ที่ราชพัสดุ


ที่ราชพัสดุ

               คำว่า  “  ที่ราชพัสดุ  ”  มาจากคำว่า  “ ที่ + ราช + พัสดุ ”  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน    พ.ศ. 2525  ให้ความหมายของศัพท์แต่ละคำไว้ดังนี้ 
                “ ที่  ”   หมายถึง      แหล่ง    ถิ่น    สถานที่
               “ ราช ”  หมายถึง     พระเจ้าแผ่นดิน
               “ พัสดุ”  หมายถึง     สิ่งของ   ที่ดิน    บ้านเรือน

              เมื่อพิจารณาตามพจนานุกรมฯแล้ว จะเห็นได้ว่า   “ที่ราชพัสดุ”    หมายถึง    ที่ดิน   สถานที่   บ้านเรือนของพระเจ้าแผ่นดินสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช   ซึ่งปกครองโดยระบบกษัตริย์  หรือหมายถึงของรัฐบาลในปัจจุบันนั่นเอง

              แต่เดิมคนทั่วไปมักจะเรียก   “ ที่ราชพัสดุ”   ว่า ที่หลวง และบางคนก็เข้าใจว่าที่ดินจะเป็นที่ราชพัสดุต่อเมื่อได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ  นอกจากนี้บางคนยังเข้าใจว่า ที่ราชพัสดุมีเฉพาะที่ดิน  หรือมีไว้เช่า เท่านั้น   ซึ่งยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน   กล่าวคือ

           -  ที่ราชพัสดุ    เป็นเพียงที่ดินประเภทหนึ่งของที่หลวงเท่านั้น โดยความหมาย ที่หลวง  จะรวมถึงที่สาธารณะ  ที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่พระคลังข้างที่  ที่ศาสนสมบัติ   และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่นป่าไม้ รวมทั้ง  ที่ป่าสงวนด้วย  

            -  ที่ดินจะเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่   แต่ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินแปลงนั้นมีองค์ประกอบครบตามความหมายของที่ราชพัสดุหรือไม่ หากองค์ประกอบครบถ้วนแม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ    ที่ดินแปลงนั้น  ก็เป็นที่ราชพัสดุตั้งแต่ต้น

            - ที่ราชพัสดุมีอะไรบ้าง นอกจากที่ดิน แล้วยังมี  อาคาร  โรงเรือน  สิ่งปลูกสร้าง   ต้นไม้ยืนต้น  ฯลฯ

           -   ที่ราชพัสดุมีไว้เพื่ออะไร   โดยแท้จริงแล้วที่ราชพัสดุเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์   มีไว้เพื่อใช้ในราชการจะมีการนำไปจัดให้เช่าเพียงเล็กน้อย

              นอกจากนี้  ยังมีบางคนเรียกหน่วยงานที่ดูแลที่ราชพัสดุคือสำนักงานราชพัสดุจังหวัดหรือสำนักงานธนารักษ์จังหวัด หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ว่า“ราชพัสดุ” และเข้าใจว่า  ราชพัสดุก็คือผู้ดูแลพัสดุของหลวง อีกทั้งยังมีส่วนราชการบางส่วนมิได้ปกครองดูแลที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามกฎระเบียบ   หรือกฎหมายเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ     เช่น

            1.  มิได้สำรวจที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุให้ครบถ้วน   ทำให้ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน                                                                                                                               

            2.  ใช้ประโยชน์ที่ดินมากเกินความจำเป็นซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่คุ้มค่าและเกิดปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ                                                                                                        

            3.    เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนได้รับอนุญาตจากรมธนารักษ์   

                สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารที่ดินของรัฐ และทำให้รัฐต้องเสียเวลาบุคลากร และงบประมาณในการดำเนินคดี หรือแก้ไขปัญหาโต้แย้งกับราษฎร จึงสมควรที่หน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไปได้รู้หลักเกณฑ์ และระเบียบเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ เพื่อให้การบริหารที่ดินของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล    เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศตามหลักสากลโดยคำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสม  และความคุ้มค่า   ตลอดจนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อันจะทำให้ประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนถาวร 

            ก่อนที่จะทำความรู้จักกับ กฎและระเบียบเกี่ยวกับที่ราชพัสดุเรามาทราบถึงประวัติ และที่มาของคำว่า “ ที่ราชพัสดุ ” ก่อนเป็นเบื้องต้น 

       “  ที่ราชพัสดุ  ”  มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  เดิมเรียกว่า “ที่ดินของหลวง” ”   ดังปรากฏอยู่ใน    มาตรา 9      ของพระราชบัญญัติกรมราชพัสดุว่า     “ถ้าเป็นตึกที่ดินของหลวง..........”        ซึ่งพระราชบัญญัติทรงตั้งไว้ วันที่    13   ธันวาคม    รัตนโกสินทร์ศก   109    หรือปี   พ.ศ.   2434   ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  5   

        ต่อมาก็ปรากฏคำว่า   “  ที่ดินราชพัสดุ  ”     ในหนังสือหอรัษฎากรพิพัฒน์    ที่ 205/234  ลงวันที่  14  มีนาคม  2464    ซึ่งเป็นหนังสือของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติที่กราบบังคมทูล

ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  สรุปสาระได้ว่า “ ที่ดินราชพัสดุ”  เป็นพระราชทรัพย์คงพระคลังอย่างหนึ่งโดยมีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นผู้ปกครองดูแล   ได้แก่

               1.   ที่ดิน ตึก บ้านเรือน สวน นา ตลอดจนสถานที่ว่าการกระทรวง กรม ต่างๆ ซึ่งมีคงกระทรวงมาแต่เดิม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีที่ราชพัสดุกระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆอีกจำนวนมาก                                                                                                                                                                            
              2.   ได้รับ  และ  ยึดจากเจ้าภาษี   นายอากรที่ค้างภาษี
              3.   รับโอนจากกระทรวงบางกระทรวง เช่น  กระทรวงกลาโหม  กระทรวงศึกษาธิการ  และกระทรวงคมนาคม
              4.    ที่ดินเหลือจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา  เช่น  เขตถนน

                    กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ   จึงขอพระบรมราชานุญาตรวบรวมบรรดา     ที่ดินของหลวงที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกกระทรวงมาขึ้นทะเบียนไว้ทางกระทรวงพระคลังฯเสียทางเดียวเพื่อง่ายแก่การปกครองดูแล    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6     ได้มีพระบรมราชโองการเห็นชอบตามกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  ดังนี้

                1.   ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ       จัดการรวบรวมที่ราชพัสดุจากกระทรวงต่างๆมาปกครองดูแลรักษาไว้แห่งเดียว

               2.    เมื่อกระทรวงใดจะใช้เพื่อราชการ  ให้ยืมไปได้โดยไม่ต้องเช่า

               3.    ที่ดินใดควรขายก็ให้ ขายไปตามเวลาและราคาอันสมควร

               4.   ที่ใดยังไม่ควรขาย ก็จัดหาประโยชน์   เก็บเป็นเงินงบประมาณ

              อนึ่ง พระบรมราชโองการฯในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยมีการพิจารณาทางกฎหมายว่า  มีผลเป็นกฎหมาย   แม้ปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ ฯบังคับใช้ก็ตาม    พระบรมราชโองการส่วนใดที่ไม่ขัดแย้ง   หรือที่พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ ฯ  ยังไม่กำหนดไว้ ก็ยังมีผลใช้บังคับ

            สำหรับ    คำจำกัดความของคำว่า “ที่ดินราชพัสดุ”  ครั้งแรกปรากฏในระเบียบการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุพุทธศักราช  2485 ว่า  “ที่ดินราชพัสดุ” หมายความว่า

          1)   ที่ดินซึ่งรัฐบาลปกครองใช้ในราชการอยู่ หรือสงวนไว้ใช้ในราชการภายหน้าและรัฐบาลได้เข้าใช้ประโยชน์แล้ว นอกจากที่ดินในความปกครองกรมรถไฟ ทางหลวงในความปกครองกรมโยธา เทศบาล และทรัพย์สินของจังหวัดตามมติคณะรัฐมนตรี

          2) .  ที่สาธารณประโยชน์เลิกใช้ เช่น คู คลอง ถนน ทางหลวงต่างๆ  ซึ่งมิใช่

เพื่อการสาธารณประโยชน์แล้ว

              จากนั้น ก็มาถึงคำว่า  “ ที่ราชพัสดุ ”  ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518  ซึ่งกล่าวโดยย่อ       ที่ราชพัสดุ  คือ อสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลประเภทหนึ่งนั่นเองแต่อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518      มาตรา 4  กำหนด ความหมายหรือ  คำจำกัดความของ  ที่ราชพัสดุ ไว้ดังนี้

           “  ที่ราชพัสดุ ”  หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน   ดังต่อไปนี้

             1.   ที่ดินรกร้างว่างเปล่า  และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน  หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็น

ของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน

             2 .  อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมือง หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมือง

 ใช้ร่วม กันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง  ทางน้ำ ทางหลวง  ทะเลสาบ  

              ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ  ”

           แต่เพื่อให้สามารถ เข้าใจความหมายของที่ราชพัสดุ ได้อย่างลึกซึ้งจะขอแยกองค์ประกอบสำคัญของความหมายที่ราชพัสดุที่ควรรู้ ดังนี้

           อสังหาริมทรัพย์ เรามักจะแปลตรงตัวว่า ทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ไม่ได้   แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  139   หมายถึง

          1.   ที่ดิน คือพื้นดินทั่วๆไปแต่ไม่รวมถึงห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ ซึ่งใช้เฉพาะ ในประมวลกฎหมายที่ดินเท่านั้น สำหรับดินที่ขุดขึ้นมาจากพื้นดินแล้วไม่เป็นที่ดินต่อไปอีก  จะเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์(เคลื่อนย้ายได้)เท่านั้น

          2.   ทรัพย์อันติดกับที่ดิน

               2.1   ทรัพย์ที่เกิดหรือติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ  เช่นไม้ยืนต้น  ( ต้นสัก,ประดู่ , ยาง,พลู,  มะม่วง,  มะพร้าว, มะขาม, หมาก, คูน เป็นต้น ) ดังนั้นต้นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุด้วย สำหรับไม้ล้มลุกหรือธัญพืช   (ข้าว,ข้าวโพด,ฝ้าย, มันสัมปะหลัง) แม้จะติดกับที่ดินตามธรรมชาติ ก็เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ เท่านั้น   

                2.2   ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยมีผู้นำมาติดไว้  ซึ่งจะต้องติดในลักษณะตรึงตราแน่นถาวร   หากมีการรื้อถอนก็จะเสียสภาพ เช่น  ตึก บ้าน  โรงเรือน  รั้วคอนกรีต  แต่ไม่จำเป็น

ต้องติดจนกัลปาวสาน อาจปลูกสร้างชั่วคราวระยะเวลาหนึ่งแล้วรื้อออกไปก็ได้ กรมธนารักษ์จะใช้เป็นหลักเกณฑ์และองค์ประกอบดังกล่าวในการพิจารณารับขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ    แต่ถ้าเป็นเพียงการวางไว้

เช่นเครื่องจักร  แม้จะมีมูลค่ามาก    หนัก  ใหญ่  หรือวางไว้นานเท่าใดก็ตาม   ก็เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์  เพราะสามารถโยกย้ายได้โดยไม่เสียสภาพ

       3 .  ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพื้นดิน  คือ ทรัพย์ที่เป็นส่วน  รวม  หรือประกอบเป็นพื้นดินเช่น  แม่น้ำ  ลำคลอง   แร่ธาตุ   กรวด   ทรายตามธรรมชาติ     ฉะนั้น   ดินกรวด  ทราย   แร่ธาตุในที่ดินราชพัสดุ  จึงเป็นที่ราชพัสดุด้วย

      4.   สิทธิอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

            4.1    สิทธิโดยตรง ได้แก่ กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิใช้สอยและได้ดอกผล  สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืน สิทธิจำนอง

           4.2     สิทธิโดยอ้อม   ได้แก่ สิทธิที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่อยู่ติดกับที่ดินอีกทอดหนึ่ง   เช่น   บ้านที่ปลูกบนที่ดิน หากจำนองบ้าน สิทธิจำนองบ้านถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน

        ทรัพย์สิน    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   มาตรา 138  ได้กำหนดไว้ว่า  ทรัพย์สินจะต้องเป็น                         

                1.  ทรัพย์    ( หรือวัตถุที่มีรูปร่าง )   คือ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาจับต้อง สัมผัสได้  เช่น  บ้าน  โทรทัศน์  พัดลม  รวมถึงกระแสไฟฟ้า                                                                                               

               2.  อาจเป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง คือ สิ่งที่ไม่เห็นด้วยตา จับต้องไม่ได้ เช่น แก๊ส พลังน้ำตก และยังรวมถึงสิทธิต่างๆที่กฎหมายรับรองเช่นกรรมสิทธิ์  สิทธิครอบครอง                                             

              3.   อาจมีราคา  คือ  มีค่าในตัวทรัพย์เอง                                                                                        

              4.   อาจถือเอาได้  คือ  มีการหวงกันเพื่อตนไม่จำเป็นต้องเข้ายึดถือจับต้องจริงจัง

          สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึง  ทรัพย์สินของแผ่นดิน ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์  หรือสงวนไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน กรณีที่เป็นประกาศสงวนหวงห้ามฯจะต้องมีการใช้ประโยชน์ในราชการจริง

      ที่รกร้างว่างเปล่า  หมายถึง   ที่ดินที่ราษฎรไม่เคยมีกรรมสิทธิ์สิทธิ   หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน

       ที่ดินเวนคืน    หมายถึง    ที่ดินเอกชนที่เวนคืนเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา 5

       ที่ดินทอดทิ้ง   หมายถึงที่ดินที่เอกชนมีสิทธิ   ต่อมาทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่ดินกำหนด เช่น โฉนด  (5ปี)

        ที่ดินซึ่งกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น เช่น การเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

        อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือสงวนไว้ใช้ร่วมกัน หมายถึง ประชาชนทั่วไปมีสิทธิใช้สอย    หรือใช้ประโยชน์ร่วมกันได้  เช่น                                                                                                                                           

       1.  ที่ชายตลิ่ง  ( ที่ดินที่อยู่ติดริมแม่น้ำ ทะเล  ซึ่งในฤดูปกติน้ำท่วมถึง )     

       2.   ทางน้ำ  ( แม่น้ำ ลำคลอง คู  หนอง) แม้ตื้นเขินเดินเรือไม่ได้ แต่ถ้าเจ้าพนักงานปกครองดูแลอยู่ ก็ยังถือว่าเป็นทางน้ำ                                                                                                                                                  

       3.   ทางหลวง (  ถนน ทางสาธารณะ ) มิใช่ถนนหรือทางส่วนบุคคล

       4. ที่ป่าช้าสาธารณะ                                                                                             

     5.  ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์

             ดังนั้น เมื่อพิจารณาองค์ประกอบที่ราชพัสดุข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่ ที่ราชพัสดุ จะต้องเป็น  อสังหาริมทรัพย์   ที่มีลักษณะ  ดังต่อไปนี้

         1.  เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินประเภทธรรมดา   กล่าวคือ  มิได้ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ได้แก่

               1.1     ที่นา  สวน  ไร่

               1.2     บ้านพักข้าราชการ

               1.3     ที่ซึ่งไม่ได้สงวนไว้ใช้ในราชการ    และนำไปให้เอกชนเช่าปลูกบ้านอยู่อาศัย    หรือทำการค้า เป็นต้น

          แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าที่ราชพัสดุนั้นเคยใช้ปลูกสำนักราชการแล้ว ต่อมาใช้ปลูกบ้านพักข้าราชการหรือจัดให้เช่า   ที่ราชพัสดุก็ยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

        2.   เป็นสาธารณสมบัติที่ใช้เพื่อแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะนั่นเอง  ได้แก่                                                                                                                        

               2.1   ที่ดิน  ที่ใช้เป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ                                                                    

               2.2   อาคาร  สิ่งปลูกสร้าง  ที่ใช้ประโยชน์ทางราชการ

               2.3   ต้นไม้ยืนต้นในที่ราชพัสดุ

               2.4   ดิน   หิน  กรวด  ทราย    แร่ธาตุในที่ราชพัสดุ               

        3.   ต้องไม่ใช่ ที่ดินของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล       และที่ดินขององค์กรปกครองท้องถิ่น

        4.   ต้องไม่เป็น    ที่ดินรกร้างว่างเปล่า       ที่ดินที่มีผู้เวนคืน     ที่ดินทอดทิ้ง             ที่สาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน   หรือสงวนไว้ใช้ร่วมกัน

        5.   ไม่รวมถึง     ที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์         ที่ดินเอกชน  (บุคคล  

ธรรมดาและนิติบุคคล )       ที่ดินวัด  (ที่วัด  ที่ธรณีสงฆ์      และที่กัลปนา)

         6.   นอกจากนี้ไม่รวมถึง    ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ     ที่ดินเขตอนุรักษ์               

ที่ดินปฏิรูปการเกษตร    ที่นิคมสร้างตนเอง

         7.  สำหรับที่ดินที่มีกฎหมายพิเศษยกเว้นไม่ให้เป็นที่ราชพัสดุ เช่นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ  2542  ที่ดินนั้นก็ไม่ใช่ที่ราชพัสดุ

              ที่ราชพัสดุ     จึงมีทั้งทรัพย์สินทั้งที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  และ ที่  เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินชนิดธรรมดา        และจากการที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน  2  ประเภททำให้มีผลทางกฎหมายแตกต่างกันดังนี้

          1)   กรณีเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน  จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย  คือ                                             

                      1.1  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กล่าวคือ แม้ใครจะครอบครองที่ราชพัสดุประเภทนี้นานเพียงใดก็ตาม    ไม่ว่าจะเป็น  10  ปี  20ปี   หรือ  100ปี ก็ไม่อาจยกอายุความเรื่อง การแย่งการครอบครอง หรือครอบครองปรปักษ์มาต่อสู้กับรัฐได้คือไม่มีโอกาสได้กรรมสิทธิที่ราชพัสดุ

                       1.2   ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ  มาตรา 1305  ห้ามมิให้โอนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกา เท่านั้น   หากแม้มีผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดของศาล  ผู้ซื้อก็ไม่ได้กรรมสิทธ์    (คำพิพากษาฎีกาที่149/2485)                                           

          2)   กรณีเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินประเภทธรรมดา    อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ได้     เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มจากกฎหมายเช่นกรณีที่ 1    ส่วนราชการที่ครอบครองดูแลที่ราชพัสดุประเภทนี้   จึงต้องดูแลและระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ  ไม่ให้เกิดการบุกรุก

                อย่างไรก็ตาม     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1307   ได้คุ้มครองความเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไว้โดยของแผ่นดินห้ามมิให้ยึดทรัพย์สิน     แม้ขณะที่ยึดไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินก็ไม่อาจทำให้การยึดนั้นมีผลยันต่อแผ่นดินได้  (คำพิพากษาฎีกาที่ 149/2485)

 

คำสำคัญ (Tags): #ที่ราชพัสดุ
หมายเลขบันทึก: 305590เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณสำหรับความรู้
  • เดินหน้าต่อไปครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท