LLEN : ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้



          นี่คือชุดโครงการวิจัยที่ สกว. ร่วมมือกับ สพฐ. สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการหนุนให้เกิดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ ในโรงเรียน (Local Learning Enrichment Network)   โดยที่เครือข่ายนี้เป็นเครือข่ายในพื้นที่   มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นแม่ข่ายหรือ node ในจังหวัดนั้น

          แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางของโครงการ เมื่อวันที่ ๒๘ ก.ย. ๕๒    ศ. นพ. ประเวศ วะสี ก็แนะว่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงของเครือข่าย แต่ละจังหวัดควรมีสัก ๓ node   โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นเพียง ๑ ใน ๓ node   และ node อื่นอาจเป็น อปท., องค์กรธุรกิจ (เช่นกรณีการไฟฟ้าแม่เมาะ ในเครือข่ายจังหวัดลำปาง), หรืออื่นๆ  

          จนถึงวันที่ ๒๘ ก.ย. ๕๒ มีเครือข่ายเกิดขึ้นแล้ว ๑๒ เครือข่าย ทั่วประเทศ

          เนื่องจากเป็นโครงการที่ สกว. สนับสนุน   จึงเป็นโครงการวิจัยและพัฒนา    โดยมีวัตถุประสงค์เชิงพัฒนาดังนี้

๑. เพื่อพัฒนาระบบการจัดการที่มีมหาวิทยาลัยเป็นแกนหลัก ในการระดมสรรพกำลัง ทั้งความรู้ คน และเงิน   เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในพื้นที่


๒. เพื่อสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่


และมีวัตถุประสงค์เชิงวิจัย ดังนี้


๓. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และข้อจำกัดของแนวคิด ในการบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ (Area-based Integration)   เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนในพื้นที่


๔. เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทาง ตลอดจนนวัตกรรมการจัดการ   ในการสร้างเครือข่ายและระดมสรรพกำลังจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่   เพื่อร่วมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่


๕. เพื่อศึกษาขีดความสามารถ เงื่อนไข และข้อจำกัด ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่   ในการประสานเครือข่ายและระดมสรรพกำลัง


๖. เพื่อสังเคราะห์บทเรียนและองค์ความรู้จากโครงการ เพื่อขยายผลในวงกว้าง   และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนต่อผู้เกี่ยวข้อง


เอาเข้าจริง เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา มีหลายมิติหรือหลายชั้น   ได้แก่


•   เป้าหมายในพื้นที่ ที่จะเกิดเครือข่ายการเรียนรู้   มีความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายในพื้นที่   เพื่อพัฒนาคุณภาพของการศึกษาในพื้นที่   ซึ่งมองในมุมหนึ่ง ก็คือการปฏิรูปการเรียนรู้ หรือการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่นั่นเอง 

 
•   เป้าหมายที่โรงเรียน ที่จะมีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา    ให้โรงเรียนเป็น Happy Workplace   และ เป็นสถานศึกษาที่ทุกคนทำงานและเรียนรู้อย่างมีความสุข


•   เป้าหมายที่มหาวิทยาลัย  ที่มีวิธีคิด และวิธีปฏิบัติ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจการต่างๆ ในพื้นที่   มีเป้าหมายเชิงสถาบัน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ของการพัฒนาพื้นที่


•   เป้าหมายที่การทำให้เกิดสภาพ All for Education ในสังคมไทย

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ย. ๕๒

         

คำสำคัญ (Tags): #521016#llen
หมายเลขบันทึก: 306314เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท