การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 5/2549 (1.2) ต่อ


การที่จะทำงานกับชุมชนให้ประสบความสำเร็จ จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผู้วิจัยเห็นว่า โครงสร้างหรือความคิดต่างๆควรที่จะเริ่มหรือออกมาจากชุมชน ไม่ใช่มาจากภายนอกหรือเบื้องบน เพราะ ชุมชนคือคนทำงาน ชุมชนจะมีความรู้อยู่ชุดหนึ่งที่จะ (สามารถ) บอกๆได้ว่าอะไรควรจะเป็นอะไรหรือควรจะดำเนินการไปอย่างไร คนภายนอกหรือผู้บริหารควรที่จะทำหน้าที่ชี้แนะหรือเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่ใช่ทำหน้าที่ชี้นำและครอบงำ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำงานกับชาวบ้านหรือชุมชน ไม่ควรที่จะคิดโครงสร้างอะไรที่สลับซับซ้อน

      เมื่อวานนี้เล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 5/2549  ซึ่งกลุ่มบ้านเป้าเป็นเจ้าภาพค้างเอาไว้ที่วาระที่ 1  เรื่องที่ 2  คือ  โครงสร้างการทำงานของสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดลำปางกับสภาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง   วันนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอเล่าต่อเลยนะคะ

      สถาบันพัฒนาระบบการออมเพื่อสุขภาวะและสวัสดิการชุมชนจังหวัดลำปาง (พอสช.) มีบทบาทในเรื่องการบริหารจัดการ  การจัดโครงสร้าง  ต่อไปต้องทำในเรื่องระบบข้อมูล  ระบบบัญชี  แผนงานต่างๆ  นี่คือ  บทบาทของคณะกรรมการ  ซึ่งขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 27 คน  คณะกรรมการทั้ง 27 คนนี้จะมาประชุมร่วมกับตัวแทนของกลุ่ม/องค์กรออมทรัพย์แต่ละตำบล  นี่เองที่เรียกว่า "สภาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง"  เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเข้าใจบทบาท  การประชุมสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดลำปางจะต้องนำเรื่องการบริหารจัดการเข้าสู่สภาด้วย  เพื่อทำให้คณะกรรมการประสานงานทุกคนได้รับทราบ  การที่คัดเลือกคณะกรรมการออกมาทั้งสิ้น 27 คนนั้น  เพราะ  เราไม่สามารถที่จะเอาตัวแทนกลุ่มละ 5 คนมาร่วมประชุมหรือตัดสินใจทั้งหมดได้  เนื่องจากในอนาคตกลุ่ม/องค์กรที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย 

      ในส่วนของสถาบันพัฒนาระบบการออมเพื่อสุขภาวะและสวัสดิการชุมชนจังหวัดลำปางจะต้องคัดเลือกตัวแทน 2 คน  ไปเป็นตัวแทนของเครือข่ายองค์กรชุมชน  นี่คือโครงสร้างทั้งหมดในภาพรวม  ประธานกล่าวต่อไปว่า  การที่ประธานเป็นทั้งประธานของสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดลำปางและเป็นประธานของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางทำให้สามารถทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น  บางครั้งที่เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางไม่มีงบประมาณมาหนุนเสริม  เราก็พยายามที่จะใช้ยุทธศาสตร์ของสภามาช่วยหนุนเสริม  ลงไปขับเคลื่อน  นี่เป็นความโชคดีของเครือข่ายฯของเรา  เพราะฉะนั้นก็จะมีสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนเกิดขึ้นหลายประเด็น  ทุก 3 เดือนก็จะมาพบกันครั้งหนึ่ง  เครือข่ายต่างๆก็จะนำปัญหาในเครือข่ายของตนเองไปพูดคุยกันในที่ประชุม  นี่คือ  โครงสร้างของทั้ง 2 ระดับ  คือ  ระดับบน  ได้แก่  โครงสร้างระดับจังหวัด  กับ ระดับล่าง  ได้แก่  โครงสร้างของพวกเรา (เครือข่ายฯ) มันเป็นคนละส่วนกัน  แต่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น   

       เรื่องนี้ยังไม่จบค่ะ  แต่ก่อนที่จะเล่าต่อไป  ผู้วิจัยขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ (นิดหน่อย) ก็แล้วกันนะคะ 

       ความจริงเรื่องโครงสร้างนี้ประธานได้พูดมาหลายครั้งแล้ว  จากการประเมินของผู้วิจัย  ผู้วิจัยเห็นว่าถ้าจะให้ชาวบ้านเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ส่วน  (หรือส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ค่ะ) คงจะต้องใช้เวลาอีก (นาน)  สาเหตุที่ผู้วิจัยคิดเช่นนี้  เพราะ  โครงสร้างนี้เกิดขึ้นมา (คิดขึ้นมา) โดยคนแค่คนเดียวหรือกลุ่มคนแค่กลุ่มหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้ของชาวบ้าน  รวมทั้งโครงสร้างยังมีความสลับซับซ้อน  การที่จะทำงานกับชุมชนให้ประสบความสำเร็จ  จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผู้วิจัยเห็นว่า  โครงสร้างหรือความคิดต่างๆควรที่จะเริ่มหรือออกมาจากชุมชน  ไม่ใช่มาจากภายนอกหรือเบื้องบน  เพราะ  ชุมชนคือคนทำงาน  ชุมชนจะมีความรู้อยู่ชุดหนึ่งที่จะ (สามารถ) บอกๆได้ว่าอะไรควรจะเป็นอะไรหรือควรจะดำเนินการไปอย่างไร  คนภายนอกหรือผู้บริหารควรที่จะทำหน้าที่ชี้แนะหรือเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น  ไม่ใช่ทำหน้าที่ชี้นำและครอบงำ  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ  คือ  การทำงานกับชาวบ้านหรือชุมชน  ไม่ควรที่จะคิดโครงสร้างอะไรที่สลับซับซ้อน  ผู้วิจัยเห็นว่าโครงสร้างที่ง่ายๆ  สบายๆน่าจะใช้ได้ผลมากกว่า  โดยเฉพาะกับชาวบ้านหรือชุมชนที่เพิ่งเข้ามาเรียนรู้ใหม่

       ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงไม่แปลกใจเลยที่เห็นภาพผู้เข้าร่วมประชุม (บางคน) นั่งวาดการ์ตูน  (บางคน) ส่งสัญญาณมือว่าปวดหัว (มาที่ผู้วิจัย) (บางคน) ก็นั่งส่ายหน้า  ในขณะที่ (บางคน) มากระซิบผู้วิจัยว่า "ไม่ต้องรีบตั้งใจฟังหรือทำความเข้าใจหรอก  เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก"

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30872เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2006 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท