E-learning เพื่อขยายการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทย


“ประเด็นที่ตั้งใจจะพูดในการเสวนา”

E-learning เพื่อขยายการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทย
วิจารณ์  พานิช
          “ประเด็นที่ตั้งใจจะพูดในการเสวนา”
          ผมได้รับปากกับผู้จัดงาน Government IT Forum 2005  ซึ่งจะจัดที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ   ว่าในวันที่ 23 มิ.ย.48  เวลา 13.30 – 16.00 น.   ว่าจะไปร่วมรายการเสวนาเรื่อง “E-learning เพื่อขยายการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทย”   โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ
·       คุณมัณฑนา  สังขะกฤษณ์        รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
·       อ. สุชาติ  กิจธนาเสรี              ผอ. สถาบันคอมพิวเตอร์  มร.
·       ดร. นิรชราภา  ทองธรรมชาติ    รอง ผอ. ถ่ายทอดเทคโนโลยี   สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ


โดยมีคุณพันธุ์ทิตต์  สิรภพธาดา   ผู้ดำเนินรายการวิทยุ e-business today เป็นผู้ดำเนินการเสวนา


          เนื่องจากเป็นรายการเสวนา   ผมก็ไม่ได้เตรียมเขียนบทความหรือ PowerPoint Presentation   แต่เมื่อวานคุณเก๋  ผู้ช่วยของผมบอกว่าทางผู้จัดขอเอกสารนำเสนอ (ถ้ามี)   ทำให้ผมเกิดความคิดขึ้นว่า   ผมน่าจะเขียนความเห็นส่งการบ้านนี้ทางบล็อก
          ขอนำเสนอประเด็นเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นในการเสวนา 4 ข้อครับ
1)      คนที่ควรได้ร่วมคิดและออกความเห็นเรื่อง E-learning เพื่อขยายการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทย
2)      การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย   ควรเน้นตรงไหน
3)      IT เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทย   ควรมีลักษณะอย่างไร
4)      ควรมีการจัดการเชิงระบบในระดับประเทศอย่างไร


ผมจะลองเสนอความเห็นของผมใน 4 ประเด็นนี้   แล้วเอาขึ้นบล็อก http://thaikm.gotoknow.org ของผมในเช้าวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย.   คุณเก๋จะโทรศัพท์แจ้งผู้จัดการประชุมว่าบทความของผมอยู่ในบล็อก   ให้มาเอาได้จากบล็อก   และขอให้แจ้งผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมเสวนาให้มาดูได้   หวังว่าท่านเหล่านั้นจะได้เตรียมมาเสวนาเพื่อให้มุมมองขยายกว้างออกไป,   ลุ่มลึกขึ้น,   หรือมองต่างมุม

 

 


 คนที่ควรได้ร่วมคิดและออกความเห็นเรื่อง E-learning เพื่อขยายการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทย
            รายชื่อคนที่มาออกความเห็นในการเสวนา   เป็นคนทางฝั่ง “ผู้ให้บริการ” (supply – side) ทั้งสิ้น   ไม่มีคนทางฝั่งผู้ใช้บริการ (demand – side) เลย   ความเห็นจากการเสวนายิ่งมีข้อจำกัด   เป็นการมองจากมุมผู้ให้บริการเท่านั้น
          เรื่อง e - learning นั้นตัว “คอขวด” ไม่ใช่เทคโนโลยี   ไม่ใช่ผู้ให้บริการ   แต่อยู่ที่ฝั่งประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง   เนื่องจากเราไม่ได้จัดสภาพของระบบให้เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ   เราจัดไว้สำหรับผู้มีกำลังซื้อเป็นหลัก
          “สภาพที่เหมาะสมและความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ” นั้น   ผมเชื่อว่าผู้ที่มาร่วมอภิปราย 5 คนนี้ไม่รู้จริง   คนที่รู้จริงคือชาวบ้าน   ถ้าให้ผมเป็นผู้จัดการเสวนานี้   ผมจะเชิญแกนนำชาวบ้านสัก 2 – 3 คนมาร่วมให้ความเห็นด้วย   คือให้น้ำหนักของการเสวนาก้ำกึ่งกันระหว่าง demand – side กับ supply – side

 


การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย   ควรเน้นตรงไหน
          อย่าลืมว่าเวลาผมเอ่ยถึง “คนไทย”   ผมหมายถึงคน 64 ล้านคน   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านนะครับ   และผมก็คิดว่าถ้าชาวบ้านได้ประโยชน์   ชาวเมืองก็ได้ประโยชน์ด้วย     แต่ถ้าเอาชาวเมืองหรือคนชั้นกลางเป็นหลัก   ชาวบ้านก็อาจไม่ได้ประโยชน์หรือได้รับโทษด้วยซ้ำ
          การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยควรเน้นที่การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน   ในงานอาชีพ   เน้นที่ “ความรู้ปฏิบัติ” (Tacit Knowledge)     ดังนั้นระบบ IT,   ระบบ E-learning ต้องรองรับการเรียนรู้ “ความรู้ฝังลึก” นี้     หมายความว่าระบบ IT ของชาติต้องออกแบบให้ชาวบ้านสามารถใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้จากการปฏิบัติในอาชีพการงานและการดำรงชีวิตให้ได้
          ระบบ IT,   E-learning ในปัจจุบันเน้นที่ความรู้ทฤษฎี (Explicit Knowledge) เป็นหลัก
          ผมมองว่าต้องมีเป้าที่ 80 : 20 คือ 80 ส่วนความรู้ฝังลึก   และ 20 ส่วนความรู้ทฤษฎี
          สรุปว่าเน้นคนกลุ่มล่าง   และเน้นการแลกเปลี่ยน “ความรู้ฝังลึก” ซึ่งผูกพันอยู่กับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตประจำวัน
          เน้นให้ IT เป็นเครื่องมือช่วยให้ชาวบ้านสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง

 


IT เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทย   ควรมีลักษณะอย่างไร
          ควรมีลักษณะ
·       เป็น 2 - way communication
·       ชาวบ้านระดับล่างเข้าถึงได้
·       มีการจดบันทึกเข้าไปในระบบ IT ให้เกิด database มหึมา   และทำ data mining สร้างความรู้ขึ้นมาจากการปฏิบัติและการดำรงชีพของสังคมไทยได้
·       ให้เป็นเครื่องมือเอื้ออำนวยความสะดวกในการสร้างความรู้โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติ   อำนวยความสะดวก “การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” ของคนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม   และเป็นเครือข่าย
·       มีการจัดการ   โดยยึด “ผู้ใช้” เป็นสำคัญ

 


ควรมีการจัดการ E-learning ในระดับประเทศอย่างไร
·       อย่าปล่อยให้ขึ้นกับกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว
·       มี pilot project ที่เน้นผู้ได้ประโยชน์ระดับล่าง   ดำเนินการ pilot project เพื่อหาวิธีขยายระบบครอบคลุมคนระดับล่างทั่วประเทศ
·       รัฐจัดงบประมาณส่งไปยังฝ่าย “ผู้ใช้” ให้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ใช้   พัฒนาระบบการใช้ E-learning แบบที่เป็น  2 – way,   interactive,   และเป็นการหนุน learning by doing,   interactive learning through action ซึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ   หรือการจัดการความรู้ นั่นเอง
การพัฒนาระบบควรพัฒนาผ่านผู้ใช้ 80%   ผ่านผู้ให้บริการเพียง 20%


          นอกจากให้ความเห็นผ่านข้อเขียนแล้ว   ผมได้ปฏิบัติให้ดูด้วย   การสื่อสารผ่านบล็อกนี้   จะทำให้ผมแบ่งปันความรู้ได้กับคนทั้งประเทศ   คนที่เข้าอินเตอร์เน็ตได้สามารถเข้ามาอ่านความรู้ความเห็นของผมได้   และผมก็เขียนแบบเขียนจากใจ   เป็นการเสนอความรู้ฝังลึก   เน้นการแลกเปลี่ยนไม่เน้นถูก – ผิด   ผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับผมก็เข้ามาเสนอความเห็นต่อสาธารณะได้   เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึกซึ่งกันและกันผ่านเวทีสาธารณะ   และจะคงอยู่ใน cyber space อย่างถาวร   สามารถทำ data mining สร้างความรู้ที่ยกระดับขึ้นไปได้   และเมื่อมีคนเข้ามาอ่านหรือแลกเปลี่ยนก็จะเกิดการยกระดับความรู้ฝังลึกของตัวผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเป็นรายคนได้


          โดยสรุป   ผมเน้นที่ E-learning แบบที่เน้นการสร้างความรู้หรือการเรียนรู้โดยผู้เรียนเอง   มากกว่าการรับรู้ความรู้จากการให้บริการ   แต่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าความรู้จากฝ่ายให้บริการไม่สำคัญนะครับ   สำคัญมาก   และจำเป็นมาก   แต่สัดส่วนน้ำหนักผมให้เพียง 20%   อีก 80% ต้องเป็นกิจกรรมฝ่ายผู้เรียน   คือคนไทย 64 ล้านคน
          มองอีกมุมหนึ่ง   ผมอยากเห็น E-learning ที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ
                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                  18 มิ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 312เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2005 02:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เห็นด้วยกับ อาจารย์ในทั้ง 4 ข้อครับ

เพื่อเป็นการร่วมคิด ผมขอลองวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันคนส่วนมาก
มีสมมติฐาน มีมุมมองเกี่ยวกับ E-learning ที่อาจผิดพลาดคลาดเคลื่อน
อย่างไรบ้าง และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  โดยขอไล่เรียงข้อไปตาม
ลำดับ 4 ข้อ ของ อาจารย์ครับ

1. Technology และฝ่ายผู้ผลิต ควรเป็นตัวกำหนดแนวทางการ
พัฒนา E-learning


ความคิดนี้ เกิดมาจากพัฒนาการของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ที่ในปัจจุบันโดนผลักดันด้วยความเปลี่ยนแปลงของ technology
คนจึงเคยชินกับการคิดว่า  ถ้ามี technology ใหม่ๆ แบบนี้แล้ว
จะทำอะไรได้บ้าง  จะสร้างประโยชน์ยังไงได้บ้าง  ผู้สร้าง technology
จึงมักเป็นผู้กำหนดอนาคต โดยอาจทำ market research บ้าง
ว่าผู้ใช้ชอบอะไร  อะไรจะขายได้บ้าง  ก็จะผลิตตรงนั้น  หรือถ้ารัฐเป็น
ตัวผลักดันเอง ก็มักเอาความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยี เป็นตัวตั้ง
คิดเฉพาะว่า จะเอา e-commerce หรือ data-mining ไปเปลี่ยนแปลง
สิ่งเดิมๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างไร  โดยไม่ได้เข้าใจบริบทของปัญหาที่แท้จริง

ข้อเสียของวิธีคิดแบบนี้ ที่ชัดเจนคือ  ถ้าฝ่ายผู้ผลิตภาคธุรกิจเป็นตัว
ผลักดัน  ก็จะตอบสนองแต่ผู้มีกำลังซื้อ ไม่กี่ % ของประชากรเท่านั้น
แต่ตอบสนองแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ทางการเงินกลับมาเท่านั้น
ในขณะที่คนจำนวนมาก ที่ขาดกำลังซื้อ ก็จะอดใช้ หรือ เรื่องที่ดีงาม
เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างการสร้างศีลธรรม คุณธรรม ก็จะถูกละเลย
ส่วนกรณีที่ภาครัฐเป็นผู้ผลัก โดยเน้นเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง ก็จะไม่เกิด
ผลสำเร็จจริงเท่าที่ควร  เพราะเข้ากันไม่ได้กับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมเดิม
คำแนะนำของอาจารย์ เรื่องการเอาชาวบ้านจริงๆ มาร่วมคิดด้วย จึงเป็น
เรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

2. ความรู้อยู่ในกระดาษ อยู่ในตำรา อยู่ในซีดีรอม

ความคิดนี้ เกิดมาจากอารยธรรมของมนุษย์ ในช่วยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
ที่มีการค้นพบการพิมพ์ ทำให้สามารถผลิตหนังสือออกมาได้จำนวนมาก
พอมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โรงเรียนก็แปลงสภาพเป็นโรงงานผลิต
"ผู้มีความรู้" ซึ่งสอบผ่านกระบวนการ "ท่องจำ" ความรู้ในตำราเรียน
ถ้าจำไว้ได้พอ (รวมทั้งเข้าใจพอสมควร) ก็จะสอบผ่าน  คนทุกคนที่ผ่าน
ระบบการศึกษาแบบนี้ จึงคุ้นชินกับสมการว่า "ความรู้ = ตำรา"  ทั้งๆ ที่
ความจริงแล้ว ความรู้ที่สำคัญจริงๆ คือความรู้ที่ปฏิบัติได้ (action knowledge)
คือรู้แล้ว ประกอบอาชีพได้  สร้างประโยชน์สร้างคุณค่าได้  ซึ่งจำนวนมาก
นั้นไม่ได้อยู่ในตำราเลย  แต่ต้องเรียนเองในโรงเรียนชีวิต

ก่อนสมัยที่หนังสือจะแพร่หลาย การเรียนรู้ก็เป็นแบบปากต่อปาก เป็นหลัก
เป็นศิษย์ก็ต้องไปฝากตัวกับอาจารย์ที่ตักศิลา  การสอนแบบนี้จำกัดที่ทำได้
ทีละน้อยๆ  ไม่สามารถทำเยอะๆ แบบโรงงานได้  แต่ก็มีข้อดีที่สอดคล้อง
กับธรรมชาติของการเรียนรู้ ที่เป็นการเลียนแบบเพื่อทดลองทำความเข้าใจ
(social learning theory)  มาถึงยุคปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีขึ้น
ก็จะทำให้การเรียนรู้จากคนสู่คน กลับมาเป็นรูปแบบหลักอีกครั้ง  เพราะ IT
ช่วยลดข้อจำกัดแบบเดิม  ดังนั้นผมจึงเห็นว่าไม่ควรเน้นความรู้ในกระดาษ
ในสื่อ แม้กระทั่ง CDRom มากเกินไป  เพราะมันขาดความเป็นมนุษย์
แต่ควรใช้สื่อเหล่านั้น มาเสริมการเรียนรู้จากคนสู่คน  และเชื่อมโยงคนให้
รู้จักกัน พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น  สิ่งนี้จะพบได้ใน Technology กลุ่ม
ที่เรียกกันว่า Social Software เช่น blog, wiki, และ social networking

3. ระบบ E-learning ในอนาคต ดูได้จากระบบในอดีตอย่างห้องสมุด

ความคิดเช่นนี้ วางอยู่บนฐานคิดข้อ 2 คือมองความรู้อยู่ในกระดาษ
หรือสื่อการสอนซีดีรอม  ระบบการเรียนรู้ที่เรารู้จักเดิมๆ ก็มีไม่กี่อย่าง เช่น
การเรียนในห้อง, การอ่านหนังสืออยู่บ้าน, การเข้าห้องสมุด, การฟังสัมมนา
การเรียนระบบทางไกล  ทั้งหมดนี้แบ่งง่ายๆ เป็น 2 แบบ คือ individual
และ broadcast (one-to-many)  ซึ่งมาจากข้อจำกัดของการสื่อสารและ
การแลกเปลี่ยนข้อมูล  ที่ทำให้ต้องใช้ตำรา ใช้การแบ่งผู้สอน/ผู้เรียน
แต่ทว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้ปลดปล่อยเราออกจากเงื่อนไขแบบเดิมๆ แล้ว
ทุกคนสามารถค้นคว้าหาเรื่องที่สนใจได้มากมายจาก internet และทุกคน
สามารถมีช่องทางแสดงความรู้ความเห็นได้ผ่าน blog  การสื่อสารสองทาง
ไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป  ระบบใหม่ในอนาคต จึงน่าจะวางอยู่บนรูปแบบของ
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) หรือ CoP ที่ทุกคนแลกเปลี่ยน
ความรู้กันเองได้โดยไม่ติดขัด  และอาศัยสื่อ/หนังสือ/ซีดี เป็นตัวเสริม

4. รัฐได้กำหนดนโยบายด้าน IT เพื่อการศึกษาอย่างถูกทิศแล้ว

หากพิจารณาจาก พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 จะพบว่าหมวด 9
เรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ได้พูดถึงประเด็นที่สำคัญคือ
มาตรา 63: คลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐาน
มาตรา 64: ส่งเสริมการพัฒนาหนังสือ และสื่อ ในฝ่ายผู้ผลิต
มาตรา 65: พัฒนาคน ทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตเทคโนโลยี
ถ้ามองเทียบกับ พระราชบัญญัติก่อนๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นของใหม่ทันสมัยพอดู
แต่หากมองบนฐานความคิดในข้อก่อนๆ ข้างต้น  จะเห็นจุดที่ยังขาดอยู่เช่น
ยังมอง infrastructure ในระดับ physical เป็นหลัก  ในขณะที่ปัจจุบันนี้
ระบบโทรศัพท์บ้าน, มือถือ และ hispeed internet ได้เติบโตอย่างมากแล้ว
สิ่งที่ขาดคือ infrastructure ของ software และการสร้างชุมชน

รัฐไม่ควรปล่อยให้เอกชนผู้ผลิตดำเนินไปตามกลไกการตลาดอย่างเดียว
ไม่ได้หมายความว่า ให้รัฐทำแข่งกับเอกชน  แต่รัฐควรจะลงทุนใน
เรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เช่น การสนับสนุน software opensource
และเนื้อหาดิจิตอลที่เป็น opensource ดังเช่นโครงการ Wikipedia และ
Creative Commons ที่ดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ  เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐยังสามารถสนับสนุน infrastructure ของการเกิดชุมชน
แห่งการเรียนรู้ได้  เช่น สคส. ได้สนับสนุนการพัฒนา gotoknow.org เป็นต้น
หากสังคมไทย มีแหล่งความรู้สาธารณะที่มีคุณภาพ  ภาคเอกชนก็ยัง
สามารถทำธุรกิจในกลุ่มเฉพาะ(niche) ได้  ที่สำคัญคือควรมุ่งประโยชน์
ของประชาชนในการได้เรียนรู้เป็นหลัก

ทั้งข้อนี้ก็เป็นความคิดเห็นของผม ที่ค่อนข้างสอดคล้องกับของท่าน อ.วิจารณ์
ผมหวังว่าคงจะได้ช่วยเป็นเสียงหนึ่ง ที่ร่วมคิดร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยต่อไปครับ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ ผมเพิ่งมาอ่านข้อคิดและเขียน จากการใช้การค้นหาด้วย Tag หรือ ป้าย ของ GotoKnow version 2
  • เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งครับเรื่องเน้น การรวบรวมและกระจาย ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ให้มาก ๆ  และ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning)
  • อยากให้ เน้นจุดยืนของ Gotoknow ให้ชัดไว้ที่หน้าแรก เพื่อจะไม่เป็น เหมือน Blog ทั่ว ๆ ไปครับ
ขอบคุณมากค่ะ  สำหรับข้อความดีดี  กำลังทำรายงานเรื่องนี้อยู่พอดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท