หนังสือราชการภายนอก


การพิมพ์หนังสือราชการภายนอก

                 ครั้งที่แล้วได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือราชการมาฝากกันแล้วนะคะ ครั้งนี้ก็จะนำเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือราชการภายนอก พร้อมกับตัวอย่างรูปแบบของหนังสือราชการภายนอกมาฝากค่ะ บ่อยครั้งนะคะที่ได้เห็นการรูปแบบการพิมพ์ที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลายคนพิมพ์ ก็จะได้หนังสือราชการหลากหลายรูปแบบตรงนั้นเหมือนกัน ตรงนี้ไม่เหมือนกัน หวังว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้นะคะ

การพิมพ์หนังสือราชการภายนอก 

หนังสือราชการภายนอก

                หมายถึง หนังสือที่ใช้ติดต่อสื่อสาระระหว่างส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด หรือส่วนราชการที่มีหนังสือถึงหน่วยงานอื่นที่มิใช่ส่วนราชการหรือบุคคลภายนอก กระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือราชการให้ใช้กระดาษตราครุฑ การพิมพ์หนังสือราชการนั้นควรจัดทำสำเนาไว้ 2 ฉบับด้วย เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานที่งานสารบรรณ 1 ฉบับ

หลักการพิมพ์หนังสือราชการภายนอก

1. เลขที่หนังสือ

                ประกอบด้วยเลขรหัสประจำหน่วยงานที่ออกหนังสือ/ลำดับหนังสือที่ออกในรอบปีปฏิทิน กรณี ถ้าเป็นจดหมายฉบับเดียวแต่ส่งไปให้ผู้รับจำนวนมากควรทำเป็นหนังสือเวียน โดยให้พิมพ์ “ว” หน้าเลขที่หนังสือ ซึ่งอาจใช้เลขที่หนังสือทั่วไปหรือออกเลขที่หนังสือเวียนใหม่โดยเฉพาะก็ได้ ให้พิมพ์เลขที่หนังสือออกไว้บรรทัดตรงกับตีนครุฑชิดกั้นหน้า

2. สถานที่ออกหนังสือ

                เป็นชื่อหน่วยงานที่ออกหนังสือราชการฉบับนั้นและจะต้องระบุที่ตั้งของสถานที่พอสังเขป การพิมพ์ให้พิมพ์กั้นชิดกั้นหน้าระดับเดียวกับเลขที่หนังสือ (ตีนครุฑ) ชื่อหน่วยงาน และสถานที่ตั้งควรมีไม่เกิน 3 บรรทัด

วิธีพิมพ์มีหลายแบบ เช่น (วางศูนย์)

คณะครุศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท

กรุงเทพฯ 10300

 หรือ (ซ้ายตรงกัน)

                                 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                                 ถนนพญาไท กรุงเทพฯ 10300

 หรือ (ขวาตรงกัน)

                                 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                                              ถนนพญาไท กรุงเทพฯ 10300

 

3. วัน เดือน ปี ที่ออกหนังสือ

                ตำแหน่ง วัน เดือน ปี ที่ออกหนังสือ อยู่ถัดจากบรรทัดสุดท้ายของสถานที่ออกหนังสือปัด 1 บิด 1 (กรณีที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ให้เว้นระยะห่าง 1.5 บรรทัด : ข้อความหลังจากนี้จะใช้คำว่า เว้นระยะห่าง 1.5 บรรทัดแทนปัด 1 บิด 1) เริ่มพิมพ์จากกึ่งกลางครุฑ (กึ่งกลางหน้ากระดาษ) พิมพ์เฉพาะตัวเลขวันที่ ชื่อเดือนเต็ม ตามด้วยเลขปี พ.ศ. หลังวันและเดือนเว้นระยะ 2 วรรค ตัวอย่างเช่น 27  ตุลาคม  2552

4. ชื่อเรื่อง

                เป็นชื่อเรื่องที่ย่อให้ได้ใจความสั้นที่สุดของหนังสือราชการนั้น ความยาวของชื่อเรื่องไม่ควรเกิน 2 บรรทัด ตำแหน่งที่พิมพ์อยู่ถัดจาก วัน เดือน ปี ที่ออกหนังสือลงมา 1.5 บรรทัด โดยพิมพ์คำว่า “เรื่อง” ชิดกั้นหน้าและเว้นระยะ 2 วรรค หลังคำว่า “เรื่อง” และตามด้วยข้อความ

5. คำขึ้นต้น

                ให้พิมพ์คำว่า “เรียน” หรือ “กราบเรียน” ในบางตำแหน่ง และเว้นระยะ 2 วรรค ตามด้วยชื่อบุคคล หรือชื่อตำแหน่งผู้รับ ให้พิมพ์ถัดจากเรื่องลงมา 1.5 บรรทัด และพิมพ์ชิดกั้นหน้า

6. อ้างถึง (ถ้ามี)

                ใช้ในกรณีที่มีการอ้างอิงถึงหนังสือหรือเอกสารที่เคยติดต่อกันมาก่อน โดยจะระบุส่วนราชการเจ้าของหนังสือ เลขที่หนังสือ และวัน เดือน ปี ของหนังสือฉบับนั้น ตำแหน่งที่พิมพ์ถัดจากคำขึ้นต้นลงมา 1.5 บรรทัด พิมพ์ชิดกั้นห้า โดยพิมพ์ “อ้างถึง” และเว้นระยะ 2 วรรค ตามด้วยข้อความ ตัวอย่างเช่น อ้างถึง  หนังสือที่ ทม 0302/1741  ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2552

7. สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี)

                ใช้ในกรณีที่มีหนังสือหรือเอกสารที่ส่งไปพร้อมกับหนังสือฉบับนั้นด้วย ถ้ามีหลายรายการให้แยกเป็นข้อ ๆ และในกรณีที่ไม่สามารถส่งหนังสือหรือเอกสารไปในซองเดียวกันได้ จะต้องระบุว่าส่งไปวิธีใด ตำแหน่งที่พิมพ์อยู่ถัดจาก อ้างถึง (ถ้ามี) ลงมา 1.5 บรรทัด โดยพิมพ์ชิดกั้นหน้า พิมพ์คำว่า “สิ่งที่ส่งมาด้วย” เว้นระยะ 2 วรรค ตามด้วยข้อความที่ระบุ

8. ข้อความจดหมาย

                เป็นสาระสำคัญของหนังสือฉบับนั้น ถ้าข้อความมีจุดมุ่งหมายหลายประการ ควรแยกเป็นข้อ ๆ ตำแหน่งที่พิมพ์ข้อความอยู่ถัดลงมาจาก สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี) 1.5 ระยะบรรทัด และย่อหน้า 10 ตัวอักษร ก่อนที่จะพิมพ์ข้อความบรรทัดแรกของแต่ละตอน  ในการพิมพ์ข้อความขึ้นตอนใหม่แต่ละตอนจะเว้น 1.5 บรรทัด แต่ถ้ามีข้อความมากจะเว้น 1 บรรทัดก็ได้ (การเว้นระยะบรรทัดจะต้องเหมือนกันทุกย่อหน้า)

9. คำลงท้าย

                ให้ใช้คำลง ท้ายตามฐานะของผู้รับหนังสือ โดยส่วนใหญ่จดหมายที่มีไปถึงบุคคลทั่วไปมักจะลงท้าย “ขอแสดงความนับถือ” แต่บางตำแหน่งต้องใช้ “ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง” การพิมพ์คำลงท้ายให้เว้นระยะจากข้อความของจดหมายมา 2 ระยะบรรทัด และเริ่มพิมพ์จากจุดกึ่งกลางครุฑ (กึ่งกลางกระดาษ)

หมายเหตุ

                ตามระเบียบงานสารบรรณได้กำหนด คำขึ้นต้น  และ คำลงท้าย ที่ใช้กับบุคคลธรรมดาไว้ 2 กรณี คือ

                กรณีแรก ตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภาหรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้คำขึ้นต้นว่า กราบเรียน และคำลงท้ายว่า ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

                กรณีที่สอง บุคคลธรรมดานอกเหนือจากกรณีแรก เช่น ปลัดกระทรวงอธิบดี บุคคลทั่วไป เป็นต้น ให้ใช้คำขึ้นต้นว่า เรียน และคำลงท้ายว่า ขอแสดงความนับถือ

10. ชื่อผู้ลงนาม

                จะต้องพิมพ์ชื่อเต็มและชื่อสกุลของเจ้าของลายมือชื่อในวงเล็บ โดยเว้นระยะ 2.5 ระยะบรรทัด จากคำลงท้าย และจะต้องวางศูนย์ให้ได้ดุลกับคำลงท้าย

11. ตำแหน่งผู้ลงนาม

                ให้พิมพ์ตำแหน่งของเจ้าของลายมือชื่อ โดยเว้นระยะห่างจาก ชื่อ-สกุลลงมา 1 ระยะบรรทัด และพิมพ์ให้สมดุลกับ ชื่อ-สกุล เต็มด้วย ถ้าเป็นชื่อผู้ที่ลงชื่อแทน ให้ระบุตำแหน่งเดิมและระบุต่อไปว่า ลงชื่อแทนในฐานะอะไร เช่น รักษาราชการแทน หรือลงนามแทน

12. ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง

                ให้พิมพ์ส่วนราชการที่เป็นเจ้าของเรื่องของหนังสือฉบับนั้น พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ หรือโทรสาร เพื่อสามารถติดต่อได้สะดวกรวดเร็ว โดยให้เว้น 1.5 ระยะบรรทัด จากตำแหน่งผู้ลงนามแล้วพิมพ์ชิดกั้นหน้า

รูปแบบการพิมพ์หนังสือราชการภายนอกดูได้จาก 

 http://gotoknow.org/file/primprapa/ex.pdf นี้นะคะ

หมายเลขบันทึก: 308646เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2009 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนถามหน่อยครับ   หนังสือภายนอก "ผู้ที่ลงชื่อใช่เจ้าของหนังสือหรือไม่ครับ"

 

การลงชื่อ ให้ลงชื่อเจ้าของหนังสือค่ะ ในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายให้รองท่านใดท่านหนึ่งลงนามแทน จะต้องลงท้ายตำแหน่งว่าปฏิบัติราชการแทน หรือ รักษาราชการแทน

ท้ายกระดาษหนังสือราชการใส่ข้อความวิสัยทัศน์ของส่วนราชการได้ป่าวคับ ผิดระเบียบสารบรรณป่าว

ขอบคุณมาก ๆ ครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท