อง Foot wearอยู่  ได้ความก้าวหน้าอย่างไรจะนำมาเล่าให้อ่านอีกค่ะ
        หลังจากได้เปิดคลินิกสุขภาพเท้าได้รับเสียงตอบรับที่น่าพึงพอใจและใช้เป็นกำลังใจให้ในการดูแลสุขภาพเท้าต่อไป เช่นผู้รับบริการถึงกลับบอกกับเราว่า ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ามีบริการแบบนี้ในโรงพยาบาลด้วย รู้สึกประทับใจมากเพราะไม่เคยมีใครมาดูแลและใส่ใจเท้าของเขาขนาดนี้   มีอยู่รายหนึ่งมีแผลที่เท้า เคยตัดนิ้วเท้าไปแล้วบางนิ้ว ขณะนี้มีแผลเรื้อรังที่นิ้วเท้าอีกข้างแพทย์นัดนอนรพ.เพื่อจะทำการตัดนิ้ว บริเวณรอบๆแผลจะมีหนังหนามาก ทางพยาบาลศัลยกรรมได้ประสานงานกับเราให้ช่วยไปดูหนังหนาบริเวณรอบๆแผลที่ไปขัดขวางการหายของแผล เราได้ทำการขูดหนังหนาให้ หลังจากได้ทำให้แล้วถึงกับพูดว่า "หมอครับนี่เท้าผมหรือครับ ไม่น่าเชื่อเลย" ขณะนี้ผู้ป่วยรายนี้ยังนอนเพื่อทำแผลต่อ ได้ตามไปเยี่ยมแล้วแผลดีขึ้น แพทย์ยังไม่ได้ Set ตัดนิ้วเท้า  มีอยู่รายหนึ่งเป็นสุภาพสตรี หลังจากที่ได้ตรวจคัดกรองประเมินเท้าไปแล้วและได้นัดมาขูดหนังหนาในคราวหน้า  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้อธิบายถึงวิธีการ หลักการและและเหตุผลให้ฟังคร่าวๆแล้ว แต่พอถึงคืนวันก่อนนัดผู้รับบริการบอกกับเราว่า "เมื่อคืนนี้ฉันนอนไม่หลับเลย กลัวว่าเมื่อมาขูดหนังหนาแล้ว เท้าฉันจะเป็นแผลมั๊ยนะ ฉันจะเดินได้มั๊ย มันจะเจ็บปวดขนาดไหนนะ" เมื่อได้ฟังผู้รับบริการแล้วดิฉันถึงกับอึ้งไปเลย คิดว่าเราให้ข้อมูล คำอธิบายกับผู้รับบริการไม่เพียงพอหรือเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารตรงไหนบ้าง ทำให้ต้องเก็บเอาไปใช้เป็นครูทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร การให้ข้อมูล ว่าจะต้องชัดเจนและเกิดความเข้าใจตรงกันทั้งผู้รับและผู้ให้ข้อมูล  ในผู้รับบริการรายนี้ก็เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรผู้รับบริการรายนี้ยังอุตส่าห์มาตามนัดเพื่อให้เราขูดหนังหนาให้ ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าผู้รับบริการเกิดความไว้วางใจในบริการของเราแล้ว ส่งจะส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองที่เหมาะสมได้ต่อไป  หลังจากได้ขูดหนังหนา และทาโลชั่นสอนวิธีการนวดทาโลชั่นการดูแลเท้าให้ผู้รับบริการรายนี้แล้ว ผู้รับบริการถึงกับยิ้มออกเลยทีเดียว บอกกับเราว่า "ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้เลย ไม่เจ็บด้วย และเท้าดูดีขึ้นตั้งแยะ ต่อไปจะดูแลเท้าให้เป็นอย่างดี" และยังบอกกับเราอีกว่า จะกลับไปบอกผู้รับบริการอีกรายที่อยู่บ้านใกล้กันแต่ไม่มาตามนัดเพราะกลัว ให้อีกด้วยค่ะ  พวกเรารู้สึกดีค่ะหลังจากที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเท้ามากขึ้น อันจะส่งผลให้ลดอัตราการเกิดแผลที่เท้า ลดอัตราการถูกตัดเท้าและขาได้ต่อไปในอนาคต 
    อย่างไรก็ตามพวกเราก็จะมุ่งมั่นในการพัฒนางานของเราอย่างต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ พร้อมรับคำแนะนำ ข้อเสนอแนะต่างๆตลอดเวลา  คราวหน้าจะนำความคืบหน้ามาเล่าให้อ่านต่อค่ะ
   
      
หมายเลขบันทึก: 31248เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอให้มีพลังกาย และใจที่เข้มแข็งเพื่อสร้างสรรค์งานดี ๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นะค่ะ

ขอให้พี่นู๋ขยันเขียนต่อไปนะจ๊ะเพราะอ่านแล้วดีมากๆเลยจ๊ะคนอะร้ายทั้งสวยทั้งเก่งขอเป็นกำลังใจตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท