แบบเรียนเก่าใครว่าเชย : แบบเรียนภาษาไทย ป. 2 และหนังสืออ่านเรื่องนกกางเขน


นอกจากจะไม่เชยแล้วยังมีคุณค่าอย่างหาประมาณมิได้อีกด้วยทั้งเรื่อง คุณค่าของภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของคนไทย

เมื่อหลายเดือนก่อนผมได้เคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับบทอาขยานไว้ ตามความทรงจำ(http://gotoknow.org/blog/attawutc/259877) ซึ่งยังมีข้อมูลที่ยังไม่ถูกต้องและไม่มีแหล่งอ้างอิงที่เป็นทางการ ตอนนี้ผมได้ตามหาข้อมูลแหล่งอ้างอิงนั้นได้แล้ว โดยเนื้อหาที่ว่านั้นมาจากหนังสือ “แบบเรียนภาษาไทย แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม ๑ ตอนกลาง สำหรับชั้นประถมปีที่ ๒”

 

แบบเรียนเล่มนี้ผมได้มาจากงานมหกรรมหนังสือเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมานี่เอง บทอาขยานนั้นจริงๆ แล้วมีชื่อว่า “การเทศบาล” เนื้อหาที่ถูกต้องเป็นดังนี้

ระลึกรู้สึกตัว

ชาวไทยทั่วอย่ามัวรอ

จงร่วมรวมใจคอ

ขอให้ช่วยทำด้วยกัน

บำรุงปรับปรุงแต่ง

ท้องถิ่นแหล่งแห่งเราพลัน

เพื่อความงามครบครัน

ทุกสิ่งอันทันสมัย

ตึกรามงามถูกท่า

หันเข้าหาอนามัย

ร่มรื่นแช่มชื่นใจ

ทุกสถานบ้านเมืองเรา

  

นอกจากแบบเรียนภาษาไทยแล้ว ผมยังได้ “หนังสืออ่านสำหรับเด็กประโยคประถม เรื่องนกกางเขน” มาอีกด้วย รูปร่างน่าตา ลักษณะรูปเล่มยังคงรูปแบบเดิมไว้ทุกประการ  ความจริงแล้วหนังสือ ทั้งสองเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นมามาใหม่ในโอกาสครบรอบ ๕๔ ปีแห่งการก่อตั้งองค์การค้าของครุสภา เป็นการจัดพิมพ์ด้วยกระบวนการสมัยใหม่ โดยรักษารูปแบบและอักขรวิธีเดิมไว้ทุกประการ ด้วยวิธีการถ่ายฟิล์มแล้วพิมพ์จากต้นฉบับเดิมเพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนของต้นฉบับ หนังสือทั้งสองเล่มนี้ผมได้มาในราคาเล่มละ  ๕๔ บาทเท่านั้นเอง เข้าใจว่าน่าจะตั้งราคาให้สอดคล้องกับโอกาสครบรอบ ๕๔ ปีแห่งการก่อตั้งองค์การค้าของครุสภา

  

เนื้อหาสาระของหนังสือทั้งสองเล่มนี้ผมคิดว่ายังคงความเป็นสากลอยู่ อีกทั้งยังมีความสวยงามด้านภาษา ด้วยกลอน และคำคล้องจองให้จดจำง่าย โดยบูรณาการบรรสานเชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรม แบบอย่าง ค่านิยม ใน “แบบเรียนภาษาไทย แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม ๑ ตอนกลาง สำหรับชั้นประถมปีที่ ๒”  จะมีเรื่องของเด็กชายใหม่  รักหมู่ที่เป็นแบบอย่างให้ประพฤติ ปฏิบัติให้ รู้ว่าคำนิยามเด็กดี นั้นคืออะไร เรื่องของนายอยู่  อยู่ยืน, นายเสนอ  เสียงเสนาะ, นายเฉลิม  สุดเฉลียว, นายกล่ำ  ใจกล้า ที่ เป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อสร้างค่านิยมให้น่ากระทำตาม ซึ่งหลักปรัญชาเหล่านี้ก็คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ฯ ของพวกเรานั่นเอง

 

เนื้อหาใน “หนังสืออ่านสำหรับเด็กประโยคประถม เรื่องนกกางเขน” เป็นเรื่องราวที่สอนให้เด็ก รักธรรมชาติ มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ เนื้อเรี่องสนุกสนาน ชวนให้ติดตามและมีความประทับใจ คำถามท้ายบทในแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าเป็นคำถามที่เด็กต้องใช้ทักษะ กระบวนการคิดอย่างมากทีเดียว สมัยก่อนเรามีวิชาอ่านเอาเรื่อง ผมเข้าใจผิดมาตลอดเลยว่าอ่านแล้วท่องมาตอบ แต่หลังจากที่ได้รู้จัก และฝึกทักษะการคิดในมุมมองของผู้ใหญ่มาแล้ว พบว่าการอ่านเอาเรื่องก็คือ การที่ต้องมีการแปลความ ตีความ สรุปความ ย่อความ ฯลฯ นั่นเอง ลองมาดูตัวอย่างคำถามท้ายบทของหนังสือเล่มนี้กันครับ

๑.     เรื่องนี้ เริ่มต้นกล่าวถึงอะไร กล่าวถึงสิ่งนั้นว่ากะไร

๒.     นกกางเขนตัวเมีย เกาะอยู่ที่ไหน ทำไมนกตัวผู้ จึงเห็นนกตัวเมีย

๓.     สัตว์ต่างๆ เช่น นก ผีเสื้อ มีประโยชน์แก่โลกอย่างไร

๔.     เราควรทำอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีใจกรุณาต่อสัตว์

ที่กล่าวมาจึงน่าจะเป็นข้อสรุปได้ว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้ไม่มีความเชยแน่นอน และนอกจากจะไม่เชยแล้วยังมีคุณค่าอย่างหาประมาณมิได้อีกด้วยทั้งเรื่อง คุณค่าของภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของคนไทย ผมคิดว่าน่าจะให้คุณครูในสมัยนี้นำไปปรับใช้เพื่อบูรณาการการสอนเด็กต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 310355เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กำลังจะได้หนังสือทั้งสองเล่มเช่นกันค่ะจากการสั่งซื้อจากร้านหนังสือในอดีตจะนำมาใช้สอนลูกสาวที่อยู่ชั้นประถม 2โปรแกรมEng.เพราะปัจจุบันลูกสาวยังอ่านหนังสือไม่เก่ง/

ตอนนี้ใช้สอนลูกสาวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2554-กุมภาพันธ์ 2555 ลูกสาวอ่านได้เกือบหมดมีบางคำที่สกดยากจริงหรือคำซ้อนที่ยังอ่านไม่ค่อยได้ สามารถอ่านนิทานได้เป็นเรื่องๆแล้วค่ะจากการใช้หนังสือข้างบนสอนลูกสาว

อยากได้หนังสือเจ้านกกางเขน จะหาซื้อได้ที่ไหน ชอบมาก หามานานแล้ว

อยากนำมาอ่านให้ลูกชายฟัง (ลูกชาย 2 ขวบครึ่งค่ะ) 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท