การเลี้ยงจิ้งหรีด


การเลี้ยงจิ้งหรีด

 การเลี้ยงจิ้งหรีด ก็คือ การนำจิ้งหรีดมาเลี้ยงและมีการดูแล โดยมีหลักการที่ว่าจิ้งหรีดที่นำมาเลี้ยงนั้น จะต้องมีสภาพความเป็นอยู่เหมือนกับในธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมการและจัดการที่ดีอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

การเลือกที่ตั้งโรงเรือน
           1. บริเวณก่อสร้างโรงเรือนควรเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง
            2. บริเวณที่จะเลี้ยงควรมีพื้นที่กว้างพอสมควร
            3. บริเวณที่จะเลี้ยงต้องป้องกันฝนและแสงแดดจัดได้ โดยมีแสงแดดส่องผ่านประมาณ 30-40% ในช่วงเช้าและสาย มีอากาศถ่ายเทสะดวก
            4. พื้นที่จะใช้เลี้ยงไม่ควรเป็นสถานที่มีโรคและการระบาดของแมลงศัตรูพวกมด ไร
            5. พื้นที่ควรมีแหล่งอาหารธรรมชาติ หาได้ง่าย เช่น หญ้าจากธรรมชาติ ผักตบชวา เป็นต้น

แบบโรงเรือน
            โรงเรือน สามารถเลี้ยงได้ในสภาพทั่วไปที่มีอยู่ หรืออาจจะจัดทำโรงเรือนไว้เลี้ยงโดยเฉพาะที่ก็ได้ ถ้ามีทุนดำเนินการเพียงพอ หรือจะเลี้ยงใต้ชายคาบ้าน ใต้ถุนบ้านก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ต้องมีการป้องกันการถูกฝนสาดถึง และป้องกันแดดจัดได้

อุปกรณ์ในการเลี้ยงจิ้งหรีด
1.) บ่อจิ้งหรีด
            วัสดุที่จะนำมาเป็นสถานที่เพาะเลี้ยง มีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น ถัง กะละมัง ปี๊บ เป็นต้น แต่ถ้าใช้วงปูน จะคงทนและสามารถใช้เลี้ยงจิ้งหรีดได้ตลอดไปและมีราคาไม่สูงนัก ง่ายต่อการเลี้ยงและป้องกันศัตรู วงปูนมีหลายขนาด แต่ขนาดที่เหมาะสมในการเลี้ยงและการจัดการควรเป็นวงขนาด 80 x 50 ซม. ซึ่งสามารถปล่อยแม่พันธุ์ 3 ตัว ต่อพ่อพันธุ์ 1 ตัว

2.) แผ่นพลาสติกและเทปกาว
            แผ่นพลาสติกและเทปกาวจะใช้ติดรอบวงในด้านบนเพื่อป้องกันจิ้งหรีดไม่ให้ออกนอกวง จะใช้พลาสติกตัดกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ให้ยาวเท่าเส้นรอบวง ในการใช้กระดาษกาวติดทับพลาสติกวงปูน (ติดพลาสติกครึ่งหนึ่ง ติดขอบบ่อครึ่งหนึ่ง)
3.) ยางรัดปากวง
            ยางในรถจักรยานหรือรถจักยานยนต์ ตัดให้มีขนาดกว้างน้อยกว่าขอบวงด้านนอก ตัดอย่าให้มีความกว้างของยางมาก เพื่อความสะดวกเมื่อเวลายืดรัดตาข่ายกับขอบวง
4.) กาบมะพร้าว
            กาบมะพร้าวเป็นวัสดุเพื่อใช้วางในวงท่อปูนสำหรับเป็นที่หลบซ่อนของจิ้งหรีด จะใช้กาบมะพร้าวแห้งประมาณ 2-4 ชิ้น
5.) เศษหญ้าแห้ง
            เศษหญ้าแห้งเป็นวัสดุที่ใช้วางทับกาบมะพร้าว ใช้ทับหนาประมาณ 2 ซม. เพื่อป้องกันแสงสว่างและ ให้ความอบอุ่นแก่จิ้งหรีด
6.) ถาดน้ำและถาดอาหาร
            ถาดน้ำและถาดอาหาร ควรเป็นถาดที่ไม่ลึกมาก เพื่อให้จิ้งหรีดได้ขึ้นกินอาหารและน้ำได้สะดวก 1 วง จะมีถาดอาหารและน้ำอย่างละ 2 ที่
7.) พลาสติกไนล่อนสีเขียว
            เป็นตาข่ายสำหรับปิดปากวงบ่อปูน เพื่อป้องกันการบินหนีของจิ้งหรีดตัวเต็มวัยและป้องกันศัตรูเข้าทำลายจิ้งหรีด ตัดให้มีความกว้างกว่าปากวงบ่อปูนรอบนอกเล็กน้อย เช่น วงขนาด 80 ซม. จะติดตาข่ายไนล่อนสีเขียวขนาด 100 x 100 ซม.

  การจัดการภายในบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด
การวางวงปูน
            ควรวางเรียงกันเป็นแถวแต่ละวงให้ห่างกันเล็กน้อย (ประมาณ 3 นิ้ว) แต่ละแถวควรห่างกันพอที่ผู้ดูแลจะปฏิบัติงาน ได้สะดวก ไม่ควรจะวางห่างกันมากนักเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ เมื่อวางวงปูนแล้วจะต้องเทพื้นหนาประมาณ 1/2 - 1 นิ้ว เพื่อป้องกันมดจากใต้ดินเข้ามาทำลายไข่ และตัวจิ้งหรีด สำหรับรองวงด้านนอกจะต้องป้องกันมดด้วย โดยการโรยยา หรือ ใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบวงด้านล่างจำนวนวงปูนจะวางมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ขนาดความกว้างยาวของโรงเรือน

วิธีการจัดการในวงบ่อ มีดังนี้
            1. เมื่อได้วงท่อบ่อปูนซีเมนต์และหาที่วางเลี้ยงได้อย่างเหมาะสมแล้ว ควรล้างบ่อปูนให้สะอาดก่อนการเทปูนที่พื้นบ่อบาง ๆ ให้มิดชิด เพื่อป้องกันมดที่เป็นศัตรูสำคัญเข้าทางด้านล้างของบ่อ หรือ ถ้าไม่เทปูนที่พื้นบ่อก็ใช้ฝาของบ่อรองพื้นแล้วตั้งท่อปูน ฉาบตรงก้นบ่อด้วยปูนซีเมนต์ให้มิดชิด
            2. ภายในบ่อใส่ถุงดินหรือกะบะดินร่วนปนทราย หรือดินทรายที่มีความชื้นพอประมาณ น้ำหนักดินประมาณ 1 - 2 กก. วางไว้ข้าง ๆ ขอบบ่อภายในสำหรับให้จิ้งหรีดวางไข่
            3. ใส่หญ้าแห้ง 1 กำมือ ไว้ตรงกลางบ่อ เพื่อเป็นที่หลบซ่อนหรือเป็นที่อยู่อาศัยของตัวจิ้งหรีด
            4. ใส่หญ้าสดอ่อน 1 กำมือข้างหญ้าแห้ง สำหรับเป็นอาหารของจิ้งหรีด (อาหารหลัก)

            5. ใส่ถาดอาหารแบน ๆ (อาหารเสริม) เช่น รำอ่อน ปลายข้าว อาหารไก่ อาหารปลา 1 อัน
            6. วางถาดน้ำแบน ๆ ภายในถาดน้ำให้ใช้ก้อนหินหรือก้อนอิฐแดงทุบเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้เกือบเต็มแล้วเติมน้ำลงให้เต็ม วางไว้ใกล้ ๆ กับถาดอาหาร 1 อัน
            7. ตรงบริเวณภายในปากบ่อด้านบน ให้ใช้พลาสติกตามข้อ 2 ตัดเป็นริ้วติดด้วยกาวเทปใสให้ชายพลาสติก หย่อนลงในบ่อเป็นการป้องกันจิ้งหรีดไต่ออกนอกบ่อ

วิธีการปล่อยและเลี้ยงจิ้งหรีด
            การคัดเลือกพันธุ์จิ้งหรีด
                มีวิธีการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ ดังนี้
                    - คัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ ที่มีตัวโต
                    - แข็งแรง มีอวัยวะครบทุกส่วน
                    - มีสีเข้ม
                หลังเปลี่ยนพ่อ-แม่พันธุ์แล้ว 3 วัน ควรตรวจเช็คดู ถ้าตายต้องหามาทดแทน
            การปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ ลงบ่อ
                  ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์จิ้งหรีดลงบ่อ อัตรา 1:3 (พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 3 ตัว) ใช้ตาข่ายและยางรัดขอบบ่อ คลุมปากบ่อและรัดยางให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันจิ้งหรีดบินออก และป้องกันศัตรู เช่น จิ้งจก จิ้งเหลน คางคก เข้ากินหรือทำลาย  ข้อควรระวังการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์อาจเกิดไรศัตรูจิ้งหรีดได้ง่าย ถ้าพื้นบ่อสกปรกอยู่นาน ไม่ควรให้พื้นบ่อชื้นเกินไป และ ควรทำความสะอาด ล้างบ่อและตากบ่อทุกครั้งเมื่อจับจิ้งหรีดในแต่ละรุ่น

การให้อาหารและน้ำ
            จิ้งหรีดเป็นแมลงที่กินพืชเป็นอาหาร พืชอาหารสำหรับจิ้งหรีดเป็นประเภทยอดอ่อนของหญ้าสดทุกชนิด เช่น หญ้าขน หญ้าลูซี่ ผักตบชวา กาบกล้วย เป็นต้น
            สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดให้โตเร็วและให้ผลผลิตสูง จำเป็นต้องให้อาหารเสริม การให้อาหาร น้ำ หญ้าสด ต้องให้ทุก 2 วัน อย่าให้ขาด โดยหญ้าสดที่ให้ไม่ต้องเอาออกปล่อยให้แห้งภายในบ่อจะได้เป็นที่หลบซ่อนตัวของลูกจิ้งหรีด แต่ระวังอย่าให้หญ้าทับถมกันจนเน่า จะทำให้เกิดความร้อน ลูกจิ้งหรีดอาจตายได้ หากเกิดการเน่าให้นำออกไป ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็จะเห็นลูกจิ้งหรีดฟักออกจากไข่เต็มไปหมด ส่วนพ่อ-แม่พันธุ์ ที่ปล่อยนั้นจะตายหลังจากที่ออกไข่จนหมดทุกรุ่น
            อาหารจิ้งหรีด จำแนกได้ 2 ประเภท คือ
                1. อาหารหลัก ส่วนใหญ่เป็นจำพวกหญ้า เช่น หญ้าขน หญ้าลูซี่ ผักตบชวา กาบกล้วย เป็นต้น
                2. อาหารเสริม (อาหารสำเร็จรูป) เช่น อาหารไก่ อาหารปลา รำอ่อน เป็นต้น
            วิธีการให้อาหารและน้ำ
                - อาหารหลัก อาหารเสริม และน้ำ ควรให้ 2 วัน/1 ครั้ง
                - อาหารหลักจะให้ครั้งละ 1 กำมือ
                - อาหารเสริมจะให้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของจิ้งหรีด แต่ต้องไม่ให้จำนวนมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา

โรคและศัตรูของจิ้งหรีด
            จิ้งหรีดเป็นแมลงที่ไม่ค่อยมีโรคและศัตรูรบกวนมากนัก โรคที่พบจะเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร สำหรับศัตรูส่วนใหญ่จะเป็นพวกมด แมงมุม และไร เป็นต้น โรคและศัตรูที่พบควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่าจะมาจำกัด ซึ่งเป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด และผู้บริโภค

วิธีการป้องกันศัตรูจิ้งหรีด
            จิ้งหรีดจะกินพืชเป็นอาหารหลัก ศัตรูจะติดมากับพืชอาหาร เช่น ไร แมงมุม ก่อนนำมาให้จิ้งหรีดกินต้องนำมาล้างน้ำ แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำก่อนเพื่อล้างเอาศัตรูออกสำหรับมดก่อนนำจิ้งหรีดมาปล่อยลงวงบ่อปูนจะต้องป้องกันด้วยการโรยยากำจัดมด รอบวงบ่อปูน หรือจะใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องแล้วนำมาพันรอบวงปูนด้านล่าง

วิธีป้องกันโรคทางเดินอาหาร
            การเกิดโรคทางเดินอาหารของจิ้งหรีด เกิดจากจิ้งหรีดได้รับอาหารที่ไม่สะอาดเกิดเชื้อรา วิธีป้องกันคือ ต้องให้อาหารที่มีจำนวนพอเหมาะกับจำนวนของจิ้งหรีด หมั่นทำความสะอาดอย่าให้อาหาร เกิดเชื้อรา อาหารเสริมควร เปลี่ยนทุกครั้งเมื่อให้อาหาร เมื่อเก็บผลผลิตจนหมดแล้ว ควรทำความสะอาดวงบ่อให้สะอาด ก่อนนำจิ้งหรีดรุ่นใหม่มาเลี้ยงต่อไป

การจับจิ้งหรีด
            เมื่อเลี้ยงลูกจิ้งหรีดจนอายุประมาณ 36 วัน ขึ้นไป ลูกจิ้งหรีดโตพร้อมที่จะจับจำหน่ายได้ โดยพฤติกรรม ของจิ้งหรีดแล้ว ตอนกลางวันจิ้งหรีดจะหาที่หลบซ่อน พอมืดค่ำจิ้งหรีดจะออกหาอาหาร อาศัยพฤติกรรมเหล่านี้ ให้ใช้ กระบอกไม้ไผ่ หรือท่อพลาสติกก็ได้ ตัดเป็นท่อนๆ  วางไว้กับพื้นบ่อ จิ้งหรีดจะเข้าไปหลบอาศัย เวลาจะเก็บก็ยกกระบอกไม้ไผ่ หรือท่อพลาสติก เคาะใส่ในถุงหรือตะกร้าที่ จัดเตรียมไว้โดยไม่ต้องยุ่งยากใช้มือไล่จับทีละตัว ซึ่งเสียเวลามาก

 

 

การจัดการด้านการตลาดจิ้งหรีด

จำหน่าย
           วิธีจำหน่ายมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่าต้องการซื้อแบบไหน โดยปกติจะมีการจำหน่ายในลักษณะ  ดังนี้
            1. นับจำนวนตัวขาย จะขายร้อยละประมาณ 30-40 บาท
            2. ชั่งน้ำหนักขาย จะขายกิโลกรัมละประมาณ 100-150 บาท
            3. จำหน่ายเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ (1 ชุด = 10 บาท) ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 3 ตัว

การตลาด
            การตลาดในการจำหน่ายจิ้งหรีด ทุกครั้งที่ได้สนทนาในการเลี้ยงจิ้งหรีด ผู้สนใจทั่วไปหรือผู้ที่ตั้งใจเลี้ยงจิ้งหรีด ในอนาคต  จะได้ยินคำถามจะว่าเป็นคำถามแรกก็ได้ว่า "ตลาดเป็นอย่างไร" เลี้ยงมาก ๆ แล้วจะขายที่ไหน ราคาเป็นอย่างไร อีกกี่ปีจะล้นตลาด ผู้ถามคงคิดว่าเลี้ยงจิ้งหรีดแล้วรวย อาชีพอย่างอื่นที่เคยทำอยู่ทิ้งไปหมด แล้วผู้ได้ยินคำถามอย่างนี้จะตอบ และคิดอย่างไรต่อไป..........
        ตลาดท้องถิ่น
            1. ตลาดระหว่างผู้เลี้ยงและผู้บริโภคในพื้นที่ (บ้านใกล้เคียง) จะซื้อขายกันโดยตรง คือผู้ซื้อจะซื้อที่บ่อเลี้ยง การซื้ออาจจะเป็นรายย่อย 1-2 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม หรือมากกว่า แล้วนำไปประกอบอาหารทันที การบริโภคเป็นไปได้ ทั้งภายในครอบครัวหรือเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน
            2. ตลาดของฝาก บ่อยครั้งที่พบเห็นในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงจิ้งหรีด จะมีลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดหรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านหรือกลับบ้านมักจะชอบซื้อจิ้งหรีดคั่วนำติดตัวกลับไปที่ทำงาน นำกลับไปกินเอง หรือซื้อเป็นของฝาก เป็นต้น
            3. ตลาดรวมท้องถิ่น ในพื้นที่บางแห่งจะมีเกษตรกรที่เป็นแม่ค่าทำหน้าที่จัดซื้อรวบรวมจิ้งหรีดทุก ๆ เช้า เพื่อทำการแปรรูปเองแล้วส่งให้แม่ค้าขายปลีกในเมือง หรือรวบรวมจิ้งหรีดเพื่อจัดส่งให้แม่ค้าขายปลีกในเมืองนำไปทำการแปรรูป
        ตลาดกลาง
            เป็นตลาดที่รับซื้ออยู่ในตัวเมืองหรือแหล่งชุมชนใหญ่ ๆ เมื่อทำการรวบรวมจิ้งหรีดแล้วส่งไปตามแหล่งใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือส่งโรงงานเมลงอัดกระป๋อง เป็นต้น
        ตลาดเชิงอุตสาหกรรม
            จะมีการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง หรือรับซื้อจากตลาดกลางก็ได้ เช่น สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถานบันเทคโนโลยีราชมงคล จังหวัดสกลนคร จะรับซื้อจิ้งหรีดที่สด (จิ้งหรีดมีชีวิต) สำหรับทำจิ้งหรีดอัดกระป๋อง เพื่อจำหน่ายต่างประเทศ

การทำจิ้งหรีดและแมลงต่าง ๆ อัดกระป๋อง
            การนำแมลงทำเป็นผลิตภัณฑ์อัดกระป๋อง สามารถเก็บไว้บริโภคได้ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนไข่มดแดงนั้น สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี การทำจิ้งหรีดหรือแมลงต่าง ๆ อัดกระป๋อง นอกจากใช้บริโภคภายในประเทศแล้ว สมควรที่จะได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกได้ ทั้งในรูปอาหารคนและอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ให้กับประชาชนและประเทศอีกทางหนึ่ง สำหรับขั้นตอนการทำแมลงกระป๋อง โดยปกติจะแยกแมลงตับเต่า แมงเหนี่ยง ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็ง ซึ่งจะอยู่ด้วยกัน ดักแด้ไหมพวกหนึ่ง ไข่มดแดงพวกหนึ่ง ส่วนจิ้งหรีดต่าง ๆ และตั๊กแตนต่าง ๆ จะอยู่ด้วยกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ
            1. แมลง แยกกลุ่มแมลงตามที่ได้กล่าวข้างต้น
            2. ล้างน้ำให้สะอาด
            3. ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
            4. นำไปชั่งน้ำหนัก
            5. นำไปคั่ว ขณะคั่วโรยเกลือป่น ใช้เกลือสินเธาว์ในอัตราส่วนแมลง 1,000 กรัม ต่อเกลือ 1.5 ช้อนโต๊ะ โรยตะไคร้หั่น ข่าซอย ใบมะกรูด คั่วต่อประมาณ 20 นาที ถ้าเป็นแมลงตับเต่า และแมลงเหนี่ยง ให้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
            6. นำมาเกลี่ยผึ่งในถาด แล้วยกเข้าตู้อบลมร้อน ใช้อุณหภูมิประมาณ 60C ประมาณ 40 นาที
            7. ยกออกมาคัดเอาแต่แมลงที่เป็นตัว ๆ ใส่กระป๋อง ชั่งน้ำหนัก (ถ้าเป็นแมลงอื่น ๆ น้ำหนัก 50 กรัม/กระป๋อง ดักแด้ไหม 60 กรัม/กระป๋อง)
            8. เข้าเครื่องปิดฝากระป๋อง
            9. นำไปฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 121C นานประมาณ 40 นาที
            10. ทำให้เย็น
            11. ปิดฉลากกระป๋อง พร้อมจำหน่าย

อุตสาหกรรมจิ้งหรีดกระป๋อง

การใช้ประโยชน์จากจิ้งหรีด
            การใช้ประโยชน์จากจิ้งหรีด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายลักษณะ ดังนี้
            1. จิ้งหรีดนำมาแปรรูปเป็นอาหารสำหรับบริโภค มีคุณค่าทางอาหารด้านโปรตีน และวิตามิน ดังนั้นจิ้งหรีดจึงเหมาะสำหรับนำมาแปรรูปเป็นอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายให้กับประชาชนในการรับประทาน ทั้งนี้ก่อนจับจิ้งหรีดมาบริโภคต้องงดให้อาหารเสริมแก่จิ้งหรีด อย่างน้อย 2-3 วัน ให้เฉพาะหญ้าสดและน้ำ เพื่อไม่ให้จิ้งหรีด มีกลิ่นของอาหารเสริม และควรจับจิ้งหรีดเมื่อมีอายุได้ 46 วันขึ้นไป วัยนี้เป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะจะได้น้ำหนักดี การแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารรับประทาน นอกเหนือจากได้กล่าวถึงแล้ว ยังมีอีกหลายวิธี เช่น การชุบแป้งทอดแทนกุ้งก็ได้ ทำลาบจิ้งหรีด ยำจิ้งหรีด เป็นต้น
            2. การใช้จิ้งหรีดเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ โดยการใช้จิ้งหรีดทั้งวัยอ่อนและตัวเต็มวัย นำไปเป็นอาหารสัตว์ โดยตรงก็ได้เช่น อาหารไก่ นก ปลาสวยงาม ปลาบ่อ ลูกจระเข้ และสัตว์อื่น ๆ
            3. การใช้จิ้งหรีดเพื่อการกีฬา ปัจจุบันมีความนิยมในการตกปลามาก การนำมาเป็นเหยื่อตกปลา หรือกีฬากัดจิ้งหรีด
            4. การใช้จิ้งหรีดเพื่อความเพลิดเพลิน โดยการเลี้ยงศึกษาวงจรชีวิตและนิเวศน์วิทยาของจิ้งหรีด หรือ การฟังเสียงร้องของจิ้งหรีด เป็นต้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 305828เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ที่อุตรดิตถ์กำลังขายดีมากเพราะจิ้งหรีดมีไข่เต็มท้องเลย...กำลังคิดจะเพาะอยู่เหมือนกัน ขอบคุณมากคะ

อยากเลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นอาชีพเสริมแต่ไม่รู้ว่าตลาดรับซื้ออยู่ที่ไหนในกรุงเทพ

นางศิริเพ็ญ อนงค์พร

เลี้ยงจิ้งหรีดไว้เหมือนกัน ไม่เยอะ เลี้ยงไว้กินและขายปลีกใครสนใจก็บอกความรู้และวิธีการเลี้ยงต่อๆกันไป

ผมจะจับจิ้งหรีดช่วงปลายเดือนนี้สนใจโทรจองได้เลย 087 5635631ติดต่อลุงต๊อก อยู่แถวคลองคูเมือง หินมูล บางเลน นครปฐม เน้นขายถูกรับรองเลี้ยงตามตำราสะอาดปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้างเลี้ยงแบบธรรมชาติครับ

เริ่มจับจิ้งหรีด สะดิ้ง ขาย วันนี้ 5 พย 54 – จนกว่าของจนหมด ประมาณ 500 กก ท่านใดสนใจติดต่อได้ที่ 0878761767 คุณสอง ราคาคุยกันได้ แล้วแต่จำนวนที่สั่ง พร้อมบริการส่งถึงที่ สั่งตั้งแต่ 30 กก ภายใน รัศมี 80 กม ฟาร์มอยู่ บ้านโนนเมือง ม.3 อ.สีดา จ.นครราชสีมา โทรมานะคะ ตัวเป็นหรือ ตัวน๊อค ก็สั่งได้จ้า

มีจิ้งหรีดขายสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ราคาเป็นกันเองสนใจโทรหาเราได้ที่0809232112

อยากเลี้ยงบ้างครับ

สนใจค่ะกำลังจะเลี้ยงไว้เป็นอาชีพ มีตลาดแถวไหนรับค่ะ 0917144325 ค่ะ

สนใจค่ะกำลังจะเลี้ยงไว้เป็นอาชีพ มีตลาดแถวไหนรับค่ะ 0917144325 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท