การค้าน่ารู้


สาระน่ารู้...SME สู่การค้าโลก ดร. อิทธิกร ขำเดช ประธานบริษัท การจัดการธุรกิจสมาร์ทโปร จำกัด อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตอนที่ 1 เตรียมความพร้อมเพื่อสู่การส่งออก ผู้ประกอบการ SME หลายๆคน คิดอยากทำธุรกิจส่งออก แต่ไม่รู้เริ่มต้นตรงที่ใด บางคนคิดว่าการส่งออกเป็นเรื่องที่ยาก แต่ที่จริงแล้วถ้าเราให้คามสนใจจริง ๆ แล้ว ก็ไม่ยากเท่าที่คิด จึงตั้งใจว่าจะนำเสนอบทความที่ท่านสามารถติดตามเป็นตอน ๆ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจสำหรับการเป็นผู้ส่งออก ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ประกอบการโรงงาน หรือเป็นผู้ที่ไม่มีโรงงานเป็นของตนเอง แต่มีความรู้ว่าจะเอาสินค้ามาจากแหล่งใดสำคัญกว่า ก็สามารถทำธุรกิจส่งออกได้ไม่ใช่เรื่องยาก ในประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจ คนของเขาล้วนแล้วทำธุรกิจส่งออก นอกจากทำให้ตนเองมีรายได้แล้วยังทำรายได้ให้กับประเทศของเขา เช่น คนญี่ปุ่น คนสิงค์โปร์ คนเกาหลีใต้ และคนฮ่องกง เขาตั้งบริษัทการค้าที่เรียกว่า Trading Company บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ใช้พื้นที่มากมายเท่าใด คนในที่ทำงานมีอย่างน้อย 3 คน ก็ทำส่งออกได้แล้ว มีผู้จัดการคนหนึ่ง มีเลขาคนหนึ่ง และมีพนักงานรับส่งเอกสารคนหนึ่งก็พอ ปีหนึ่ง ๆ ทำรายได้มหาศาล นักการค้าระหว่างประเทศเหล่านั้นล้วนมีคุณลักษณะคล้าย ๆกันคือ เป็น Match making คือคนที่มีลักษณะเห็นโอกาสทางการค้า เห็นโอกาสทำกำไร เป็นคนที่มีไม่ชอบอยู่กับที่ สามารถทำงานลักษณะการบริหารแบบชีพจรลงเท้า ( Management by walking around ) แต่มีความรับผิดชอบสูง ที่สำคัญใช้เงินลงทุนไม่สูงเห็นใหมว่าธุรกิจส่งออกเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก ยิ่งปีหน้าคาดว่าการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยขยายตัวสูงที่สุดในระยะหลายปีที่ผ่านมาเพราะนโยบายรัฐบาลที่เดินถูกทาง ผู้ประกอบการ SME หรือท่านที่มีความสามารถหาสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐานดีจากโรงงานต่าง ๆ จากของ SME หรือ สินค้าจากพวก OTOP สามารถมาทำธุรกิจส่งออกโดยไม่ต้องใช้เงินมากในการลงทุน เป็นแต่คนกลางเหมือนพ่อค้าส่งออกในต่างประเทศก็เพียงพอแล้ว เพียงแต่ผู้ที่ทำธุรกิจส่งออก ระยะแรกต้องปรับตัว ปรับใจและ เตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าท้าทายความสามารถคนไทยในสมัยนี้ ก่อนอื่นลองสำรวจตัวเองทั่ว ๆ ไปเสียก่อนว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะทำธุรกิจส่งออกและมีความพร้อมในการส่งออกอย่างไร ผู้ที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศควรมีลักษณะ ดังนี้ 1. ต้องมีตั้งใจในการทำธุรกิจส่งออก พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เกี่ยวกับการส่งออก หาโอกาสเข้ารับการอบรมสัมมนา ปรึกษากับที่ปรึกษาที่มีความรู้การส่งออก อ่านข่าวสารเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรากำลังอยู่ในยุคของ ข้อมูลข่าวสารที่มีไม่มีวันจบสิ้น ต้องทันกระแสตลาดโลกและทันต่อเทคนิคการส่งออก 2. การส่งออกเป็นศูนย์รวมของความรู้ทุกแขนง ทำให้เรามีความรู้รอบตัวสูงมากเพราะ ต้องรู้เกี่ยวกับสินค้าที่เราจะส่งออก ตั้งแต่การผลิต การตลาด การส่งออก รู้เรื่องกฏหมาย กฏระเบียบต่างๆ การเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน การควบคุมคุณภาพ เป็นต้น 3. ต้องเป็นคนชอบออกสังคมพอสมควร เพราะจำเป็นที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือต้อนรับลูกค้าที่มาเยือน 4. ต้องทำงานเร็วและละเอียด เพราะเราต้องแข่งขันกับผู้ส่งออกไทยและผู้ส่งออกในต่างประเทศด้วย ต้องมีความละเอียดรอบคอบในเรื่องการเจรจาการค้า เงื่อนไขการทำสัญญา และการตรวจในรายละเอียดของ L/C ก่อนการส่งออก การทำเอกสารส่งออกขายธนาคาร เป็นต้น 5. ต้องมีความรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มีความสามารถในการเขียน การพูด ทำให้เชื่อถือจากลูกค้า ปัจจุบันนี้ภาษาจีนกลางก็เป็นภาษาที่น่าสนใจมากเพราะการเปิด FTA ( Free trade area )ของรัฐบาลกับประเทศจีนซึ่งมีพลเมือง 1,300 ล้านคน เราต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อเตรียมพร้อมกับการค้าขายกับคนจีน ต่อจากนั้นลองสำรวจความพร้อมของหน้าที่แต่ละหน้าที่ที่ต้องสัมพันธ์กับการส่งออกอย่างไร เช่น 1. ด้านการตลาด คุณสนใจจะเลือกตลาดต่างประเทศใดในการส่งออก ก็ต้องศึกษาข้อมูลสำคัญ ของแต่ละประเทศนั้น ๆ ที่สำคัญต้องรู้จักคนที่จะมาเป็นลูกค้าเราว่ามีการทำงานอย่างไร วัฒนธรรมของเขาเป็นอย่างไร 2. ด้านสินค้า คุณสนใจเลือกสินค้าใด คุณต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวสินค้าเป็นอย่างดีตั้งแต่ในด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตขั้นตอนการผลิต การผลิตที่ใดบ้าง การบรรจุหีบห่อเหมาะสมกับตลาด ดีหรือยัง 3. ด้านการผลิต คุณสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีมีตามมาตรฐานตามแต่ละประเทศที่กำหนด มีความพร้อมที่จะออกแบบหรือปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า หรือมาตรฐานที่ลูกค้ากำหนด สินค้าบรรจุอย่างไรจึงจะไม่มีปัญหาในการขนส่ง 4. ด้านการเงิน คุณมีความพร้อมในด้านเครดิตกับธนาคาร และคุณเข้าใจเทอมการชำระเงินระหว่างประเทศหรือไม่ 5. ด้านกฏหมายและกฏระเบียบ ควรมีความเข้าใจในเงื่อนไขการค้าที่เราเรียกว่า INCOTERMS 2000 และคุณสามารถเข้าใจการทำสัญญากับลูกค้าในต่างประเทศอย่างไรที่ไม่ต้องเสียเปรียบ ต้องเรียนรู้กฏระเบียบต่าง ๆ ของแต่ละประเทศนำเข้า 6. ด้านสำนักงาน คุณมีคนที่มีความรู้ในการส่งออกพร้อมในการทำงาน เครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงานเช่น คอมพิวเตอร์ แฟกซ์ เป็นต้น 7. ด้านการขนส่งและส่งมอบ คุณมีความพร้อมในการติดต่อบริษัทขนส่งทางเรือ ทางอากาศ และทำอย่างไรจึงจัดส่งสินค้าให้ทันตามกำหนดของลูกค้า ซึ่งข้อนี้หลายบริษัทพอเริ่มทำส่งออกใหม่ เมื่อรับการสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศ ผลิตไม่ทัน ส่งออกไม่ทันตามกำหนด ทำให้ลูกค้าไม่ไว้ใจ 8. ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถ้ามี website ของบริษัทจะเป็นการที่ดี หรือมีโบร์ชัวร์ มีเอกสารใดที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเรากับลูกค้าในต่างประเทศ 9. ด้านสถานที่ทำงาน ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ควรอยู่ในสถานที่ที่อยู่ในเมืองหรือใกล้เคียงสถานที่สำคัญอาทิ กรมศุลกากร ธนาคาร เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการติดต่อ 10. ด้านการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องมีคนพร้อมที่จะเดินทางไปติดต่อในต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นการเดินทางเพื่อพบปะกับลูกค้า การออกงานแสดงสินค้า เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ศึกษากันได้ไม่ยากอย่างที่คิด คราวหน้าจะแนะนำวิธีการหาข้อมูลเหล่านี้ การเลือกสินค้า และการหาตลาดต่างประเทศ ที่ผู้ส่งออกที่ประสบความสำเร็จเขาทำอย่างไร .

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30460เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท