การเลี้ยงไหม


วงจรของชีวิตัวไหมจะเริ่มต้นจากไข่  ฟักเป็นตัวหนอนไหมในระยะเป็นตัวหนอนไหมจะลอกคราบ  4  ครั้ง  พอตัวหนอนไหมแก่เข้าก็จะชักใยทำรังหุ้มตัวเองแล้วตัวไหมก็จะลอกคราบเป็นดักแด้อยู่ในรังนั้นพอครบอายุดักแด้ก็จะกลายเป็นผีเสื้อเจาะรังออกมาผสมพันธุ์กันพรัอมทั้งวางไข่ฟักเป็นตัวหนอนต่อไป  วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไปไม่รู้จักจบอายุของไข่ของตัวไหมดังนี้

              อยู่ในไข่  10  วัน
              เป็นตัวหนอน  22 - 26  วัน
              เป็นดักแด้  8 - 10  วัน
              เป็นผีเสื้อ  2 – 3  วัน
              รวม  42 - 49  วัน

ตัวหนอนไหมและวิธีการเลี้ยง
              เมื่อไข่มีอายุได้  8  วัน  ก็จะมีจุดดำ ๆ ที่ริมไข่ทุกใบ  วันที่  9  สีของฟองไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาแก่แสดงว่าไข่นั้นจะฟักเป็นตัวแล้วและคืนวันที่  9  เวลาเช้ามืดไข่ก็จะตั้งต้นฟักบ้างแล้วพอเที่ยงวันที่  10  ก็จะฟักเป็นตัวหมด  พอเย็นวันที่  9  ต้องหากระดาษห่อไข่ไหมไว้เพราะเช้ามืด

ไข่จะฟักออกเป็นตัวและฟักไปเรื่อย ๆ  จนถึงเที่ยงก็จะหมด  เมื่อตัวไหมฟักออกหมดแล้วต้องแก้กระดาษที่ห่อนั้นออกแล้วหั่นใบหม่อนอ่อนๆ  ให้กินโดยโรยลงไปบนตัวไหมพอควรทีแรกตัวไหมฟักมีอายุได้  4 - 5  วันก็จะนอนครั้งหนึ่งเมื่อสังเกตดูว่าเห็นตัวไหมเริ่มนอนแล้วก็อาจจะถ่ายมูลไหมและเศษไหมหม่อนแห้งในกระด้งใหม่เสียก่อนที่ตัวไหมจะตื่นนอน  เมื่อตัวไหมเป็นเช่นนี้เรียกว่า  "นอนหนึ่ง" ตัวไหมจะมีอาการเช่นนี้อยู่วันหนึ่งหรือสองวันจึงจะฟื้นแข็งแรงเมื่อตัวไหมฟื้นจากนอนหนึ่งแล้วผู้เลี้ยงก็จะเลี้ยงโดยหั่นใบหม่อนให้กินอย่างเดิม  พอได้  7  วันตัวไหมก็จะสงบนิ่งไม่กินใบหม่อนและมีอาการเหมือนกันกับครั้งแรก  คือ  มีอาการสงบนิ่งและจะมีอาการเช่นนั้นอีกวันหนึ่งหรือสองวันเรียกว่า  "นอนสอง"  เมื่อฟื้นจากนอนสองคราวนี้ไม่ต้องหั่นใบหม่อนให้กินเพราะตัวไหมเขื่องขึ้นแล้ว  ต่อไปอีก  7  วันตัวไหมจะมีอาการสงบนิ่งเหมือนที่เคยคราวนี้เรียกว่า  "นอนสาม"  เมื่อฟื้นจากนอนสามต่อไปอีก  7  วันตัวไหมก็จะมีอาการดังกล่าวอีกเรียกว่า  "นอนสี่" หลังจากนอนสี่แล้วก็ถึงนอนห้ารอหนอนสุก  (ตัวไหม)  ที่แก่เต็มที่แล้วเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "ไหมสุก"  ซึ่งตัวไหมจะทำฝักและทำรัง

ไหมทำฝักและทำรังเมื่อคัดตัวไหมขั้นนอนห้าประมาณ  5 - 7  วัน  ตัวไหมก็จะเริ่มแก่  (เริ่มสุก)  ก่อนที่ตัวไหมเป็นฝักและทำรังต้องหาจ่อไว้ให้พอดีกับตัวไหมหลังจากนั้นผู้เลี้ยงต้องหมั่นตรวจดูว่า  ตัวไหมแก่คือ  ทำฝักทำรังลักษณะที่ไหมทำการฝักทำรังจะสังเกตได้โดยดูตัวไหมที่มีสีเหลืองไปทั้งตัวแล้วรีบคัดตัวไหมตัวนั้นไป  ใส่ไว้ในจ่อเลี้ยงคราวหนึ่งต้องคอยคัดไปใส่จ่อเรื่อย ๆ ราว  4 - 5  วัน  จนหมดตัวแก่นั้นในขณะที่คัดตัวไหมไปใส่จ่อผู้เลี้ยงต้องไม่ให้อาหารกับตัวไหม  เลยเพื่อจะได้ให้ตัวไหมรีบทำฝักและทำรัง  เมื่อตัวไหมเข้าไปอยู่ในฝักราว  3  วันตัวไหมก็จะยุบตัวเล็กลงเรียกว่า  "ตัวดักแด้"  เลี้ยงจับฝักเขย่าดูปรากฏว่ามีเสียงดังขลุก ๆ อยู่ภายในแล้วแสดงว่าใช้ได้ จึงนำเอาไปต้มแล้วสาวต่อไป  ถ้ารังใดจะเก็บเอาไว้ทำพันธุ์  ก็เก็บเอาไว้นานประมาณ  7  วันตัวดักแด้ก็จะมีปีกเรียกว่า  "ตัวบี้"

หลักสำคัญในการเลี้ยงไหม

              1.  สถานที่เลี้ยงไหมห้ามสูบบุหรี่  และยาสูบเป็นอันขาด  เพราะควันจะเป็นอันตรายต่อตัวไหม
              2.  สถานที่เลี้ยงไหมควรอยู่ห่างจากครัวไฟเพราะควันไฟและกลิ่นต่าง ๆ  เป็นอันตรายต่อ ตัวไหมและอย่ายากำจัดแมลงไม่ว่ายาชนิดใดพ่นใส่ในสถานที่เลี้ยงไหมเป็นอันขาด
              3.  ใบหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหมจะต้องสะอาด
              4.  การให้อาหารครั้งหนึ่ง ๆ ต้องไม่น้อยหรือมากจนเกินไปควรกะให้พอดี
              5.  ต้องถ่ายมูลไหมก่อนนอนทุกครั้ง  ส่วนไหมที่ตื่นครั้งที่สี่ต้องถ่ายมูลไหมอย่างน้อยวันละ  1  ครั้ง
              6.  หลังจากการเลี้ยงไหมครั้งหนึ่ง ๆ กระด้ง  ผ้าคลุม  และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ควรล้างด้วยน้ำผสมยาฆ่าเชื้อโรคให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้งสนิทอย่างใช้ยากำจัดแมลงเป็นอันขาด
              7.  โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไหมโดยเฉพาะนั้น  ต้องปิดให้มิดแล้วรมด้วยควันกำมะถันจึงเปิดทิ้งไว้ประมาณ  3 - 4  วัน  ก่อนที่จะเลี้ยงไหมต่อไป

 

การทอผ้าไหม 

              ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ออกมาเป็นผ้าผืนงาม  การทอไหมประกอบไปด้วยเส้นด้าย  2  ชุด  คือ  "เส้นด้ายยืน"  จะขึงตามความยาวผ้าอยู่ติดในเครื่องทอ  หรือแกนม้วนด้านยืน  อีกชนิดหนึ่งคือ  "เส้นด้ายพุ่ง"  จะถูกกรอเข้ากระสวยเพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้าย  พุ่งสอดขัดเส้นด้านยืนเป็นมุมฉาก  ทอสลับกันไปตามความยาวของผืนผ้าการสอดด้านพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ ละด้าน  แล้วจึงวกกลับมา  จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้านส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าของแต่ละท้องถิ่น

อุปกรณ์การทอ
              สันนิษฐานว่าคงมีหูกทอผ้าแล้วในสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว  อาจจะมีหลายแบบเป็นขนาดเล็ก ๆ ทอด้วยมือชนิดตอกตรึงไว้กับพื้นหรืออาจเป็นชนิดที่มีแต่ฟืม  ไม่ต้องใช้โครงหูกอย่างที่ชาวเขานิยมทอในปัจจุบัน

              กี่ทอผ้า
              มีขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโครงกี่ฟืม  เขาหูกหรือตะกอ  ไม้ม้วนผ้าและหลักม้วนผ้า  ไม้สำหรับพาดนั่งเวลาคานเหยียบสำหรับดึงเส้นไหมและตะกอลง  ไม้แกนม้วนไหมเส้นยืน  คานแขวน  กระสวย  หลอดด้ายพุ่ง  ผังหรือสะดึงขึงผ้าให้ตึงมักจะวางไว้ใต้ถุนเรือน  และฝังเสากับพื้นดินแบบถาวร  โครงกี่ประกอบด้วยเสา  4  เสา  คาน  9  คาน  บนมี  4  คาน  ล่างมี  1  คาน  และคานกลางมี  1  คานมีราวหูกทั้ง4ด้านมีทั้งด้านบนและด้านล่าง

              คานแขวน
        
      เป็นไม้ห้อยอยู่กับคานของกี่  ซึ่งคานของทั้งสองใช้แชวนเชือกที่ต่อมาจากเขาหรือตะกอ เพื่อให้ตึงอยู่ตลอดเวลา

ฟืมหรือหวี
        
     คือเครื่องมือสำหรับทอผ้ามีฟันเป็นซี่ ๆ  คล้ายหวีใช้สำหรับสอดไหมหรือเพื่อจัดเส้นไหมให้อยู่ห่างกัน  แล้วใช้กระทบไหมพุ่งที่สานตัดกันกับไหมยืน  หรือไหมเครือเป็นผืนผ้า  การทอผ้าเนื้อหนาหรือเนื้อบางขึ้นอยู่กับฟันหวีหรือฟืม

              ตะกอ
              ตะกอใช้สำหรับแยกเส้นด้ายให้ขึ้นเพื่อเปิด  ให้จังหวะของเส้นด้าย  พุ่งสอดขัดกัน

              ตะกอหลอก
              ตะกอแผงหรือเขาใหญ่และเขายาว ใช้เป็นที่เก็บไม้ขิดเพื่อส่งลายให้ทอโดยไม่ต้องเก็บขิดเป็น  ลักษณะตะกอแนวตั้ง

              ไม้กำพั่น (ไม้กำพัน)
              ใช้สำหรับม้วนผ้าที่ทอแล้วไว้อีกส่วนหนึ่ง  ไม้แกนม้วนผ้านี้จะเหลาเป็นเหลี่ยมจะได้ยึดผ้าที่ม้วนเก็บไว้ไม่ให้ลื่น

              ไม้ดาบ
              คือ ไม้สอดแทนไม้ขิดเพื่อให้ตะกอเปิดกว้าง  และสอดด้ายยืนพุ่งไป

              ไม้เหยียบหรือคานเหยียบ
              คือไม้ไผ่  2  อัน  ที่ถูกเชื่อมโยงกับเขาผูกหรือตะกอ เพื่อใช้สำหรับเหยียบดึงเขาหูกทั้ง  2 อัน  ให้เส้นไหมยืนขึ้นลงสลับกัน  และเปิดช่องเพื่อพุ่งกระสวยไหมเข้าไปในร่องดังกล่าว  เส้นไหมทั้ง  2  ชนิดจะสานขัดกันเป็นเนื้อผ้า

              ไม้นั่งทอผ้า
              คือไม้กระดานหนาพอสมควรและมีความยาวกว่ากี่เล็กน้อย  ใช้เวลานั่งทอผ้า  ไม้นี้จะใช้พาดระหว่างหลักกี่หน้าข้างหน้ากับหลักม้วนผ้า

              กระสวย
              ใช้บรรจุหลอดพุ่งสอดไประหว่างช่องว่างของเส้นไหมยืน  ต้นและปลายเรียวตรงกลางเจาะเป็นช่องสำหรับใส่หลอดด้าย

              ไม้ดาบ
              คือไม้สอดแทนไม้ขิดเพื่อให้ตะกอเปิดกว้าง  และสอดด้ายยืนพุ่งไป
              ไม้ขิด

 

ใช้สำหรับคัดลาย
              บากี่
              คือ  ไม้ที่รองรับส่วนปลาย  2  ด้าน  ของไม้ม้วนผ้ามี  2  หลัก  แต่ละหลักจะอยู่คนละข้างของหูก

              ผัง
              เป็นไม้ที่ขึงไว้ตามความกว้างของผ้าที่ทอ  เพื่อให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืมและเพื่อทำให้ลายผ้าตรงไม่คดไปคดมา

              ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ออกมาเป็นผ้าผืนงาม  การทอไหมประกอบไปด้วยเส้นด้าย  2  ชุด  คือ  "เส้นด้ายยืน"  จะขึงตามความยาวผ้าอยู่ติดในเครื่องทอ  หรือแกนม้วนด้านยืน  อีกชนิดหนึ่งคือ  "เส้นด้ายพุ่ง" จะถูกกรอเข้ากระสวยเพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้าย  พุ่งสอดขัดเส้นด้านยืนเป็นมุมฉาก  ทอสลับกันไปตามความยาวของผืนผ้าการสอดด้านพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ ละด้าน  แล้วจึงวกกลับมา  จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้านส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าของแต่ละท้องถิ่น

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การเลี้ยงไหม
หมายเลขบันทึก: 309481เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2009 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีความรู้ในเรื่องของ ไหม ขี้นเยอะเลยค่ะเพราะปกติชอบซื้อและใส่ผ้าไหมมากๆๆค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ที่เผยแพร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท