หนังสือรับรองการเกิด


รับรองการเกิด

หนังสือรับรองการเกิด

หลักการทั่วไป

          หลักฐานชิ้นแรกที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับภายหลังเมื่อเกิดและมีสภาพบุคคลตามกฎหมายได้แก่หนังสือรับรองการเกิด ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญแสดงถึงถิ่นกำเนิดและสถานภาพในการดำรงอยู่ของบุคคลในสถานะการเป็นราษฎรของรัฐ โดยเอกสารดังกล่าวได้รับการรับรองโดยกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แต่เนื่องจากบุคคลเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะต้องเกิดที่สถานพยาบาล เกิดที่บ้าน เกิดนอกเคหะสถานหรือเกิดในท้องที่ห่างไกลที่อาจไม่มีคนรู้เห็นการเกิด การจะกำหนดให้ผู้ทำคลอดโดยทั่วไปเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการเกิดจึงอาจทำให้เอกสารดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือได้  สำนักทะเบียนกลางจึงได้กำหนดให้เฉพาะกรณีเด็กที่เกิดในสถานพยาบาลเท่านั้นที่จะได้รับหนังสือรับรองการเกิดโดยแพทย์ พยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทำคลอดเด็กเป็นผู้ออกหนังสือรับรองดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรก็ไม่ลืมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับบุคคลที่เกิดในประเทศไทยและมีความจำเป็นต้องใช้หลักฐานแสดงจุดเกาะเกี่ยวเรื่องถิ่นที่เกิดกับประเทศ โดยสามารถยื่นเรื่องขอหนังสือรับรองการเกิดได้

          กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรกำหนดในเรื่องของหนังสือรับรองการเกิดไว้เป็น ๒ ส่วนได้แก่

          ส่วนที่ ๑ เป็นหนังสือรับรองการเกิดที่ออกตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งกำหนดให้ผู้ทำคลอดมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดไว้เป็นหลักฐาน หนังสือรับรองการเกิดกรณีนี้เรียกว่า ท.ร.๑/๑ โดยกำหนดให้ใช้สำหรับเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชน ออกให้ได้กับเด็กทุกคนไม่ว่าเด็กนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม

          ส่วนที่ ๒ เป็นหนังสือรับรองการเกิดที่ออกตามมาตรา ๒๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาออกหลักฐานดังกล่าวให้แก่ผู้ยื่นคำขอที่มีความจำเป็นต้องใช้หลักฐานแสดงว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยสำหรับการขอมีหรือขอแปลงสัญชาติไทยหรือกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่น หนังสือรับรองการเกิดกรณีนี้เรียกว่า ท.ร.๒๐/๑ โดยกฎหมายบัญญัติให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอหนังสือรับรองการเกิดดังกล่าว ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้

การขอหนังสือรับรองการเกิด

          กฎหมาย

๑. พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

          มาตรา ๒๐/๑  ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

          มาตรา ๒๓ เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๑            

๒. ประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา ๒๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑  ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑

ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองการเกิด

ก. การขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑

          ท.ร.๑/๑ เป็นแบบพิมพ์หนังสือรับรองการเกิดที่กำหนดขึ้นตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ สำหรับสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนออกให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในสถานพยาบาลนั้นๆ ไม่ว่าเด็กที่เกิดจะเป็นบุตรของคนไทยหรือคนต่างด้าวประเภทใดก็ตาม เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าเด็กที่เกิดนั้นจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้รับสัญชาติไทยก็ตาม ผู้ทำคลอดไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์จะต้อง ออกหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.๑/๑ ให้กับผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดซึ่งได้แก่บิดาหรือมารดาของเด็กที่เกิดเพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนโดยไม่ต้องยื่นคำร้องแต่อย่างใด  เว้นแต่กรณีหนังสือรับรองการเกิดสูญหายหรือถูกทำลายและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว ก็สามารถติดต่อขอสำเนาหนังสือรับรองการเกิดได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลแห่งที่เด็กคนนั้นเกิด แต่ถ้าผู้นั้นได้มีการแจ้งการเกิดและมีสูติบัตรหรือใบเกิดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือรับรองการเกิดอีก  อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้นำแบบพพิมพ์หนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ไปใส่ไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กเล่มสีชมพูซึ่งจะแจกให้กับหญิงทุกคนที่ไปคลอดบุตรที่สถานพยาบาลซึ่งสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานได้  

          หนังสือรับรองการเกิดนี้ไม่ใช่ใบเกิดหรือสูติบัตร ไม่ใช่เอกสารที่ออกให้โดยนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ดังนั้นผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดตามกฎหมาย ได้แก่บิดาหรือมารดา และเจ้าบ้านซึ่งก็คือผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือหัวหน้าสถานพยาบาลแห่งที่เด็กเกิด จะต้องนำหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ เป็นหลักฐานไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนเพื่อรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรหรือใบเกิดให้  สำหรับการลงรายการใน ท.ร.๑/๑ นั้นให้ลงรายการตามข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบจากคนไข้หรือผู้คลอด โดยรายการ “เป็นบุตรลำดับที่” หมายถึงเด็กที่เกิดเป็นบุตรลำดับที่เท่าไรของบุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาคนเดียวกัน ส่วนรายการเกี่ยวกับบิดาของเด็กให้ลงรายการตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น ถ้าหญิง ผู้คลอดไม่ประสงค์จะแจ้งรายการบิดาของบุตรก็ให้เว้นว่างไว้ และปล่อยให้เป็นเรื่องของนายทะเบียนผู้รับแจ้งเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนในขั้นตอนการรับแจ้งการเกิดต่อไป  

 ข. การขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑

          ท.ร.๒๐/๑ เป็นแบบพิมพ์หนังสือรับรองการเกิดที่ถูกกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อเป็นหลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่แสดงถึงถิ่นที่เกิดของบุคคลอีกประเภทหนึ่ง จะมีความแตกต่างจาก ท.ร.๑/๑ ตรงที่ ท.ร.๒๐/๑ จะออกให้สำหรับบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติโดยไม่ได้ผ่านการแจ้งการเกิด หรือบุคคลที่เคยมีสูติบัตรแต่เอกสารได้สูญหายหรือชำรุดไม่สามารถคัดสำเนาหรือคัดทะเบียนคนเกิดได้ ซึ่งเดิมฝ่ายปกครองได้แก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ประสงค์จะได้หลักฐานการเกิดด้วยการออกใบรับรองสถานที่เกิดให้

         ○ คุณสมบัติของผู้ที่จะขอหนังสือรับรองการเกิด  ได้แก่

            ๑. เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้แจ้งการเกิด หรือ

            ๒. เคยแจ้งการเกิดแล้วแต่ไม่มีสูติบัตร หรือสูติบัตรสูญหายและสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถคัดสำเนาสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดให้ได้

        ○ ผู้ยื่นคำขอ ได้แก่ 

            ๑. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้

            ๒. ถ้าผู้ขอหนังสือรับรองการเกิดอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์ ให้บิดา มารดาหรือผู้ปกครองของเด็กเป็นผู้ยื่นคำขอแทน

         ○  สำนักทะเบียนที่ยื่นเรื่อง  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งที่ผู้นั้นเกิด หรือที่ผู้นั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ปัจจุบัน

          ขั้นตอนการยื่นคำขอ

             ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่

                (๑) บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (ถ้ามี) และ บัตรประจำตัวของบิดา มารดา (ถ้ามี)

                (๒) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓) หรือสำเนาทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘ ท.ร.๓๘/๑ ท.ร.๓๘ ก หรือ ท.ร.๓๘ ข) อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีชื่อและรายการบุคคลขอผู้ขอหนังสือรับรองการเกิด

                (๓) หลักฐานเอกสารที่แสดงว่าเป็นผู้เกิดในประเทศไทย (ถ้ามี) เช่น หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑)  หลักฐานการขึ้นทะเบียนทหาร (ส.ด.๙) หลักฐานทางการศึกษา ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เป็นต้น

                (๔) รูปถ่ายหน้าตรงขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป

                (๕) หลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว เป็นต้น

              ๒. นายทะเบียน

                 (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้ขอ

                 (๒) ออกใบรับเรื่องให้แก่ผู้ขอไว้เป็นหลักฐาน โดยอาจใช้วิธีการถ่ายเอกสารคำขอให้ก็ได้

                 (๓) ตรวจสอบรายการบุคคลของผู้ขอหนังสือรับรองการเกิดกับฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่ามีรายการถูกต้องตามหลักฐานที่ยื่นไว้หรือไม่

                 (๔) สอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ขอหนังสือรับรองการเกิด  บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่อุปการะเลี้ยงดู (ถ้ามี) และพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองสถานที่เกิดและประวัติความเป็นมาของผู้ขอหนังสือรับรองฯ

                 (๕) ถ้าผู้ขอหนังสือรับรองฯ เป็นผู้ที่เกิดในสำนักทะเบียนอื่นที่ไม่ใช่สำนักทะเบียนที่ยื่นคำขอ และผู้ขอไม่อาจนำพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลมาให้ทำการสอบสวน นายทะเบียนจะทำเรื่องขอความร่วมมือให้สำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและสอบสวนแทน

                 (๖) เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่าหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย ให้จัดทำหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.๒๐/๑ มอบให้แก่ผู้ขอ ๑ ฉบับ ส่วนคู่ฉบับให้จัดเก็บไว้เป็นหลักฐานที่สำนักทะเบียน

                 (๗) ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

กรณีศึกษาเรื่องหนังสือรับรองการเกิด

                กรณีที่ ๑. นายไช้  หอยสัง  ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มผู้อพยพจากเกาะกงเชื้อสายไทย  เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่ประเทศกัมพูชา มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ได้ยื่นขอหนังสือรับรองการเกิดให้กับบุตร ๒ คนได้แก่ นายเช้า หอยสัง เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด แต่ไม่ได้แจ้งการเกิด และไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร และนายสาย  หอยสัง เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่โรงพยาบาลจังหวัดตราด มีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ โดยแจ้งว่าจำเป็นต้องใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ  นายทะเบียนสามารถดำเนินการให้ได้หรือไม่ อย่างไร

                แนวการวินิจฉัย   พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๐/๑ กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในข่ายสามารถขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง หรือขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๒/๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่ขาดหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย  รวมถึงคนสัญชาติไทยที่มีความจำเป็นต้องใช้หลักฐานการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร โดยให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรานี้ ดังนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาได้แก่การขอหนังสือรับรองการเกิดกรณีนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประกาศสำนักทะเบียนกลางฯ  ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ หรือไม่

                กรณีของนายเช้า  หอยสัง เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้แจ้งการเกิด พิจารณาเบื้องต้นว่าน่าจะออกหนังสือรับรองการเกิดได้ แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศสำนักทะเบียนกลางกำหนดให้  ผู้ขอหนังสือรับรองการเกิดจะต้องมีหลักฐานทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓) หรือทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘ ท.ร. ๓๘/๑ ท.ร.๓๘ ก หรือ ท.ร.๓๘ ข) อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนายเช้าฯไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎรดังกล่าว นายทะเบียนจึงไม่อาจจัดทำหนังสือรับรองการเกิดให้ได้

                กรณีของนายสาย  หอยสัง เกิดในประเทศไทย มีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๓ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ซึ่งหมายความว่านายสายฯ ได้รับการแจ้งการเกิดและได้รับสูติบัตร ท.ร.๓ แล้ว ดังนั้น นายสายฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้หนังสือรับรองการเกิดตาม ท.ร.๒๐/๑ เพราะสามารถใช้สูติบัตรได้ดีกว่าอยู่แล้ว เว้นแต่ถ้าสูติบัตรของนายสายฯ สูญหายหรือถูกทำลาย และนายทะเบียนไม่สามารถตรวจคัดสำเนาหรือทะเบียนคนเกิดให้ได้  เช่นนี้นายทะเบียนสามารถออกหนังสือรับรองการเกิดตาม ท.ร.๒๐/๑ ให้ได้

                กรณีที่ ๒.  นายเจียง  สองแคว เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๐ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ ของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองฯ ได้ยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่นตามที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยแจ้งว่าตนเกิดที่อำเภอป้อมปราบ ฯ จังหวัดพระนคร มีหลักฐานสำเนาทะเบียนคนเกิดที่เคยขอคัดจากเขตป้อมปราบฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ปรากฏว่านายทะเบียนไม่ดำเนินการให้โดยแจ้งให้นายเจียงฯ ไปติดต่อขอดำเนินการที่เขตป้อมปราบฯ ขอทราบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้

                แนวการวินิจฉัย  หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดไว้ตามประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา ๒๐/๑ ฯ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ โดยผู้ที่จะขอหนังสือรับรองการเกิด ต้องเป็นเกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้แจ้งการเกิด หรือเคยแจ้งการเกิดแล้วแต่ไม่มีสูติบัตร หรือสูติบัตรสูญหายและสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถคัดสำเนาสูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดให้ได้  โดยถ้าผู้ขอมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเป็นผู้ยื่นคำขอแทน  ส่วนสำนักทะเบียนที่จะดำเนินการเรื่องนี้ กำหนดให้ผู้ขอหนังสือรับรองการเกิดสามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งที่ผู้นั้นเกิด หรือที่ผู้นั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ปัจจุบัน แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ 

               กรณีของนายเจียง  สองแคว นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองฯ จะต้องรับคำขอและดำเนินการให้ผู้ขอตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักทะเบียนกลางฯ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ โดยอาจทำเรื่องขอตรวจสอบหลักฐานสำเนาทะเบียนคนเกิดตามที่นายเจียงฯ นำมาแสดง ไปยังเขตป้อบปรามก่อนก็ได้  ดังนั้น การที่นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองฯ ปฏิเสธการดำเนินการให้กับนายเจียง  สองแคว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 

               กรณีที่ ๓. บุคคลที่มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ที่โรงพยาบาลออกให้ จะต้องขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ อีกหรือไม่ อย่างไร

               แนวการวินิจฉัย  หนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยผู้ทำคลอดของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเพื่อรับรองการเกิดของเด็ก ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร  ส่วนหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยนายทะเบียนสำหรับผู้ที่มีชื่อและรายการบุคคลในเอกสารทะเบียนราษฎรแล้ว แต่ขาดหลักฐานแสดงจุดเกาะเกี่ยวในเรื่องถิ่นกำเนิด ดังนั้น  ถ้าบุคคลที่มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ และได้รับการแจ้งการเกิดแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ อีก เพราะสามารถใช้สูติบัตรหรือทะเบียนคนเกิดได้ดีกว่า  แต่ถ้าบุคคลที่มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ และไม่ได้แจ้งการเกิด ไม่มีสูติบัตร ถ้าจำเป็นต้องใช้หลักฐานทะเบียนราษฎรที่แสดงจุดเกาะเกี่ยวเรื่องถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ก็ควรขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ 

               กรณีที่ ๔  นางสาวมึด๊ะ ได้ติดต่อขอแจ้งการเกิดให้กับบุตรชื่อเด็กชายกำพร้า โดยแสดงหลักฐานหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลประจำอำเภอ  เมื่อนายทะเบียนสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบิดาของเด็กชายกำพร้า  นางสาวมึด๊ะกลับให้การกับนายทะเบียนว่ารายการที่ปรากฏใน ท.ร.๑/๑ ไม่ใช่บิดาของเด็ก ส่วนบิดาที่แท้จริงนั้นเป็นใครตนยังไม่แน่ใจเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว แต่ที่ต้องแจ้งชื่อพ่อของเด็กกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนั้นเพราะมีเหตุจำเป็น หากไม่แจ้งจะไม่ได้หนังสือรับรองการเกิด  กรณีนี้นายทะเบียนจะลงรายการเกี่ยวกับบิดาของเด็กชายกำพร้าในสูติบัตรอย่างไร และถ้าจะแก้ไขรายการในหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ จะดำเนินการได้หรือไม่ ถ้าได้ใครเป็นผู้แก้ไข

               แนวการวินิจฉัย  เอกสารการทะเบียนราษฎรเป็นเอกสารราชการที่จัดทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย การบันทึกหรือลงรายการผิดพลาดซึ่งเกิดจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่หรือเกิดจาก ผู้แจ้งสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยปราศจากเจตนาทุจริตย่อมสามารถแก้ไขรายการในเอกสารให้ถูกต้องได้ แต่หากความผิดพลาดหรือความไม่ถูกต้องของรายการในเอกสารเกิดจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือการทุจริต  เอกสารดังกล่าวย่อมไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้และนายทะเบียนไม่อาจแก้ไขได้  ด้วยเหตุดังกล่าวสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองจึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุขขอให้แจ้งทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เป็นสถานพยาบาลทุกแห่งในสังกัดเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ให้ลงรายการตามข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบโดยเฉพาะรายการบิดาของเด็กที่เกิด ถ้าผู้คลอดไม่ทราบหรือไม่ประสงค์จะเปิดเผยก็ให้เว้นว่างไว้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบันทึกรายการที่ไม่ถูกต้องอันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่เป็นต้นเหตุ  สำหรับกรณีของนางสาวมึด๊ะ ถ้านายทะเบียนสอบสวนแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่ารายการบิดาของเด็กชายกำพร้าตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองการเกิดของโรงพยาบาลเป็นรายการที่ไม่ถูกต้อง การบันทึกรายการในสูติบัตรก็ไม่จำเป็นต้องลงรายการตาม ท.ร.๑/๑ โดยหากปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาของเด็กชายกำพร้า นายทะเบียนก็สามารถบันทึกรายการตามข้อเท็จจริงหรือถ้าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว นายทะเบียนก็สามารถเว้นว่างไว้ก่อนได้ และเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็กชายกำพร้าแล้ว จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงเรื่องบิดาของเด็กไปยังโรงพยาบาลที่ออกหนังสือรับรองการเกิดด้วยเพื่อจะได้แก้ไขรายการให้ถูกต้อง นายทะเบียนไม่มีอำนาจไปแก้ไข ท.ร.๑/๑   

หมายเลขบันทึก: 308473เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • สวัสดีค่ะ
  • เป็นเรื่องที่ควรรู้ แต่หลายคนไม่รู้รายละเอียดนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

ข้อมูล ละเอียดดีมากค่ะ อยากขอคำปรึกษาหลายๆเรื่อง จังเลยค่ะ 

 สอบถามหน่อยครับ  ผม ต้องการที่จะขอเอกสารรับรองการเกิดแต่ผมพึ่งได้บัตรบุคลไม่มี สถานะทางทะเบียน ในปี 52 ตอน อายุ 18 ปีซึ่ง ใน ทร 14 มันแจ้งว่าเข้ามาอยู่เมื่อ 8 มิ.ย. 52  เมื่อตอนได้เข้าระบบ    แต่ ผม เกิดทีไทย  ไม่มีเอกสารตอะไรเลย แต่มี วุฒิการศึกษาและบุคคลที่สามารถรับรองได้ ซึ่งมันไม่ตรง กับ ทร 14 เพระก่อนหน้านั้น ผมไมีมีเอกสาร อะไรเลยมา ก่อน  ปัจจุบันผมกำลังศึกษา ป.ตรีค ใกล้จะจบ แล้ว อายุ 23 ปี

  อยาก ทราบว่า ใน ทร 14 มันขึ้น ว่า เข้ามา อยู่เมื่อ 52 ผมจะสามารถขอ เอกสารรับรองการ เกิดได้ไหมคับ ช่วยตอบกลับทีนะคับ

ถ้าในกรณีขอใบรับรองเกิด(เพราะใบสูติบัตรหาย ต้นขั้วที่อำเภอหายด้วย) แต่ในใบรับรองการเกิดนั้นไม่ได้ระบุวันเดือนปีเกิด อยากทราบว่านั่นเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ใช่มั้ยค่ะ แล้วเราขอใหม่ได้ไหมค่ะ แต่ตอนนี้อยู่ต่างประเทศและต้องการใช้ด่วนมาก ให้พ่อกับแม่ขอให้ได้ไหมค่ะ

  • ถ้าเกิดที่บ้าน และตัดสายดือเองเพราะฉุกเฉิน จะแจ้งเกิดอย่างไรคะ และพักอยู่ในเขตเทศบาล ค่ะ ตอนนั้นไม่มีเงินไป รพ ด้วยค่ะ
นางสาว นารี จันทร์มณี

สวัสดีค่ะ หนูชื่อ นางสาว นารี จันทร์มณี เกิดในเมืองไทย พ.ศ . 2531 พ่อ แม่ เป็นชาวลาวอพยพ เคยขอสัญชาติไทยค่ะ เอกสารบางอย่างไม่มีเช่นใบเกิด หรือสูติบัตร ประจุบันอยู่ บ้านนาข่าท่า ต. พะทาย อ. ท่าอุเทน จ. นครพนม ค่ะ อยากทราบว่าต้องทำอย่างไรบาง ค่ะ ประจุบันอายุ 26ปีแล้วค่ะ ท่านใครมีคำแน่นำช่วยหนูด้วยนะค่ะ ติดต่อหนูได้ที่เบอร์นี้ เลยค่ะ0926893147ลบกวนพี่ๆๆด้วยนะค่ะ

สวัสดีครับผมชื่อ เด็กชายอุ่น อายุ16ปี เกิดที่ไทย ไม่มีใบเกิด ในทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงเขียนว่าบิดาชื่อนายอ๋อง แต่บิดาที่แท้จริงชื่อ นายนัย อยากถามว่าถ้าจะทำใบรับรองการเกิดจะแก้ไขใช้ชื่อบิดาที่แท้จริงได้รึป่าวครับ

สวัสดีครับ กระผม นายสมชาย กาบเเก้ว

ขอความอนุเคาระห์แก่อาจารย์เเละผู้รู้ทุกท่าน กระผมถามไถ่เรื่อง การขอใบรับรองการเกิดหน่อยนะครับ

ผมเองเกิดในประเทศไทย ต.เทอดไทย อ.เเม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เกิดจากหมอตำเเย มีพยายรู้เห็นในการเกิด ซึ่งเเม่ของกระผมอาศัยอยู่ในพม่า ในทะเบียนบ้านของเเม่ระบุว่าเข้ามาในปี 2537 ซึงเป็นปีที่ผมเกิดพอดี ตอนนี้ผมถือบัตรหัว0 ได้รับการเล่าเรียนตั้งเเต่ ชั้นประถม มัธยม ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาตรี อยู่ปีที่3 มีแบบ ท.ร. 14/1 อยากทราบว่ากระผมจะขอใบรับรองการเกิดได้หรือป่าวครับ แม้นผู้รู้ท่านใดเห็นข้อความของกระผมเเล้ววอนท่านช่วยตอบคำถาม ถือว่าทำทานให้กระผมด้วยดถอะ ขอรับ

นราศิริ ทัศจันทร์

ดิฉันอยากสอบถามเรื่องกรณีสูติบัตรไม่มีชื่อมีแต่ ดญ. และ มี นามสกุล ทัศจันทร์ คือตอนเกิด

คุณพ่อของดิฉันยังไม่ได้ตั้งชื่อ ดิฉันเกิดที่บ้านปี 2502 ค่ะโดยหมอตำแย

ดิฉันไปตรวจสอบที่อำเภอเกิด จอมทอง กทม พบตันขั้วที่ไม่มีชื่อเหมือนสูติบัตรที่ดิฉันมีและดิฉันนำไปใช้ เพื่อไป ตปท

แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศให้ดิฉันขอเอกสารสืบสวน ทางอำเภอๆจอมทองได้ออกเอกสารสอบสวนให้ แต่เมื่อไปใช้ที่ ต่างประเทศเค้าบอกว่าถ้าสอบสวนแล้วใช่ใบเกิดดิฉันทำไมไม่ใส่ชื่อในใบเกิด จึงอยากปรึกษาว่าจะทำไงดีค่ะ ที่ทางอำเภอที่ต่างประเทศจะยอมรับเรื่องไม่มีชื่อในใบสูติบัตร

ทั้งที่ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ประทับตรารับรองให้แล้วค่ะ ปวดหัวมากค่ะ

หนังสือรับรองการเกิดของหญิงไทยแต่ได้สามีต่างชาติต้องใช้อะไรบ้างค่ะก่อนที่จะมีสูติบัติ


ขอสอบถามหน่อยคะ พอดีมีโอกาสได้รู้จักเด็กนักเรียนคนนึง เขาบอกว่าเขาอยากเรียนต่อ แต่เค้าเรียนต่อไม่ได้เนื่องจากใบสูจิบัตรหายตั้งแต่เด็ก น้องเป็นคนมอญ ที่เกิดในประเทศไทย และยังไม่ได้แจ้งข้อมูลการเกิดนี้กับทางอำเภอ น้องไม่มีแม้กระทั้งบัตรประชาชน จนตอนนี้น้องอายุประมาณ 15 ปีแล้วคะ มีทางแก้ไขวิธีใดบ้างคะที่จะพอเป็นไปได้และขอใบสูจิบัตรใหม่ได้

ขอสอบถามหน่อยคะ พอดีมีโอกาสได้รู้จักเด็กนักเรียนคนนึง เขาบอกว่าเขาอยากเรียนต่อ แต่เค้าเรียนต่อไม่ได้เนื่องจากใบสูจิบัตรหายตั้งแต่เด็ก น้องเป็นคนมอญ ที่เกิดในประเทศไทย และยังไม่ได้แจ้งข้อมูลการเกิดนี้กับทางอำเภอ น้องไม่มีแม้กระทั้งบัตรประชาชน จนตอนนี้น้องอายุประมาณ 15 ปีแล้วคะ มีทางแก้ไขวิธีใดบ้างคะที่จะพอเป็นไปได้และขอใบสูจิบัตรใหม่ได้

กรณีของผม ผมได้ทำการยื่นเรื่องขอใบเกิดไปแล้วครับ แต่ผ่านมา 3 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าเลยครับ ไปติดต่อสอบถามทีไรเขาก็บอกว่าเรื่องยังไม่มาๆผมไม่รู้จะต้องทำยังไงต่อครับเบอร์ผมครับ 094-750 5409ใครพอจะช่วยได้ผมขอรบกวนหน่อยนะครับ.ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงล่วงหน้าครับ

หนูเกินในไทยค่ะ ตอนนี้อายุ16ปีถ้าหากจะขอต้องทำอย่างไรบ้างคะอยากทราบข้อมูลคะ

ลูกสาวอายุ15ทำสูติบัตรชำรุดจะไปขอคัดใหม่ที่อำเภอด้วยตัวเองได้หรือไม่ค่ะ

สวัสดีค่ะหนูอยากขอคำแนะนำจากผู้รู้ทุกท่านค่ะหนูอยากขอหนังสือรับรองการเกิดแต่พ่อแม่ไม่มีบัตรและเอกสารอะไรเลยสักอย่างแต่หนูเกิดที่โรงบาลแม่บอกว่าทางโรงบาลเคยบอกว่าให้ไปเอาใบรับรองหลังจากที่หนูออกจากโรงบาลแล้วแต่พ่อแม่ย้ายที่ทำงานบ่อยมากเลยไม่ได้ไปเอาเอกสารอะไรเลยเวลาผ่านมาหลายปีมากหนูเกิด พศ2538วันที่2กรกฎาคม วันอาทิตย์ปีกุนพ่อกับแม่ไม่มีเอกสารอะไรเลยค่ะแต่ก่อนจะออกจากโรงบาลแม่บอกว่ามีลุงคนรู้จักไปเซ็นเอกสารอะไรสักอย่างแม่ก็จำไม่ได้ละก็พากันออกมารรบกวนผู้รู้หรือใครอยากช่วยแนะนำหนูทีค่ะเพราะตอนนี้หนูลำบากไม่มีเอกสารอะไรเลยติดต่อหนูมาทีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท