โลกแห่งการเรียนรู้


โลกแห่งการเรียนรู้

ีชีวิตในโลกแห่งการเรียนรู้

March 25, 2009 by bloomingmind

ศ. คริสโตเฟอร์ เชฟเฟอร์ จาก Sunbridge College USA ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรเรียนรู้ ภาวะผู้นำ การสื่อสารและปรัชญาการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ ได้มาเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆนี้ และเราได้มีโอกาสดีได้เข้าไปร่วมฟังการบรรยาย เรื่ององค์กรและมนุษย์เรียนรู้ ที่สถาบันรักลูก จึงอยากแบ่งปันให้เพื่อน ๆ อย่างคร่าว ๆ ดังนี้

คนเราสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากจากคุณค่า ความเชื่อบางอย่าง สังคม ประเพณีต่างๆ ก็มีพื้นฐานมาจากความเชื่อของเราแต่ละคน และเมื่อความเชื่อของเราได้รับการแปรเป็นรูปธรรมแล้ว สิ่งนั้นจะส่งอิทธิพลต่อเราอีกชั้นหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายในและโลกภายนอกจะกระทบถึงกันตลอดเวลา

การที่คนไทยสมัยก่อนมีวัดมากมาย แสดงถึงอะไรบ้าง และที่สมัยนี้สร้างตึกสูงมากมาย แสดงให้เห็นอะไร

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เรามีความเชื่อ ให้คุณค่าต่างไปจากสมัยก่อน ศ. คริสโตเฟอร์บอกว่า คำถามสำคัญคือ เราจะสามารถแปรรูปความคิด ความเชื่อ คุณค่าภายในออกมาภายนอก อย่างตระหนักรู้ และสร้างสรรค์ได้อย่างไร

เรา๊คิดต่อไปถึง มาร์กาเรต วีทเลย์ ผู้เขียนหนังสือหันหน้าเข้าหากัน ที่เคยเขียนไว้ด้วยว่า ที่จริง เราควรสำรวจการกระทำ คำพูด วิถีปฏิบัติของเรา เพื่อค้นหาคุณค่า หรือความเชื่อภายในที่แสดงออกมา (ก็น่าสนใจดีนะ)

รู้จักประวัติ+ที่มาของตัวเอง (องค์กร)

แต่ละคนมีเอกลักษณ์และคุณลักษะพิเศษ ที่เราทุกคนควรให้เกียรติและเคารพกัน และตัวเราเองก็ควรรู้จักตนเองให้มากขึ้น ว่าเราเป็นใคร ครอบครัว พี่น้อง เป็นมาอย่างไร เรามีแบบแผนอะไรไหมในชีวิต สำรวจทุกแง่มุมในชีวิต เพื่อให้เห็นรากที่สร้างเราขึ้นมา องค์กรก็เช่นกัน ผู้ที่รู้ว่าองค์กรมีความเป็นมาอย่างไร เรื่องเล่า อุปสรรคที่ผ่านเข้ามาและพ้นไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราตระหนักในคุณค่าของชีวิต ..

พัฒนาการของชีวิตและองค์กร

ให้เรามองย้อนช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต ว่าแต่ละช่วงมีความงามและความพิเศษแตกต่างอย่างไร และกว่าที่เราจะผ่านแต่ละช่วง มันต้องเจอช่วงเปลี่ยนผ่าน วิกฤตกันทั้งสิ้น ทารกจะคลอดก็เป็นช่วงวิกฤต พอคลอดแล้วเป็นวัยเด็กก็มีความท้าทายของแต่ละช่วงวัย คำถามสำคัญคือ เราทำอย่างไรเมื่อเจอกับวิกฤต หรือช่วงเปลี่ยนผ่านในชีวิต คนหรือองค์กรที่มีวุฒิภาวะมีลักษณะอย่างไร

ความสัมพันธ์

เราไม่ใช่แค่ร่างกายแต่มีจิตวิญญาณภายในที่รู้สึกนึกคิด และส่วนนี้เองที่เป็นเรื่องของการเชื่อมโยง สัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ศ. คริสโตเฟอร์บอกว่า ท่านชอบเดินในตัวอาคารยามค่ำคืน เพื่อให้พลังงานหรือบรรยากาศพาท่านท่องไปในโลกจินตนาการว่า ระหว่างวัน มีกิจกรรม ความสัมพันธ์อะไรบ้างเกิดขึ้นในที่นั่น

หากสถานที่ให้พลังงานที่ดี แสดงว่าคนที่อยู่ที่นั่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน

หากต้นไม้เหี่ยวแห้ง สถานที่ไม่ได้รับการดูแล แสดงว่า ผู้คนอาจไม่รักที่ทำงานนั่นนัก

ความหมายของการเกิดและดำรงอยู่

ทั้งคนและองค์กรที่เกิดมาล้วนแต่มีความหมายอะไรสักอย่าง หากแต่มันคืออะไรเล่า คนและองค์กรต้องตระหนักรู้เอง จริง ๆทุกคน หรือ ทุกองค์กรในทุก ๆ ปี ควรหาเวลาพักคลาย retreat เพื่อถามและใคร่ครวญ ดังนี้

เราเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้

ที่ผ่านมาจนถึงเดี๋ยวนี้ละ เราเป็นอย่างไร

สิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่ทำไม่ขึ้นเล่า มันคืออะไร

คุณค่าที่เรายึดถือคืออะไร และสิ่งที่เราทำไปในช่วงที่ผ่านๆ มาแสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่เรายึดถือไหม —ช่องว่างระหว่างความคิด กับความจริง ห่างกันมากไหม

สำรวจด้านมืดภายใน shadow ทุกอย่างมีด้านมืด ด้านสว่าง ศ. คริสโตเฟอร์ให้ข้อสังเกตว่า องค์กรใดที่มี spirit สูงมาก ในแง่มีเป้า ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น เรียนรู้ พัฒนาผู้อื่น และสังคม สิ่งที่เป็นด้านมืดคือ คนในองค์กรจะไม่ค่อยเป็นอย่างนั้น จะไม่ค่อยทำอย่างนั้นกับตัวเอง คือ มันมีช่องว่างระหว่างความเชื่อ เป้าหมาย และการปฏิบัติอยู่สูง

คำถามที่จะช่วยนำทางเราไปสำรวจด้านมืด คือ อะไรที่เราไม่อยากพูดถึง เลี่ยงที่จะพูด รู้สึกเจ็บแปลบที่จะมอง

รับผิดชอบต่อสังคมและบริบทที่ให้เราเกิดมาและหล่อเลี้ยงเรา

คือในฐานะปัจเจกเราย่อมต้องดูแลรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม องค์กรที่เราอยู่ ในระดับองค์กรก็ต้องดูแลใส่ใจกับสังคม สิ่งแวดล้อมที่ให้องค์กรเกิดมา องค์กรธุรกิจที่ไม่ใส่ใจลูกค้าจะค่อยๆ ตายไป องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่หมั่นดูแลสิ่งแวดล้อมก็จะล่มสลายในที่สุด เพราะไม่มีสิ่งแวดล้อมให้ใช้อีกต่อไป สิ่งมีชีวิตใดที่ไม่รู้จักให้และเกื้อกูลสิ่งอื่น จะตายในที่สุด

เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าสนใจ

• ศ. คริสโตเฟอร์เล่าว่า แพทย์แผนทางเลือกคนหนึ่งจะใช้คำถาม 3 ข้อในการสำรวจดูว่า ผลการรักษาเยียวยาของหมอจะได้ผลเพียงใดกับคนไข้ที่มารับคำปรึกษา คำถามที่ว่านั้น คือ

1. คุณกำลังทำอะไรที่อยู่บนหนทางของการพัฒนาตัวเองภายในไหม

2. มีใครสักคนที่คุณรักไหม

3. คุณชอบงานที่คุณทำไหม

ถ้าคนไข้ตอบ “ใช่” กับคำถามทั้ง 3 ข้อ ก็มีหวังที่การรักษาโดยมาจะเกิดผล หากไม่แล้ว โอกาสหายคงเบาบาง คำถาม 3 ข้อนี้สะท้อนให้เห็นหัวใจของชีวิต คือ มีเรื่องปัญญา ความสัมพันธ์ และ ชีวิตความเป็นอยู่

• ในโลกใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ต้อง “หันกลับมาต่อเชื่อมกับโลกในมิติทางใจให้มากขึ้น” reconnect with spiritual world

เรียนรู้ร่วมกัน — เป็นสิ่งจำเป็นมาก ศ. คริสโตเฟอร์ให้ลองสังเกตวิธีการประชุมของเราว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เราจะเจอกับวิกฤตในองค์กรอยู่ร่ำไป

• ในองค์กร เฉกเช่นปัจเจก เราจำเป็นต้องให้เวลากับตัวเองสักช่วงในแต่ละวัน เพื่ออยู่กับความเงียบและสะท้อน ใคร่ครวญถึงวันและการงานที่ทำอยู่ องค์กรก็เช่นกัน จำเป็นต้องช้า และหยุดเพื่อใคร่ครวญตัวเองด้วย

หมอที่ดีที่สุด คือ หมอที่รักและใส่ใจผู้ป่วย ไม่ใช่หมอที่มาจาก schools ที่ดีที่สุด เราเองก็เช่นกัน หมั่นถามตัวเองว่า “Do you really care for …?’’

พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้และหนักแน่นมาจากหัวใจและความใส่ใจอย่างจริงจังต่อสิ่งนั้น ๆ คนนั้นๆ

• เวลาที่มีปัญหาทั้งส่วนตัวและองค์กร จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเอื้ออำนวยเปิดพื้นที่ให้ความจริงได้เผยปรากฏและอยู่ตรงนั้น เราจึงจะแสวงหาทางออกร่วมกันได้

หมายเลขบันทึก: 307444เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท