วิทยากรชนเผ่า


ประเด็น “วิทยากรชนเผ่า” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เราคุยกันอย่างออกรส หากสำเร็จก็ถือได้ว่า กระบวนการพัฒนาศักยภาพคน แบบนี้ เป็น “นวัตกรรม” (Innovation) ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและแก้ไขปัญหา เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
          วันนี้...หลังจากที่พวกเราทีมวิทยากรแก้ไขปัญหาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้ทำหน้าที่วิทยากรและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน จนเหนื่อยล้ากันถ้วนหน้า(แต่ใจเกินร้อย)
          ทุกวันเราจะต้องมานั่ง AAR. (After action review)กันเป็นประจำ วันนี้ก็เช่นกัน เรื่องราวที่พูดคุยในวันนี้ เราคุยกันหลากหลายเรื่อง นัยว่าจะระบายความในใจออกมาหลายความรู้สึก
          ประเด็นปัญหาหนึ่งที่เราพบเจอกันและเป็นปัญหาที่เราคิดว่าเราจะหาทางออกอย่างไร? คือ “การสื่อสาร” ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของพื้นที่นี้ คือ เป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ถึง ๗ กลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน (ลีซู, ลาหู่, กระเหรี่ยง, ไทยใหญ่, ม้ง, ล๊วะ, ไทยพื้นราบล้านนา) ลองคิดดูว่า เมื่อจัดประชุมที่ต้องอาศัยการอธิบายเพื่อการทำความเข้าจะโกลาหลกันขนาดไหน ...ปัญหาการสื่อสาร จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่เรา (คณะวิทยากร) ต้องคิดหากระบวนการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
          มีผู้ที่เสนอเรื่อง “วิทยากรชนเผ่า” ....โอโฮ้ มัน get มาก
          ใช่แล้วครับ  “วิทยากรชนเผ่า” พวกเราเสนอการพัฒนาคนในพื้นที่ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายคัดเลือกผู้ที่สมัครใจ-สนใจ กลุ่มชาติพันธุ์ละ ๔-๕ คนเพื่อพัฒนาศักยภาพ เรียนรู้การเป็นวิทยากร เพื่อเป็นผู้ช่วยในการสื่อสารอย่างเข้าใจ ในเวทีที่ต้องการความเข้าใจ ของผู้เข้าร่วมประชุม เหมือนอย่างในคราวนี้
          ประเด็น “วิทยากรชนเผ่า” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เราคุยกันอย่างออกรส หากสำเร็จก็ถือได้ว่า กระบวนการพัฒนาศักยภาพคน แบบนี้ เป็น “นวัตกรรม” (Innovation) ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและแก้ไขปัญหา เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
          ผมเองตั้งใจรวบรวมประเด็นที่ได้จากการ AAR. ในครั้งนี้ ส่วนประเด็น “วิทยากรชนเผ่า” จะพัฒนาเป็น Concept paper เพื่อนำเสนอเป็นหัวข้อวิจัย เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่อไป...เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างมีระบบและเกิดประโยชน์แก่ชุมชนอย่างแท้จริง
หมายเลขบันทึก: 30936เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนุกจังครับคุณจตุพร หลายพื้นที่แตกต่างกันมากคิดว่าน่าจะใช้เทคนิคนี้บ้างนะครับหากพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์นำมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ ที่อีสานเรื่องการสื่อสารกับชาวบ้านไม่มีปัญหาเรื่องความหลากหลายมีปัญหาเพียงการปรับตัวตามสถานการณ์กลุ่มเป้าหมายของวิทยากร 

มีวิทยากรทำงานด้านเด็กหลายท่าน มักจะบ่นเรื่องการสื่อสารที่ใช้ภาษาถิ่น(ภาษาลาว)กับเด็ก เพราะบางพื้นที่ไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย เพราะเด็ก ๆ ถูกสอนให้ทำกิจกรรม ฟัง พูด เขียนด้วยภาษากลาง ดังนั้นบางครั้งต้องภาษากลางนะครับ กิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ วิทยากรต้องปรับตัวให้ทันท่วงที แต่บางพื้นที่ถ้าวิทยากรพูดภาษากลางอาจจะทำให้เด็กเขินอายไม่กล้าพูดกับเราได้ 

คุณออต

ก็กำลังร่างโครงการ และพิจารณารายละเอียดของหลักสูตรที่จะพัฒนาศักยภาพคนกลุ่มนี้อยู่ครับ - - โอกาสดีแบบนี้ ผมเองก็อาจถือโอกาสเป็นนักเรียนกับทีมวิทยากรชนเผ่าด้วยครับ

- -การสื่อสารที่พูดภาษาชนเผ่านอกจากจะเข้าใจดีแล้ว ยังช่วยให้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยครับ

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนครับ

จริงๆแล้ว มีการสร้างวิทยากรชุมชนที่พัฒนามาจากชนกลุ่มน้อยกันมานานแล้วครับ

แต่ในการสร้างคนดังกล่าว คำถามก็คือใครเป็นคนสร้าง สร้างอย่างไรและสร้างเพื่อใคร

แน่ล่ะครับ ส่วนใหญ่ รัฐ องค์กรเอกชนหรือแหล่งทุนเป็นผู้สร้างหลัก (อาจจะมีผู้ร่วมสร้างหลายคน)

ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ จึงตกอยู่ที่ผู้อำนวยการสร้าง (ไม่อยากใช้คำว่า ผู้กำกับ)

 

ผมรู้สึกว่าการสร้างแบบนี้ มันมีอะไรบางอย่างที่น่าเกรงว่าจะไปคล้ายคลึงกับสถาบันอุดมศึกษา

นั่นคือ สร้างคนออกไปรับใช้ราชการ รับใช้ระบบทุนอุตสาหกรรม

มิใช่เน้นรับใช้อุดมการณ์ รับใช้ประชาชนคนจน

 

อันนี้สำคัญมากนะครับ

ผมมีเพื่อนชาวเขาบางคน ที่พอถูกรัฐเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นแกนนำขึ้น แล้วก็กลายเป็นคนของรัฐไป

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวนไม่น้อย ถูกล้างสมอง หลอกล่อด้วยแบบฟอร์ม ยศถาบรรดาศักดิ์

เหมือนนกป่า ถูกเอามาใส่กรงทอง ฝึกร้องจุ้กกรู้ๆแล้วก็จะได้อาหารมาป้อนถึงปาก

จนลืมไปแล้วว่า อิสรภาพนอกกรงและเพื่อนพ้องที่อยู่ข้างนอกมีค่าเพียงใด

วันดี คืนดี ถูกปล่อยออกจากกรง ก็หากินไม่เป็นเสียแล้ว

 

ที่กล่าวมานี้ มิใช่จะยุยงส่งเสริมให้เกลียดชังคนของรัฐ ความเกลียดชังมิใช่มรรคสู่การพัฒนาไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ มีแต่จะสร้าง สั่งสมความรุนแรง

และอีกประการก็คือ เราจะอยู่ลอยๆโดยไร้ปฏิบัติการจากรัฐคงไม่ได้

เพียงแค่อยากจากสะกิด ให้เราตั้งคำถามในเรื่องความชอบธรรม ความเท่าเทียม เพื่อให้เราสามารถทำงานร่วมกันกับรัฐอย่าง รู้เท่าทันระบบ (อาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู ไม่โดนพิษงู ได้ดีขึ้น และสามารถดึงเอาจุดแข็งของรัฐมาเพื่อรับใช้มวลชนได้อย่างแท้จริง มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยบางกลุ่มบางพวก

 

ผมคิดว่าจตุพรก็คงมีประสบการณ์พบเห็นเช่นเดียวกัน

ฉะนี้ ในฐานะที่เราสองคน ต่างร่วมลงเรือลำเดียวกัน ในการพัฒนาโครงการดังกล่าว

แน่นอนว่า เราคงจะพูดเรื่องเหล่านี้ให้ คนมีสีฟังลำบาก แต่ผมคิดว่าเราต้องทบทวนข้อผิดพลาดจากประวัติศาสตร์การสร้างวิทยากรชุมชนท้องถิ่นผ่านรัฐด้วย

 

ซึ่งผมเองก็รับปากไม่ได้ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน แต่ผมจะพยายามก้าวผ่านปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ไม่มากก็น้อย

ผมไม่ทราบว่า มีใครคนอื่นเคยพานพบประสบการณ์อย่างนี้มาบ้าง และมีวิธีจัดการอย่างไร

ฝากไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยนะครับ

 

 

พี่ยอดดอย

ผมตระหนักดี และผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า กลุ่มที่คิดงานพัฒนาใหม่ๆ เรามีกระบวนการที่แตกต่างจากครั้งในอดีต ผมไม่ได้กังวลว่าจะต้องไปเป็นเครื่องมือให้ใคร เขาทำประโยชน์ให้ใครก็ได้

ประเด็น "วิทยากรชนเผ่า" ผมมองแบบนี้ครับ ผมมองว่า ตัววิทยากรเองที่สมัครใจเข้ามาพัฒนาศักยภาพตนเอง สิ่งที่ได้ฉับพลันคือ "ทักษะ" และ ต่อมาก็มีการปฏิบัติจนกลายเป็น "ศักยภาพ" ของบุคคล

หากปัจเจกได้รับการพัฒนา แม้เพียงหนึ่ง ผมก็พอจะมองเห็นความสำเร็จ

เราคิดคล้ายๆกันครับ ประเด็นที่พี่เป็นห่วง ผมก็คิดเช่นเดียวกัน

ช่วยกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท