การจัดความสัมพันธ์ในการแก้ไขเหตุวิกฤตชาติ


            
        การที่ผู้ปกครองไทยได้เข้าผิดเกี่ยวกับเรื่องระบอบประชาธิปไตยมายาวนานร่วม 74 ปี จนเกิดปัญหาขึ้นมาอย่างมากมาย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ล้าหลัง เสียเวลา จนไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุวิกฤตชาติที่แท้จริง เหตุวิกฤตชาติเป็นปัญหาทางการเมือง จะต้องแก้ด้วยการเมืองที่เหนือกว่า คือธรรมาธิปไตยเท่านั้นจึงจะแก้ไขเหตุวิกฤตความคิดของผู้ปกครองไทย และแก้ไขเหตุวิกฤตชาติให้ตกไปได้
       
        คนทั่วไป หรือ ปุถุชนหรือนักการเมือง ผู้ไม่ลึกซึ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเขาเคยชินอยู่กับการแก้ปัญหาส่วนตัวมาเป็นเวลา 20-40 ปี เมื่อเขามีโอกาสได้เป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี จะต้องคิดแก้ปัญญาส่วนรวม แต่พวกเขาก็ยังคิดแก้ปัญหาแบบเดิมๆ คือ คิดแก้ปัญหาแบบอัตวิสัยหรือแบบการแก้ปัญหาส่วนตัว ก็จะกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่อาจจะแก้ปัญหาต่างๆ ให้หมดไปได้ นั่นเอง
       
        แนวคิด ตถตา คือวิธีคิดใหม่ให้ถูกต้องตามกระแสธรรม หรือคิดและปฏิบัติตามวิถีธรรม อันเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ ดังนี้
       
        สภาวธรรม มีลักษณะแผ่ขยายเป็นวงรัศมี แผ่ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดจากบนลงสู่ล่าง (ดูรูปประกอบ)
       
       (1) ระบอบการเมือง (นามธรรม)
       
       (2) การปกครอง (รูปธรรม)
       
       (3) ระบบเศรษฐกิจ
       
       (4) สังคม (5) การดำเนินชีวิตของประชาชน (ประเพณีวัฒนธรรม) และส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด
       
       หรืออีกนัยหนึ่ง
       
       ธรรมาธิปไตยเป็นปัจจัยให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกระบวนการ
       
       (1) ระบอบการเมือง เป็นปัจจัยต่อการปกครอง
       
       (2) การปกครอง เป็นปัจจัยต่อระบบเศรษฐกิจ
       
       (3) ระบบเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยต่อสังคม
       
       (4) สังคม เป็นปัจจัยต่อพฤติกรรมของสังคม
       
       (5) พฤติกรรมของสังคมอยู่เย็นเป็นสุขฯ
       
        เหตุปัจจัยวิธีคิดใหม่นี้ มีข้อสังเกตว่า ถ้าระบอบการเมืองนั้นมีหลักธรรม หรือเป็นระบอบการเมืองที่ถือธรรมเป็นหลักการปกครองให้ความยุติธรรมต่อปวงชน
       
        เมื่อพิจารณาด้วย กฎอิทัปปัจจยตา ก็จะเห็นความเป็นไปด้วยวิถีธรรม
       
        เมื่อระบอบการเมืองมีหลักธรรม ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้การปกครองเป็นธรรม
       
        เมื่อการปกครองเป็นธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นธรรม
       
        เมื่อระบบเศรษฐกิจเป็นธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้สังคม และการดำเนินชีวิตของประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง มั่นคง ยั่งยืนตามกฎธรรมชาติ
       
        อีกนัยหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบระหว่างการแก้ปัญหาของบุคคลกับรัฐ เพื่อจะให้เกิดความชัดเจนมั่นใจยิ่งขึ้น ดังนี้
       
        ธรรมย่อมแผ่ขยายเป็นวงรัศมี จากบนลงสู่ล่าง แผ่ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด
       
       จิต ระบอบการเมือง (นามธรรม)
       
       กาย การปกครอง (รูปธรรม)
       
       ปัจจัย 4 ระบบเศรษฐกิจ
       
       พฤติกรรม สังคม และการดำเนินชีวิตของประชาชน (ประเพณีวัฒนธรรม) และส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด
       
        จากภาพนี้ จะเห็นได้ว่า
       
        (1) มนุษย์นั้นมีจิต ส่วนประเทศก็มีระบอบการเมือง
       
        (2) มนุษย์นั้นมีกาย ส่วนประเทศก็มีการปกครอง
       
        (3) มนุษย์นั้นมีปัจจัย 4 ส่วนประเทศก็มีระบบเศรษฐกิจ
       
        (4) มนุษย์นั้นมีพฤติกรรม ส่วนประเทศก็มีพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศ บางทีก็เรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม
       
        และจะถามว่า คนเลวต้องแก้ไขที่ไหน? ก็ต้องตอบว่าที่ จิต คือให้จิตมีธรรมะ, ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม
       
        ส่วนสังคมวิกฤต จะต้องแก้ไขที่ไหน? ก็จะต้องตอบว่าที่ ระบอบการเมือง ให้ระบอบการเมืองมีธรรมเป็นหลักการปกครอง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ปวงชนในประเทศ
       
        เมื่อได้ประยุกต์ตามกฎอิทัปปัจจยตา ระบอบการเมืองโดยธรรมจะเป็นปัจจัยให้ระบอบการเมืองยุติธรรม
       
        ระบอบการเมืองที่ยุติธรรม จะเป็นปัจจัยให้การปกครองยุติธรรม
       
        การปกครองยุติธรรม จะเป็นปัจจัยให้ระบบเศรษฐกิจยุติธรรม
       
        ระบบเศรษฐกิจยุติธรรม เป็นปัจจัยให้สังคมยุติธรรม การดำเนินชีวิตของประชาชนยุติธรรม แผ่กระกระจายออกไปทั่วทุกตัวคนในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายบวก ฝ่ายเจริญก้าวหน้า
       
        ในทางตรงกันข้าม ปุถุชนผู้ไม่รู้สภาวธรรม ผู้เป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจ จัดความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหาส่วนตัวและส่วนรวมไปในทิศทางเดียวกัน จึงมิอาจจะแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติได้สำเร็จลงได้ เพราะเหตุแห่งความวิกฤตทั้งปวง คือระบอบการเมืองที่ปราศจากหลักการปกครองที่เป็นธรรมนั่นเอง
       
        พวกเขามุ่งมั่นแต่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยิ่งแก้ประชาชนยิ่งยากจน แต่นักธุรกิจการเมืองกลับร่ำรวยล้นฟ้า สภาพการณ์การดำรงอยู่ของระบอบการเมืองเลวย่อมเป็นปัจจัยให้การปกครองเลว ระบบเศรษฐกิจเลว สังคมเลว และการดำเนินชีวิตของประชาชนตกต่ำ ย่ำแย่ ศีลธรรมเสื่อมทราม เหตุเพราะระบอบการเมืองเลว ก็จะแผ่ความเลวออกไปทุกทิศทุกทางในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายลบ หรือฝ่ายเสื่อม
       
        ผู้ไม่แจ้งในอรรถธรรม จะแก้ปัญหาส่วนรวมตามอัตวิสัยแห่งตน คือ จากล่างขึ้นสู่บน ก็จะคิดแก้ปัญหาตามประสบการณ์แห่งตน และปัญหาสังคมอันเป็นเพียงปัญหาปรากฏการณ์เท่านั้น เช่น คิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากการปกครองและระบอบการเมือง จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องสืบสาวไปหาเหตุ คือระบอบการเมืองเลว และระบอบการเมืองโดยธรรมจะเป็นเหตุให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ดังคำกล่าวที่ว่า “ปุถุชนแก้ปัญหาส่วนรวมจากล่างขึ้นสู่บน ส่วนอริยชนแก้ปัญหาส่วนรวมจากบนลงสู่ล่าง” อันเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีธรรม (บรมธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตย) และตรงตามแนวทางพระพุทธเจ้า ในยุคพุทธกาลพระองค์ ทรงวางแผนการเผยแผ่พระธรรมวินัยต่อพระราชาและชนชั้นสูงก่อนที่จะเผยแผ่ไปสู่ประชาชนทั่วไปในเมืองนั้นๆ
       
        ตัวอย่าง เช่น ในสำนักงานของรัฐแห่งหนึ่งหัวหน้าเป็นคนไม่มีสมรรถภาพในการบริหาร มาทำงานสาย ชอบเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน ไม่ฟังความเห็นของผู้ร่วมงาน เอาแต่ใจตนเอง เมื่อไม่ได้ดังใจ มักจะขู่ตะคอกผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอๆ เป็นคนหูเบา ทำให้สำนักงานแห่งนั้นมีความปั่นป่วน พนักงานไม่สามัคคีกัน ต่างคนต่างทำ และต่างก็ไม่ไว้วางใจต่อกันและกัน เป็นที่เอือมระอาของคนทั่วไป
       
        และในสำนักงานนี้ยังมีนักการภารโรง เป็นคนดี มีน้ำใจ ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม ดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสอน ทำงานเกินเวลา ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเสมอๆ
       
        จากตัวอย่างดังกล่าว ถ้าหัวหน้าไม่ดีก็จะแผ่ความไม่ดีออกไปทุกทิศทุกทาง ในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดในองค์กรนั้นๆ แม้ว่าจะมีคนดีแต่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจอะไร ก็ไม่อาจจะต้านทานความไม่ดีที่ใหญ่กว่าได้ เมื่อคิดจะแก้ปัญหาตาม กฎอิทัปปัจจยตา หรืออริยสัจ 4 ก็ต้องแก้ที่เหตุแห่งปัญหา นั่นเอง
       
        อีกตัวอย่างหนึ่ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อุปมา มีรถจักรยาน 10 คันล้มทับซ้อนตามๆ กัน และคันที่ 10 ทับคนอยู่ เขาจะมีความรู้สึกว่าปัญหาก็คือคันที่ 10 หรือ คันที่ 9 เท่านั้น แต่การแก้ปัญหาให้หลุดพ้นไปได้นั้นต้องสืบสาวไปหาเหตุคือคันที่ 1 ในสังคมไทยยังน้อยนักที่จะนำอริยสัจ 4 และกฎอิทัปปัจจยตาอันเป็นกฎความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัยของเหตุและผล ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหา ทั้งเป็นปมเงื่อนของปัญหาต่างๆ ทั้งหลายในประเทศ
       
        ดังอุปมา เมื่อน้ำเน่า ปลาใหญ่น้อยก็ไม่สามารถจะต้านทานพิษร้ายจากน้ำเน่าได้ฉันใด เมื่อระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิ สถาบันหลักแห่งชาติ สถาบันพระศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ คนดีในสังคม ฯลฯ ก็ไม่อาจจะต้านทานความเลวร้ายจากระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิได้ ฉันนั้น
       
        ใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาการแก้ปัญหาทั้งปวงด้วยวิถีทางแห่งธรรมเถิด จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
       
        ด้วยความห่วงใยใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์สู่การสร้างสรรค์การปกครองแบบธรรมาธิปไตย ขอเจริญธรรม กลับมาสู่ความถูกต้องดังเดิมนับแต่โบราณกาล คือ “สถาบันพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ (ตุลาการ) และผู้มีคุณธรรมในแผ่นดิน ร่วมมือกันสร้างสรรค์ชาติให้ถูกต้องโดยธรรม” ปุถุชนคิด ทำการปฏิวัติประชาธิปไตย หรือไม่ก็สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แนวทางรุนแรง ส่วนอริยชนคิดทำการปฏิวัติธรรมาธิปไตย แก้ไขเหตุวิกฤตชาติและโลก แนวทางสันติ
       

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30454เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท