เหลียวซ้าย แลขวา KM เครือข่าย (1)


ตอนนี้หลายๆ รพ. ใช้วิธีการส่งเวร และใช้ AAR ในการส่งเวรกัน ตอนนี้ผลลัพธ์ของ KM ไปถึงชุมชนค่อนข้างมาก

 

เมื่อวันที่ 26 พค. จากการประชุม การจัดทำหนังสือ "กรณีตัวอย่างการจัดการความรู้ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข" ที่ สสส. ก้อได้พบเรื่องราวน่าสนใจ ของการทำ KM ของหน่วยงานต่างๆ ประมาณว่า 4 หน่วยงาน น่าสนใจ ก็เลยนำเรื่องราวมาให้ได้เรียนรู้ค่ะ ... เริ่มที่ จ.นครสวรรค์กันก่อนนะคะ

คุณคชาภรณ์ เจียนิวัตต์ จาก สสจ.นครสวรรค์ เริ่มเล่าว่า KM ที่ไปใน จว.นครสวรรค์นั้น เราเริ่มแรก ที่การทำการพัฒนาคุณภาพ รพ. เพื่อสู่การรับรองคุณภาพ พอทำไปได้ระยะหนึ่ง พรพ. ก็บอกว่า น่าจะมีกระบวนการพัฒนาทางคุณภาพ ด้วยกระบวนการ KM และก็ได้งบประมาณสนับสนุนจาก พรพ. ด้วย ... มี รพ.เข้าร่วมทั้งหมด 15 รพ. เป็น รพช. 12 แห่ง รพศ. 1 แห่ง และโรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ อีก 1 แห่ง

ต่อด้วยคุณเปรมฤดี กาญจนาพร ผู้บรรลุถึงความทุกข์ยากตัวจริง เมื่อเริ่มทำ KM ก็ใช้สไตล์ เรื่องเล่า เร้าพลังละค่ะ ... เธอเล่าถึงความยากลำบากในการนำ KM ไปใช้ในช่วงแรกๆ ว่า

ตอนแรกเรามีความรู้สึกว่า เหมือนเราโกรธ พรพ. เพราะว่าเราพัฒนาคุณภาพโดย HA และ HPH จริงๆ มันก็ integrate อยู่แล้ว และอยู่ดีๆ พรพ. อยากให้เราเดินทางลัด โดยใช้เครื่องมือ KM เพื่อให้เราสู่เป้าหมายแบบก้าวกระโดดได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนั้นเราไม่เข้าใจ และเราสับสนกับชีวิต เพราะว่าแค่โครงการของเรากว่าจะผ่าน เราถูกแก้ไขก็ประมาณ 3-4 ครั้งไปแล้ว ... และเราก็ไม่แน่ใจว่า การทำ KM  จะ match กับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างไร เราก็เขียนด้วยความไม่เข้าใจ จนกระทั่งโครงการผ่าน ก็ดีใจ แต่ก็สับสนกับการทำ KM ในระยะแรกๆ อยู่ดี ... ทั้งๆ ที่เราได้ครูบาอาจารย์อย่างท่านอาจารย์ประพนธ์ ท่านอาจารย์ไพฑูรย์ ไปช่วยสร้างความกระจ่างให้เรา

ที่จริงแล้วเราได้เรียนรู้เรื่อง KM ตอนอาจารย์อนุวัฒน์ ก่อนที่จะเริ่มเขียนโครงการนั้น เราได้เรียนรู้มาบ้างแล้ว แต่ตอนนั้นเหมือนกับว่า เรารับอะไรเยอะมาก มาก ... จนเราไม่สามารถที่จะดึง หรือ capture เอาให้มันเป็นหลักว่า เราจะทำอย่างไร เราจะทำไปเพื่ออะไร แล้วผลลัพธ์ที่ พรพ. คาดหวังว่า รพ.จะมีการก้าวกระโดด โดยอาศัยเครือข่ายของเราได้จริงหรือไม่ เรายังไม่เข้าใจค่ะ ... รู้แต่ว่า KM เป็นเครื่องมือ ก็ใช้เครื่องมือธารปัญญามาช่วย เราก็อาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ พรพ.บอกว่าให้ค้นหา Gap และ Fill gap ตรงนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะหาอย่างไร และ fill อย่างไร

ต่อมา พอได้เรียนจาก อ.ประพนธ์ เราก็ได้เรียนรู้เครื่องมือ เรียนรู้กระบวนการทำ เรียนรู้ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) และกระบวนการจัดทำ Knowledge assets (KA) และการนำไปใช้นั้นเป็นยังไง ซึ่งในระยะแรกๆ เราทำเรื่อง DM ก่อน เราเสียเวลากับการทำ DM ประมาณ 6 เดือน เพราะว่าเงื่อนไขของโครงการกำหนดระยะเวลาที่ให้เราทำในเวลา 1 ปี โดยเราได้รับงบจาก สสส. โดยเราต้องทำทั้งหมด 6 KV (Knowledge Vision) (… ได้แก่ 1) การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน (DM) 2) การดูแลผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง (COPD) 3) ความคลาดเคลื่อนทางยา (Medication Error) 4) ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS) 5) การประเมินคุณภาพของการดูแลผู้ป่วย (Medication record) และ 6) มาตรฐานการคลอดเพื่อแก้ปัญหาภาวะแรกเกิดขาดออกซิเจน (Birth asphyxia) หรือหัวปลา ส่วนหัวปลานี้ใช้เวลา 6 เดือนค่ะ

หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาอีก เพราะเมื่อเราทำหัวปลาแล้ว เราก็ยังไม่แน่ใจว่า แล้ว รพ.จะเอาไปใช้มั๊ย และเวลาเราติดตามประเมินผลเวลาทำ KM แล้วนี่ คุณภาพมันไปได้ดีกว่าเดิมอย่างไร เราก็ยังไม่ทราบว่า เราจะติดตามยังไง เพราะว่าตอนเราทำ KM เราก็เพียงแต่ว่า ให้มีการ ลปรร. นะ และมีการไปเอา Knowledge assets หรือ Best practice หรือ Good Practice ไปใช้เท่านั้น แต่ตอนประเมินผลน่ะ จะไปเชื่อมต่อกับคุณภาพได้อย่างไร และมันจะบูรณาการเข้าไปในงานคุณภาพได้อย่างไร เรายังไม่แน่ใจ และเราก็ยังทำไปด้วยความไม่แน่ใจอีก ... และช่วงนั้นหลังจาก 6 เดือนมีการเปลี่ยนคนทำอีก แต่ก็โชคดีว่า เป็นทีม Knowledge Fa (Facilitators) ของจังหวัดอยู่แล้ว หรือ QRT (Quality Realization Team) ของจังหวัดอยู่แล้ว ก็เข้ามาเชื่อมได้เลยค่ะ

พอทำหัวปลาที่ 2...3...4 เราก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆ พอหัวปลาที่ 3 เราก็มานั่งทบทวนแล้ว (เพราะว่าจากการ AAR ทุกครั้งนี่ เราได้ประโยชน์มากเลย) พอทำ AAR หัวปลาที่ 3 นี่ ทีมก็มาคิดได้ว่า มันน่าจะมีวิธีการติดตามประเมินผลนะ ว่า KM เมื่อทำไปแล้ว เราจะประเมินความสำเร็จมันได้อย่างไร เราก็เลยเอาจากเครื่องมือตารางอิสรภาพที่ อ.ประพนธ์นี่ละค่ะ เป็นตัวตั้ง เพราะว่า การทำครั้งที่ 1 เราทำแบบใช้เครื่องมือของอาจารย์ เครื่องมือนี้จะเป็นการวัดระดับความพึงพอใจว่า ของแต่ละ รพ. ทั้ง 15 รพ. ณ ปัจจุบันเขาอยู่ตรงจุดไหน และเขาคาดหวังอะไรจะไปที่เท่าไร และตอนนั้น gap เขาเป็นอย่างไร ในช่วงแรกเขาเอา KA ไป implement ประมาณ 3 เดือน หลังจากที่ทำครั้งแรก พอหลังจาก 3 เดือนโดยประมาณ เราจะมาประเมินผลว่า เรื่องแรกที่ DM เอาไปใช้นี้ผลลัพธ์เป็นยังไง

ก็ปรากฏว่า เราใช้ตัวตารางอิสรภาพเป็นตัวประเมินผล โดยดูว่า gap ครั้งแรก และครั้งที่สอง มันลดลงไหม พอเราทำครั้งแรกนี้ ก็รู้สึกว่า สุดยอดมาก มันชื่นใจมาก เพราะว่ามันลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องหลังๆ อย่าง EMS ของนครสวรรค์ รพศ. ซึ่งเป็น รพ.ที่ทำเรื่อง EMS และเขาขับเคี่ยวกับ รพช. มาโดยตลอด และมันก็ไม่เป็นรูปแบบ และไม่ประสบความสำเร็จซะที พอเอา KM เรื่อง EMS ขึ้นมา ตอนนี้ สปร. มาขอบคุณคุณเปรมฤดี ขอขอบคุณที่ทำให้ไม่ต้องทะเลาะกับน้องๆ ก็ EMS ของ รพช. ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และก็มีระบบชัดเจน จริงๆ ทุกๆ เรื่องที่เราทำไป มันเห็นได้ชัดว่ามันมีระบบขึ้น เช่น COPD ปกติใน รพ. จะไม่ได้ทำ COPD ในเชิงรุก เราจะทำเฉพาะคนไข้ walk in เข้ามาใน รพ. หลังจากที่เราทำ KM เรากำหนดว่า ควรจะมีผู้รับผิดชอบพิเศษนะ ไม่ควรจะมีแค่คลินิกนะ ในรายละเอียดของตารางอิสรภาพจะเป็นตัวกำหนด หลังจากนั้นรูปร่างระบบการดูแลผู้ป่วย COPD ก็จะดีขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอนะคะ พอเราได้ทำ KV กันแรกนี่ เราก็นึกไม่ถึงว่า หลายๆ รพ. ไม่ได้รอ จว. เลยว่า หัวปลาอีก 5 หัวปลามันจะต้องทำอย่างไร ต้องรอมันไหม ต้องทำไหม ไม่นะคะ พอเขาเริ่มบทเรียนจาก DM เรื่องแรกนี่ เขาก็เข้าใจกระบวนการ ลปรร. และการนำประโยชน์ไปใช้ เขาก็ไป implement ต่อในทันที จนเห็นได้ชัดจาก รพ.ตาคลี นี่ พอทำ DM ก็ไม่มีการประเมิน DM ด้วยซ้ำ เขาเอาเครื่องมือนี้ทำในคนไข้ Bed Sore และก็อีกหลายๆ เรื่อง ของ รพ.บรรพตฯ ไปทำเรื่องหนึ่งที่อาจารย์วิจารณ์ติดใจ และชอบมาก ผลพวงต่างๆ เหล่านี้ก็มาจาก KM ทั้งหมด

ความทุกข์ระยะแรกๆ นั้น ... เราก็มีความรู้สึกทุกข์ว่า เราไม่แน่ใจว่า เราจะประเมินกันอย่างไร หลังจากที่เราประเมินได้แล้ว เราก็รู้สึกสบายใจ การทำ KM ทุกครั้ง AAR ทุกครั้งนั้น ปรากฏว่า มีคุณค่ามหาศาล ในการที่ว่าเราจะได้เอาตรงนี้ไปปรับในเรื่องต่อๆ ไป และกลายเป็นว่า ตอนนี้หลายๆ รพ. ใช้วิธีการส่งเวร และใช้ AAR ในการส่งเวรกัน ตอนนี้ผลลัพธ์ของ KM ไปถึงชุมชนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ รพ.บรรพตฯ รพ.ชุมแสง รพ.ตาคลี ด้วย

... confirm ค่ะ confirm ว่า KM เนี่ยะ "ไม่ทำไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น ต้องชวนกันไปรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้าย ก็ได้ชื่นชมร่วมกัน (ทั่วประเทศไทย)" ... เหมือนกับ คุณเปรมฤดี และคุณคชาภรณ์นี่ละค่ะ ที่เธอเล่าอย่างสดชื่นรื่นเริง และมีความสุขตลอด เหมือนกับว่าได้ฝ่าด่านความทุกข์นั้นมาได้แล้วละค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 31159เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     เมื่อวานนี้ได้อ่านแผนการทำ KM ในอนาคตของ รพ.แห่งหนึ่งที่เชิญทีมของชาวพยาธิไปช่วย "ปูพี้น" ต้นเดือนหน้าก็มีเรื่องจะใช้ AAR ในการส่งเวรอยู่ด้วยค่ะ  ไม่ทราบว่าผู้เล่าเรื่อง (คุณเปรมฤดี) ได้เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ไว้บ้างไหมคะ เช่นก่อนทำเป็นอย่างไร ทำแล้วดีอย่างไร มีตัวอย่างเรื่องเล่าไหมคะ?
     พี่เม่ยยิงคำถามเป็นชุดเลย...เพราะคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลแบบลายหินอ่อนชั้นดีไปปูพื้นให้ รพ.แห่งนั้นได้น่ะค่ะ

คุณเปรมเธอไม่ได้เล่าไว้ค่ะ แต่มีบล็อคของหนูอุ้ย เรื่อง KM กับการพัฒนาคุณภาพหลายๆอย่าง พูดถึงการทำ CoP ในศูนย์อนามัยที่ 1 ซึ่งเขามีการทำในกลุ่มพยาบาลห้องคลอด และกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง พี่เม่ยลองไป post ที่นี่ดูสิคะ เพราะเธอๆ ทั้งหลายทำด้วยกันหลายคน และก็เป็นต้นแบบหนึ่งในปี 49 นี้ ของกรมอนามัยด้วยค่ะ

  รับรองไม่ผิดหวังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท