มนุษย์สัมพันธ์สาคํญฉไหน


การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้งานที่ยุ่งยากสามารถดำเนินไปโดยง่ายดาย

 

มนุษย์สัมพันธ์สำคัญฉไหน โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหาร ยิ่งผู้บริหารอวุโสน้อย

   ฉนั้นลองมาฟังผู้รู้  ว่าอย่างไรกับเรื่องนี้        

                         การบริหารงานการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานด้านใน  เช่น  การบริหารงานบุคคล   การบริหารอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม  การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน  เป็นต้น   ผู้บริหารจำเป็นจะต้องมีความรู้   ความเข้าใจในเรื่อง   “มนุษย์สัมพันธ์”  และมีทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์เป็นอย่างดี  เพราะผู้บริหารต้องทำงานสัมพันธ์กับบุคคลหลายประเภท   ซึ่งมีความแตกต่างกันทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณี   วัฒนธรรม  สังคม   สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  เจตคติ  และค่านิยม   บุคคลต่าง ๆ  ได้แก่  ผู้บังคับบัญชา  ผู้ใต้บังคับบัญชา    ผู้ใต้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่คนงานภารโรงนักเรียน   ผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนทั่วไป  เป็นต้น  ผู้บริหารต้องศึกษาพฤติกรรมและพยายามเข้าใจบุคคลทุกประเภท   เพื่อการรวมคนในองค์การบริหารให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน   ในลักษณะที่มุ่งหวังจะให้เกิดความร่วมมือประสานงานกัน  มีความคิดสร้างสรรค์  เพื่อพัฒนางานให้บรรลุวัตถุประสงค์มีอยู่หลายครั้งที่พบว่างานล้มเหลว   เพราะความไม่เข้าใจกันจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้  และส่วนหนึ่งของความไม่เข้าใจกันดังกล่าวนี้เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องมนุษย์สัมพันธ์

                         มนุษย์สัมพันธ์สำหรับผู้บริหาร  หมายถึงการที่ผู้บริหารใช้ความรู้  ความเข้าใจในเรื่อง  “มนุษย์สัมพันธ์”  ให้เป็นประโยชน์ต่องานในองค์การให้เป็นประโยชน์ต่อภาระหน้าความรับผิดชอบของผู้บริหารในการบริหารงานภายในองค์การหมายความว่าผู้บริหารมีบทบาทมหน้าที่ทำอะไรจะใช้ความรู้เรื่องมนุษย์สัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์ในหน้าที่นั้นได้อย่างไร  เช่น  มีบทบาทหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารก็ใช้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง  “มนุษย์สัมพันธ์ในการติดต่อสื่อสาร”  มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้บังคับบัญชาคน   ก็ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเรื่องคน  เช่น  เข้าใจธรรมชาติของคน  รู้จักตนเอง  รู้และเข้าใจความต้องการของผู้อื่น  เป็นต้น  ทั้งนี้  เพื่อให้งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ  และบุคคลในองค์การมีความพึงพอใจนั่นเอง  อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของคนกับงาน   เป็นเรื่องศิลปะการใช้คนให้ทำงานให้แก่องค์การ   โดยที่คนทำงานก็มีความสุขความพอใจงานขององค์การก็สำเร็จตามวัตถุประสงค์

 

ความหมายของมนุษย์สัมพันธ์ 

                         ความหมายของคำที่ผู้อ่านประสงค์จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งในรายละเอียดของเนื้อหาวิชาใด ๆ ก็ตามมีความสำคัญมากต่อการสร้างความเข้าใจ   เจตคติการสร้างสรรค์ความคิดเห็นที่ถูกต้องในเนื้อหาวิชานั้นให้กว้างไกลและลึกซึ่งยิ่งขึ้น

                         การให้นิยามหรือความหมายของคำใดย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจของบุคคลผู้ให้นิยมนั้นประการหนึ่ง   อีกประการหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาว่าจะให้ความหมายของคำนั้นหนักไปในทางใด  เช่น  ต้องการเน้นให้หนักไปทางความรู้  หรือต้องการเน้นให้หนักไปทางความรู้สึกของจิตใจ

                         การให้นิยามของคำว่ามนุษย์สัมพันธ์ในบทความนี้   ส่วนใหญ่เป็นความรู้ความเข้าใจของนักการศึกษา    นักจิตวิทยา   นักปรัชญาเน้นความหมายหนักไปทางความรู้   ความรู้สึกทางจิตใจเป็นประการสำคัญ

                         “มนุษย์สัมพันธ์”  ในภาษาอังกฤษใช้ว่า   “Human  Relation”  มีความหมายชัดเจนว่า

                         มนุษย์   (Human)  หมายถึง  คน  เหล่าคน  ลักษณะความเป็นคน  ลักษณะความเป็นมนุษย์

                         สัมพันธ์  (Relation)   หมายถึงการผูกพันความเกี่ยวดอง  ความสัมพันธ์  ผูกพันเกี่ยวข้องกัน

                         “มนุษย์สัมพันธ์”   จึงหมายถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์ด้วยกัน   อาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล   บุคคลกับกลุ่มบุคคลกับคณะบุคคล   หรือบุคคลกับสังคมก็ได้  เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม  ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นเหล่า   มีปฏิกิริยาตอบโต้ในกลุ่มหรือทางสังคมซึ่งกันและกัน   มีวัตถุประสงค์เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตร่วมกัน   เป็นการตอบสนองสัญชาตญาณของมนุษย์   ดังนั้น  ความหมายของมนุษย์สัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้นนี้   จึงหมายรวมถึงการติดต่อเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์อันเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างมิตร   การชนะมิตร   การจูงใจคนรวมทั้งการสร้าง   หรือพัฒนาตนเองให้เป็นที่รู้จักรักใครชอบพอแก่คนทั่วไปอย่างกว้าวขวางได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากบุคคลทุกฝ่ายเป็นการสร้างตนให้เป็นคนดีของสังคม  เป็นการครองใจคนเพื่อให้เกิดความพอใจรักใคร่ร่วมมือกันทำงานด้วยความเต็มใจ  พึงพอใจ   และมีความสุขมนุษย์สัมพันธ์จึงมีลักษณะเป็นวิชาที่ว่าด้วย  “ศาสตร์และศิลป์”  ในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลกับบุคคล  ระหว่างบุคคลกับคณะบุคคล   และระหว่างบุคคลกับสังคม  เพื่อให้ได้มาซึ่งความรักใคร่นับถือ   ความจงรักภักดี   และความร่วมมือซึ่งกันและกันอีกนัยหนึ่งด้วย

                         วิจิตร  อาวะกุล  ได้รวบรวมความหมายของคำว่า   “มนุษย์สัมพันธ์”  ไว้หลายนิยมล้วนมีแนวความคิดที่เป็นประโยชน์   น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งดังต่อไป

                         “มนุษย์สัมพันธ์คือวิชาที่ว่าด้วยวิธีการหรือศิลปะในการเข้ากับคนเพื่อเอาชนะ   และครองใจคน  ให้เขาเห็นด้วย   พอใจ  รักใคร่  เชื่อถือ  ศรัทธาและทำตามเราด้วยความเต็มใจ”

                         “มนุษย์สัมพันธ์  คือ  กระบวนการปฏิบัติเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหน่วยงานราบรื่น   ก่อให้เกิดขวัญดีในอันที่จะนำไปสู่การเพิ่มผลงาน”

                         “มนุษย์สัมพันธ์    คือ วิธีที่จะครองใจคนโดยมีความประสงค์ให้บุคคลเหล่านั้นนับถือ   จงรักภักดี   และให้ความร่วมมือในการทำงานด้วยความเต็มใจ”

                         “มนุษย์สัมพันธ์   คือ  ศิลปะของการเข้ากับคนได้อย่างราบรื่น  และเป็นที่ยอมรับของสังคมเนื่องจากการทำงานในปัจจุบันพบว่าการใช้อำนาจบังคับ   หรืออกระเบียบควบคุม  จะไม่เป็นผลเลย”

                         จากนิยามดังกล่าวอาจสรุปได้   มนุษย์สัมพันธ์เป็นเรื่องการเข้าใจมนุษย์   การเข้าใจจิตใจของตนเองและบุคคลอื่น   เพื่อจะได้อยุ่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกันในองค์การในหน่วยงานและในสังคมได้อย่างราบรื่นเป็นสุข  “มนุษย์สัมพันธ์”  คือ เรื่องที่จะต้องอาศัยความจริงใจต่อกันเป็นแก่นแก้ของความสัมพันธ์   จึงจะบังเกิดผลจงรักภักดี  ได้รับความร่วมมือ   และครองใจซึ่งกันได้โดยสันติวิธีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเรื่องการร่วมมือร่วมใจกันทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การได้อย่างมีความสุข

                        

ความหมายของมนุษย์สัมพันธ์กับการบริหาร

                         การดำเนินงานประจำวัน   นักบริหารพบว่าแม้ตัวเองและคณะบริหารจะมีความรู้ความสามารถมากเพียงใดก็ตาม   หากขาดความเข้าใจในเรื่องคนไม่รู้จักใช้หลักมนุษย์สัมพันธ์เสียแล้วก็จะไม่สามารถจูงใจ   หรือสร้างความนิยมเลื่อมใสให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ร่วมงานได้   ความร่วมมือร่วมใจในการทำงานอาจจะไม่ประสบกับความสำเร็จเท่ากับควรหรืออาจจะล้มเหลวได้

                         มนุษย์สัมพันธ์ในการบริหารงานมีความหมายเน้นหนักไปในเรื่อง   ผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของมนุษย์   นอกเหนือไปจากมนุษย์สัมพันธ์โดยทั่วไป   ความหมายของมนุษย์สัมพันธ์ที่เกี่ยวกับการบริหารจึงมีเรื่องของการทำงานเพิ่มขึ้นมาด้วย   “มนุษย์สัมพันธ์  คือ วิธีการที่จะครองใจคนโดยมีความประสงค์ให้บุคคลเหล่านั้นนับถือ  จงรักภักดี   และให้ความร่วมมือในการทำงานด้วยความเต็มใจ”  และ  “มนุษย์สัมพันธ์  คือ  กระบวนการปฏิบัติเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหน่วยงานราบรื่น  ก่อให้เกิดขวัญดีในอันที่จะนำไปสู่การเพิ่มผลงาน”  เป็นต้น

                         วิลเลียม  จี  สกอตต์   กล่าวถึงมนุษย์สัมพันธ์กับการบริหารว่า  “มนุษย์สัมพันธ์  หมายถึงกระบวนการจูงใจผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างได้ผล   และทำให้วัตถุประสงค์ของผู้ปฏิบัติงานและองค์การได้ดุลย์กัน  โดยเพิ่มความพอใจให้แก่ผู้ปฏิบัติ   และช่วยให้เป้าหมายขององค์การสำเร็จผล”

                         นอกจากนั้น  คีท  เดวิส   ได้ให้ความหมายเพิ่มเติมใน  เรื่องของมนุษย์สัมพันธ์ที่เกี่ยวกับการบริหารว่า  “มนุษย์สัมพันธ์ คือ   แรงกระตุ้นร่วมกันของคณะบุคคลที่ก่อให้เกิดวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน  ที่จะให้บุคคลร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยร่วมมือร่วมใจกันให้เกิดผลทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม”

                         จะเห็นได้ชัดเจนว่า   มนุษย์สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการทำงานขององค์การมากหาก บุคคลในองค์การต่างก็มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว   แม้ต่อการตั้งวัตถุประสงค์ขององค์การ  พวกเขาก็สามารถร่วมมือร่วมใจกันตั้งขึ้นมาเอง  และร่วมมือกันทำงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์นั้น  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   อาจกล่าวได้ว่าความรู้สึกเป็นเจ้าของงานหรือเจ้าขององค์การ  ได้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงในหมู่บุคลากรภายในองค์การ   ความสำเร็จในการบริหารงานในองค์การนั้น   จึงเป็นเรื่องไม่ยากนักสำหรับผู้บริหาร

 

ความหมายของมนุษย์สัมพันธ์กับผู้บริหาร

                         บุคลากรทุกคนในองค์การมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนา  และทำให้มนุษย์สัมพันธ์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ประสบผลสำเร็จ   ทุกคนในองค์การไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งหน้าที่อะไร   ต้องมีการติดต่อสังสรรค์กับผู้อื่นในองค์การและมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน   ผู้บริหารต้องคำนึงถึงมนุษย์สัมพันธ์ที่ตนมีต่อบุคคลอื่น  ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอื่น ๆ  ในองค์การที่ตนรับผิดชอบดำเนินไปโดยราบรื่นและพัฒนายิ่งขึ้น

                         ตามความคิดของผู้บริหาร   มนุษย์สัมพันธ์คือ ระบบบูรณาการของบุคคลที่มาทำงานร่วมกันมี  แรงจูงใจที่จะร่วมกันปฏิบัติให้ความร่วมมือ  เพื่อให้เกิดความพอใจทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและด้านจิตใจเป็นสำคัญ   ดังนั้น  มนุษย์สัมพันธ์จึงมีหน้าที่กระตุ้นบุคคล   เพื่อให้บุคคลพัฒนาการทำงานเป็นกลุ่มเป็นพวกขึ้นมา   ซึ่งการทำงานเป็นกลุ่มเป็นพวกนี้   จะทำให้บุคคลให้ความต้องการของตนและในขณะเดียวกันก็ทำให้เป้าหมายขององค์การประสบความสำเร็จด้วย   ดังนั้น  มนุษย์สัมพันธ์สำหรับผู้บริหารจึงเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยการศึกษาพฤติกรรมของคนที่มาเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันในองค์การหรือหน่วยงาน   เพื่อให้การทำงานร่วมกันดำเนินไปด้วยความราบรื่น   บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การซึ่งผู้บริหารรับผิดชอบอยู่นั่นเอง   อาจจะสรุปแนวคิดเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ที่ผู้บริหารควรทราบ   ได้ดังนี้

  1. มนุษย์สัมพันธ์จะเน้นถึงการศึกษาพฤติกรรมของตัวบุคคลมาก

กว่าเรื่องอื่น

  1. ตัวบุคคลเหล่านี้จะต้องอยู่ในรูปองค์การที่มีการจัดระบบแล้วเป็น

อย่างดี

  1. กิจกรรมหลักของมนุษย์สัมพันธ์คือ การจูงใจคน  เพื่อให้ได้

ทำงานมากขึ้น   มีผลผลิตมากยิ่งขึ้น   ตามกฎของกลศาสตร์ทุกสิ่งในโลกไม่สามารถได้ผลผลิตมากเกินกว่าที่ป้อนเข้าไป  แต่คนทำได้โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์   หากได้รับการจูงใจ

  1. การใช้มนุษย์สัมพันธ์จูงใจนั้นก็เพื่อที่จะจูงใจให้บุคคลทำงานเป็น

กลุ่มซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและการประสานงานกัน  ประสานงาน  หมายถึง  การทำงานหรือทำกิจกรรมที่ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ   ส่วนความร่วมมือร่วมใจ  หมายถึง  ความพยายามของบุคคลที่จะทำงานด้วยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

  1. มนุษย์สัมพันธ์โดยอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มนี้  ต้องการ

ทั้งการตอบสนองความต้องการของบุคคลและการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ  มิใช่ตอบสนองเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

  1. มนุษย์สัมพันธ์เป็นเครื่องมือที่บุคคลและองค์การใช้เพื่อแสวงหา

วิธีที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ   โดยลงทุนลงแรงอย่างประหยัดที่สุดเมื่อเทียบกันผลผลิตที่ได้

 

ความมุ่งหมายของมนุษย์สัมพันธ์

                         มนุษย์เป็นสัตว์สังคม   ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นเหล่า   ย่อมมีการพบปะ   พูดคุย   ติดต่อ  สื่อสาร  เพื่อคบหาสมาคมเพื่อจะได้รู้เรื่องราวข่าวสาร  ความเป็นไปของธุรกิจการงานต่าง ๆ  ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก  มีการติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์   วิทยุมือถือ  โทรพิมพ์   และสื่อสารผ่านดาวเทียม   ความเจริญเติบโต   ของบ้านเมืองตลอดจนพัฒนาการในเรื่องต่าง ๆ  จนติดเป็นนิสัยที่จะต้องมีการสอบถาม   พูดคุย  บอกเล่า   มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น   ทำให้มนุษย์ต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการที่จะสื่อสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ   การสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นของคู่กันมากับมนุษย์และสังคมตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว    การสื่อสัมพันธ์หรือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นคุณสัมบัติและเป็นคุณลักษณะของผู้นำอย่างหนึ่ง

                         การสื่อสัมพันธ์กันไปตามธรรมชาตินั้น  อาจจะเกิดผลได้ทั้งผลดีและผลเสีย   เช่น  การขัดแย้งไม่ราบรื่น   ไม่เข้าใจกัน  เป็นต้น  ผู้ที่ศึกษาและเข้าใจวิธีการสัมพันธ์จะได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ

                         วิจิต   อาวะกุล   กล่าวถึงความมุ่งหมายของมนุษยสัมพันธ์ไว้  ดังนี้

  1. เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษย์  อันจะก่อให้เกิดความราบรื่นในการคบหาสมาคม
  2. เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส  ศรัทธา  เชื่อถือ  ไว้วางใจ   และเข้าใจดีต่อกัน
  3. เพื่อส่งเสริมและธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีต่อกัน   ให้บังเกิดความร่วมมือร่วมใจ   และเกิดความพอใจในการทำงาน
  4. เพื่อให้งานได้สำเร็จลุล่วง   และบรรจุวัตถุประสงค์ของสถาบัน  หน่วยงานด้วยความราบรื่น
  5. เพื่อให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกัน   อันจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันความขัดแย้งระแวงสงสัย   และไม่ไว้วางใจกัน
  6. เพื่อก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในการทำงาน   ให้เกิดความสำเร็จในกิจการที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
  7. เพื่อนำความหวังความตั้งใจของชีวิตให้ไปสู่ความสำเร็จ

 

นักวิชาการบางท่านอธิบายว่าวิชามนุษย์สัมพันธ์มีความมุ่งหมายเพื่อผลสำเร็จขององค์การ   อธิบายความมุ่งหมายเพื่อผลสำเร็จส่วนตัวของเอกัตบุคคลจะประกอบด้วยองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ  สังคม  และจิตวิทยา   เช่น มีรายได้เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคมมีความพึงพอใจในงาน  มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ   เป็นต้น   ส่วนความมุ่งหมายเพื่อผลสำเร็จขององค์การเน้นที่งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  องค์การที่มีผลผลิตสูงหากเป็นองค์การเชิงธุรกิจ   ก็คือ  มีกำไร   กิจการเจริญก้าวหน้าอย่างมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน  แต่องค์การที่ไม่ใช่เชิงธุรกิจ  เช่น  โรงพยาบาล   โรงเรียน  เป็นต้น   เป็นองค์การเชิงบริการ  มีวัตถุประสงค์  เพื่อการให้บริการ   มองเห็นความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การได้ไม่ชัดเจน   ไม่เป็นรูปธรรมมากนัก   มักจะอยู่ในรูปของนามธรรมเป็นส่วนมาก  เป็นต้น 

 

อ้างอิง :   อุดม  อักษรนิตย์. 2541. มนุษย์สัมพันธ์สำหรับผู้บริหารสถาบัน.  19,  9  มิ.ย.  : 48-52 .

 เราต้องนำหลักการไปประยุกต์ใช้ให้ตรงกับโอกาส

หมายเลขบันทึก: 311832เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2009 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท