ประเมิน Competency ภาควิชาพยาธิวิทยา มอ


ข้อมูลผลการประเมินที่มีความเที่ยงตรงเป็นจริง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ในช่วงเดือนกันยายนนี้  ภาคพยาธิฯของเรา จะมีการประเมิน competency  บุคลากรทุกคนในภาควิชา  ข้อมูลผลการประเมินที่มีความเที่ยงตรงเป็นจริง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากการประเมินจะทำให้เรารู้ว่า บุคลากรของภาคมีขีดความสามารถในเรื่องต่างๆ ที่คณะฯและภาควิชาคาดหวังเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนในการพัฒนาบุคลากรต่อไป  ดังนั้นหากข้อมูลไม่เที่ยง จะทำให้การวางแผนพัฒนาบิดเบี้ยวได้  อ.เสาวรัตน์ รองฝ่ายพัฒนาจึงลงทุนชี้แจงให้บุคลากรทุกคนได้รับทราบ  และเพื่อเป็นการสื่อสารหลายทาง จึงขอชี้แจงผ่าน blog มา ณ โอกาสนี้ด้วย

Competency คืออะไร
Competency หรือเรียกว่าขีดความสามารถเชิงสมรรถนะ หรือสมรรถนะ หมายถึง คุณลักษณะทั้งในด้านทักษะ ความรู้ และพฤติกรรม ของบุคคล ที่บุคคลแสดงออกในการปฏิบัติงาน ที่ทำให้การปฏิบัติงานนั้นประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็น

  • Core Competency คือ คุณลักษณะที่ทุกคนในองค์การพึงมี  กำหนดโดยการวิเคราะห์ค่านิยม วัฒนธรรมองค์การ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเสริมรับกับกลยุทธ์ขององค์การ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคนในองค์กรให้เป็นไปในทิศทางที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายของการดำเนินงาน
  • Functional competency คือคุณลักษณะที่บุคคลพึงมีในการปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่หนึ่งๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานสำเร็จ แบ่งเป็น Common Functional competency คือสมรรถนะในการปฏิบัติงานในกลุ่มงานหนึ่งๆ และ Specific functional competency คือสมรรถนะในการปฏิบัติงานในตำแหน่งงานเฉพาะ

ทำไมต้องกำหนดและประเมิน competency?
ผู้เชี่ยวชาญพบว่า คุณสมบัติความสามารถตามวุฒิการศึกษา หรือตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลปฏิบัติงานได้ดี รวมทั้งอาจไม่ตอบสนองต่อความก้าวหน้าขององค์กร จึงต้องมีการกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่จะทำให้ปฏิบัติงานได้ประสบผลสำเร็จอย่างดี และตอบสนองต่อทิศทางที่องค์กรมุ่งหวัง

วัตถุประสงค์และประโยชน์ในการกำหนดและประเมิน competency

  • เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรแนวตรงตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการ (อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของภาควิชาฯ)
    เป็นเครื่องมือช่วยเชื่อมโยงกลยุทธ์สู่ขั้นตอนปฏิบัติ
  • มีเกณฑ์มาตรฐานการวัดผลอย่างเป็นระบบ
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการจำแนกและคัดสรรบุคลากรที่ดีและเหมาะสม
  • เป็นเกณฑ์ในการวัดจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กร

วิธีการประเมิน competency
คณะฯ และภาควิชาพยาธิวิทยากำหนดระดับความสามารถของ competency แต่ละหัวข้อเป็น 5 ระดับความสามารถ (proficiency level) บุคคลตำแหน่งต่างๆ จะมีระดับความสามารถในแต่ละหัวข้อไม่เท่ากันขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่งาน ตัวอย่างเช่น พนักงานวิทยาศาสตร์ ถูกกำหนดให้มี Competency เรื่องความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ระดับ 2  ดังนั้นในการประเมิน หากบุคคลผู้นั้นสามารถแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ Competency ในระดับดังกล่าว ก็ต้องถือว่าผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด  การกำหนดระดับที่พึงประสงค์จะมีกำหนดไว้ตั้งแต่ก่อนการประเมิน โดยกำหนดจากความคาดหวังของผู้บริหารองค์กร

Competency model ของภาควิชาฯ
ภาควิชาพยาธิวิทยา กำหนดกลุ่มของ Competency ที่จำเป็นต้องมี โดยแบ่งเป็น Core competency ที่ทุกคนในภาควิชาพึงมี โดยแบ่งเป็น core competency ของคณะฯ (7 ตัว) และ core competency ของภาควิชา (4 ตัว) และ competency ตามหน้าที่งานของกลุ่มต่างๆ (common functional competency)ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร  ผู้ปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการ  กลุ่มงานสนับสนุน และกลุ่มอาจารย์  ส่วนกลุ่มลูกจ้างคนงานกำหนดประเมินเฉพาะ core competency

     "ขอย้ำ การประเมิน competency ในครั้งนี้เพื่อนำข้อมูลมากำหนดแนวทางในการพัฒนาบุคลากรของภาควิชา ไม่ได้มีผลต่อการประเมินขั้นเงินเดือน"

 

หมายเลขบันทึก: 3099เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2005 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท