เล่าเรื่องเครือข่ายในที่ประชุมพยาบาล


น่าจะมีการรวบรวมความรู้ปฏิบัติทั้งของฝ่ายบุคลากรและของผู้ป่วย

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดประชุมวิชาการเรื่อง "การจัดการความรู้ในระบบบริการการพยาบาล : วิถีสู่การปฏิบัติ" ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ โรงแรมตักศิลา จังหวัดมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยาบาลในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียงเกือบ ๒๐๐ คน

ดิฉันได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ช่วงบ่าย เดินทางไปถึงโรงแรมตั้งแต่เช้า จึงมีโอกาสได้ฟัง ศ.นพ. อดุลย์ วิริยเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปาฐกถาเรื่อง "องค์กรเรียนรู้สู่การพัฒนาวิชาชีพ" และ รศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ บรรยายเรื่อง "แนวคิดและการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ทางการพยาบาล" เนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการความรู้ที่ รศ.ดร.ดรุณี บรรยายเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ต่างจากที่ดิฉันเคยฟังนักวิชาการในวงการพยาบาลพูดๆ กัน ซึ่งมักจะเน้นเรื่องการวิจัย

รศ.ดร.ดรุณี บอกว่าการบรรยายในช่วงบ่ายเป็นช่วงปราบเซียน เพราะคนฟังมักหลับได้ง่าย ดิฉันจึงต้องหากุศโลบายเพื่อจูงใจคนฟัง เริ่มต้นด้วยการบอกว่าความรู้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดในองค์การ แล้วตั้งคำถามว่า "ความรู้แตกต่างจากสินทรัพย์อื่นอย่างไร" ให้ผู้ฟังคอยติดตามและตอบในตอนท้ายของการบรรยาย คนที่ให้คำตอบได้น่าประทับใจ ๑ คน จะได้รับหนังสือ "การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ" ของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ๑ เล่ม (ดิฉันซื้อติดไปฝากคนทางมหาสารคามนะคะ ไม่ใช่ได้ฟรี)

ดิฉันเล่าเรื่องเครือข่ายของเราไปเรื่อยๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่มาจากข้อเสนอของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช การจัดตลาดนัดความรู้ ความพยายามที่จะสร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย โดยใช้แนวทางของ "storytelling" ประกอบกับฉายภาพกิจกรรมระหว่างที่เราจัดตลาดนัดความรู้ เสียดายที่ทาง สคส. ยังไม่ได้ transfer VDO ลง CD เลยไม่มีภาพและเสียงในกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าประชุมได้เห็นจริงๆ

ดิฉันพยายามบรรยายให้มีเสียงสูงเสียงต่ำ เล่าเรื่องขำๆ บ้าง เพราะเคยมีนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเมินว่าน้ำเสียงของดิฉัน monotonous นักศึกษาบางคนจึงหลับทุกครั้งที่เข้าเรียน

ช่วงท้ายของการบรรยาย เป็นการเล่าให้เห็นว่าในฐานะของ "คุณประสาน" ดิฉันกำลังทำอะไรอยู่บ้าง และมีแผนงานอะไรต่อ เล่าความเคลื่อนไหวของสมาชิกเท่าที่ทราบ และแน่นอนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแนะนำ http://dmcop.gotoknow.org รวมทั้ง http://thaikm.gotoknow.org ประชาสัมพันธ์งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑-๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ และ www.kmi.or.th

มองจากเวทีดิฉันไม่เห็นว่ามีผู้ฟังคนใดหลับ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะดิฉันบรรยายดีหรือเพราะรอลุ้นหนังสือของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด กันแน่ พอเปิดให้ผู้เข้าประชุมตอบคำถามที่ถามไว้ตั้งแต่ต้น ภายในเวลาจำกัด มีผู้ตอบจำนวนสิบกว่าราย บางรายเขียนประโยคเดียวบางรายเขียนยาวมาก บางรายก็รีบไปพูดที่ไมโครโฟน จึงต้องใช้วิธีจับฉลากโดย ศ.ดร.ประนอม โอทกานนท์ และดิฉันต้องเพิ่มรางวัลเป็น ๒ รางวัล เพราะมีหนังสือเหลืออยู่ ๒ เล่ม

ดิฉันได้คุยกับท่านคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ว่าเราน่าจะมีโครงการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานร่วมกัน ซึ่งท่านก็ยินดีที่จะร่วมมือด้วย ท่านถามความคิดเห็นของดิฉันเรื่องการตั้ง Excellence Center ดิฉันเสนอว่าถ้าจะทำในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องเป็นสหวิชาชีพ ไม่ควรมีเฉพาะพยาบาล และน่าจะมีการรวบรวมความรู้ปฏิบัติทั้งของฝ่ายบุคลากรและของผู้ป่วย

ความจริง รศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านเป็นอาจารย์ของดิฉันสมัยที่ดิฉันเรียนปริญญาเอก ดิฉันชื่นชมในความรู้ความสามารถของท่าน

ตอนเย็นก่อนขึ้นเครื่องบินที่ขอนแก่นกลับกรุงเทพ รศ.วลัยพร นันท์ศุภวัฒน์ รองคณบดี พาไปรับประทานอาหารพื้นบ้าน อิ่มอร่อยกำลังดีค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๘

 

หมายเลขบันทึก: 3067เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2005 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท