การจดทะเบียนการเกิด ภาคสาม


การแจ้งเกิด

การจดทะเบียนการเกิด (ต่อจากภาคสอง)

กรณีศึกษาเรื่องการเกิด

           กรณีที่ ๑. นางสาวสมบูรณ์  ใจสะอาด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นคนงานในโรงงานแห่งหนึ่งที่จังหวัดระยอง และได้ตั้งท้องกับเพื่อนชายในโรงงานเดียวกัน แต่เพื่อนชายไม่ยอมรับว่าเป็นลูกของตน  เมื่อนางสาวสมบูรณ์ฯ คลอดบุตรที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดระยองแล้ว นางสาวสมบูรณ์ฯ ได้นำบุตรกลับไปอยู่บ้านที่อำเภอหนองบัวโดยไม่ได้แจ้งการเกิด อยากทราบว่าการแจ้งการเกิดบุตรของนางสาวสมบูรณ์ฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร แจ้งที่ใด และการลงรายการบิดาของเด็ก รวมถึงนามสกุลของเด็ก จะใช้ชื่ออย่างไร

           แนวการวินิจฉัย  นางสาวสมบูรณ์ฯ คลอดบุตรที่โรงพยาบาล เอกสารเกี่ยวกับการเกิดฉบับแรกที่จะได้รับคือหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.๑/๑ ที่ผู้ทำคลอดของโรงพยาบาลประจำจังหวัดระยองจะต้องออกให้ตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔  แต่เอกสารดังกล่าวยังไม่ถือเป็นเอกสารการรับแจ้งการเกิดหรือสูติบัตรเพราะผู้ทำคลอดไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ ไม่ใช่นายทะเบียนผู้รับแจ้ง ดังนั้น ผู้มีหน้าที่แจ้งจึงต้องแจ้งการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

           ประเด็นการแจ้งการเกิดบุตรของนางสาวสมบูรณ์  ใจสะอาด ซึ่งเป็นการเกิดในบ้าน สามารถดำเนินการได้ ๒ กรณี กล่าวคือ (๑) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัดระยองในฐานะเจ้าบ้านของบ้านที่เด็กเกิดเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครระยอง เนื่องจากโรงพยาบาลฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลดังกล่าว โดยแสดงหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ซึ่งตามปกติแล้วโรงพยาบาลฯ จะมอบหมายเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรวบรวมหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ส่งให้สำนักทะเบียนเพื่อออกสูติบัตร หรืออาจมอบหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ให้บิดา มารดาของเด็กนำไปแจ้งการเกิดเองที่สำนักทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ (๑) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔  หรือ (๒) นางสาวสมบูรณ์ฯ เป็นผู้แจ้งการเกิดให้กับบุตรของตนโดยแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นสำนักทะเบียนที่เด็กมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่กับมารดา แต่จะต้องมีหลักฐานสำคัญได้แก่หนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดระยอง หรือผลการตรวจดีเอ็นเอระหว่างนางสาวสมบูรณ์ฯ กับบุตร และต้องมีพยานบุคคลรับรองไม่น้อยกว่า ๒ คน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิดหรือการตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยนายทะเบียนจะตรวจสอบรายการบุคคลของเด็กที่แจ้งการเกิดกับฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรในระบบคอมพิวเตอร์ก่อนเพื่อดูว่าได้มีการแจ้งการเกิดแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าเป็นการแจ้งการเกิดภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่เด็กเกิด เด็กจะได้รับสูติบัตร ท.ร.๑ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๑ เป็นผู้มีสัญชาติไทยเนื่องจากเด็กมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย  แต่ถ้าเป็นการแจ้งการเกิดเกินกว่า ๑๕ วันนับแต่วันที่เด็กเกิด เด็กจะได้รับสูติบัตร ท.ร.๒ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๒ เป็นผู้มีสัญชาติไทยที่แจ้งการเกิดเกินกำหนด

           สำหรับประเด็นการลงรายการชื่อบิดาของเด็กนั้น จะเริ่มต้นตั้งแต่การทำระเบียนผู้ป่วยหรือประวัติคนไข้ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดระยอง ว่านางสาวสมบูรณ์ฯ แจ้งใครเป็นบิดาของบุตร ซึ่งกรณีนี้มีข้อควรระวังกล่าวคือ ถ้านางสาวสมบูรณ์ฯ ไม่พร้อมหรือไม่ประสงค์จะแจ้งชื่อผู้ที่เป็นบิดาของบุตรในครรภ์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรเซ้าซี้หรือพูดแกมบังคับข่มขู่ให้ต้องบอกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การแจ้งรายการอันเป็นเท็จ ซึ่งนอกจากจะทำให้รายการประวัติของเด็กที่เกิดไม่ถูกต้องแล้วยังทำให้เอกสารทะเบียนราษฎรที่จัดทำขึ้นต้องถูกยกเลิกอีกด้วย  ดังนั้น ถ้านางสาวสมบูรณ์ฯ ไม่ประสงค์จะแจ้งชื่อบุคคลที่เป็นบิดาของเด็ก การลงรายการดังกล่าวก็ให้เว้นไว้โดยใส่เครื่องหมาย “ – ” แทน ซึ่งหากภายหลังผู้ที่เป็นบิดามารดามีความประสงค์จะให้นายทะเบียนเพิ่มเติมรายการในสูติบัตรหรือทะเบียนบ้าน หรือปรากฏหลักฐานชัดเจนเช่นผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ หรือคำสั่งศาล นายทะเบียนก็ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรายการดังกล่าวได้

           ส่วนประเด็นการใช้ชื่อสกุลของเด็กที่แจ้งการเกิดนั้น ถ้าเป็นกรณีของครอบครัวปกติ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการไม่ยอมรับเด็กในครรภ์หญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสว่าเป็นบุตรของฝ่ายชาย การใช้ชื่อสกุลของบุตรจะใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดาก็ได้แล้วแต่ความตกลงหรือความยินยอมของทั้งสองฝ่าย  แต่กรณีของนางสาวสมบูรณ์ฯ ซึ่งฝ่ายชายไม่ยอมรับและไม่มีผลการพิสูจน์ความสัมพันธ์ของบิดากับบุตร จึงต้องให้เด็กใช้นามสกุลของผู้ที่เป็นมารดา ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ ที่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียว

            กรณีที่ ๒.  เด็กชายนำโชค (ชื่อตั้ง) ถูกมารดาทอดทิ้งไว้ที่บริเวณข้างร้านขายของชำแห่งหนึ่งในตลาดรังสิต มีจดหมายติดตัวอยู่กับเด็กเขียนข้อความว่าเด็กเกิดวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๑ ครอบครัวยากจนไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ฝากผู้ใจบุญช่วยอุปการะด้วย โดยไม่บอกชื่อบิดามารดาและที่อยู่  เด็กชายนำโชค ถูกนำส่งเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์และถูกรับตัวเข้าสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เด็กชายนำโชค มีสูติบัตรและมีชื่อในทะเบียนบ้าน

            แนวการวินิจฉัย  กรณีของเด็กชายนำโชค เป็นการแจ้งการเกิดสำหรับเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งตามมาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้ผู้พบเด็กไร้เดียงสาถูกทอดทิ้งจะต้องนำตัวเด็กส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยให้เจ้าหน้าที่ที่รับตัวทำบันทึกการรับตัวเด็กไว้เป็นหลักฐานและให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่รับตัวเด็กไว้เป็นผู้แจ้งการเกิด กรณีจึงเป็นหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิตต้องเป็นผู้แจ้งการเกิดให้กับเด็กชายนำโชค โดยแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนที่สถานสงเคราะห์ฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนายทะเบียนจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเสนอนายอำเภอเพื่อพิสูจน์สถานการณ์เกิดและสัญชาติของเด็กตาม ที่กฎหมายกำหนด  แล้วกรณีนี้นายทะเบียนจะออกสูติบัตรให้อย่างไร

            ประเด็นเรื่องนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายอำเภอในขั้นตอนการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กชายนำโชค ตามหลักฐานและความเห็นของนายทะเบียนที่เสนอให้พิจารณาว่าเด็กเกิดในประเทศไทยหรือไม่ และเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทย ซึ่งจากข้อเท็จจริงเท่าที่มีไม่ปรากฏว่าบิดามารดาของเด็กเป็นใคร สัญชาติอะไร และเด็กเกิดที่ใด แต่จากข้อมูลเรื่องวันที่เด็กเกิด วันที่พบเด็กและสถานที่พบเด็ก น่าจะอนุมานได้ว่าเด็กชายนำโชค เกิดในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เด็กได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบของมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งหากนายอำเภอเห็นชอบด้วย นายทะเบียนสามารถรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร ท.ร.๒ ให้เป็นคนสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๒ แต่ถ้านายอำเภอไม่เห็นด้วยและมีความเห็นว่าไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดของเด็กได้ นายทะเบียนก็ไม่สามารถรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กชายนำโชคได้ แต่จะต้องจัดทำทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก กำหนดเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๐ ให้เป็นหลักฐาน

            สำหรับการลงรายการเกี่ยวกับบิดามารดาและนามสกุลของเด็กชายนำโชคในเอกสารทะเบียนราษฎร ให้นายทะเบียนเว้นรายการชื่อและเลขประจำตัวประชาชนรวมทั้งที่อยู่ของบิดามารดาในสูติบัตร ทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก แล้วแต่กรณี  ส่วนนามสกุลจะลงรายการได้เฉพาะกรณีนายทะเบียนสามารถรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร ท.ร.๒ โดยการอนุญาตให้เด็กชายนำโชค ร่วมใช้ชื่อสกุลของสถานสงเคราะห์ที่จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลไว้ ซึ่งจะทำให้เด็กมีชื่อตัวและชื่อสกุลครบถ้วนอย่างถูกต้อง   

            กรณีที่ ๓. เด็กชายขวัญ และเด็กหญิงเรียม เป็นเด็กแฝด  เกิดวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑ มีหนังสือรับรองการเกิดออกให้โดยโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ระบุชื่อบิดานายมารวย  แสนกล้า ไม่ลงรายการสัญชาติ มารดาชื่อนางสาวกิมไล้  แซ่จวง ไม่ลงรายการสัญชาติเช่นเดียวกัน  นางสาวกิมไล้ฯ ได้นำบุตรทั้งสองไปจ้างนางแสง เลี้ยงได้ประมาณ ๓ เดือนแล้วได้ทอดทิ้งเด็กไปโดยไม่ติดต่อกลับมาอีก และไม่รู้ว่าย้ายไปอยู่ที่ใด  จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เด็กทั้งสองคนมีสูติบัตรและมีชื่อในทะเบียนบ้าน และเด็กจะมีสัญชาติอะไร

            แนวการวินิจฉัย  กรณีนี้ควรตรวจสอบก่อนว่าเด็กชายขวัญและเด็กหญิงเรียม  แสนกล้า หรือแซ่จวง ได้รับการแจ้งการเกิดแล้วหรือไม่เนื่องจากเด็กทั้งสองคนเกิดที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอาจแจ้งการเกิดไว้แล้วตามมาตรา ๑๘ (๑) แห่ง  พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยยื่นคำร้องขอตรวจรายการในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งใดก็ได้ หากไม่พบว่ามีการแจ้งการเกิดจึงดำเนินการต่อไป โดยนางแสง ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเลี้ยงเด็กควรนำเด็กไปส่งให้กับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในพื้นที่เพื่อรับตัวเด็กชายขวัญและเด็กหญิงเรียมเข้าไว้ในสถานสงเคราะห์ เพื่อจะได้แจ้งการเกิดให้กับเด็กทั้งสองคนได้ตามมาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยแจ้งที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่สถานสงเคราะห์ตั้งอยู่ในพื้นที่ เช่นเดียวกับกรณีของเด็กชายนำโชค แต่การพิจารณาสำหรับกรณีนี้จะง่ายกว่าเพราะเด็กมีหลักฐานการเกิดได้แก่หนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ซึ่งมีรายการชื่อบิดามารดา อันเป็นประโยชน์ในการสืบเสาะแสวงหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเด็ก และที่สำคัญคือเรื่องสถานที่เกิดซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าเด็กทั้งสองคนเกิดในประเทศไทย อันเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยสัญชาติของเด็ก

            เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แล้วจะต้องตรวจสอบหลักฐาน สอบสวนพยานบุคคลแล้วรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมทำความเห็นเสนอนายอำเภอเพื่อพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็ก ซึ่งเด็กชายขวัญและเด็กหญิงเรียมย่อมเป็นผู้มีสัญชาติไทยเนื่องจากมีหลักฐานว่าเกิดในประเทศไทยโดยไม่ปรากฏว่าบิดามารดาเป็นคนสัญชาติใด  ส่วนการลงรายการบิดามารดาในสูติบัตรและทะเบียนบ้านให้ใช้รายการชื่อตัวและชื่อสกุลตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองการเกิดถึงแม้นายทะเบียนจะตรวจไม่พบรายการบุคคลดังกล่าวในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรก็ตาม  สำหรับนามสกุลของเด็กควรใช้นามสกุลแซ่จวงตามมารดา

            แต่ถ้านางแสง ไม่ต้องการนำเด็กไปส่งให้เจ้าหน้าที่และต้องการเลี้ยงดูเด็กไว้เอง นางแสงไม่อาจแจ้งการเกิดให้กับเด็กชายขวัญและเด็กหญิงเรียมได้เนื่องจากไม่ใช่บิดามารดาของเด็กและไม่ใช่เจ้าบ้านของบ้านหลังที่เด็กทั้งสองคนเกิด แต่นางแสง สามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเด็กทั้งสองคนเข้าในทะเบียนบ้านได้ กรณีเด็กอนาถาซึ่งอยู่ในการอุปการะดูแลของบุคคลตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๙๘    

            กรณีที่ ๔.  นางนูมา  ได้รับการสำรวจแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ มีหลักฐาน ท.ร.๓๘/๑ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ แต่ไม่ได้ขออนุญาตทำงาน นางนูมา  มีสามีเป็นคนพม่าหลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ แต่ไม่ได้รับการสำรวจจากราชการไทย มีบุตรด้วยกันชื่อเด็กชายหม่องเอ เกิดที่โรงพยาบาลระนองเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑ กรณีนี้จะแจ้งการเกิดและขอสูติบัตรให้กับเด็กชายหม่องเอได้หรือไม่ และเด็กจะได้สัญชาติใด

            แนวการวินิจฉัย  ปัจจุบันต้องถือว่านางนูมา มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่นเดียวกับสามี ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา รัฐบาลได้ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ได้เพียงคราวละ ๑ ปีโดยต้องไปรายงานตัวต่อนายทะเบียนและต้องขออนุญาตทำงาน ซึ่งนางนูมา ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของเด็กชายหม่องเอซึ่งเป็นบุตรของนางนูมา สามารถแจ้งการเกิดและได้รับสูติบัตรได้ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยเอกสารฉบับแรกที่จะได้รับได้แก่ หนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ที่โรงพยาบาลระนองต้องออกให้ตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนเอกสารฉบับที่ ๒ ได้แก่สูติบัตร ซึ่งนายทะเบียนจะต้องรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย และเนื่องจากเด็กชายหม่องเอเป็นบุตรของคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจนกว่าจะมีกฎกระทรวงกำหนดสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างอื่น  ดังนั้น การออกสูติบัตรให้กับเด็กชายหม่องเอ นายทะเบียนจึงต้องออกสูติบัตรตามแบบ ท.ร.๐๓๑ กำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก

            กรณีที่ ๕. ถ้าบิดาและมารดาของเด็กไม่มีทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน จะแจ้งการเกิดให้กับบุตรของตนได้หรือไม่ อย่างไร

            แนวการวินิจฉัย  เมื่อพิจารณาจากกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ในเรื่องที่ว่าด้วยการแจ้งการเกิด ไม่มีมาตราใดหรือข้อใดที่กำหนดว่าบิดามารดาที่แจ้งการเกิดจะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านและต้องมีบัตรประจำตัว ทั้งนี้เนื่องจากความเป็นจริงปรากฏว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่มีรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร การที่นายทะเบียนเรียกสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาของเด้กที่แจ้งการเกิดเพื่อให้ง่ายต่อการพิสูจน์ตัวบุคคล การลงรายการในเอกสารและการพิจารณาสัญชาติของเด็ก แต่ถ้าบิดามารดาไม่มีเอกสารดังกล่าวก็มิใช่ว่าจะแจ้งการเกิดไม่ได้ เพียงแต่จะต้องมีพยานบุคคลผู้น่าเชื่อถือและรู้จักคุ้นเคยกับครอบครัวของบิดามารดา รวมทั้งผู้ที่ทำคลอดหรือผู้รู้เห็นการเกิดของเด็กให้การรับรองต่อนายทะเบียน ซึ่งเรื่องนี้สามารถพิจารณาได้จากมาตรา ๑๙/๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประเด็นเรื่องการแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลา ซึ่งสรุปว่าถ้าผู้ที่จะแจ้งการเกิดยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเป็นผู้แจ้งการเกิด แต่ถ้าเป็นกรณีการแจ้งการเกิดของบิดามารดาเองจะต้องถูกเปรียบเทียบปรับก่อนจึงจะดำเนินการได้

            กรณีที่ ๖. นายจะแอ  หล่อปา  สัญชาติไทยใหญ่ มีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๓ เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๖ ได้แจ้งการเกิดบุตรชายของตนที่เกิดกับนางมาลี มาเยอะ บุคคลบนพื้นที่สูงซึ่งได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘ นายทะเบียนได้รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร ท.ร.๓ ให้กับบุตรของนายจะแอฯ กำหนดเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ระบุว่าเด็กไม่ได้สัญชาติไทย เป็นการถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

            แนวการวินิจฉัย  เนื่องจากคำถามไม่ได้ระบุวันเกิดบุตรของนายจะแอฯ และวันที่นางมาลี มาเยอะ (มารดา)ได้รับอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.๒๕๔๓ จึงไม่อาจสรุปได้ว่านายทะเบียนปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์ทั้งสองมีผลต่อการรับแจ้งการเกิดและการออกสูติบัตรซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้

                ๑. ถ้าบุตรชายของนายจะแอ  หล่อปา เกิดก่อนวันที่นางมาลี  มาเยอะ (มารดา) ได้รับอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ พ.ศ. ๒๕๔๓  เด็กย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทยในขณะที่เกิดเนื่องจากมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว การที่นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร ท.ร.๓ จึงถูกต้องแล้ว  ต่อมาเมื่อนางมาลีฯ ได้รับอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบดังกล่าว ได้เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘ และเลขหลักที่ ๖-๗ จะเป็นเลข ๘๔ ซึ่งหมายถึงการเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิด จะมีผลต่อสัญชาติของบุตรด้วยทำให้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเนื่องจากมีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  นายทะเบียนจะต้องจำหน่ายรายการบุคคลและเลขประจำตัวประชาชนเดิมของเด็กในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ แล้วเพิ่มชื่อและรายการบุคคลให้ใหม่ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ กำหนดเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๕  ส่วนสูติบัตรนั้นคงใช้ฉบับเดิมเพราะเป็นข้อเท็จจริงในขณะที่เด็กเกิด แต่ให้นายทะเบียนบันทึกด้านหลังว่าเด็กได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สํญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้ใหม่เป็น ๕ xxxx xxxxx xx x แล้วลงชื่อนายทะเบียนพร้อมวันเดือนปีไว้

                ๒. ถ้าบุตรของนายจะแอ  หล่อปา เกิดหลังวันที่นางมาลี  มาเยอะ (มารดา) ได้รับอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ เด็กย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) เนื่องจากมีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  การที่นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร ท.ร.๓ จึงไม่ถูกต้อง เป็นการออกเอกสารผิดประเภท นายทะเบียนจะต้องยกเลิกสูติบัตรฉบับ ดังกล่าวและจำหน่ายรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ แล้วรับแจ้งการเกิดพร้อมจัดทำสูติบัตรให้ใหม่ ตามแบบ ท.ร.๑ (ถ้าการแจ้งการเกิดตาม ท.ร.๓ เป็นการแจ้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๑  หรือแบบ  ท.ร.๒ (ถ้าการแจ้งการเกิดตาม ท.ร.๓ เป็นการแจ้งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๒ แล้วเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔

            กรณีที่ ๗.  นางสาวอารีย์  เพ็ญ บุคคลสัญชาติไทย เดินทางเข้าไปประกอบอาชีพรับจ้างกีดยางที่ประเทศมาเลเซีย และได้สามีเป็นชาวมาเลเซีย มีบุตรด้วยกัน ๒ คนโดยไม่ได้แจ้งการเกิด ต่อมานางสาวอารีย์ฯ ได้เลิกร้างกับสามีจึงพาบุตรทั้งสองกลับมาประเทศไทย และได้ไปแจ้งการเกิดให้กับบุตรที่สำนักทะเบียนอำเภอที่ตนและครอบครัวอาศัยอยู่  นายทะเบียนจะรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้ได้หรือไม่  ถ้าไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรให้บุตรของนางอารีย์ฯ มีหลักฐานทะเบียนราษฎร

            แนวการวินิจฉัย  พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๘ กำหนดให้เจ้าหน้าที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนมีหน้าที่รับจดทะเบียนคนเกิดสำหรับคนไทยที่ไปเกิดต่างประเทศ และอนุโลมให้ใช้หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดนั้นเป็นสูติบัตร หรือถ้าเป็นการแจ้งการเกิดตามกฎหมายของประเทศที่เด็กไปเกิด หลักฐานการเกิดที่หน่วยงานของรัฐประเทศนั้นออกให้ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองคำแปลถูกต้องโดยกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ก็ให้อนุโลมใช้เป็นสูติบัตรได้ด้วย  นอกจากนี้ มาตรา ๑๘ ของกฎหมายฉบับเดียวกันยังได้กำหนดหลักการของการแจ้งการเกิดไว้ว่าเมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนนั้นเกิด  ดังนั้น กรณีของนางสาวอารีย์ เพ็ญ ซึ่งให้กำเนิดบุตรในต่างประเทศ ถึงแม้บุตรทั้งสองคนจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ก็ไม่สามารถขอแจ้งการเกิดในประเทศไทยได้  สำหรับวิธีการที่จะทำให้เด็กมีหลักฐานทะเบียนราษฎร สามารถดำเนินการได้โดยนางสาวอารีย์ฯ จะต้องยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อบุตรของตนเข้าในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๑๐๓ โดยยื่นได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในปัจจุบัน ซึ่งกรณีนี้ย่อมขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่แสดงว่านางสาวอารีย์ฯ เป็นบุคคลสัญชาติไทย เช่นทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น  และเด็กทั้งสองคนที่ขอเพิ่มชื่อนั้นเป็นบุตรของนางสาวอารีย์ เพ็ญ เช่น ผลการตรวจ ดีเอ็นเอ เป็นต้น 

            กรณีที่ ๘  นางมาริดา  ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗  เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ มีหลักฐาน ท.ร. ๓๘/๑  นางมาริดามีบุตรชื่อเด็กชาย  บุญใหญ่ เกิดที่โรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดกับสามีซึ่งเป็นคนลาวอพยพไม่มี เลขประจำตัว ๑๓ หลักและไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร โดยเมื่อครั้งที่นางมาริดาได้รายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ ไม่ได้นำเด็กชายบุญใหญ่ ไปขึ้นทะเบียนด้วยในฐานะผู้ติดตาม  กรณีนี้จะแจ้งการเกิดและขอสูติบัตรให้กับเด็กชายบุญใหญ่ได้หรือไม่ และจะต้องแจ้งที่ใด เพราะเคยไปติดต่อแล้วแต่นายทะเบียนแจ้งว่าไม่สามารถรับแจ้งการเกิดให้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้

            แนวการวินิจฉัย  กรณีสำนักทะเบียนไม่รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรสำหรับเด็กที่เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยเฉพาะเด็กที่เกิดในประเทศไทยก่อนที่บิดามารดาจะจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นบุคคลประเภท ๐๐ นั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับเดิมที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดเฉพาะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเท่านั้นไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในสถานะเป็นผู้ได้รับผ่อนผันหรืออยู่ชั่วคราว ซึ่งกรณีของเด็กชายบุญใหญ่เกิดปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ขณะเกิดบิดามารดามีสถานะเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จึงไม่อาจแจ้งการเกิดได้  แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ โดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ชื่อกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งหลักการของกฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย

               ส่วนกรณีเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวทุกกลุ่มประเภทที่เกิดก่อนพระราชบัญญัติฉบับใหม่จะแจ้งการเกิดเกินกำหนดได้หรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามหลักการของกฎหมายซึ่งกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรกำหนดหลักการไว้ชัดเจนว่า เมื่อมีคนเกิดผู้มีหน้าที่แจ้งต้องแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ส่วนการกำหนดระยะเวลาการแจ้งว่าให้แจ้งการเกิดภายใน ๑๕ วันนับแต่วันเกิด เป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดสามารถกระทำได้ มิได้เป็นการบังคับว่าถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วไม่สามารถแจ้งการเกิดได้แต่กฎหมายจะใช้เป็นเหตุในการลงโทษผู้ที่ไม่แจ้งการเกิดภายในระยะเวลาที่กำหนดมากกว่า เช่นเดียวกับการขอมีบัตรประจำตัว ประชาชนซึ่งกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกำหนดให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ต้องมีบัตรภายใน ๖๐ วัน มิได้เป็นการบังคับว่าถ้าพ้น ๖๐ วันไปแล้วผู้นั้นจะทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ แต่การทำบัตรเมื่อพ้นระยะเวลา ๖๐ วันจะเป็นความผิดมีโทษปรับ เป็นต้น ประกอบกับกรณีการแจ้งการเกิดเกินกำหนดของคนต่างด้าวได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ในข้อ ๕๘ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕  โดยให้ดำเนินการเช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย ดังนั้น นายทะเบียนจึงสามารถรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดและออกสูติบัตรให้กับเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวทุกประเภทได้ โดยนางมาริดาจะต้องแจ้งการเกิดที่สำนักทะเบียนแห่งที่โรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๑๘ (๑)      

 

คำสำคัญ (Tags): #การแจ้งการเกิด
หมายเลขบันทึก: 308468เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท