บรรยากาศเรียนปนเล่นในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เมืองคอน


ผมได้ศึกษา ได้อ่าน เรื่องเรียนปนเล่นจากหนังสือ จากการฟังบรรยาย และ blog เห็นว่าน่าจะเหมาะกับธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้าน น่าจะลองทำดูสักที ได้ทดลองครั้งนี้แล้วสังเกตบรรยายกาศ ก็พบว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ได้ทั้งสาระและบรรยากาศที่สนุกสนาน

นั่งทบทวนตนเองว่าเมื่อวานทำอะไรมั่ง นึกได้ว่าทำหลายเรื่องแต่จะเล่าสัก 2 เรื่อง


ช่วงเช้า 9 โมง ผอ.วิมล วัฒนา ผอ.กศน.จังหวัดนครศรีฯ เรียกพบที่ กศน.จังหวัดเรื่อง การไปออกอากาศรายการ สายใย กศน. ณ ห้องออกอากาศของสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ Road map การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกอากาศเวลา 10.00-11.00 น.วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นรายการสด ท่านให้ผมนำประสบการณ์จัด KM ที่ผมทำอยู่ไปเล่า และหาคุณอำนวยทีม KM ผมไปด้วย  ผมเองอยากจะให้คุณกิจคือผู้เรียนผมไปเล่าด้วยจังเลย แต่ท่านบอกว่าเวลาที่ออกอากาศมีน้อย ค่อยโอกาสต่อไป ไม่งั้นแล้วครบกระบวนการเลย

ช่วงบ่ายตั้งแต่บ่ายโมง ก็ไปร่วมประชุมเสวนา เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ( กลุ่มสมาชิก 10 กลุ่ม)  ซึ่งประชุมกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ครั้งนี้สัญจรมาประชุมกันที่ กลุ่มบ้านมะขามเรียง หมู่ที่ 1 ตำบลบางจาก มีตัวแทนกลุ่มสมาชิกและทีมงาน KM กศน. รวม 30 คน เข้าร่วม

ธรรมดาเครือข่ายนี้มีการนัดหมายกันทุกวันที่ 28 ของเดือน แต่เดือนนี้มีเหตุขัดข้องบางประการจึงเลื่อนมาลงวันนี้

การประชุมเสวนาครั้งนี้ต่างไปจากครั้งก่อนๆ ต่างอย่างไร ผมจะเล่า......ครับ

เริ่มจากต่างคนก็ต่างเดินทางมาถึง (ห้องเรียน) สถานที่ประชุมเสวนา ใช้ใต้ถุนอาคารของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช  ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักชุมชนมะขามเรียง

สมาชิกเครือข่าย ค่อนข้างจะคุ้นเคยกันดีแล้ว เพราะร่วมเรียนรู้กันหลายเวที หลายครั้งแล้ว เมื่อมาถึงต่างก็จับกลุ่มสนทนาพูดคุยกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน บ้าง 4 คน บ้าง บางคนก็มวนใบจาก บางคนก็โชว์ภาพถ่ายเอกสารที่ไปดูงานมา เหมือนบรรยากาศก่อนการประชุมของการประชุมโดยทั่วไป

สักพักหนึ่งกลุ่มหนึ่งก็เข้ามานั่งในที่นั่งที่จัดให้ ซึ่งคุณอำนวยทั้งหลาย (คณะครูอาสาฯ)จัดที่ประชุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม โต๊ะเก้าอี้ กลุ่มอื่นๆ ก็ทยอยตามมานั่งด้วย  การพูดคุยก็ยังเป็นเรื่องเดิมของแต่ละกลุ่มย่อยอยู่ จากนั้นเสียงเสียงจากกลุ่มย่อยที่พูดเรื่องปุ๋ยกองเติมอากาศแหลมขึ้นมา เสียงกลุ่มย่อยอื่นก็เงียบลง คุณ ธีรพล ระฆังทอง ตัวแทนจากกลุ่มปุ๋ยหมักชุมชนมะขามเรียง คือเจ้าของเสียง จากนั้นก็เริ่มเล่าระบบที่ว่า ว่าได้รู้ข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลไหน เชื่อได้หรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ดีไม่ดีได้ทดลองแล้วหรือไม่  คำถามจากตัวแทนกลุ่มอื่นก็ทยอยถามมา คุณอำนวย (ครูอาสาฯ) เวทีคราวนี้ เป็นตาของ อ.หทัยกาญจน์ วัฒนาสิทธิ์  (จัดเวรกันทำหน้าที่คุณกระบวนการ) ต้องจัดคิวคำถาม กระตุ้น เชื่อมโยงความคิด ความรู้  พอได้เข้าใจเรื่องนี้แล้ว เสียงที่ดังนี้ก็เริ่มซาๆลง  สักพักหนึ่งก็มีเสียงคุยเรื่องการที่ได้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์จากไปดูงานมาที่จังหวัดชลบุรีแหลมขึ้นมาอีก เพราะสมาชิกผู้นี้ได้ไปศึกษาดูงานมา เจ้าของเสียงคือ คุณ กมลทิพย์ มาลากาญจน์ ตัวแทนจากกลุ่มปุ๋ยหมักบ้านในไร่ ตำบลปากพูน (ชื่อเล่น น้องวิน)  มีการเล่า การซักถามสนทนากันอีก กระบวนการอย่างเดียวกับเสียงดังครั้งแรก .......เสียงแหลมขึ้นจาก คุณ รัตนา กิจจารักษ์ จากกลุ่มปุ๋ยหมักบ้านนาเคียนใต้ เรื่องการของบสนับสนุนจากทางราชการเพราะกลุ่มของตนได้งบซื้อเครื่องบดละเอียดและเครื่องผสมปุ๋ย และทำศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 150,000 บาท จากงบผู้ว่า CEO บอกว่าแนะนำเรื่องนี้ได้ โดยต่อไปให้เขียนเสนอขอไปที่ อบจ.แทน  ... แล้วก็มีเรื่องแนวทางการทำวิสาหกิจเครือข่าย .........เรื่องการบริหารงานเครือข่าย เป็นต้น

ผมได้ศึกษา ได้อ่าน เรื่องเรียนปนเล่นมาจากหนังสือ จากการฟังบรรยาย และ Blog เห็นว่าน่าจะเหมาะกับธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้าน น่าจะลองทำดูสักที ได้ทดลองครั้งนี้แล้วสังเกตบรรยากาศ ก็พบว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ได้ทั้งสาระและบรรยากาศที่สนุกสนาน  ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เรามีวาระแจกให้ล่วงหน้า ประชุมกันตามวาระ ซึ่งเครียด จริงจัง ไม่เป็นกันเอง ไม่สนุกสนาน  คราวนี้วาระก็เตรียมไปเหมือนกัน แต่ผมอยากให้เปลี่ยนไปเป็นอย่างนี้ดูบ้าง คิดว่าสมาชิกเครือข่ายน่าจะนิยมแบบนี้มากกว่า ลดความเป็นครูกับผู้เรียนลงได้มาก

สิ่งที่เราในฐานะผู้เอื้อ และสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายจะต้องพัฒนาเพิ่มเติม   ก็คือเรื่องการบันทึกสรุปประเด็นเรียนรู้ เพราะเราพูดกันตามความสนใจแต่ละคน ทำให้บันทึกยากเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขึ้นเป็นอุปสรรคอะไรหรอก  ผมว่ารูปแบบนี้น่าจะนำไปใช้ได้กับเครือข่ายผลิตภัณฑ์ผ้า เครือข่ายส่งเสริมการเลี้ยงโค เครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ที่กำลังทำอยู่ ( แต่รูปแบบและกิจกรรมยังไม่เข้มข้น) คงจะได้เรียนรู้กระบวนการดำเนินงานจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพราะกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เราพัฒนาขึ้น ได้เริ่มต้นมาใกล้เคียงกัน เรียนรู้มาด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงานอาชีพมาเหมือนกัน มีประสบการณ์พอๆกัน ผมคิดว่าคงไม่ยากแล้วที่จะทำต่อ

ข้อสรุปของการประชุมเสวนาครั้งนี้ คือ 1 เครือข่ายคิดจะทำวิสาหกิจร่วมกัน ความคิดยังไม่ยุติว่าจะทำอะไร คงจะประชุมเสวนากันอีกหลายๆครั้ง  2. เครือข่ายจะทำโครงการของบประมาณ อบจ. 2 โครงการ คือ โครงการจัดเพิ่มผลผลิตปุ๋ยด้วยเครื่องบดและเครื่องผสมปุ๋ย กับโครงการไปทัศนศึกษาดูงานการทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศเพิ่มเติมที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  3 การผลักดันให้กลุ่มอาชีพต่างๆขยายการเรียนรู้ไปในประเด็นการเรียนรู้อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับปุ๋ยหมัก

คราวต่อไป (ครั้งที่ 6 ) นัดประชุมกันที่กลุ่มปุ๋ยหมักบ้านในไร่ ตำบลปากพูน ผมว่าน่าจะเอาสมาชิกคนอื่นๆที่ไม่ใช่หน้าเดิมๆมาบ้าง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น แล้วผมจะเล่าต่อนะครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท